ทำไมกู้ซื้อบ้านและรถแล้วต้องทำประกัน?
การขอสินเชื่อจากธนาคารเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่ต้องการใช้เงิน ซึ่งผู้ขอสินเชื่อเลือกได้ว่าจะเสนอรถหรือบ้านมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และเมื่อนำหลักทรัพย์มาค้ำประกันต้องมีการทำประกันด้วย และในบางกรณีเจ้าหน้าที่จะมีการนำเสนอประกันคุ้มครองวงเงินสินเชื่อให้เป็นทางเลือกอีกด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ทำให้หลายคนมักเข้าคลาดเคลื่อนว่าเมื่อมาขอสินเชื่อต้องถูกบังคับให้ทำประกันต้องหลายประเภท และมักถูกนำไปตั้งเป็นคำถามในสื่อสังคมออนไลน์ในหัวข้อ “ขอสินเชื่อต้องทำประกันอะไรบ้าง” ดังนั้น เพื่อความเข้าใจถูกต้องขออธิบายแยกเป็น 2 กรณี ดังนี้
ขอสินเชื่อต้องทำประกันอะไรบ้าง
กรณีที่ 1 ประกันที่ต้องทำหรือบังคับทำเมื่อขอสินเชื่อ จะขึ้นกับผู้ขอสินเชื่อว่านำหลักทรัพย์ประเภทใดมาใช้ค้ำประกัน เช่น
สินเชื่อที่ใช้รถมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น สินเชื่อรถใหม่และรถมือสอง หรือสินเชื่อรถช่วยได้ สินเชื่อประเภทนี้ประกันที่ต้องทำประกอบด้วย
- ประกันภัยภาคบังคับ หรือที่นิยมเรียกกันว่า พรบ. ประกันประเภทนี้กฏหมายบังคับให้รถทุกคันต้องทำ ไม่ว่าจะขอสินเชื่อหรือไม่ก็ตาม
- ประกันภัยภาคสมัครใจ หรือที่นิยมเรียกกันว่า ประกันชั้น 1,2+,2,3+,3 หากขอสินเชื่อธนาคารจะกำหนดเงื่อนไขให้ต้องทำประกันชั้น* 1, 2+ หรือ 2 อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยต้องทำประกันให้ครอบคลุมมูลค่ารถ (ทำเต็มทุนประกัน)
สินเชื่อที่ใช้บ้านมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น สินเชื่อธุรกิจ, สินเชื่อบ้าน, สินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์และสินเชื่อบ้านช่วยได้ เป็นต้น หากเป็นสินเชื่อประเภทนี้ต้องทำประกันอัคคีภัย โดยต้องทำประกันให้ครอบคลุมมูลค่าบ้าน (ทำเต็มทุนประกัน) แนะนำให้เพิ่มความคุ้มครองทรัพย์สินภายในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะหากเกิดความเสียหายจากไฟไหม้เพียงเล็กน้อย เช่น ไฟไหม้ชุดรับแขกเสียหาย ในกรณีนี้จะสามารถเบิกค่าสินไหมทดแทนได้
สำหรับประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจและประกันอัคคีภัย ผู้ขอสินเชื่อสามารถเลือกได้ที่จะทำประกันกับบริษัทใดก็ได้ตามที่ต้องการ แต่ต้องแจ้งชื่อผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์เป็นชื่อธนาคาร และต้องนำส่งกรมธรรม์ให้กับธนาคารภายใน 30 วันนับจากวันที่ครบกำหนด รวมทั้งกรมธรรม์ปีต่ออายุ ในกรณีนี้แนะนำให้ทำประกันกับบริษัทประกันที่เป็นพันธมิตรกับธนาคาร เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและไม่เป็นภาระกับผู้ขอสินเชื่อในเรื่องต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
ข้อควรรู้ เกี่ยวกับการทำประกันภัย (ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ และประกันอัคคีภัย)
- การทำประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง1 ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ขอสินเชื่อ ต้องทำประกันให้ครอบคลุมมูลค่าทรัพย์สิน ตัวอย่างเช่น รถยนต์ มูลค่า 300,000 บาท ต้องทำประกันภัยทุน 300,000 บาท หรือบ้าน มูลค่า 2,000,000 บาท (ไม่รวมมูลค่าที่ดิน) ต้องทำประกันทุน 2,000,000 บาท หากไม่ทำเต็มมูลค่า เช่น ทำประกันเพียงครึ่งหนึ่งของมูลค่า บ้านมูลค่า 2,000,000 ทำประกันทุน 1,000,000 บาท หากเกิดไฟไหม้มีมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง 500,000 บาท ประกันจะจ่ายค่าสินไหมครึ่งหนึ่ง เท่ากับ 250,000 บาท ไม่จ่ายเต็มมูลค่าความเสียหาย เพราะถือว่าผู้เอาประกันภัยหรือผู้ขอสินเชื่อร่วมรับความเสี่ยงภัยด้วย ซึ่งบริษัทประกันจะจ่ายตามสัดส่วนที่ได้ทำประกันภัยไว้
- การทำประกันภัยสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง เช่น บ้านมูลค่า 2,000,000 บาท ต้องทำประกันทุน 4,000,000 บาท โดยแยกทำกับประกันภัย ABC ทุน 2,000,000 บาท และประกันภัย XYZ ทุนอีก 2,000,000 บาท (บริษัทประกันจะไม่รับทำประกันภัยเกินมูลค่าที่แท้จริง) หากเกิดไฟไหม้เสียหายทั้งหลัง ในกรณีนี้จะได้รับค่าสินไหมทดแทน ไม่เกิน 2,000,000 บาท จากประกันแห่งใดแห่งหนึ่ง หรือทั้งสองแห่งเฉลี่ยความรับผิดชอบกัน ดังนั้น การทำประกันภัยสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงจะไม่เกิดประโยชน์ เพราะประกันจะจ่ายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินกว่ามูลค่าของบ้าน เพิ่มคำแนะนำว่า ให้ทำประกันใกล้เคียงมูลค่าที่แท้จริง (70%) จะทำให้ได้ประโยชน์สูงสุด
กรณีที่ 2 ประกันที่สามารถเลือกทำเพิ่มได้เมื่อขอสินเชื่อ ได้แก่ ประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ (MRTA** หรือ LRTA***) ผู้ขอสินเชื่อสามารถเลือกได้ที่จะทำหรือไม่ทำ หากไม่ทำก็จะไม่มีผลใดๆ ต่อการพิจารณาสินเชื่อของธนาคาร แต่หากจะบอกว่าประกันประเภทนี้มีข้อที่น่าสนใจอยู่หลายประการ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจที่จะทำหรือไม่ทำประกันประเภทนี้ อยากให้ใช้ตัวช่วยหรือเช็คลิสต์ในการตัดสินใจ ดังนี้
- รายได้ที่นำมาผ่อนหนี้มาจากผู้ขอสินเชื่อเป็นหลักใช่หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการกู้เดี่ยวหรือกู้ร่วมก็ตาม หากเจ้าของรายได้หลักไม่อยู่แล้ว คุณภาพชีวิตของคนที่เหลืออยู่จะแย่ลงอย่างมากหรือใช้ชีวิตด้วยความยากลำบากมากขึ้น ไม่สามารถรับผิดชอบภาระหนี้สินที่เหลือได้
- ผู้ขอสินเชื่อไม่เคยมีประกันชีวิตใช่หรือไม่ หรือถ้ามีประกันชีวิต แต่ทุนประกันที่ทำไว้ไม่สามารถครอบคลุมภาระหนี้สินที่มีทั้งหมดได้ใช่หรือไม่
- ต้องการเก็บบ้านหลังนี้ไว้ให้เป็นมรดกกับคนข้างหลังต่อไปใช่หรือไม่ คนข้างหลังในที่นี้ หมายถึงสามีหรือภรรยา บุตรธิดา พ่อแม่ พี่น้อง เป็นต้น
หากตอบว่า “ใช่” ทั้งหมด ผู้ขอสินเชื่อควรทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อไว้ เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นมาจะได้ไม่ตกเป็นภาระกับคนข้างหลัง และธนาคารจะได้ส่งมอบบ้านคืนให้กับทายาทต่อไป สำหรับประกันประเภทนี้ผู้ขอสินเชื่อสามารถขอกู้เงินมาชำระค่าเบี้ยประกันได้เต็มจำนวน โดยทยอยผ่อนชำระคืนได้ไม่เกินระยะเวลาของสัญญาเงินกู้หลัก อีกทั้ง ค่าเบี้ยประกันชีวิตที่คุ้มครองเกิน 10 ปี สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประกันชั้น 1,2+,2) และประกันอัคคีภัย เป็นประกันที่ต้องทำเมื่อขอสินเชื่อ (ทำแบบใดแบบหนึ่งขึ้นกับหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน) แต่สามารถเลือกได้จะทำกับบริษัทประกันแห่งใด ส่วนประกันคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ ไม่บังคับให้ทำและไม่มีผลใดๆ กับการพิจารณาสินเชื่อ แต่ประกันประเภทนี้มีความน่าสนใจหลายประการเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ขอสินเชื่อ หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ LINE @kbanklive หรือ K-Contact Center 02-8888888 กด 8 กด 1 กด 4 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสอบถามผ่านสาขาของธนาคารที่สะดวกได้เช่นกัน
- * โปรดตรวจสอบรายละเอียด และเงื่อนไขต่างๆ ก่อนขอสินเชื่อกับธนาคารทุกครั้ง
- ** MRTA ย่อมาจาก Mortgage Reducing Term. Assurance
- *** LRTA ย่อมาจาก Loan Reducing Term. Assurance
สนใจบทความที่ช่วยให้คุณรู้จริงเรื่องกู้
คลิกเลย