9 ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท ฉบับรวบรัด ครบจบ เข้าใจง่าย 9 ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท ฉบับรวบรัด ครบจบ เข้าใจง่าย

9 ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท ฉบับรวบรัด ครบจบ เข้าใจง่าย

ในปัจจุบันรายได้จากงานประจำอาจไม่ตอบโจทย์กับชีวิตของใครหลายๆ คนอีกต่อไป บ้างจึงเลือกหาอาชีพเสริมทำ ไม่ว่าจะเป็นฟรีแลนซ์ ขายของออนไลน์ ทำธุรกิจเป็นของตัวเองกันมากขึ้น แน่นอนว่าพอมีรายได้เพิ่มขึ้น ธุรกิจเริ่มเติบโตมากขึ้น สิ่งที่หลายคนกำลังมีข้อสงสัยก็คือ จะจดทะเบียนบริษัทเลยดีไหมและขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทจะยุ่งยากหรือไม่

ในบทความนี้ K-Biz จากกสิกรไทยจะมาอธิบายเกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัทแบบเข้าใจง่ายให้ทราบกัน ว่าเงื่อนไขการเปิดบริษัทนั้นมีอะไรบ้าง ต้องจดทะเบียนบริษัทที่ไหน ใช้ทุนจดทะเบียนเท่าไหร่ มาไขข้อสงสัยให้กระจ่างไปพร้อมกันในบทความนี้เลย

การจดทะเบียนบริษัทมีกี่ประเภท

การจดทะเบียนบริษัทมีกี่ประเภท

การจดทะเบียนบริษัทแบ่งออกได้ 2 ประเภท ซึ่งอ้างอิงตามเจ้าของบริษัทที่จะดำเนินการจัดตั้งบริษัทร่วมกัน ได้แก่ แบบทะเบียนพาณิชย์หรือบุคคลธรรมดากับแบบทะเบียนนิติบุคคล

สำหรับใครที่สงสัยว่าสามารถจดทะเบียนบริษัท 2 คนได้ไหม คำตอบคือ โดยปกติแล้วการจดทะเบียนแบบห้างหุ้นส่วนสามารถทำได้ และตอนนี้การจดทะเบียนแบบบริษัทจำกัดก็สามารถทำได้เช่นกันด้วย เนื่องจากมีกฎหมายข้อยกเว้นออกมาตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป ว่าสามารถจดทะเบียนบริษัทโดยมีผู้เริ่มก่อตั้งตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปได้ จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีรายละเอียดและเงื่อนไขที่ควรรู้ต่อไปนี้

ประเภททะเบียนพาณิชย์ (บุคคลธรรมดา)

การจดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนพาณิชย์หรือบุคคลธรรมดา คือ การเปิดบริษัทคนเดียว มีเจ้าของกิจการเพียงคนเดียวนั่นเอง การจดทะเบียนแบบนี้เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็กที่มีมูลค่าไม่สูงมาก เจ้าของกิจการทำงานเพียงคนเดียวได้ ไม่มีพนักงาน

มีข้อดีคือสามารถทำธุรกิจได้อิสระมากกว่าแบบนิติบุคคล ได้กำไรเต็มที่ ไม่ต้องทำบัญชียื่นส่งงบ

แต่ก็มีข้อเสียเช่นกันคือธุรกิจอาจดูไม่น่าเชื่อถือในระยะยาว เข้าถึงสินเชื่อการเงินได้ยาก เสียภาษีเงินได้มากกว่าการจดทะเบียนนิติบุคคล และเจ้าของกิจการจะต้องรับผิดชอบภาระหนี้สินจากกิจการเองทั้งหมดด้วย

การจดทะเบียนพาณิชย์ (บุคคลธรรมดา) เหมาะกับใคร

  • ขายของออนไลน์
  • ขายของบนเว็บไซต์
  • ค้าขายแบบมีหน้าร้านขนาดเล็ก
K BIZ อยู่ที่ไหนก็โอนจ่ายเงินเดือนพนักงาน สะดวก ตรงเวลา

ประเภททะเบียนนิติบุคคล

การจดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนนิติบุคคล คือ การเปิดบริษัทที่มีเจ้าของกิจการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป การดำเนินธุรกิจทุกอย่างจะต้องผ่านความเห็นชอบจากเจ้าของกิจการทุกคนแต่ออกมาในนามของบริษัท การจดทะเบียนบริษัทประเภทนี้ทำให้บริษัทมีตัวตนทางกฎหมายชัดเจน การดำเนินการใดๆ จะออกมาในนามของบริษัท เหมาะกับธุรกิจที่เติบโตในระดับหนึ่ง ธุรกิจ SME ธุรกิจขนาดกลาง ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่

ข้อดีคือ ภาระหนี้สินของบริษัทจะแยกจากชื่อของเจ้าของกิจการอย่างชัดเจน ภาษีเงินได้ที่ต้องเสียสูงสุดหลังหักค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 20% เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าการจดทะเบียนพาณิชย์

ส่วนข้อเสียก็มีเช่นกัน คือ บริษัทจะต้องดำเนินภาระหน้าที่ชัดเจนตามกฎหมาย เช่น บัญชี งบการเงิน งบรายได้ การเสียภาษีต่างๆ ประกันสังคมของพนักงาน ซึ่งการจดทะเบียนนิติบุคคลสามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบด้วยกัน มีความแตกต่างกันที่การรับผิดชอบหนี้สินของบริษัท แล้วแบบไหนเหมาะกับธุรกิจของคุณที่สุด K Biz สรุปมาให้แล้ว มาอ่านไปพร้อมกันเลย

ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามัญ

การดำเนินกิจการแบบห้างหุ้นส่วนจำกัดสามัญนิติบุคคล หมายถึง เจ้าของกิจการทุกคนมีสิทธิ์จัดการกิจการและแบ่งปันผลกำไรจากกิจการทุกคน เหมาะกับกิจการที่มีเจ้าของหรือหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีข้อดีคือ หุ้นส่วนหรือเจ้าของกิจการทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันในการดำเนินกิจการ แต่ข้อเสียคือหุ้นส่วนทุกคนจะต้องรับผิดชอบภาระหนี้สินที่เกิดจากกิจการร่วมกันแบบ “ไม่จำกัด” จำนวน หรืออธิบายได้ว่าไม่ว่าวางเงินลงทุนเท่าไหร่ หากภาระหนี้สินจากกิจการเกินจากจำนวนเงินที่ได้ลงทุนไป เจ้าของกิจการทุกคนก็จะต้องรับผิดชอบตามจำนวนนั้น

ห้างหุ้นส่วนจำกัด

กิจการห้างหุ้นส่วนจำกัด เหมาะกับกิจการที่มีเจ้าของหรือหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป การดำเนินกิจการประเภทนี้จะต้องจดทะเบียนบริษัทนิติบุคคล แต่ไม่กำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ ซึ่งจะแบ่งผู้ถือหุ้นได้เป็น 2 แบบคือ แบบจำกัดและแบบไม่จำกัด

  1. หุ้นส่วนแบบจำกัด จะมีสิทธิ์สอบถามการดำเนินธุรกิจ ออกความเห็น รวมถึงเป็นที่ปรึกษาของกิจการได้ ข้อดีคือ หุ้นส่วนมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบหนี้สินจากกิจการแบบจำกัดไม่เกินจำนวนเงินลงทุนของตนเอง ข้อเสียคือไม่สามารถตัดสินใจใดๆ ของการดำเนินกิจการได้และไม่สามารถใช้แรงทำงานเองได้
  2. หุ้นส่วนแบบไม่จำกัด คือ หุ้นส่วนที่สามารถดำเนินกิจการและตัดสินใจทุกอย่างในกิจการได้เต็มที่ ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องมีหุ้นส่วนแบบไม่จำกัดอย่างน้อย 1 คน ข้อดีของหุ้นส่วนประเภทนี้คือ สามารถตัดสินใจในการดำเนินของธุรกิจได้ทันที มีสิทธิ์สูงสุด แต่ข้อเสียคือจะต้องรับผิดชอบหนี้สินที่เกิดจากกิจการแบบ “ไม่จำกัด” อธิบายได้ว่าจะต้องรับผิดชอบหนี้สินแบบไม่จำกัดจำนวน ซึ่งอาจมากกว่าเงินลงทุนของตนเอง หุ้นส่วนแบบไม่จำกัดก็ต้องชำระทั้งหมด

บริษัทจำกัด

กิจการที่จดทะเบียนบริษัทจำกัด มีลักษณะการทำกิจการร่วมกัน เพื่อหากำไรร่วมกัน จะต้องจดทะเบียนนิติบุคคล เดิมต้องมีเจ้าของกิจการตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป แต่ในปัจจุบันมีข้อยกเว้นตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เป็นต้นไปไว้ว่า การจดทะเบียนบริษัทสามารถทำได้โดยมีผู้เริ่มก่อตั้ง ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป การจดทะเบียนบริษัทจำกัดเหมาะกับกิจการที่มีการเติบโตระดับหนึ่ง มีมูลค่าบริษัทสูง

เมื่อจดเป็นบริษัทจำกัดแล้วมีข้อดีคือ กิจการมีความน่าเชื่อถือในระยะยาวมากกว่า การบริหารเป็นระบบมากกว่า มีโอกาสขอสินเชื่อการเงินได้ง่ายกว่า ที่สำคัญการจำกัดความรับผิดชอบในหนี้สินที่เกิดจากกิจการที่หุ้นส่วนจะต้องชำระนั้น จำนวนเท่ากับเงินทุนค่าหุ้นที่จดทะเบียนไว้เท่านั้น

แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน ถึงแม้จะจ่ายภาษีถูกกว่าแต่ต้องมีการจ่ายภาษีถึง 2 ครั้งต่อปี การจัดตั้งยุ่งยาก มีข้อบังคับตามกฎหมายมากมาย รวมถึงการเลิกกิจการนั้นทำได้ยากกว่าการจดทะเบียนแบบอื่นๆ จึงเหมาะกับธุรกิจที่ค่อนข้างมีความมั่นคงและเติบโตมากกว่าธุรกิจขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มก่อตั้ง

9 ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท

9 ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท

การจดทะเบียนบริษัทเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำ หากกิจการของคุณเริ่มเติบโต โดยเฉพาะเมื่อกิจการมีรายได้มากขึ้น มากกว่า 750,000 บาทขึ้นไป เพราะหากคุณเป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้เท่านี้จะต้องเสียภาษีถึง 35% แต่หากจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ภาษีเงินได้สูงสุดที่ต้องเสียจะอยู่ที่ 20% เท่านั้น จะเห็นว่าการจดทะเบียนบริษัทนั้นช่วยประหยัดภาษีและยังสร้างความน่าเชื่อถือให้กิจการอีกด้วย ซึ่งหลายคนอาจจะอยากทราบแล้วว่าขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทนั้นยุ่งยากไหม มีขั้นตอนอะไรบ้าง ใช้เวลานานหรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่ได้ยุ่งยากแบบที่ทุกคนคิด เพียงแต่ต้องศึกษาและเตรียมเอกสารต่างๆ ให้พร้อม และทำตามขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทต่อไปนี้

1. ศึกษาข้อมูลการจดทะเบียนบริษัท

ก่อนตัดสินใจจดทะเบียนบริษัทต้องศึกษาข้อมูลที่ต้องรู้ให้เข้าใจเสียก่อน ว่าการจดทะเบียนมีกี่ประเภท และกิจการของคุณเหมาะกับการจดทะเบียนบริษัทแบบไหนมากกว่ากัน เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องของเอกสาร ชื่อบริษัท รวมถึงเงื่อนไขทางกฎหมายต่างๆ ซึ่งการจดบริษัทสามารถทำได้ 1 วันก็เป็นอันเสร็จสิ้น

เปิดบัญชีนิติ

2. จัดเตรียมเอกสารสำหรับการจดทะเบียนบริษัท

สิ่งสำคัญของขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทคือการเตรียมเอกสารต่างๆ ที่ใช้สำหรับยื่นจดทะเบียน โดยเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวกับบริษัทให้ใช้ลายเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องจากผู้ถือหุ้นคนใดก็ได้ 1 คน ส่วนเอกสารบัตรประจำตัวของผู้ถือหุ้นแต่ละคน ให้ลงชื่อด้วยตนเองได้เลย เอกสารที่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนไปจดทะเบียนบริษัทแบบวันเดียว ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีทั้งหมดดังนี้

  • แบบ บอจ. 1 หรือแบบคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด
  • แบบคำรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัด
  • แบบ บอจ. 2 หรือหนังสือบริคณห์สนธิ พร้อมชำระอากรแสตมป์ 200.-
  • แบบ บอจ. 3 หรือรายการจดทะเบียนจัดตั้ง
  • แบบ ว. หรือแบบวัตถุที่ประสงค์
  • แบบ ก. หรือรายละเอียดกรรมการ
  • ใบแจ้งผลจองชื่อนิติบุคคล (ต้องยังไม่หมดอายุ)
  • หลักฐานเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • แบบ บอจ. 5 บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
  • สำเนาบัญชีรายชื่อผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นหรือผู้รับมอบฉันทะในการประชุมให้ความเห็นในกิจการที่ได้ประชุมจัดตั้งบริษัทพร้อมลายมือชื่อ
  • สำเนารายงานการประชุมตั้งบริษัท
  • สำเนาข้อบังคับ พร้อมชำระอากรแสตมป์ 200.-
  • สำเนาหลักฐานการรับชำระค่าหุ้นที่บริษัทออกให้ผู้ถือหุ้น

กรณีบริษัทมีผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างด้าวที่ถือหุ้นไม่เกิน 50% หรือคนต่างด้าวไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นแต่เป็นกรรมการร่วมลงนามผูกพันกับบริษัท ต้องมีเอกสารหลักฐานแสดงฐานะการเงินของผู้ถือหุ้นคนไทยทุกคน โดยต้องเป็นเอกสารที่ทางธนาคารออกให้ นำมาประกอบคำขอจดทะเบียน โดยเอกสารจะต้องแสดงจำนวนเงินที่สอดคล้องกับเงินที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนนำมาลงทุน ซึ่งเป็นคำสั่งของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง

3. ตั้งชื่อบริษัทสำหรับการจดทะเบียนและวิธีการจองชื่อบริษัท

สำหรับการตั้งชื่อบริษัทที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันปัญหาตามมาในภายหลัง ควรตั้งชื่อโดยหลีกเลี่ยงคำที่ทำให้เข้าใจผิด โดยไม่ใช้พระนามของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์ปัจจุบัน ไม่ใช่ชื่อประเทศ ไม่ใช้ชื่อกระทรวง ทบวง กรม ไม่ใช่ชื่อส่วนของราชการ

ส่วนวิธีการตรวจและจองชื่อบริษัทมี 2 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่

  1. สมัครสมาชิกฟรี ที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
  2. เข้าไปที่ จองชื่อ / ตรวจทะเบียนคำขอนิติบุคคล

สามารถทำการจองชื่อบริษัทได้ถึง 3 ชื่อ โดยชื่อต้องไม่ซ้ำหรือใกล้เคียงกับชื่อบริษัทที่มีอยู่แล้ว

จดทะเบียนการค้าได้ที่ไหน

4. จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและยื่นต่อนายทะเบียน

ขั้นตอนการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ คือ การยื่นหนังสือแสดงความต้องการจัดตั้งบริษัทที่ต้องใช้ยื่นต่อนายทะเบียน โดยต้องยื่นภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วันหลังจากที่นายทะเบียนได้ลงชื่อบนเอกสาร โดยข้อมูลที่ตั้งรายงานมีดังนี้

  • ชื่อของบริษัท (ที่ได้จองไว้)
  • ข้อมูลที่ตั้งสำนักงานใหญ่ / สาขา จังหวัดที่ตั้ง รหัสประจำบ้านของที่ตั้งสำนักงาน อีเมล เบอร์โทร.บริษัทและเบอร์โทร. ติดต่อกรรมการและชื่อที่อยู่เว็บไซต์ (ถ้ามี)
  • วัตถุประสงค์ของบริษัท
  • ทุนจดทะเบียน
  • ชื่อ-ที่อยู่ อายุ สัญชาติ พยานจำนวน 2 คน
  • ข้อบังคับ (ถ้ามี)
  • จำนวนทุน (มูลค่าหุ้น) ที่เรียกชำระแล้ว ต้องมีจำนวนอย่างน้อยร้อยละ 25% ของทุนจดทะเบียน
  • ชื่อ-ที่อยู่ อายุ กรรมการ
  • รายชื่อหรือจำนวนกรรมการที่มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัท
  • ชื่อ-เลขทะเบียนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตพร้อมค่าตอบแทน
  • ชื่อ-ที่อยู่ สัญชาติและจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้น

5. เปิดให้มีการจองซื้อหุ้นของบริษัท และนัดประชุมผู้ถือหุ้นทั้งหมด

หนึ่งในขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทที่สำคัญ คือ ขั้นตอนการเปิดให้จองซื้อหุ้นของบริษัท โดยคนที่มีสิทธิ์ซื้อหุ้นไม่จำเป็นที่ต้องเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจเท่านั้น ใครก็สามารถเข้าซื้อหุ้นบริษัทได้ โดยจะต้องซื้อขั้นต่ำจำนวน 1 หุ้นขึ้นไป เมื่อมีการจองซื้อขายหุ้นจนครบแล้ว ลำดับต่อไปคือการออกหนังสือเพื่อนัดประชุมผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทอีกครั้ง

จัดประชุมบุคลากรที่ได้รับคัดเลือกในบริษัท เพื่อให้เข้าใจข้อมูลตรงกัน

6. จัดประชุมบุคลากรที่ได้รับคัดเลือกในบริษัท เพื่อให้เข้าใจข้อมูลตรงกัน

หลังจากขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการจัดประชุมบุคลากรที่ได้รับการคัดเลือกในบริษัทเพื่อให้เข้าใจข้อมูลเรื่องสำคัญตรงกัน ไม่ว่าจะเป็น กฎระเบียบข้อบังคับของบริษัท การเลือกตั้งคณะกรรมการ คัดเลือกผู้สอบบัญชีเพื่อตรวจสอบรับรองงบการเงิน แจ้งเรื่องค่าตอบแทนของผู้ก่อตั้งบริษัท รวมถึงเรื่องของจำนวนหุ้นบริษัทสุทธิ

7. จัดตั้งคณะกรรมการบริษัท

สำหรับขั้นตอนต่อมาคือการประชุมจัดตั้งกรรมการบริษัท ขั้นตอนนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้มีบุคคลดำเนินการจัดเก็บค่าหุ้นบริษัทจำนวน 25% ของราคาหุ้นจริงให้ครบแทนผู้ก่อตั้งบริษัท เพื่อที่จะยื่นขอจดทะเบียนบริษัทนั่นเอง โดยการยื่นจดทะเบียนบริษัทจะต้องดำเนินการภายใน 3 เดือนหลังจากที่มีการประชุมจัดตั้งเท่านั้น หากล่าช้าจะต้องจัดการประชุมขึ้นใหม่

จัดประชุมบุคลากรที่ได้รับคัดเลือกในบริษัท เพื่อให้เข้าใจข้อมูลตรงกัน

8. ชำระเงินค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนบริษัท

มาถึงขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทที่สำคัญมาก ซึ่งใกล้เสร็จสิ้นกระบวนทั้งหมดแล้วนั่นก็คือ “การชำระค่าธรรมเนียมจดทะเบียนบริษัท” นั่นเอง ซึ่งค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระทั้งหมดในการจดทะเบียนบริษัทจำกัด มีดังนี้

  • ค่าหนังสือรับรอง รายการละ 40 บาท
  • ค่ารับรองสำเนาเอกสารคำขอจดทะเบียน 50 บาท
  • ค่าใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน 100 บาท
  • ค่าอากรแสตมป์ 200 บาท
  • ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ 500 บาท
  • ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนบริษัทจำกัด 5,000 บาท

9. รับใบสำคัญและหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท

มาถึงขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทขั้นตอนสุดท้าย คือขั้นตอนการรับใบสำคัญและหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญทางกฎหมายในการดำเนินธุรกิจของคุณ เมื่อถึงขั้นตอนนี้แสดงว่าบริษัทของคุณได้ถูกก่อตั้งอย่างเป็นทางการ จดทะเบียนบริษัทเสร็จสิ้นแล้ว สามารถขอรับได้ที่นายทะเบียน ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในพื้นที่ที่อาศัยอยู่หรือสำนักงานพาณิชย์ประจำจังหวัด

ช่องทางในการจดทะเบียนบริษัท

ช่องทางในการจดทะเบียนบริษัท

การจดทะเบียนบริษัทสามารถทำได้ด้วยตัวเองง่ายๆ ทั้งออนไลน์หรือจะไปดำเนินการที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็ได้ ซึ่งช่องทางการจดทะเบียนบริษัทในปัจจุบันมีด้วยกัน 3 ช่องทาง คือ ผ่านสำนักงานบัญชี ทำด้วยตัวเองผ่านระบบออนไลน์ และไปจดทะเบียนด้วยตนเองที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งแต่ละวิธีมีความแตกต่างกันที่ระยะเวลาและขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละท่าน จะเลือกวิธีไหนดี มาศึกษาไปพร้อมกันเลย

จดทะเบียนบริษัทผ่านการใช้บริการสำนักงานบัญชี

การจดทะเบียนบริษัทผ่านสำนักงานบัญชีหรือผู้ให้บริการรับจดทะเบียนบริษัทเป็นวิธีการสะดวก เพราะได้มอบหมายให้ผู้ที่มีความชำนาญจัดการแทน

ข้อดี

เป็นวิธีที่รวดเร็ว ไม่ต้องเตรียมเอกสารด้วยตัวเอง ใช้เวลาเพียง 1-3 วัน เท่านั้นหรือขึ้นอยู่กับแต่ละช่วง ถือว่าสะดวกและตอบโจทย์เจ้าของกิจการเป็นอย่างยิ่ง

ข้อเสีย

มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการนอกเหนือจากค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

จดด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ DBD e-Registration

การจดทะเบียนบริษัทด้วยตัวเองก็สามารถทำได้เช่นกัน มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เพราะสามารถทำผ่านระบบออนไลน์ DBD e-Registration ได้ที่บ้าน ซึ่งนอกจากไม่ต้องเดินทางแล้วยังได้ส่วนลดอีกด้วย

ข้อดี

ไม่เสียค่าดำเนินการ ไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน และยังได้ส่วนลดค่าธรรมเนียมจัดตั้งบริษัทเหลือ เหลือ 2,750.- จากปกติ 5,000.- ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566 นี้เท่านั้น ข้อมูลเพิ่มเติม

ข้อเสีย

ต้องดำเนินการด้วยตัวเองทั้งหมด โดยเฉพาะการเตรียมเอกสาร และใช้เวลารอนานกว่าประมาณ 3-5 วัน

จดด้วยตนเองแบบ walk-in ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

และวิธีสุดท้ายคือการเดินไปดำเนินการจดทะเบียนบริษัทที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วยตนเองได้เลย จุดเด่นคือเป็นวิธีที่รวดเร็วที่สุด ดำเนินการเสร็จภายใน 1 วัน

ข้อดี

สามารถดำเนินการได้รวดเร็วภายใน 1 วันและไม่ต้องเสียค่าดำเนินการ

ข้อเสีย

ต้องเดินทางไปดำเนินการด้วยตัวเอง และไม่ได้รับส่วนลดเหมือนแบบออนไลน์

เมื่อกิจการเติบโต มีรายได้มากขึ้นสิ่งสำคัญที่ต้องทำก็คือการจดทะเบียนบริษัท แต่ก่อนที่จะจดทะเบียน สิ่งสำคัญที่เจ้าของกิจการต้องเตรียมตัวให้พร้อมก็คือ ศึกษาขั้นตอนการจดทะเบียนให้ดีและเตรียมตัวให้พร้อมทั้งเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ยื่นเพื่อขอจดทะเบียนบริษัท รวมถึงการจัดตั้งบุคลากร การประชุมต่างๆ หลังจากจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว การดำเนินกิจการในชื่อของบริษัทนอกจากจะทำให้ธุรกิจน่าเชื่อถือมากขึ้น บริหารงานได้เป็นระบบมากขึ้น ยังช่วยลดภาษีเงินได้ที่ต้องจ่ายได้มากกว่าการดำเนินกิจการในรูปแบบบุคคลธรรมดาอีกด้วย

สำหรับใครที่จดทะเบียนบริษัทเรียบร้อยแล้วและกำลังต้องการตัวช่วยจัดการบริหารการเงินของบริษัท เพื่อความคล่องตัว ให้ K BIZ ไปเป็นผู้ช่วยในบริษัทของคุณเลย ระบบจัดการการเงินที่ใช้งานง่าย ใช้ได้หลายคน สามารถใช้ได้ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ปลอดภัย จัดการธุรกรรมได้อย่างรวดเร็ว ดูวิธีการสมัครได้ ที่นี่

สนใจบทความที่เกี่ยวข้อง

คลิกเลย

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

back to top