รู้ทันกลโกงนายหน้าเถื่อน “อยากได้เงินกู้ แต่เสียรู้ โดนหลอกเงิน” รู้ทันกลโกงนายหน้าเถื่อน “อยากได้เงินกู้ แต่เสียรู้ โดนหลอกเงิน”

รู้ทันกลโกงนายหน้าเถื่อน “อยากได้เงินกู้ แต่เสียรู้ โดนหลอกเงิน”

มีหลายๆ คนที่ต้องการกู้เงินจากธนาคาร แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร เพราะไม่เคยมีประสบการณ์กู้เงินมาก่อน หรือมีประวัติเคยเป็นหนี้ NPL มาก่อน หรือบางคนก็ไม่ถนัดในเรื่องการใช้เทคโนโลยี ทำให้เกิดช่องว่างที่นายหน้าเถื่อนเข้ามาเสนอตัวเป็นคนกลางเพื่อให้คนที่ต้องการใช้เงินสามารถกู้เงินให้ผ่านได้ รูปแบบกลโกงของนายหน้าเถื่อนที่ใช้ในการหลอกลวงเหยื่อมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น

  1. นำภาพผลการอนุมัติวงเงินกู้ของบุคคลอื่นไปโพสต์ตามสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งนายหน้าเถื่อนมักจะเอาไปโพสต์บนหน้าเพจของตัวเองหรือไปโพสต์ตามกลุ่มปิดต่างๆ เพื่อให้คนที่ต้องการใช้เงินได้เห็นผลงาน สร้างความน่าเชื่อถือ ว่านายหน้าเถื่อนคนนี้ทำให้กู้ผ่านได้
  2. แอบอ้างโปสเตอร์โฆษณาของธนาคารไปโพสต์บนหน้าเพจของตัวเอง หรือโพสต์ตามกลุ่มปิดต่าง ๆ โดยจะให้ติดต่อผ่านตัวเองไม่ใช่ติดต่อผ่านธนาคารโดยตรง เมื่อคนที่ต้องการใช้เงินเห็นก็เข้าใจว่าคนนี้เป็นพนักงานธนาคาร จึงหลงเชื่อทำให้ตกเป็นเหยื่อเช่นกัน
  3. ส่งข้อความผ่านทาง SMS / Line / Messenger โดยจะส่งข้อความในลักษณะ “ธนาคารXX ได้อนุมัติเงินกู้ XX บาท สนใจกดที่ Link” หรือ “เงินทุนหมุนเวียนส่วนบุคคล XX บาท คลิ๊ก:Link” เป็นต้น หากคนที่ต้องการกู้เงินหลงเชื่อคลิ๊กไปตาม link ดังกล่าว จะทำให้ตกเป็นเหยื่อนายหน้าเถื่อน หรือกลายเป็นกู้เงินกับเจ้าหนี้นอกระบบแทนเช่นกัน

ขั้นตอนที่นายหน้าเถื่อนหรือนายหน้ามิจฉาชีพใช้หลอกลวงให้คนที่ต้องการกู้เงินหลงเชื่อ

ทางผู้เขียนได้มีการพูดคุยกับกลุ่มนายหน้าเถื่อน จำนวนหนึ่ง โดยแสดงท่าทีว่าต้องการจะกู้เงินกับธนาคาร แต่ไม่เคยกู้มาก่อน และไม่ค่อยถนัดใช้เทคโนโลยี ซึ่งนายหน้าเถื่อนจะมีขั้นตอนการหลอกให้คนที่ต้องการจะกู้เงินหลงเชื่อ ดังนี้

  1. ขั้นตอนการสร้างความเชื่อถือ โดยเมื่อรู้ว่าเหยื่อต้องการจะกู้เงิน แต่ยังลังเลหรือยังไม่มั่นใจ นายหน้าเถื่อนจะทำการส่งภาพหน้าจอที่แสดงผลการอนุมัติเงินกู้ของคนอื่นที่เคยตกเป็นเหยื่อมาให้ดูผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และจะพูดหว่านล้อมให้หลงเชื่อว่าที่ผ่านมาช่วยทำเรื่องกู้เงินให้ผ่านทุกคน
  2. ขั้นตอนการได้ข้อมูลธุรกิจและข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ พอเหยื่อเริ่มหลงเชื่อ นายหน้าเถื่อนจะถามข้อมูลเบื้องต้นก่อน เช่น มี Application ธนาคารหรือไม่ ประวัติการกู้ที่ผ่านมามีการจ่ายชำระตรงตามเงื่อนไขหรือไม่ (ในหลายๆ กรณีข้อมูลของคนที่ต้องการกู้ยังติดประวัติเป็นหนี้ NPL อยู่ แต่นายหน้าเถื่อนก็จะให้ทำเรื่องขอกู้ไปก่อน แม้นายหน้าเถื่อนจะรู้ว่าอาจถูกธนาคารปฏิเสธการขอกู้ก็ตาม เพราะเรื่อง NPL เป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ธนาคารกำหนดในการพิจารณาอนุมัติเงินกู้) รวมถึงข้อมูลยอดซื้อหรือรายได้ กำไร และการหมุนเวียนบัญชีธนาคารของธุรกิจ
  3. ขั้นตอนการเรียกเงินปากถุงหรือค่าหัวคิว เมื่อผ่าน 2 ขั้นตอนแรก ขั้นตอนต่อไปนายหน้าก็จะหลอกเหยื่อให้โอนเงินค่าหัวคิวหรือเงินปากถุง จำนวน 10% - 30% ของ [ขอให้ระบุว่า 10% - 30% ของเงินอะไร เช่น จำนวนเงินที่ขอกู้ เป็นต้น] มาให้ก่อน โดยอ้างว่าจะต้องนำเงินจำนวนนี้ไปแบ่งให้กับเจ้าหน้าที่ธนาคารที่ทำเรื่องอนุมัติเงินกู้ให้ (ในส่วนนี้เป็นการแอบอ้าง เพราะธนาคารจะใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นส่วนหนึ่งเพื่อพิจารณาอนุมัติสินเชื่อด้วย) เช่น ถ้าต้องการกู้ 100,000 บาท ต้องไปหาเงินและโอนให้ก่อน 30,000 บาท ถ้าไม่โอนมาให้ก่อนจะไม่ช่วยทำเรื่องขออนุมัติเงินกู้ให้ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะหลงเชื่อไปหาเงินและโอนให้นายหน้าก่อน เมื่อก่อนนายหน้าเถื่อนจะให้โอนเงินหลังจากที่ได้รับเงินกู้แล้ว แต่มีปัญหาเพราะผู้กู้ไม่ยอมโอนเงินให้หลังจากที่ได้รับการเงินกู้แล้ว ทำให้ในช่วงหลังนายหน้าเถื่อนจะให้โอนเงินมาให้นายหน้าก่อนเท่านั้นถึงจะช่วยดำเนินการเรื่องขออนุมัติกู้เงินให้
  4. ขั้นตอนช่วยกรอกใบสมัคร เมื่อคนที่ต้องการจะกู้เงินหลงเชื่อและโอนเงินให้กับนายหน้าเถื่อนแล้ว นายหน้าเถื่อนก็จะเริ่มกรอกข้อมูลให้ผ่านการกู้เงินออนไลน์ หากได้รับการอนุมัติและเซ็นสัญญาแล้ว ธนาคารจะทำการโอนเงินให้แก่ผู้กู้ ถือว่านายหน้าเถื่อนจบงาน แต่หากทำเรื่องกู้เงินไม่ผ่าน นายหน้าเถื่อนบางคนจะคืนเงินให้บางส่วนไม่คืนให้ทั้งหมด เพราะอ้างว่าเป็นค่าเสียเวลา หรือบางคนถือโอกาสไม่คืนทั้งจำนวน แถมยังบล็อกช่องทางการติดต่อทุกทาง ทำให้ผู้กู้ต้องเสียเงินฟรี แถมยังต้องเป็นหนี้เพิ่มจากการต้องไปกู้เงินเพื่อมาจ่ายค่าหัวคิวหรือเงินปากถุง

ความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้บริการนายหน้าเถื่อนหรือนายหน้ามิจฉาชีพมีอะไรบ้าง

การใช้บริการนายหน้าเถื่อนหรือนายหน้ามิจฉาชีพ นอกจากต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่หลายๆ คนไม่รู้หรือคิดไม่ถึง เช่น

  1. ข้อมูลสำคัญของตัวเองรั่วไหล เช่น เลขที่บัตรประชาชน รหัสหลังบัตรประชาชน ข้อมูลรายได้ ข้อมูลที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีโอกาสถูกนำไปใช้ในทางทุจริต หรือถูกนำไปขายให้บุคคลอื่น รวมถึงแก๊งค์คอลเซนเตอร์
  2. เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ถูกเรียกเก็บค่าดำเนินการ (ค่าหัวคิว หรือเงินปากถุง) โดยต้องจ่ายก่อนถึงจะช่วยทำเรื่องขออนุมัติเงินกู้ให้ แทนที่จะได้ใช้เงินเต็มๆ แต่กลับต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ในบางครั้งกู้ไม่ผ่านก็ไม่คืนเงินด้วย แถมยังโดนบล็อคทุกช่องทาง ทำให้ติดต่อไม่ได้
  3. เสี่ยงถูกหลอกโอนเงินออกหมดบัญชี โดยใช้การ VDO Call มาแล้วหลอกให้ติดตั้งโปรแกรมบังคับหน้าจอ แล้วขโมยเงินออกจากบัญชีไปหมด โดยที่ผู้เสียหายไม่รู้ตัว
  4. เสี่ยงกู้เงินจากเจ้าหนี้นอกระบบ ที่มิใช่ธนาคาร ด้วยความไม่รู้แล้วไปคลิ๊ก link ที่ถูกส่งมาจาก SMS หลอกลวง ซึ่งมีความเสี่ยงจากการถูกตามหนี้โหด ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
  5. เข้าร่วมขบวนการมิจฉาชีพโดยไม่รู้ตัว ในหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นผู้เสียหายมักถูกกลุ่มนายหน้าเถื่อนหรือนายหน้ามิจฉาชีพ หลอกให้ส่งเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการขอกู้เงินมาให้ดูก่อน เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ทะเบียนการค้า รายการเดินบัญชีธนาคาร (Statement) เป็นต้น จากนั้นนายหน้าเถื่อนหรือนายหน้ามิจฉาชีพ จะทำการปลอมแปลงเอกสารต่างๆ โดยที่ผู้เสียหายไม่รู้ตัว แล้วนำไปกู้เงินจากธนาคาร และเมื่อธนาคารรู้ว่าเป็นการทุจริตก็อาจแจ้งดำเนินคดีอาญา และจะทำการขึ้นบัญชีดำไว้ (Watch list) ทำให้ในอนาคตไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้

จะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่ตนติดต่ออยู่เป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่แท้จริงหรือไม่

เนื่องจากในปัจจุบันมี link เถื่อนหลอกลวงให้กู้เงินเป็นจำนวนมาก ทำให้คนที่ต้องการจะกู้เงินสับสนไม่รู้ว่ารายไหนเป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่แท้จริง รายไหนเป็นนายหน้าเถื่อน ซึ่งผู้ที่ต้องการจะกู้เงินสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการทางการเงินได้จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่นี่ ซึ่งจะมีการแจ้งรายชื่อสถาบันการเงิน และรายชื่อ Non-bank ให้ผู้ที่ต้องการจะกู้เงินสามารถตรวจสอบ

สำหรับธนาคารกสิกรไทย สามารถตรวจสอบได้จาก เว็บไซต์ ในส่วนของสังคมออนไลน์ ได้แก่

  1. Facebook : KBank Live
  2. Line@ : KBankLive
  3. Instargram : Kbanklive
  4. Twitter : KBank_Live
  5. Mobile : K PLUS
  6. SMS : KBank

นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรของธนาคารกสิกรไทย เช่น LineBK, Dolfin Money

การใช้บริการนายหน้าหรือนายหน้ามิจฉาชีพมีความเสี่ยงหลายๆ เรื่องที่คนที่ต้องการจะกู้เงินคาดไม่ถึง และอาจตกเป็นผู้ร่วมขบวนการทุจริตโดยไม่รู้ตัว ทำให้ถูกดำเนินคดีอาญาและถูกขึ้นบัญชีดำ (Watch list) ซึ่งทำให้ในอนาคตการขอกู้เงินจะทำได้ยาก หากไม่มั่นใจว่าคนที่ตนพูดคุยด้วยเป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่แท้จริงหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ข้างต้น หรือหากอยากกู้เงินกับ KBank แต่ไม่มั่นใจ สามารถปรึกษาได้ที่ LINE @kbanklive หรือโทรสายด่วน 02-8888888 กด 8 กด 1 กด 4 หรือติดต่อได้ที่สาขาของธนาคารที่ท่านสะดวก

สนใจบทความที่ช่วยให้คุณรู้จริงเรื่องกู้

คลิกเลย

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

back to top