เกือบ 20 ปีของชีวิตการทำงาน พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา มุ่งมั่นกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องคนไทยในพื้นที่ห่างไกล ทั้งเมื่อทำงานกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ โดยเฉพาะที่โครงการพัฒนาดอยตุง จ.เชียงราย ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นงานเพื่อสังคม สืบเนื่องมาถึงงานล่าสุดกับการเป็นหนึ่งในคณะทำงานของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ เพื่อสืบสานศาสตร์พระราชา
เปิดตำราแม่ฟ้าหลวง ณ ดินแดนเหนือสุดแห่งสยาม
เริ่มทำงานกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ทำหน้าที่นำผลผลิตทางการเกษตร อย่างกาแฟอาราบิก้า ไม้ดอก ไม้ประดับ และงานหัตถกรรมผ้าทอมือ เซรามิก และกระดาษสาของช่างฝีมือชนเผ่าต่างๆ ที่ดอยตุงออกจำหน่าย และโครงการล่าสุดที่ทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 คือ DoiTung & Friends ที่ได้เชิญดีไซเนอร์ชั้นนำของประเทศเดินทางไปสัมผัสและรับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ และเรื่องราวของผู้คนบนดอยตุง ร่วมทำงานกับชาวบ้านเพื่อออกแบบสินค้าไลฟ์สไตล์ให้เป็นที่ต้องการของคนเมือง นอกจากช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ ยังเป็นการลดช่องว่างระหว่างคนบนดอยกับคนในเมืองใหญ่ เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลที่นำไปสู่ความสมดุลท่ามกลางโลกธุรกิจทุนนิยมในปัจจุบัน
ส่งต่อศาสตร์พระราชาสู่ประชาชน
สำหรับสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ เป็นองค์กรที่มีเป้าหมายในการแปลศาสตร์พระราชาจนเห็นผลประจักษ์ เรียนรู้ ขยายผล และผลักดันเข้าระบบปกติ ทั้งในภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม หรือภาคการศึกษาจนกลายเป็นกระแสหลักในการพัฒนาประเทศให้ได้ ปัจจุบันมีพื้นที่ต้นแบบใน 9 จังหวัด ซึ่งตัวเองได้รับมอบหมายให้ไปทำงานร่วมกับคนหนุ่มสาว 50 กว่าคน ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อช่วยต่อยอดศักยภาพในการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา สู่การพึ่งพาตนเอง ให้ชุมชนสามัคคี เข้มแข็ง เชื่อมโยงกับโลกภายนอกโดยมีภูมิคุ้มกันและเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
คนรุ่นใหม่จะช่วยพัฒนาสังคมได้อย่างไร
คนรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็นนักพัฒนากันหมด แค่ช่วยเหลือในสิ่งที่ช่วยได้ อย่างเรื่องการกินอยู่ การเลือกซื้อ การใช้ชีวิต พวกเขาสามารถเลือกในสิ่งที่มีความหมาย มีคุณค่ากับตัวเองและชีวิตอื่น ไม่เบียดเบียนใคร ถ้าลองแบ่งเวลามามองผู้คนและสิ่งรอบตัวมากขึ้น จะเห็นความเชื่อมโยงชัดขึ้น การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ก็กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ขึ้นได้
ขอบคุณนิตยสาร HELLO!