โจน จันใด

ผู้ก่อตั้งศูนย์พันพรรณ

ปราช์ผู้พิทักษ์พืชพรรณ

โจน จันใด ผู้ก่อตั้ง ‘พันพรรณ’ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งพาตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนจำนวนไม่น้อยหันมาพึ่งตัวเองและใช้ชีวิตอย่างพอเพียง...จากบ้านดินสู่การเก็บเมล็ดพันธุ์พืชและอีกหลากหลายภูมิปัญญาที่พร้อมจะส่งต่อผู้อื่น

แนวคิดต่างสร้างความเปลี่ยนแปลง

ทำไมคนเราต้องทำงานวันละแปดชั่วโมงในกรุงเทพฯ เพื่อหาเลี้ยงคนคนเดียวคือตัวเราเอง ทั้งที่เราสามารถเลี้ยงคนหลายคนได้ แค่หันกลับไปทำเกษตรอินทรีย์ที่ต่างจังหวัด นี่คือจุดเริ่มต้นของการพึ่งตัวเองของผมที่จังหวัดยโสธร หลังจากนั้นก็ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากเปลี่ยนพื้นที่เขาหัวโล้นที่ปลูกอะไรไม่ได้ให้กลับมามีชีวิตด้วยพืชนานาชนิด ก็มีผู้คนเข้ามาขอความรู้ จนพัฒนามาเป็นคอร์สต่างๆ ที่มีการพึ่งพาตนเองเป็นแกน ให้ความรู้ทั้งการเพาะปลูก การสร้างบ้านดิน แต่ที่ให้ความสำคัญสูงสุดคือการเก็บเมล็ดพันธุ์พืช ซึ่งจะช่วยให้คนไทยไม่ต้องซื้อในราคาแพงจากบริษัท และช่วยให้พืชผักที่หลากหลายยังคงอยู่ต่อไป

ขยายพันธุ์ความรู้อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันมีคนสร้างบ้านดินได้มากขึ้น เกิดกลุ่มแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์และความรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งในเชิงการเพาะปลูกและการทำธุรกิจ เมื่อความรู้ที่เริ่มต้นไว้ได้กระจายออกไป เราก็หันมาพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมอย่างอื่นเพิ่มขึ้น อย่างช่วงนี้กำลังส่งเสริมให้ผลิตเครื่องกรองน้ำที่ใช้หิน ทราย และถ่านเป็นตัวกรอง ซึ่งน้ำที่ผ่านการกรองมีความสะอาดเทียบเท่าน้ำดื่มที่ขายในท้องตลาด ล่าสุดมีการนำไปใช้ในค่ายผู้อพยพและหมู่บ้านที่ห่างไกลทั้งในไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ก็ยังมีเครื่องใช้และภูมิปัญญาในการพึ่งพาตัวเองที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ โดยค้นหาด้วยคำว่า ‘พันความรู้’

ปลูกความยั่งยืนในใจคนไทย

นอกจากเมล็ดพันธุ์พืชหลากหลายชนิดที่จะสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับเรา อยากให้เมืองไทยมีเมล็ดพันธุ์ทางความคิดที่มุ่งหวังความยั่งยืน ชีวิตคนนั้นสั้นมาก เราจะอยู่บนโลกใบนี้อีกไม่นาน ฉะนั้นควรจะเพิ่มทรัพยากรให้กับโลก แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาใช้เพียงอย่างเดียว

คนรุ่นใหม่คือความหวัง

ผู้ที่มาเข้าอบรมมีแนวโน้มอายุที่น้อยลง เป็นคนรุ่นใหม่ คนเมือง ไม่ใช่เกษตรกรที่ทำการเกษตรอยู่แล้ว พวกเขามีแนวคิดที่แตกต่างและสร้างสรรค์ ทำให้เห็นภาพอนาคตของเกษตรกรไทยที่จะมาช่วยกันยกระดับให้เกิดมูลค่าและคุณค่าเพิ่มขึ้น

ขอบคุณนิตยสาร HELLO!

ปรารถนา

ให้เมืองไทย
มีเมล็ดพันธุ์ทางความคิด
ที่ยั่งยืน