เจาะลึกเทคนิคการใช้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
หลายคนมีทัศนคติที่ไม่ดีในการใช้บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล (บัตรเงินด่วน และสินเชื่อเงินด่วน) โดยมองว่าเป็นสินเชื่อเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายซึ่งนำไปสู่ภาวะที่ทำให้คนใช้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจนทำให้เป็นหนี้เสีย ในที่สุด จากการสัมภาษณ์คนที่เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ พบว่า หลายคนไม่รู้จักวิธีการใช้งานบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมักนำไปใช้ไม่ถูกต้อง เช่น ซื้อสินค้าทุกอย่างที่อยากได้โดยไม่สนใจว่าจะมีเงินพอจ่ายหรือไม่, นำไปกดเงินสดจากบัตรเครดิต, ผ่อนชำระขั้นต่ำมาโดยตลอด หรือกดเงินสดจากบัตรเงินด่วนออกมาทั้งก้อน แล้วผ่อนชำระขั้นต่ำมาโดยตลอดเช่นกัน ดังนั้น เพื่อให้การใช้งานเกิดประโยชน์สูงสุด ควรศึกษาแนวทางการใช้งานให้ละเอียดก่อนใช้งาน
แนวทางการเลือกใช้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล
ก่อนอื่นผู้ใช้ควรเลือกบัตรเครดิตให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของตนเอง ปัจจุบันบัตรเครดิตมีให้เลือกหลายประเภท ส่วนสินเชื่อบุคคลแบ่งออกเป็นบัตรเงินด่วนกับสินเชื่อเงินด่วน ซึ่งมีวิธีการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังนั้น ก่อนสมัครใช้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล อยากชวนมาทำความเข้าใจถึงวิธีการเลือกใช้สินเชื่อประเภทนี้ก่อนว่ามีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร
บัตรเครดิต* เหมาะกับผู้ที่ใช้จ่ายแทนเงินสด โดยพร้อมชำระเงินคืนเต็มจำนวนเมื่อครบกำหนดมีให้เลือกทั้งแบบเงินคืนกับแบบสะสมแต้ม นอกจากนี้บัตรเครดิตมีให้เลือกอีกหลายประเภทขึ้นกับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งาน เช่น บัตรสำหรับคนชอบช็อปปิ้งออนไลน์ หรือชอบช็อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้า หรือชอบใช้บริการปั๊มน้ำมัน หรือชอบดื่มกาแฟ หรือชอบเดินทางไปต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น
การเลือกบัตรเครดิตให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ จะมีประโยชน์กับผู้ใช้อย่างมาก นอกจากจะได้คะแนนสะสมจากการใช้งานแล้ว ยังได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ขึ้นกับประเภทบัตรที่มอบให้ เช่น โค้ดส่งฟรี, บริการที่จอดรถฟรีสูงสุด 6 ชั่วโมง, โปรโมชั่นซื้อกาแฟ 1 แถม 1 เป็นต้น สำหรับผู้ใช้ที่มีไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย สามารถสมัครใช้บริการบัตรเครดิตได้หลายประเภทเช่นกัน แต่วงเงินที่ได้รับอนุมัติเป็นวงเงินเดียวกัน
บัตรเงินด่วน (Xpress Cash)** เป็นวงเงินสดสำรองพร้อมใช้ทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เหมาะกับคนที่ต้องการใช้เงินก้อนเล็ก แต่อาจต้องการใช้บ่อยๆ หรือใช้เป็นประจำ ซึ่งหากต้องการใช้สามารถเบิกเงินสดได้ทันทีผ่านตู้ ATM ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่กำหนดจำนวนเงินสดขั้นต่ำที่เบิกถอนได้และไม่มีค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินสด ต่างจากบัตรเครดิตที่มีค่าธรรมเนียมการเบิกเงินสด 3% และ จำนวนเงินที่เบิกถอนในแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท (กรณีไม่ได้เข้าโปรแกรม KBank Smart CASH)
แนะนำให้สมัครบัตรเงินด่วนไปพร้อมกับการสมัครบัตรเครดิต ซึ่งสินเชื่อทั้ง 2 ประเภทมีวงเงินแยกออกจากกัน สำหรับบัตรเงินด่วน ถ้าไม่เบิกใช้ไม่เสียดอกเบี้ย และจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ หากซื้อสินค้าที่มีการจัดโปรโมชั่นผ่อน 0% สามารถผ่อนได้นานสูงสุด 36 เดือน ซึ่งบัตรเครดิต หากจัดโปรโมชั่นผ่อน 0% สามารถได้นานสูงสุด 3-10 เดือน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย
สินเชื่อเงินด่วน (Xpress Loan)*** หรือสินเชื่อเงินก้อน เป็นสินเชื่อที่เหมาะกับคนที่ต้องการใช้เงินก้อนใหญ่เพียงก้อนเดียว เช่น ต้องการเงินไปปรับปรุงหรือซ่อมแซมบ้านพักอาศัย หรือร้านค้า นำเงินไปจ่ายค่าเซ้งร้านค้าหรือเซ้งแผงค้า นำเงินไปซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เข้าร้านค้า เป็นต้น
หากความต้องการใช้เงินแบ่งออกเป็นหลายก้อน (ไม่ได้ต้องการใช้ทั้งก้อนภายในครั้งเดียว) จากตัวอย่างเดิม ต้องการปรับปรุงหรือซ่อมแซมบ้านพักอาศัย แต่ทยอยทำเป็นช่วงๆ เช่น เดือนนี้ต้องการซ่อมหลังคา อีกสองเดือนต่อมาต้องการเปลี่ยนสายไฟและเปลี่ยนปลั๊กไฟใหม่หมด จากนั้นอีกห้าเดือนต้องการปรับปรุงห้องน้ำใหม่ เป็นต้น หากความต้องการใช้เงินเป็นลักษณะนี้การใช้บัตรเงินด่วนมีความเหมาะสมกว่าสินเชื่อเงินด่วน เพราะบัตรเงินด่วนคิดดอกเบี้ยตามยอดที่เบิกใช้จริง ส่วนสินเชื่อเงินด่วนคิดดอกเบี้ยทันทีทั้งจำนวนเมื่อธนาคารได้โอนเงินเข้าบัญชี ถึงแม้ยังจะยังไม่ได้นำเงินมาใช้ประโยชน์ก็ตาม
วิธีการใช้บัตรเครดิตและสินเชื่อเงินด่วน
เมื่อได้รู้ถึงแนวทางการเลือกใช้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลกันให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนแล้ว ต่อไปเป็นวิธีการใช้งานบัตรเครดิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด และวิธีการใช้สินเชื่อบุคคลให้เสียดอกเบี้ยน้อยที่สุดว่ามีวิธีการใช้งานอย่างไรบ้าง
บัตรเครดิต ควรใช้เท่าที่จำเป็น เช่น ใช้ซื้อสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำ ควรเลี่ยงการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหรือใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ป้องกันการเป็นหนี้โดยไม่จำเป็น ซึ่งการใช้บัตรควรใช้หลังจากวันสรุปยอด เช่น สรุปยอดทุกวันที่ 15 ของเดือน ควรใช้หลังวันที่ 15 เพื่อที่จะได้ไปชำระเงินอีกครั้งในวันที่ 30 ของเดือนถัดไป ได้รับเครดิตเทอมสูงสุด 45 วัน โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่ต้องชำระเต็มจำนวน และชำระให้ตรงวันที่เรียกเก็บ เพราะหากชำระไม่เต็มจำนวน จะถูกคิดดอกเบี้ยตั้งแต่บาทแรกที่ใช้ และถ้าชำระไม่ตรงด้วย ต้องเสียค่าปรับเพิ่มเติมด้วย
นอกจากนี้ ทุกการใช้จ่ายในแต่ละครั้งจะได้รับเงินคืนหรือคะแนนสะสมขึ้นกับประเภทบัตรที่เลือกใช้ ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่ตามมาจากการใช้บัตร ถ้าเป็นคะแนนสะสมเมื่อถึงจุดที่ผู้ใช้พอใจสามารถนำมาแลกเป็นส่วนลดหรือแลกเป็นเงินคืนเข้าบัตรได้ เช่น ทุก 1,000 คะแนน มีค่า 100 บาท (โปรดตรวจสอบเงื่อนไขทุกครั้งก่อนการแลกคะแนนสะสม)
สำหรับโปรโมชั่นผ่อน 0% ระยะเวลา 3-10 เดือน ก่อนการใช้บัตร ควรสอบถามคนขายก่อนหากใช้เงินสดมีส่วนลดหรือของแถมพิเศษเพิ่มเติมหรือไม่ หากมีต้องลองมาเทียบว่าระหว่างการใช้บัตรหรือซื้อเงินสดแบบใดคุ้มค่ากว่ากัน
ข้อควรรู้ การเบิกเงินสดจากบัตรเครดิต จะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการเบิกใช้ 3% และจำนวนเงินที่เบิกถอนต้องไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท ยกเว้น ถ้าเข้าโปรแกรม KBank Smart CASH ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการเบิกใช้ 3%
บัตรเงินด่วน (Xpress Cash) ควรใช้ยามฉุกเฉินหรือใช้เมื่อยามจำเป็น และควรเบิกใช้เท่าที่จำเป็นต้องใช้ อย่าเบิกมาเกินความจำเป็น และเมื่อมีเงินเหลือเพียงพอสามารถชำระคืนได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนดก่อนแล้วค่อยชำระคืน เพื่อช่วยประหยัดดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายได้อย่างมาก
ตัวอย่างเช่น เงินเดือนออกวันที่ 30 ประมาณวันที่ 20 เงินขาดมือหรือช็อตเงินในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อมีรายได้เข้ามา สามารถชำระคืนเงินต้นที่เบิกมาได้ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ปกติต้องใช้เงินวันละ 500 บาท ระยะเวลา 10 วัน จึงได้เบิกเงินมาใช้ จำนวน 5,000 บาท และมีกำหนดชำระคืนทุกวันที่ 10 ของเดือน หากคิดดอกเบี้ยในอัตรา 25% ต่อปี ระยะเวลา 20 วัน ต้องเสียดอกเบี้ย จำนวน 68.49 บาท (มาจากเงินต้น 5,000 บาท X อัตราดอกเบี้ย 25% ต่อปี X ระยะเวลา 20 วัน ÷ 365 วัน) แต่หากเคสนี้เปลี่ยนแปลงวิธีการเบิกเงินออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกวันที่ 20-24 เบิกใช้ 2,500 บาท ช่วงที่สองวันที่ 25-29 เบิกใช้อีก 2,500 บาท จากนั้นวันที่ 30 เงินเดือนออกนำเงินไปชำระคืนทันที ต้องเสียดอกเบี้ย จำนวน 25.68 บาท (มาจากเงินต้นช่วงแรก 2,500 บาท X อัตราดอกเบี้ย 25% ต่อปี X ระยะเวลา 10 วัน ÷ 365 วัน = 17.12 บาท มาจากเงินต้นช่วงที่สอง 2,500 บาท X อัตราดอกเบี้ย 25% ต่อปี X ระยะเวลา 5 วัน ÷ 365 วัน = 8.56 บาท) แค่เปลี่ยนวิธีการเบิกเงิน เบิกใช้เท่าที่จำเป็น พอมีเงินเหลือให้ชำระคืนทันที เพียงเท่านี้สามารถประหยัดดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายได้เป็นจำนวนมาก จากเดิมที่ต้องเสีย 68.49 บาท เพียงเปลี่ยนวิธีการใช้และชำระคืน เสียดอกเบี้ยเพียง 25.68 บาท ประหยัดดอกเบี้ยไปได้ 42.81 บาท
สินเชื่อเงินด่วน (Xpress Loan) หรือสินเชื่อเงินก้อน ที่มีเหตุผลในการใช้เงินก้อนดังกล่าวชัดเจน เป็นสินเชื่อทีคิดดอกเบี้ยทั้งจำนวนตั้งแต่วันที่ธนาคารโอนเงินเข้าบัญชี การใช้สินเชื่อประเภทนี้ควรกู้มาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น อย่ากู้มาเผื่อเป็นจำนวนมาก เพราะจะทำให้เสียดอกเบี้ยโดยไม่จำเป็น คิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (คิดดอกเบี้ยจากยอดเงินต้นที่ลดลงในแต่ละงวด) สามารถผ่อนชำระเป็นรายงวดได้นานสูงสุด 60 งวด หรือ 5 ปี แนะนำให้เลือกผ่อนยาวไว้ก่อน จะทำให้มียอดผ่อนต่องวดที่ไม่สูง แต่หากเลือกผ่อนสั้นจะมียอดผ่อนต่องวดที่สูง
ตัวอย่างเช่น ต้องการกู้เงิน 100,000 บาท หากเลือกผ่อน 24 งวด ต้องผ่อนงวดละ 5,200 บาท แต่ถ้าเลือกผ่อน 60 งวด ต้องผ่อนงวดละ 2,800 บาท ซึ่งหากเลือกผ่อนยาว เมื่อมีเงินเหลือเพียงพอสามารถผ่อนเพิ่มหรือโปะได้ตลอดเวลา โดยสามารถโปะได้ตั้งแต่งวดแรกที่เริ่มผ่อน หากเลือกผ่อนสั้นแล้วหผ่อนไม่ไหวจะต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้มีประวัติการใช้สินเชื่อที่ไม่ดี
ข้อควรรู้ การผ่อนเพิ่มหรือโปะ ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการผ่อนจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายได้เป็นจำนวนมาก แต่ก่อนที่จะโปะต้องมั่นใจว่าไม่กระทบกับภาระค่าใช้จ่ายประจำของครอบครัว เพราะถ้าโปะไปแล้ว หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินไม่สามารถเบิกเงินมาใช้ได้ทันที หากต้องการใช้ต้องทำเรื่องขอกู้ใหม่ ซึ่งต่างจากบัตรเงินด่วน ที่สามารถเบิกใช้ได้ตลอดเวลา แต่ต้องไม่เกินวงเงินที่มี
บัตรเครดิตและสินเชื่อเงินด่วนมีหลายประเภท ควรเลือกใช้ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน และควรใช้บนพื้นฐานของความจำเป็น ไม่ควรนำไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ทำให้เป็นหนี้โดยไม่จำเป็นหรือไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งการใช้สินเชื่อในแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน ดังนั้น ควรศึกษาวิธีการใช้ทุกครั้งก่อนใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือเสียดอกเบี้ยให้น้อยที่สุด หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ LINE @kbanklive หรือ K-Contact Center 02-8888888 กด 8 กด 1 กด 4 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสอบถามผ่านสาขาของธนาคารที่สะดวกได้เช่นกัน
สนใจบทความที่ช่วยให้คุณรู้จริงเรื่องกู้
คลิกเลย