จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อจ่ายหนี้ช้า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อจ่ายหนี้ช้า

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อจ่ายหนี้ช้า

หลังจากได้รับวงเงินสินเชื่อแล้ว สิ่งที่ต้องทำหลังจากนั้น คือ ในทุกสิ้นเดือนต้องนำเงินมาเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงกันไว้ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหากมีการบริหารเงินที่ไม่ดี หรือมีเรื่องที่ไม่ได้คาดคิดเข้ามา จนทำให้ไม่มีเงินมาจ่ายหนี้ได้ทันตามเวลาที่กำหนดไว้ หรือจ่ายหนี้ช้า แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มาดูกัน

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อจ่ายหนี้ช้า

สำหรับการจ่ายหนี้ช้าไม่ว่าจะเกิดจากหมุนเงินไม่ทัน (ช็อตเงิน) หรือบางคนเกิดจากลืมจ่าย ซึ่งมักเกิดขึ้นกับบัตรเครดิต หรือบัตรเงินด่วน (Xpress Cash) การจ่ายหนี้ช้าจะมีผลเสีย 4 เรื่องด้วยกัน

  • เสียดอกเบี้ยมากขึ้น(จากอัตราดอกเบี้ยผิดเงื่อนไข) ซึ่งสินเชื่อในแต่ละประเภทมีการคิดดอกเบี้ยผิดเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น เงินกู้ (มีหลักประกัน) คิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดกรณีปกติในอัตรา MRR+5% เท่ากับ 11.85%* บวกไม่เกินร้อยละ 3 ดังนั้น หากจ่ายช้า จะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยผิดเงื่อนไข เท่ากับ 14.85%* มาจาก MRR+5%+3% (ตามประกาศธนาคารกสิกรไทย ณ 13 เม.ย.66) สำหรับดอกเบี้ยผิดเงื่อนไข จะถูกคิดจากเงินต้นของค่างวดที่ผิดนัดในงวดนั้นๆ ตัวอย่างเช่น ต้องผ่อนเดือนละ 12,000 บาท แยกเป็นเงินต้น 10,000 บาท ดอกเบี้ย 2,000 บาท (ตัวเลขสมมติ) ดังนั้น ยอดเงินที่จะถูกนำมาคิดดอกเบี้ยผิดนัดคือ 10,000 บาท ซึ่งเป็นดอกเบี้ยส่วนเพิ่มที่ไม่ควรจะต้องเสีย สามารถศึกษารายละเอียดวิธีการคิดดอกเบี้ยผิดเงื่อนไขสินเชื่อบ้านได้จาก วิธีการคิดดอกเบี้ย
  • เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เมื่อจ่ายหนี้ช้าจะมีค่าใช้จ่ายในการติดตามหนี้ตามมา ซึ่งต้องมีหนี้ค้างชำระสะสมมากกว่า 1,000 บาทขึ้นไป กรณีค้างจ่าย 1 งวด มีค่าใช้จ่ายตามหนี้ 50 บาทต่อรอบ แต่หากค้างจ่าย 2 งวดขึ้นไป มีค่าใช้จ่ายตามหนี้ 100 บาทต่อรอบ และในบางกรณีอาจมีค่าใช้จ่ายในการลงพื้นที่ 400 บาทต่อรอบ
  • เสียประวัติ หากมีการชำระล่าช้าบ่อยๆ ถึงแม้จะยังไม่เป็นหนี้เสีย หรือ NPL (หนี้ค้างชำระมากกว่า 90 วัน) ก็ตาม แต่จะทำให้ในอนาคตหากต้องการขอสินเชื่อจะทำได้ยากขึ้น ตรงนี้ลองคิดง่ายๆ หากมีเพื่อนมาขอยืมเงินเรา แต่เพื่อนคนนี้มีประวัติเรื่องเหนียวหนี้อย่างมาก ถ้าเป็นแบบนี้เราอยากจะให้ยืมหรือไม่ ???
  • เสียความรู้สึก พอมีหนี้ค้างจ่ายจะมีเจ้าหน้าที่โทรมาติดตามให้จ่ายหนี้ที่ค้างชำระอยู่ให้ครบถ้วน และเมื่อถูกโทรหาบ่อยๆ จะทำให้เกิดความเครียดสะสมได้ จนมีผลกับสุขภาพจิตในระยะยาวได้ แต่ทั้งนี้วิธีปฏิบัติในการทวงหนี้จะอยู่ภายใต้ พรบ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ พรบ-การทวงถามหนี้

ข้อควรรู้ : อัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ธนาคารเรียกเก็บ เป็นอัตรามาตรฐาน มีประกาศไว้อย่างชัดเจน ซึ่งมีติดประกาศในที่ทำการสาขา อีกทั้ง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถศึกษารายละเอียดได้จาก อัตราดอกเบี้ย *โปรดตรวจสอบอัตราดอกเบี้ยผิดเงื่อนไข ค่าปรับ ค่าใช้จ่ายก่อนทุกครั้ง

ทำอย่างไรให้จ่ายหนี้ได้ทันตามกำหนด

เมื่อรู้ถึงสาเหตุและผลเสียของการจ่ายหนี้ล่าช้าแล้ว ทีนี้มาดูกันต่อว่าจะต้องทำอย่างไรให้จ่ายหนี้ได้ทันตามกำหนด

สาเหตุการจ่ายหนี้ล่าช้า

กรณีเกิดจากลืมชำระ เหตุการณ์นี้มักพบบ่อยๆ กับสินเชื่อประเภทบัตรเครดิต หรือบัตรเงินด่วน (Xpress Cash) ซึ่งจะทำให้ต้องมาเสียดอกเบี้ยผิดเงื่อนไขและค่าใช้จ่ายทวงหนี้โดยที่ไม่จำเป็น เพราะมีเงินที่พร้อมจะจ่ายหนี้ไว้แล้ว สำหรับสาเหตุนี้แบ่งออกเป็น 2 กรณีย่อย

  1. ใช้วิธีการจ่ายเองผ่าน KPLUS หรือเคาน์เตอร์สาขาของธนาคาร แสดงว่าเงินสดอาจจะตึงมืออยู่บ้าง แต่ยังจ่ายไหวอยู่ แนะนำให้ตั้งค่า “แจ้งเตือน” หรือ “alert” ที่โทรศัพท์มือถือ ควรตั้งแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนถึงวันครบกำหนด 3-5 วัน เพื่อเตือนให้ต้องไปจ่าย จากนั้น หากเริ่มหมุนเงินคล่องขึ้น แนะนำให้ทำหักบัญชีอัตโนมัติเพื่อชำระหนี้ ป้องกันการลืมจ่าย สามารถติดต่อขอใช้บริการผ่าน K-Contract Center โทร.02-888-8888 หรือติดต่อได้ที่สาขาของธนาคารที่สะดวก
  2. ทำหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติไว้แล้ว และมีเงินเข้าในบัญชีอื่น แนะนำให้ ใช้วิธีการตั้งเวลาโอนเงินอัตโนมัติ จากบัญชีที่เงินเข้า มาเข้าบัญชีที่ชำระหนี้ด้วยการหักบัญชีอัตโนมัติแล้ว เพื่อป้องกันการลืมจ่ายเช่นกัน ซึ่งใน K-PLUS จะมีเมนูไว้รองรับบริการดังกล่าว สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ วิธีการหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ

กรณีหมุนเงินไม่ทัน (ช็อตเงิน) เรื่องนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ส่วนใหญ่จ่ายหนี้ล่าช้า ซึ่งมักจะเกิดมาจาก 1) มีค่าใช้จ่ายจากเหตุฉุกเฉินที่ไม่ได้วางแผนไว้ ในมุมธุรกิจ เช่น เกิดการทุจริตภายในบริษัท หรือในมุมบุคคล เช่น คนในครอบครัวต้องเข้าโรงพยาบาลด่วน หรือเกิดจาก 2) รายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ในมุมธุรกิจ เช่น ลูกค้าลดปริมาณการสั่งซื้อสินค้าลง ในมุมบุคคล เช่น ที่ทำงานมีนโยบายปรับลดโอ.ที. ทำให้มีรายได้ลดลงตามไปด้วย สำหรับสาเหตุนี้จะแบ่งได้ออกเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย

  1. สาเหตุระยะสั้น แนะนำให้ทำวงเงินสำรองไว้ เช่น บัตรเงินด่วน (Xpress Cash) หรือเงินหมุน (กู้เบิกเกินบัญชี) หากเกิดเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงินด่วน สามารถเบิกเงินสำรองออกมาใช้ได้ทันที แต่ตรงนี้ต้องมีวงเงินไว้ก่อนแล้ว เพราะถ้ายังไม่มีวงเงิน หากเกิดเหตุจริงๆ ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 1-3 สัปดาห์ ขึ้นกับประเภทสินเชื่อที่ไปสมัครใช้บริการ ในการสมัครสินเชื่อก่อน
  2. สาเหตุระยะยาว แนะนำให้เปิดใจเข้าไปคุยกับธนาคาร เพื่อแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยให้เตรียมข้อมูลรายรับ-รายจ่าย ภาระหนี้สินต่างๆ ที่มี เพื่อจะได้หาทางออกร่วมกัน (ภายใต้แนวทาง Win-Win ทั้ง 2 ฝ่าย) เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ เช่น เปลี่ยนประเภทสินเชื่อจากหนี้เงินหมุน เป็นหนี้เงินก้อนแล้วทยอยผ่อนชำระ หรือ ปรับยอดผ่อนน้อยๆ ในช่วงที่มีปัญหา พอผ่านไปสักระยะค่อยผ่อนเพิ่มมากขึ้น หรือ ขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระ เป็นต้น ซึ่งแนวทางมีหลายแบบขึ้นกับสถานการณ์ของแต่ละคน

คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการบริหารเงิน เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระ

สาเหตุการจ่ายหนี้ล่าช้า

เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระล่าช้า :

  1. ควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 6-12 เท่าของค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงิน จะสามารถนำเงินออกมาใช้ได้ทันที ซึ่งในมุมของธุรกิจเงินสำรองฯ มีไว้เพื่อรองรับกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าใช้จ่ายในการผลิตหรือค่าใช้จ่ายในการซื้อของมาขาย เงินเดือน ค่าแรง ค่าเช่า ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และค่าผ่อนหนี้ เป็นต้น หากไม่มีเงินส่วนนี้จะทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักได้ และทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจ เช่น ลูกค้าเราไปซื้อของกับคู่แข่งโดยไม่กลับมาซื้อจากเราอีก ถึงแม้จะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ

    ในส่วนของบุคคลก็เช่นกันต้องมีเงินสำรองฯ ไว้เพื่อรองรับกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าแก๊ส ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และค่าผ่อนหนี้ เป็นต้น หากไม่มีเงินก้อนนี้ ก็ต้องไปหยิบยืมจากคนอื่นหรือไปยืมจากพวกเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบ ทำให้ต้องเข้าสู่วงจรอุบาทว์

  2. หาทางปรับลดค่าใช้จ่ายบางอย่างลงมา เพื่อทำให้มีเงินสดเข้ามาไว้ใช้จ่ายในระยะยาว สำหรับค่าใช้จ่ายของธุรกิจที่สามารถปรับลดลงได้ ได้แก่ การลดค่าใช้จ่ายพลังงาน เช่น การติดโซล่าร์รูฟท็อป ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ที่นี่ การเปลี่ยนมาใช้หลอด LED หรือลดค่าใช้จ่ายด้านพนักงาน เช่น การจ้าง outsource หรือฟรีแลนซ์ เพื่อมาทำงานแทนในบางตำแหน่ง เช่น พนักงานรับส่งเอกสาร หรือควบคุมปริมาณ โอ.ที. ไม่เกินกี่ชั่วโมงต่อเดือน เป็นต้น ซึ่งการลดค่าใช้จ่ายต้องทำด้วยความระมัดระวังอย่าให้กระทบกับคุณภาพสินค้าหรือคุณภาพชีวิตของพนักงาน

    ในส่วนของบุคคล ควรปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและฟุ่มเฟือยบางอย่างลงมา ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการสันทนาการต่างๆ เช่น ตีกอล์ฟเดือนละ 4 ครั้ง ปรับลดลงให้เหลือเดือนล 2 ครั้ง หรือปรับลดแพ็คเกจโทรศัพท์มือถือลงเท่าที่จำเป็นต้องใช้ หรือลดปริมาณการทานข้าวนอกบ้าน หรือปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การทานกาแฟ เป็นต้น

  3. หาทางเพิ่มรายได้ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้มีเงินในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้น สำหรับในมุมธุรกิจที่นิยมใช้กัน เช่น การเพิ่มประเภทสินค้าให้มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น หรือการเพิ่มช่องทางการขายให้หลากหลาย โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ เช่น Website, Facebook, IG เป็นต้น เพื่อรองรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ชอบความสะดวกสบาย

    ในมุมบุคคล กรณมีงานประจะทำ แนะนำให้หางานพิเศษทำนอกเวลา เช่น ไบค์เกอร์ส่งอาหาร เพื่อไม่กระทบกับงานประจำ หรือบางคนไลฟ์สดขายสินค้าใหม่หรือสินค้ามือสอง เช่น เสื้อผ้า, กระเป๋า, รองเท้า เป็นต้น ซึ่งหลายๆ คนทำจากงานเสริมจนกลายเป็นงานประจำแทน มีรายได้เข้ากระเป๋าทุกวัน

  4. หลีกเลี่ยงการกู้เงินนอกระบบ เพื่อมาใช้จ่ายหนี้ ซึ่งจะทำให้เข้าสู่วงจรอุบาทว์ เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว เสี่ยงต่อการถูกทวงหนี้โหด ถูกประจาน ถูกขู่ และถูกทำร้ายร่างกายตามที่ได้เห็นกันในข่าวบ่อยๆ

    สาเหตุของการจ่ายหนี้ช้า เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ ลืมจ่าย กับหมุนเงินไม่ทัน (ช็อตเงิน) ซึ่งจะมีผลเสียตามมาหลายอย่าง ไม่ว่าจะต้องเสียดอกเบี้ยมากขึ้น(เสียในอัตราผิดเงื่อนไข) เสียค่าใช้จ่ายในการตามหนี้ เสียประวัติ และเสียความรู้สึก

หากเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา สามารถแก้ไขได้โดยการเปิดใจเข้ามาคุยกับธนาคาร เพื่อจะได้วางแผนแก้ไขสถานการณ์ร่วมกัน สำหรับช่องทางการติดต่อธนาคารกสิกรไทย สามารถสอบถามได้ที่ LINE @kbanklive หรือ K-Contact Center 02-8888888 กด 8 กด 1 กด 4 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อผ่านสาขาของธนาคารที่สะดวกได้เช่นกัน หากมีหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันกับหลายสถาบันการเงิน สามารถใช้บริการของคลีนิคแก้หนี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริการของคลีนิคแก้หนี้

สนใจบทความที่ช่วยให้คุณรู้จริงเรื่องกู้

คลิกเลย

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

back to top