เมื่อพูดถึงเรื่องเงินๆทองๆ คงหนีไม่พ้นการทำให้เงินเติบโตด้วยผลตอบแทน และปกป้องเงินที่มีเพื่อให้ชีวิตก้าวไปข้างหน้าได้เมื่อเจอเหตุการณ์ไม่คาดคิดด้วยความคุ้มครอง
ทั้งคู่ล้วนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการลงทุนช่วยให้เงินที่มีอยู่ไม่ด้อยค่าตามเงินเฟ้อและ ยังช่วยให้เติบโตไปจนถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้แบบไม่ต้องออกแรงเก็บเงินเองมากเกินไป ส่วนประกันก็ช่วยสร้างหลักประกันให้คนในครอบครัวไว้ใช้จ่ายถ้าต้องขาดเสาหลักไป
แต่ถ้าลองมองคนรอบตัว เชื่อได้เลยว่าน้อยคนนักที่ให้ความสำคัญกับทั้งสองเรื่องพร้อมๆกัน ส่วนใหญ่ถ้าไม่ลงทุนหนักมือ ก็กลัวขาดทุนจนถือแต่ประกัน แล้วเราเป็นคนแบบไหน เหมือนคนรอบตัวที่ว่าหรือไม่
1. เน้นประกันอย่างเดียว แทบไม่ลงทุน
ถ้าเป็นคนสไตล์นี้ ก่อนอื่นต้องเช็กว่าประกันที่มีอยู่เพียงพอแล้วหรือจริงๆ ยังควรทำเพิ่มกันแน่ โดยเช็กความคุ้มครองที่มีว่าครอบคลุม 3 สิ่งนี้ หรือยัง
(1) “ภาระหนี้ที่มี” ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้ธุรกิจ
(2) “ช่วงครอบครัวปรับตัว” ไว้ใช้จ่ายได้สัก 5 ปี หรือถ้าทำธุรกิจส่วนตัวก็ต้องเผื่อเรื่องหมุนเวียนธุรกิจด้วย
(3) “เป้าหมายสำคัญ” เช่น การศึกษาบุตรจนถึงปริญญาตรี
ตัวอย่างเช่น วันนี้มีหนี้บ้านหนี้รถอยู่ 5 ล้านบาท ครอบครัวใช้จ่ายกันเดือนละ 50,000 บาท บุตรกำลังขึ้นชั้นประถมหนึ่ง เฉลี่ยค่าใช้จ่ายจนถึงจบปริญญาตรีปีละ 300,000 บาท รวมๆแล้วควรมีเงินทุนประกันภัย 12.8 ล้านบาท [= 5,000,000 + (50,000 x 60 เดือน) + (300,000 x 16 ปี)] เมื่อหักจากเงินเก็บที่มีและประกันเดิมที่มีอยู่ ทั้งประกันชีวิตและประกันคุ้มครองหนี้สิน ส่วนต่างที่เหลือคือทุนประกันภัยที่ควรทำเพิ่มด้วยประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองตลอดชีพ ที่เน้นคุ้มครองสูงเบี้ยประกันภัยต่ำ กล่าวคือ ถ้าไม่มีประกันอยู่เลยด้วยทุนประกันภัย 12.8 ล้านบาท สำหรับผู้ชายอายุ 40 ปี เบี้ยประกันชีวิตเเพื่อคุ้มครองตลอดชีพ 99/19 อยู่ทีปีละ 332,032 บาท (เบี้ยประกันภัยรวมทั้งสัญญา 6.3 ล้านบาท) เท่านั้น
ความคุ้มครองชีวิตอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องทำเงินให้งอกเงยจนถึงเป้าหมายที่ตั้งใจด้วย อย่างเป้าหมายการศึกษาบุตรหรือเกษียณอายุล้วนต้องมีการลงทุน ซึ่งปัจจุบันนี้ทางเลือกมีมากมาย หนึ่งในนั้นคือ Robo Advisor ที่เหมาะกับคนเพิ่งเริ่มต้น เพราะมีตัวช่วยจัดการเงินให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจ ด้วยการจัดเงินลงทุนเป็นพอร์ตที่กระจายในหลากหลายสินทรัพย์ นอกจากช่วยลดความผันผวนของเงินลงทุนแล้ว ยังช่วยสร้างผลตอบแทนได้แทบทุกสถานการณ์ จากสินทรัพย์ที่ลงทุนไม่ต้องเลือกกองทุนต่างๆด้วยตัวเอง หรือถ้าใครยังชินการเลือกซื้อกองทุนรวมเป็นกองๆ จะเลือกเป็นกองทุนรวมผสมที่มีนโยบายและสัดส่วน การลงทุนที่ชัดเจนก็ได้ ซึ่งไม่ว่า Robo Advisor หรือกองทุนรวมผสม สามารถลงทุนได้ง่ายๆ คลิกจบ บน Mobile Banking
2. เน้นลงทุน ประกันแทบไม่มี
ใครที่ลงทุนอยู่แล้ว ลองจัดสรรเงินมาลงทุนอีกทางเลือกหนึ่งอย่างประกันชีวิตควบการลงทุน หรือที่เรียกกันว่า Unit – linked ที่มีกองทุนให้เลือกมากมาย จากหลาย บลจ.ชั้นนำ และมีกองทุนไม่น้อยที่ได้ Morningstar 5 ดาว อีกทั้งยังสามารถเลือกลงทุนตามพอร์ตแนะนำการลงทุนตามระดับความเสี่ยง และกำหนดความถี่ในการ Rebalancing ได้ เช่น ทุก 1 ปี เพื่อรักษาสัดส่วนเงินลงทุนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงและเป้าหมายการลงทุน เรียกได้ว่า ถ้าลงทุนกับ Unit – linked แบบยาวๆ ก็ไม่น้อยหน้า Robo Advisor เลย
แบบประกัน Unit-linked เป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ ในการสร้างความคุ้มครองชีวิต เพราะจากตัวอย่างที่กล่าวไปตอนต้นเกี่ยวกับ 3 สิ่ง เพื่อเช็กความคุ้มครองชีวิตนั้น สังเกตได้ว่าแม้ปัจจุบันต้องการความคุ้มครองชีวิต 12.8 ล้านบาท แต่พอเวลาผ่านไปหนี้สินลดลง บุตรใกล้เรียนจบ ความคุ้มครองที่ต้องการย่อมลดลง ซึ่งแบบประกัน Unit-linked สามารถปรับลดทุนประกันภัยได้ เช่น ตอนอายุ 40 ปี (เพศชาย) ทำทุนประกันภัยไว้ 12.8 ล้านบาท เลือกการลงทุนที่คาดหวังอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี เบี้ยรวมปีละ 232,000 บาท แต่เมื่ออายุ 56 ปี ที่บุตรเรียนจบปริญญาและหนี้สินใกล้หมดแล้ว อาจลดทุนประกันภัย เพื่อรองรับค่าใช้จ่าย ครอบครัวในช่วง 5 ปี และหนี้สินที่ยังเหลืออยู่บ้าง เช่น คนอายุ 56 ปี สามารถลดทุนประกันภัยลงได้จนถึง 1.74 ล้านบาท หรือไม่น้อยกว่า 7.5 เท่าของเบี้ยประกันหลัก ส่วนเบี้ยประกัน 232,000 บาท ที่จ่ายหลังจากนั้น ก็จะถูกเอาไปเป็นเงินลงทุนมากขึ้น เพื่อให้ถึงเป้าหมายอื่นๆ ได้เร็วขึ้นอย่างเป้าหมายเกษียณอายุ หรือถ้าเงินในส่วนของการลงทุนโตเพียงพอแล้ว จะเลือกหยุดจ่ายเบี้ยแล้วปล่อยให้ Unit-linked จัดการเอาเงินส่วนลงทุนไปจ่ายค่าเบี้ยประกัน แทนเราก็ยังได้
ส่วนใครที่ยังไม่มีประกันสุขภาพหรือแม้มีบ้างแล้ว ก็อยากให้ลองเช็กค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลที่ใช้ประจำ ซึ่งปัจจุบันค่าห้องโรงพยาบาลเอกชนทั่วไปราคาคืนละหลายพันบาท ค่ารักษาโรคธรรมดาๆก็หลักหมื่นหลักแสน ถ้าป่วยหนักหรือเป็นโรคร้ายแรงค่ารักษาถึงหลักล้าน คงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่สำคัญอย่าลืมว่าประกันสุขภาพเป็นของที่ทำวันนี้เพื่อได้ใช้วันหน้า โดยเฉพาะตอนอายุเยอะๆ 60-80 ปี ตอนนั้นโรงพยาบาลเอกชนทั่วไป ค่าห้องอาจอยู่ที่คืนละ หลักหมื่น ยิ่งค่ารักษาไม่ต้องพูดถึง วันนี้ที่สุขภาพยังแข็งแรงและมีโอกาสทำประกันสุขภาพได้ ลองเลือกแบบที่วงเงินสูงหลักสิบล้านบาทเลยดีกว่า แต่ถ้าใครกลัวว่าค่าเบี้ยประกันสุขภาพจะแพงตอนอายุเยอะๆ ลองดูประกันสุขภาพที่แนบประกันสุขภาพ Unit-linked ที่เบี้ยประกันภัย ที่จ่ายจะไม่ขึ้นตามอายุเหมือนการซื้อแนบประกันชีวิตทั่วไป เพราะ แบบประกัน Unit-linked จะเอาเงินไปลงทุนเพื่อให้เงินโตขึ้นจนครอบคลุมเบี้ยประกันสุขภาพที่สูงขึ้นได้ อย่างค่าเบี้ยปีละ 232,000 บาท ที่ยกตัวอย่างไป ถ้าจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มเป็นปีละบาท 328,000 บาท ก็จะครอบคลุมรวมสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพ ที่ค่าห้อง 10,000 บาท วงเงินค่ารักษาพยาบาล 20 ล้านบาทไว้ด้วย และแม้หยุดจ่ายเบี้ยปีที่ 20 (เบี้ยรวม 6.2 ล้านบาท) เงินลงทุนที่เหลือก็เป็นค่าเบี้ยประกันสุขภาพได้ยาวถึงอายุ 99 ปี เลย
มาถึงตรงนี้ คงพอเห็นกันแล้วว่า วางแผนดีต้องมีทั้งความคุ้มครองและความมั่งคั่ง อยู่ที่ตนเองเป็นคนสไตล์แบบไหน ถ้าถนัดซื้อประกันเองอยู่แล้วก็เพิ่มการลงทุนด้วย Robo Advisor หรือกองทุนรวมผสม แต่ถ้าเป็นสายลงทุนอยู่แล้วลองเปลี่ยนมาลงทุนผ่าน Unit-linked ที่ได้ทั้งการลงทุนและความคุ้มครองดู
โปรดศึกษารายละเอียดความคุ้มครอง เงื่อนไขและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง
หมายเหตุ : ตัวอย่างการคำนวณสำหรับแบบประกัน Unit – linked เป็นข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2564