เริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัวอย่างไร ข้อควรรู้ต่างๆ ที่ควรรู้ก่อนเริ่มทำ
เชื่อว่าความฝันของใครหลายคนในยุคนี้ คงหนีไม่พ้นกับการอยากมีธุรกิจส่วนตัวเป็นของตัวเอง เพื่อใช้เลี้ยงชีพโดยใช้ความชอบ และความถนัดของตัวเองทำมาหากิน ถึงจะมีชื่อเรียกว่าธุรกิจส่วนตัว แต่เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในธุรกิจของคุณเอง การศึกษาตลาด เทรนด์ รวมไปถึงรายละเอียดช่องทางการขาย ก็ควรจะเป็นการบ้านที่คุณต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเริ่มทำธุรกิจ
แน่นอนว่าสิ่งที่คุณต้องรู้ก่อนลงมือปั้นธุรกิจส่วนตัวนั้นมีมากมายเป็นร้อยหัวข้อ ถ้าคุณเริ่มรู้สึกท้อและกำลังมองหาตัวช่วย คาดว่าบทความนี้จะช่วยย่อยข้อมูลให้เหลือแต่สาระสำคัญที่ผู้ประกอบการมือใหม่ต้องรู้ ก่อนเริ่มกิจการ จะมีเนื้อหาสาระอะไรที่นำมาฝากกันบ้าง ไปติดตามกันได้เลย
วิธีเตรียมตัวก่อนการทำธุรกิจส่วนตัว
เพื่อให้การเริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัวของคุณเป็นไปได้สวยและพบปัญหาน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การเรียนรู้และหาวิธีเตรียมตัวเพื่อเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัว จึงเป็นเรื่องที่นักธุรกิจรุ่นใหม่ควรให้ความสำคัญ จะมีวิธีอะไรบ้างไปติดตามกันต่อได้เลย ดังนี้
ค้นหาสิ่งที่ชอบ และถามตนเองให้ชัดว่าอยากทำอะไร
คำแนะนำแรกคือการค้นหาสิ่งที่คุณชอบ เพื่อนำมาสร้างเป็นแรงบันดาลใจของธุรกิจ ตามที่หลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินกันมาก่อนว่า ให้เริ่มทำธุรกิจจากสิ่งที่คุณชอบ เพราะต่อจากนี้วันละหลายชั่วโมงและในทุกวัน คุณจะต้องคลุกคลีอยู่กับสิ่งนี้ การเริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัวกับสิ่งที่คุณหลงใหล จะไม่ทำให้คุณเบื่อ ในทางกลับกันคุณจะรู้สึกอยากดำดิ่งและเรียนที่จะรู้จักกับสิ่งนั้นให้มากยิ่งขึ้น ลองสำรวจตัวเองดูดีๆ ว่ามีสิ่งใดที่คุณชอบใช้เวลาด้วย ทำได้ดี หรือเป็นสิ่งที่ชอบหรือไม่ ไม่แน่ว่านั่นอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับธุรกิจของคุณในอนาคต
รู้ว่าธุรกิจส่วนตัวนี้ต้องตอบโจทย์ตลาด และเติบโตได้
เมื่อรู้แล้วว่าสิ่งที่คุณชอบหรือมีความสนใจนั้นคืออะไร ลำดับถัดมาที่ต้องทำการบ้านกันเพิ่มเติมคือ ธุรกิจที่คุณสนใจนั้น มีการตลาดและหนทางในการเติบโตมากน้อยแค่ไหน ตัวอย่างเพื่อทำให้คุณเห็นภาพมากขึ้น หากตอนนี้ธุรกิจที่คุณสนใจคือการเปิดร้านคาเฟ่ แน่นอนว่าในตอนนี้มีคาเฟ่เปิดใหม่แทบทุกมุมของกรุงเทพ แต่ถึงอย่างนั้นด้วยสังคมคนเมืองและเทรนด์การดื่มกาแฟที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ยังเหลือพื้นที่ตลาดสำหรับคุณ แต่เพื่อให้คาเฟ่น้องใหม่สามารถค้าขายได้ คุณจำเป็นต้องสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่มีแค่คาเฟ่ของคุณ เพื่อให้เป็นที่น่าจดจำ สร้างจุดขายที่หาไม่ได้จากร้านอื่น เป็นต้น
กำหนดกลุ่มลูกค้า
ตอนนี้แผนธุรกิจของคุณเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นแล้ว การขายของจะขาดลูกค้าไม่ได้ ในส่วนนี้คือการกำหนดกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจน ยิ่งคุณกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ชัดมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งทำให้คุณสามารถวางแผนทางด้านการตลาดและแผนการทำสื่อ เพื่อกระจายการรับรู้ของแบรนด์ให้ลูกค้ารับสารได้มากขึ้นเท่านั้น
ศึกษาข้อมูลของคู่แข่ง
ขั้นตอนถัดมาคือการศึกษาคู่แข่งทางด้านการตลาด เพื่อให้คุณเข้าใจทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของแบรนด์คู่แข่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก จากนั้นจึงนำมาปรับใช้กับแบรนด์ของคุณ ยิ่งคุณสามารถอุดรูรั่วปัญหาของแบรนด์คู่แข่งได้ แบรนด์ของคุณก็จะตอบโจทย์ต่อความต้องการของลูกค้า ทำให้เกิดโอกาสในการขายได้มากกว่าแบรนด์อื่นๆ ที่อยู่ในตลาดเดียวกัน
สร้างจุดเด่นให้กับสินค้าหรือบริการของตัวเอง
เมื่อคุณได้เห็นภาพรวมไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าหรือแบรนด์คู่แข่งในตลาดเดียวกันแล้ว สิ่งที่คุณจะต้องหันกลับมาทำการบ้านเพิ่มเติมคือการสร้างจุดเด่นให้กับแบรนด์ ทำอย่างไรก็ได้ให้สินค้าของตัวเองโดดเด่น เป็นที่จดจำ ที่สำคัญเลยก็คือตอบโจทย์กับทั้งตลาดและลูกค้าให้ได้มากที่สุด ยิ่งคุณสามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้มากเท่าไร ก็มีโอกาสที่แบรนด์คุณจะเข้ายึดพื้นที่ทางการตลาดได้โดยไม่ยาก
วางแผนและวางกลยุทธ์
ข้อแนะนำก่อนหน้านี้เป็นการเน้นหาข้อมูลและการลงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องของแบรนด์ และสินค้าให้ได้มากที่สุด หลังจากที่คุณมีข้อมูลทั้งภาพรวมและเชิงลึกเรียบร้อยแล้ว ให้นำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ เพื่อวางแผนทั้งทางด้านการตลาดและทางด้านกลยุทธ์ ในทางที่ดีแล้วคุณจำเป็นต้องสร้างแผนไว้ให้หลากหลาย มีทั้งแผนหลัก และแผนรอง เพื่อให้พร้อมต่อการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน
มองหาต้นทุน
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญและเป็นปัญหาใหญ่ที่นักธุรกิจมือใหม่หลายคนมองข้ามกันไปคือ ทุน เพราะต่อให้คุณมีสินค้าที่ดี สามารถตอบโจทย์ทั้งตลาดและลูกค้ามากแค่ไหน หรือจะมีแผนการตลาดชั้นเลิศ แต่ถ้าขาดทุนก็ทำให้แผนทั้งหมดที่คุณคิดมาก็ต้องหยุดชะงักลง
ปัญหาเรื่องทุนนี้คุณสามารถหาวิธีรับมือได้อย่างหลากหลาย บางคนที่ทำงานประจำก็ต้องทนทำงานประจำเพื่อสะสมเงินทุนในช่วงแรก เพื่อมารันธุรกิจส่วนตัว หรือในบางคนก็ใช้เวลาว่างช่วงตอนเย็น เพื่อเร่งหาเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อให้กิจการพร้อมสำหรับการเริ่มต้น แต่ถ้าหากคุณไม่ต้องการสะสมเงินทุนด้วยตัวเอง การหานายทุนเพื่อให้ได้แหล่งเงินทุนมาดำเนินกิจการก็เป็นแนวคิดที่ดูดีไม่น้อย
ลองทดสอบตลาด และนำผลลัพธ์มาปรับปรุง
ต่อให้คุณคิดแผนการตลาดและแผนกลยุทธ์มาดีแค่ไหน แต่สิ่งที่คุณคิดไว้เป็นแค่การคาดการณ์เท่านั้น คุณต้องลงมือทำ เพื่อให้รู้ได้ว่าแผนที่เตรียมการมานั้นมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามที่คุณคาดไว้หรือไม่ โดยสินค้าและจำนวนเงินที่ลงในช่วงต้น ไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายเยอะ เพราะคุณจำเป็นต้องเรียนรู้จากการทดลองนี้ รวมถึงอาจจะต้องทดลองซ้ำเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ
ขั้นตอนการทำธุรกิจส่วนตัว
เมื่อคุณเตรียมตัวเพื่อสร้างความพร้อมในการทำธุรกิจส่วนตัวไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่คุณจะเริ่มลงมือและดำเนินธุรกิจส่วนตัวของคุณตามแผนที่วางไว้ โดยในเนื้อหาส่วนนี้จะเป็นการแนะนำขั้นตอนการทำธุรกิจส่วนตัว โดยที่คุณสามารถนำขั้นตอนเหล่านี้ไปปรับใช้กับแต่ละธุรกิจของตัวเองได้เลย
ผลิตสินค้าจริง
หลังจากที่คุณได้ทำการทดลองตลาดด้วยการลงมือทำมาแล้ว ให้ปรับแผนการตลาดและสินค้าให้ตอบโจทย์กับตลาดของคุณ เมื่อสินค้าและบริการของแบรนด์ตรงต่อความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ก็ทำให้แบรนด์สามารถสร้างยอดขายได้โดยไม่ยาก
หาช่องทางการขายปลีก
ถึงแม้ว่ารูปแบบการขายออนไลน์จะเป็นที่นิยมและกลายเป็นช่องทางหลักของเหล่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไปแล้วก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปแบบการขายออฟไลน์ก็ยังสร้างความเชื่อมั่นและความรู้สึกปลอดภัย จากการได้สัมผัสสินค้าด้วยมือของลูกค้าเองอยู่ดี หากคุณมีกำลังและเงินทุน การสร้างช่องทางการขายปลีกก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับการริเริ่มปั้นธุรกิจส่วนตัว
อย่าลืมการทำการตลาดออนไลน์
หนึ่งในช่องทางที่ไม่ควรพลาดและจำเป็นต้องทำคือช่องทางออนไลน์ เพราะนี่เป็นช่องทางที่จะชี้เป็น ชี้ตายให้กับแบรนด์ได้เลยทีเดียว เพราะเทรนด์ในการซื้อสินค้าในปัจจุบันนี้มีแนวโน้มที่ลูกค้าทั้งหน้าเก่า และหน้าใหม่จะเลือกซื้อสินค้าจากช่องทางออนไลน์กันเป็นหลัก เนื่องจากสะดวกและรวดเร็ว ยิ่งคุณมีช่องทางในการให้บริการและจำหน่ายสินค้าหลากหลายมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้คุณสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากเท่านั้น
มองหาทีมงานที่มีคุณภาพ
ในช่วงแรกคุณสามารถที่จะดูแลทุกอย่างด้วยตัวของคุณเองได้ แต่เมื่อกิจการของคุณเริ่มเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นไปได้ยากมากที่คุณคนเดียวจะสามารถรับมือกับการเติบโตของแบรนด์ได้โดยลำพัง การมีทีมงานที่มีคุณภาพและมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน จะช่วยแบ่งเบาภาระ และยังสามารถผลักดันธุรกิจของคุณให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
เอาใจใส่ในเรื่องการบริการ
ตัวแปรหลักของการดึงดูดให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการหรือซื้อสินค้าของคุณอีกครั้งนั้น ขึ้นอยู่กับงานบริการของแบรนด์ว่าสร้างความรู้สึกอบอุ่นและเป็นมิตรให้กับกลุ่มลูกค้าได้หรือไม่ เพราะเมื่อลูกค้ารู้สึกวางใจและประทับใจในการให้บริการของแบรนด์ มีโอกาสที่สูงมากที่กลุ่มลูกค้าดังกล่าวจะกลับมาใช้บริการและซื้อสินค้าจากร้านของคุณอีก การเอาใจใส่เรื่องการบริการจึงเป็นหัวใจของแบรนด์ที่คุณไม่ควรละเลย
ไม่หยุดพัฒนาในสินค้าและบริการ
หากธุรกิจส่วนตัวของคุณเริ่มเข้าที่และเป็นไปตามแผนที่วางไว้แล้ว การได้คิดค้นสินค้าใหม่ โดยต่อยอดจากสินค้าที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากกลุ่มลูกค้า เพื่อให้ธุรกิจดูน่าติดตามและดึงดูดความสนใจของทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ จุดนี้เป็นไอเดียที่คุณไม่ควรหลงลืม นอกจากจะทำให้แบรนด์ดูเป็นนักพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่งแล้ว ยังช่วยกระตุ้นยอดขายให้กับแบรนด์ได้อีกด้วย
สร้าง Connection
ปิดท้ายไปกับข้อแนะนำที่จะทำให้ธุรกิจส่วนตัวของคุณราบรื่นและดำเนินกิจการได้สร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น นั่นคือการเพิ่ม Connection ให้กว้างขึ้น เพราะยิ่งคุณมีเพื่อนร่วมธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นคนในแวดวงสังคมเดียวกันหรือต่างวงสังคมเองก็ดี นี่เป็นการเปิดโลกให้กับทั้งแบรนด์และตัวคุณ ที่จะได้มีโอกาสเจอกับแนวคิด รวมถึงรูปแบบในการเติบโตของธุรกิจในแบบที่คุณเองก็อาจจะคาดไม่ถึง
ตัวอย่างเช่น แบรนด์เสื้อผ้าของคุณได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่ผู้ชายต้องนั่งรอแฟนเลือกเสื้อผ้า คุณอาจจะได้ไอเดีย จึงลองถามหาพาร์ตเนอร์เพื่อเปิดบริการคาเฟ่เล็กๆ นำสิ่งนี้มาต่อยอดและเพิ่มประสบการณ์ให้กับลูกค้าทั้งสองกลุ่ม การมี Connection ที่ดีจะช่วยทำให้คุณมองทุกอย่างเป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค พบว่าทุกอย่างสามารถเป็นไปได้
ธุรกิจส่วนตัวที่มาแรงในยุคนี้
สำหรับใครที่อยากทำธุรกิจส่วนตัว แต่ยังไม่มีไอเดียว่าควรจะทำธุรกิจอะไรดี ในเนื้อหาส่วนนี้ได้รวบรวมธุรกิจมาแรงที่กำลังที่ต้องการของตลาดและยังอยู่ในกระแสความสนใจของกลุ่มลูกค้าในวงกว้าง จะมีธุรกิจอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันต่อได้เลย ดังนี้
ธุรกิจกิจขายของออนไลน์
หนึ่งในรูปแบบของธุรกิจที่ทุกคนรู้จักกันดีและยังคงเป็นธุรกิจที่ทำเงินได้เรื่อยๆ จุดเด่นของธุรกิจนี้คือไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านและสามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียว ถึงแม้อาจจะต้องเหนื่อยมากเป็นพิเศษ แต่ถ้าต้องการประหยัดต้นทุนกับเรื่องคนงาน ช่วงแรกคุณสามารถจัดการด้วยตัวเองได้ จนกว่าจะมีเงินทุนหนามากพอ ค่อยขยายกิจการเพื่อกระจายงานออกจากตัวได้ในภายหลัง
การทำธุรกิจขายของออนไลน์อาจจะต้องต่อสู้กับร้านค้าออนไลน์อื่นๆ อีกจำนวนมาก ถ้าคุณได้สินค้าที่ต้องการแล้ว การสร้างจุดเด่นของร้านจะเป็นเรื่องถัดมาที่คุณต้องโฟกัส โดยการสร้างจุดเด่นให้กับร้านค้า จะช่วยเรียกความสนใจและทำให้ลูกค้าเลือกใช้บริการได้แบบไม่ต้องคิดเยอะเลย
ธุรกิจกิจอาหารและเครื่องดื่ม
รูปแบบธุรกิจถัดมาคือ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่มนุษย์ขาดไม่ได้ แน่นอนว่าธุรกิจนี้มีรูปแบบในการให้บริการที่หลากหลาย คุณสามารถเลือกให้บริการแบบมีหน้าร้านหรือไม่ก็ได้ ตามความสะดวกและจำนวนเงินทุนที่มี เนื่องจากในปัจจุบันคุณสามารถที่จะเปิดร้านอาหารที่มีรูปแบบบริการหลักเป็นออนไลน์ได้แล้ว
ข้อดีของธุรกิจนี้คือ สินค้าที่คุณให้บริการเป็นสินค้าประเภทใช้แล้วหมดไป ทำให้ลูกค้าที่ชื่นชอบในรสชาติอาหารและคุณภาพสินค้าที่คุณให้บริการ กลับมาซื้อซ้ำได้อีกเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ดีนี่เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีอัตราการแข่งขันสูง คุณจำเป็นต้องหาเมนูอาหารที่ทำได้ดีและมีเอกลักษณ์ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้ต้องเลือกใช้บริการกับร้านของคุณเท่านั้น
ธุรกิจสายมู
ต่อให้เทคโนโลยีจะพัฒนาก้าวไกลมากเท่าไร แต่เรื่องของความเชื่อก็ยังเป็นสิ่งที่เติบโตไปพร้อมกันกับจิตใจคุณอยู่ดี ทำให้ธุรกิจสายมูยังคงเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองและมาแรงไม่แพ้กับธุรกิจประเภทอื่นๆ จุดเด่นของธุรกิจประเภทนี้คือ มีฐานลูกค้าที่แน่นอน ลูกค้าพร้อมที่จะเข้ามาดูดวงด้วยหรือจับจ่ายใช้สอยกับเครื่องรางที่สนใจอย่างเต็มที่ แต่การจะเข้ามาอยู่ในวงการนี้จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับสายมูเป็นพิเศษ เพื่อให้คุณเข้าใจทั้งทัศนคติ ความต้องการ และสิ่งที่กลุ่มลูกค้ามองหานั่นเอง
ธุรกิจ Content Creator
ทุกวันนี้เพียงแค่มีโทรศัพท์สักเครื่องก็ทำให้คุณมีรายได้แบบง่ายๆ ได้แล้ว เพียงแค่คุณทำคอนเทนต์รีวิวหรือผันตัวเป็นนักสร้างคอนเทนต์ อย่างที่หลายคนเรียกว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ โดยสามารถที่จะปั้นคอนเทนต์จากความรู้เฉพาะตัวหรือนำเสนอคอนเทนต์เชิงสร้างสรรค์ เท่านี้ก็ทำให้คุณกลายเป็นแบรนด์และสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องแบบที่ไม่ต้องมีทุนหนาก็ทำได้ จุดเด่นของธุรกิจนี้คือ มีพื้นที่ให้ครีเอเตอร์หน้าใหม่อยู่เสมอๆ ยิ่งถ้าคุณทำคอนเทนต์เก่ง ก็ยิ่งทำให้คุณสามารถเก็บเกี่ยวรายได้แบบไม่ต้องลงทุนกันเลยทีเดียว
ข้อควรรู้ก่อนทำธุรกิจส่วนตัว
มาถึงเนื้อหาสุดท้ายของบทความกันแล้ว ในส่วนนี้จะเป็นการรวบรวมข้อควรรู้ให้กับคุณว่าในการทำธุรกิจส่วนตัวนั้น มีสิ่งที่ต้องระวังหรือข้อควรรู้อะไรบ้าง เพื่อให้กิจการของคุณสามารถดำเนินไปได้ด้วยดีแบบหายห่วง ไม่ต้องกังวลเรื่องความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
จัดการบริหารเงินให้ดี
ถึงแม้ว่าคุณจะเตรียมจัดหาเรื่องเงินทุนและมีเงินสำรองไว้แล้วตามวิธีเตรียมตัวก่อนเริ่มทำธุรกิจส่วนตัวที่แนะนำไว้ในข้างต้น แต่ก็ไม่ควรประมาท ควรให้ความสำคัญกับการจัดการทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะนักธุรกิจหลายคนที่ประสบความสำเร็จ ล้วนใส่ใจกับเรื่องของการเงินในทุกๆ รายการธุรกรรมทางการเงินอย่างมาก หากคุณไม่ได้มีความชำนาญในการจัดการเงินที่ดีและมองหาตัวช่วย ขอแนะนำ K BIZ บริการใหม่ล่าสุดจากทางกสิกรไทย ที่จะช่วยจัดการทุกธุรกรรมทางการเงินให้กับผู้ประกอบการหน้าใหม่ ให้เรื่องเงินที่เคยยาก เป็นเรื่องง่ายเพียงปลายนิ้ว
ตั้งเป้าหมายในการทำธุรกิจส่วนตัว
แน่นอนว่าเงินจะเป็นเป้าหมายที่หลายๆ คนให้ความสำคัญ และอยากได้จากการทำธุรกิจส่วนตัว แต่ถ้าคุณต้องการให้ธุรกิจนี้เติบโตในระยะยาว ควรมีเป้าหมายในแง่อื่นด้วย เพื่อเพิ่มความสนุกในการทำธุรกิจและมุมมองที่ท้าทายในการต่อยอดแบรนด์ต่อไป ให้มีสินค้าหรือบริการที่มากขึ้น ดีขึ้นอยู่ตลอด ไม่หยุดพัฒนา เพื่อให้ธุรกิจอยู่ต่อไปได้นานๆ
ธุรกิจส่วนตัวไม่ใช่ Passive Income
สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันเพิ่มเติมก่อนเริ่มทำธุรกิจคือ การทำธุรกิจไม่ใช่รูปแบบของการลงทุนเพื่อให้ได้ Passive Income เพราะการทำธุรกิจเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่ต้องใช้ทั้งเวลา แรงกาย และเงินทุน เพื่อให้ได้ยอดขาย และกลายเป็นกำไรจากการทำธุรกิจ จะเห็นได้ว่าแตกต่างจากรูปแบบการลงทุนเพื่อให้ได้ Passive Income อย่างชัดเจน
ธุรกิจส่วนตัวไม่ทำให้มีเวลาส่วนตัว
หลายคนมักจะบอกว่าตัวเองต้องการลาออกจากงานประจำ เพื่อไปทำธุรกิจส่วนตัว และจะได้มีเวลาเป็นของตัวเอง นี่อาจจะไม่ใช่ความจริงของนักธุรกิจ เพราะเมื่อคุณเริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัว ทุกเวลาของคุณจะต้องอุทิศให้กับธุรกิจอยู่ตลอดเวลา จากการทำธุรกิจในช่วงแรกนั้นมีแค่คุณเท่านั้นที่ต้องทำทุกอย่างในทุกขั้นตอน แต่ถ้าคุณจัดสรรเวลาได้ดีก็อาจจะทำให้คุณมีเวลาว่างได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการจัดสรรเวลาของเจ้าของกิจการเป็นหลัก
ต้องจัดการความเสี่ยงให้เหมาะสม
ตามที่ได้กล่าวไปก่อนหน้าว่าการทำธุรกิจนั้นมีความเสี่ยงอยู่เสมอในทุกเวลา ยิ่งถ้าคุณเป็นนักธุรกิจมือใหม่ยิ่งต้องพยายามหาทางกระจายความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด พร้อมกับสร้างแผนสำรองให้รัดกุมกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับธุรกิจในทุกรูปแบบ
เส้นทางของการเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินความสามารถ หากคุณรู้วิธีการเตรียมตัวเพื่อปูทางริเริ่มการทำธุรกิจ ไปจนถึงรู้ข้อควรระวังในการทำธุรกิจจากบทความนี้ไปแล้ว ก็น่าจะทำให้คุณเห็นภาพรวมของการสร้างธุรกิจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
สำหรับผู้ที่กำลังสนใจและอยากลงมือทำธุรกิจส่วนตัว ขอแนะนำให้คุณรู้จักกับตัวช่วยพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์และนักธุรกิจมือใหม่กับ K BIZ จากกสิกรไทย ที่จะช่วยทำให้เรื่องการเงินที่แสนปวดหัว กลายเป็นเรื่องง่าย สะดวก และรวดเร็วได้เพียงปลายนิ้ว มองหาตัวช่วยจัดการเรื่องเงินสำหรับธุรกิจ ต้อง K BIZ เท่านั้น
สนใจบทความที่เกี่ยวข้อง
คลิกเลย