Legacy Forward : Strategic Growth & Succession Plan เป็นธุรกิจครอบครัวพร้อมโตสู่ IPO จาก K SME SIERRA โดย ธนาคารกสิกรไทย Legacy Forward : Strategic Growth & Succession Plan เป็นธุรกิจครอบครัวพร้อมโตสู่ IPO จาก K SME SIERRA โดย ธนาคารกสิกรไทย

Legacy Forward : Strategic Growth & Succession Plan

ปั้นธุรกิจครอบครัวพร้อมสู่ IPO จากผู้เชี่ยวชาญ และผู้สำเร็จตัวจริง

จาก K SME SIERRA โดยธนาคารกสิกรไทย

ผศ.ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการศูนย์ที่ปรึกษา และสร้างการเติบโตทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
คุณการุณย์ สุจิวโรดม ประธานกรรมการบริหาร บมจ.กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค (KJL)
คุณเกษมสันต์ สุจิวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค (KJL)
วันที่ 4 ก.ค. 2568

“ธุรกิจครอบครัว” หน่วยธุรกิจที่ฟังดูเหมือนเล็ก บริหารกันเองแค่ในครอบครัวไม่กี่คน ดูเป็นเรื่องยากที่จะขยายเติบโตไปได้ไกล แต่รู้ไหม? กว่า 67% ในตลาดหลักทรัพย์ คือ ธุรกิจครอบครัวแทบทั้งนั้น! แถมธุรกิจเก่าแก่ที่สุดในโลกอายุกว่า 1,300 ปีจากญี่ปุ่น ก็เป็นธุรกิจครอบครัวเช่นกัน

จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วธุรกิจครอบครัวก็มีศักยภาพพร้อมที่จะพัฒนาเติบโตสู่ระดับมหาชนได้ เพียงแต่ต้องวางกลยุทธ์ให้ถูกวิธี ทั้งกลยุทธ์ธุรกิจและกลยุทธ์ครอบครัว K SME SIERRA โดยธนาคารกสิกรไทย จึงเปิดเวทีสัมมนา Legacy Forward : Strategic Growth & Succession Plan ปั้นธุรกิจครอบครัวพร้อมสู่ IPO

โดยมี ผศ.ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการศูนย์ที่ปรึกษา และสร้างการเติบโตทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ Case Study จากพ่อลูกตัวจริงที่ประสบความสำเร็จ นำพาธุรกิจเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ สร้างรายได้ต่อปีกว่าพันล้านบาท

ร่วมด้วย การุณย์ สุจิวโรดม ประธานกรรมการบริหาร ผู้ก่อตั้ง บมจ.กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค (KJL) และ เกษมสันต์ สุจิวโรดม ผู้สานต่อธุรกิจมาร่วมให้ความรู้ และแชร์ประสบการณ์

ทำไม (ใครๆ ก็คิด) ธุรกิจครอบครัว ถึงโตไม่ได้ไกล

ผศ.ดร.ภูษิต ได้ฉายภาพปัญหาธุรกิจครอบครัวเอาไว้ว่า อันดับต้น ๆ ของการเกิดปัญหาธุรกิจครอบครัว คือ “เกิดจากการไม่ฟังกัน” จึงทำให้เกิดความไม่เข้าใจ นอกจากนี้ ยังเอาความคิด หรือประสบการณ์ที่เคยมีของตัวเองไปครอบหรือตัดสินคนอื่นด้วยชุดความคิดของตัวเอง ทั้งที่แต่ละคน แต่ละเจเนอเรชัน ย่อมมีปัจจัยที่แตกต่างกัน ไปจนถึงเป้าหมายในชีวิต เมื่อมุมมองแตกต่าง และยังขาดการปรับจูน จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้

สร้างสมดุล ธุรกิจ & ครอบครัว

หนึ่งในหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจครอบครัวให้เติบโตอย่างยั่งยืน คือการเข้าใจและบริหาร “บทบาท” ของแต่ละคนอย่างชัดเจน เพราะธุรกิจครอบครัวไม่ได้มีแค่มิติของธุรกิจเท่านั้น แต่ยังมีมิติของความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ซับซ้อนควบคู่กันไป

ผศ.ดร.ภูษิตได้เสนอกรอบแนวคิดที่เรียบง่าย แต่ทรงพลังในการทำความเข้าใจบทบาทต่าง ๆ ผ่านการแบ่ง “หมวก 3 ใบ” ที่ทุกคนในครอบครัวอาจต้องสวมใส่ในเวลาเดียวกัน ได้แก่ :

หมวกใบที่ 1. Ownership เจ้าของธุรกิจ : สร้างธุรกิจเจริญรุ่งเรือง เช่น การแบ่งปันผลประโยชน์, การจัดการทรัพย์สิน, การส่งต่อความมั่นคง

หมวกใบที่ 2. Family สมาชิกครอบครัว : สร้างความเป็นเอกภาพกลมเกลียว เช่น การกำหนดบทบาทของสมาชิกในครอบครัว เช่น ไปงานวันเกิดพ่อแม่, มีตัวกลางผู้นำครอบครัว คอยไกล่เกลี่ย, สวัสดิการเหล่าสมาชิก

หมวกใบที่ 3. Business การบริหารธุรกิจ : สร้างความแข็งแกร่งและมั่นคง เช่น ควรดูว่าจะไปต่อในเส้นทางเดิม ธุรกิจเดิมยังดีอยู่ไหม หรือควรขยายธุรกิจ หรือหาธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสดีกว่า

โดยธรรมชาติแต่ละคนในครอบครัวอาจสวมหมวกมากกว่าหนึ่งใบ ดังนั้น วิธีคิดและเหตุผล จึงแตกต่างกันไป สิ่งสำคัญ คือ ต้องเข้าใจในบริบทของแต่ละคน ยกตัวอย่างเช่น ลูก ซึ่งยังไม่มีหุ้นในบริษัท ไม่ได้สวมบทบาทเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่เป็นสมาชิกครอบครัวและทำงานในธุรกิจ การที่พ่อแม่จะคาดหวังให้ลูกทำงานเหมือนเป็นเจ้าของธุรกิจเหมือนกับพ่อแม่ ความรู้สึกก็อาจจะยังไม่ใช่

ข้อควรระวังอีกอย่างของการทำธุรกิจครอบครัวให้ยั่งยืน คือ การแยกธุรกิจออกจากกันโดยไม่มีแผนรองรับ เช่น ปล่อยให้ลูกออกไปต่อยอดสาขาทำกันเอง อาจเป็นผลเสีย ทำให้เกิดการแข่งขันกันเอง ส่งผลต่อธุรกิจหลักได้ และยังเสียโอกาส ไม่สามารถรวมพลังต่อรองกับซัพพลายเออร์หรือขยายการเติบโตได้เต็มศักยภาพ

เส้นทางทายาทรุ่นใหม่ ยกระดับธุรกิจสู่ IPO

เบื้องหลังความสำเร็จของหลายธุรกิจที่เติบโตจากกิจการครอบครัวสู่บริษัทมหาชน มักเริ่มต้นจากความร่วมมือของคนสองรุ่น คือ ผู้ก่อตั้งที่บุกเบิก และทายาทที่กล้าคิด กล้าปรับ เพื่อยกระดับธุรกิจให้ตอบโจทย์โลกยุคใหม่

หนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ บริษัท กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค จำกัด (มหาชน) หรือ KJL ผู้นำในการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ตู้ไฟ รางไฟ และอุปกรณ์ประกอบครบวงจร ซึ่งเริ่มต้นจากธุรกิจเล็ก ๆ ด้วยพนักงานเพียงไม่กี่สิบคน ก่อนจะเติบโตจนมีพนักงานกว่า 600 คน และก้าวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ

เกษมสันต์ ได้แชร์ว่า หลังเรียนจบได้เข้ามาช่วยธุรกิจของครอบครัวเลย คุณพ่อไม่ได้บังคับ และตนตั้งใจเลือกเรียนด้านวิศวกร เพื่อเข้ามาช่วยบริหารธุรกิจที่บ้าน เกิดจากการซึมซับที่ได้เห็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ โดยแชร์ว่า สิ่งที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจตัวจริงเกิดความเชื่อมั่น จนสามารถนำพาธุรกิจเข้าสู่ IPO ได้ มี 3 ข้อ คือ

1. ค่อยๆ สะสมผลงาน โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อย เช่น การวางระบบการผลิต, คลังสินค้า จนวันหนึ่งเมื่อปูรากฐานได้ดีแล้ว ถึงเวลาที่ต้องสเกลอัพ จึงนำเรื่องไปปรึกษาคุณพ่อคุณแม่ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของธุรกิจ ที่จะเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างสิ้นเชิง จากที่เคยบริหารหรือตัดสินใจกันเอง ก็กลายเป็นต้องเปิดรับผู้อื่นให้เข้ามาช่วยบริหารด้วย

2. ใช้คนกลางเป็นที่ปรึกษา การพูดคุยกันระหว่างคนต่างรุ่นอาจติดขัด เพราะมุมมองและอารมณ์ไม่ตรงกัน การมี “คนกลาง” ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษามืออาชีพ ช่วยให้การสื่อสารชัดเจนและมีวุฒิภาวะมากขึ้น

“แต่ก่อนที่คุยกันเอง ประชุมไม่เคยจบ คุยกันไม่ถึงชั่วโมง ก็ต้องลุกหนี แต่การที่เรานำที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญเข้ามา ทำให้เกิดความอดทนกันมากขึ้น ฟังกันมากขึ้น จนถึงแก่นแท้ของเรื่องที่ต้องการพูดคุย”

3. นำความจริงมาพูดคุยกัน การมีข้อมูลในระบบชัดเจน ทำให้การพูดคุยเรื่องอนาคตของธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ไม่ใช่แค่ความรู้สึก

แม้เป้าหมายของการปรับระบบ คือ การเข้าสู่ IPO แต่เกษมสันต์มองว่า สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้น คือการได้เห็น “สุขภาพที่แท้จริงของธุรกิจ” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการวางแผนระยะยาวอย่างเป็นระบบ

ด้านผู้เป็นพ่อ การุณย์ ได้ฝากข้อคิดสำหรับคนทำธุรกิจที่เป็นรุ่นบุกเบิกว่า

“ถึงไม่ปล่อยมือวันนี้ วันหน้าก็ต้องปล่อยอยู่ดี ดังนั้น ถ้าเขาอยากลองอะไร ก็ต้องยอมให้ลองทำ ถ้าไม่อย่างนั้นเขาก็ไม่อยากเข้ามาทำ จนวันนี้บอกได้เลยว่าเชื่อใจเขาได้ 100% เต็ม”

สูตรความสำเร็จธุรกิจที่คุณก็ออกแบบได้

ทายาทผู้สืบทอดธุรกิจ KJL ได้แนะนำเพิ่มเติมว่า การจะนำธุรกิจเข้าสู่ระบบ IPO นอกจากการทำระบบให้ชัดเจน โปร่งใส เพื่อง่ายต่อการดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคตแล้ว เจ้าของธุรกิจควรมีความชัดเจนและซื่อสัตย์กับตัวเอง ควรถามตัวเองให้ชัดว่า “ทำไปเพื่ออะไร” เพราะเส้นทางของแต่ละธุรกิจย่อมแตกต่างกัน

“เราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เหตุผลการอยากเข้าไป คือ อะไร บางคนอยากขยายธุรกิจให้เติบโต, บางคนอยากหาคนมาร่วมต่อยอดกิจการ ซึ่งแต่ละอย่างรูปแบบก็จะแตกต่างกัน”

เขายังได้ถ่ายทอดหลักคิดสำคัญที่ใช้ตลอดมาในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เรียกว่า “3F”: คือ

1. Find – หาให้เจอว่าสิ่งที่คุณต้องการคืออะไร คุณเลือกทำสิ่งนั้นเพราะอะไร

2. Fact – นำความจริงมาพูดกัน เพราะเป็นข้อตกลงที่ทุกคนยอมรับได้

3. Fair – ความยุติธรรม ทุกคนควรได้รับผลตอบแทนในสิ่งที่ตัวเองทำอย่างยุติธรรม ไม่ว่าลูกน้อง หรือผู้บริหาร คนทำมากควรได้มาก ทำน้อยควรได้น้อย

“ผมเชื่อว่า 3 สิ่งนี้จะช่วยทำให้ธุรกิจเติบโตได้ยั่งยืน”

ธรรมนูญครอบครัว ตัวช่วยธุรกิจโต ครอบครัวรักใคร่กัน

ปิดท้าย ผศ.ดร.ภูษิต ได้กล่าวว่า อีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืน และรักษาสัมพันธ์ในครอบครัวได้ดี นั่นคือ การทำธรรมนูญครอบครัว (Crafting Your Family Constitution) หรือ การทำข้อตกลงร่วมกันกับสมาชิกในครอบครัว โดยควรเริ่มทำตั้งแต่วันแรก

ผศ.ดร.ภูษิต อธิบายว่า หัวใจของการจัดทำธรรมนูญครอบครัว ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ “People” ซึ่งหมายถึงสมาชิกในครอบครัว และ “Process” กระบวนการทำข้อตกลงร่วมกัน ตัวอย่างข้อหลัก ๆ สำคัญที่ควรระบุ เช่น

1. นิยามสมาชิกครอบครัว : ใครบ้างที่ถือเป็น “สมาชิก” เช่น พ่อแม่ ลูก หลาน เขย สะใภ้ ควรระบุให้ชัดเจน

2. ใครมีสิทธิ์ในการออกเสียงบ้าง : เช่น พ่อแม่, ลูก

3. สวัสดิการ : ควรมีความชัดเจนว่า ใครบ้างที่จะได้รับสวัสดิการอะไร เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ควรเริ่มทำตั้งแต่ที่มีสมาชิกน้อย ๆ เพราะลูกบางคนอาจไม่แต่งงานมีครอบครัว บางคนอาจมีลูกหลายคน บางคนมีคนเดียว

นอกจากนี้ ธรรมนูญครอบครัวยังควรรวมถึง ข้อบังคับของบริษัท เช่น

  • โครงสร้างคณะกรรมการ
  • ข้อจำกัดในการโอนหรือขายหุ้น
  • นโยบายปันผล
  • วิธีการจัดการเมื่อเกิดข้อพิพาท

และควรมี ข้อตกลงภายในครอบครัว เช่น

  • ห้ามขายหุ้นให้บุคคลภายนอก
  • การโอนหุ้นเฉพาะแก่ผู้สืบสายตรง
  • ห้ามสมาชิกประกอบธุรกิจแข่งขันกับกิจการหลัก
  • การจัดทำพินัยกรรมให้ชัดเจนเรื่องทิศทางและผลประโยชน์ของธุรกิจ

เคล็ดลับในการทำธรรมนูญให้ได้ผลจริง คือ

  • ควรคุยตั้งแต่เริ่มต้น
  • ทุกคนมีส่วนแสดงความคิดเห็น คุยกันให้จบ กำหนดบุคคลที่เข้าร่วม เช่น รุ่น 1-3 เท่านั้น
  • ธรรมนูญครอบครัวของแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน

หัวใจสำคัญอีกข้อคือ การเฟ้นหาผู้นำครอบครัว ซึ่งอาจเป็นคนละคนกันกับผู้นำธุรกิจ โดยผู้นำครอบครัว ต้องเป็นบุคคลที่มีวุฒิภาวะ เสียสละ และไม่ใช้ตำแหน่งเอื้อประโยชน์ส่วนตัว

“ธรรมนูญครอบครัว ไม่ใช่ผลลัพธ์สุดท้าย แต่คือ กระบวนการในการพูดคุย ก่อนผลประโยชน์จะเข้ามา เพื่อป้องกันการเกิดความขัดแย้งในอนาคต เพราะหัวใจสำคัญของธุรกิจครอบครัว ไม่ใช่แค่การเติบโตทางธุรกิจ แต่ คือ การเข้าใจ อย่ารอจนถึงวันที่ทำให้เกิด Family War ทำทุกอย่างให้เรียบร้อย ก่อนที่แก้วจะแตก และสายเกินไป” ผศ.ดร.ภูษิต กล่าวทิ้งท้ายไว้

หมายเหตุ: การเข้าร่วมกิจกรรม สงวนสิทธิ์เฉพาะลูกค้าที่ใช้สินเชื่อธุรกิจธนาคารกสิกรไทยตามเกณฑ์ของโปรแกรม K SME SIERRA เท่านั้น (สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงื่อนไขการเข้าร่วมโปรแกรม K SME SIERRA กรุณาติดต่อผู้ดูแลสินเชื่อของท่าน หรือติดต่อธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา)