จากสถิติของสำนักงานประกันสังคม ณ เดือน พ.ค. 67 มีผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ สมาชิกกองทุนประกันสังคม ตามมาตรา 33 จำนวน 11.94 ล้านคน ในฐานะสมาชิกกองทุนฯจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง มีอย่างน้อย 3 กลุ่มสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ 1) กลุ่มคุ้มครองการเจ็บป่วย ทุพพลภาพ การคลอดบุตร และเงินสงเคราะห์บุตร 2) กลุ่มเงินทดแทนชราภาพ เสมือนเป็นเงินใช้หลังเกษียณอายุ และ 3) กลุ่มเงินทดแทน จากการว่างงาน เหตุเลิกจ้าง หรือ ลาออก/สิ้นสุดสัญญาจ้าง จากสิทธิประโยชน์ ถือว่ามีความครอบคลุมแล้ว แต่จะมีเงื่อนไขในการได้รับสิทธิ พร้อมรายละเอียดของสิทธิประโยชน์ บทความนี้สรุปประเด็นสำคัญของสมาชิกประกันสังคมตาม มาตรา 33 มาให้
จ่ายเงินสมทบแล้วจัดสรรเป็นสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง
ผู้ประกันตนตาม มาตรา 33 จะมีเงินสมทบ 5% ของเงินเดือน (ฐานเงินเดือนต่ำสุด 1,650 บาท สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) ดังนั้น ขั้นต่ำของเงินสมทบอยู่ระหว่าง คือ 5%*1,650 บาท = 82.50 บาท สูงสุด 5%*15,000 บาท = 750 บาท ในบทความนี้ขอใช้ฐานเงินเดือนสูงสุด คือ 15,000 บาท ในการคำนวณ เนื่องจากสมาชิกประกันสังคมส่วนใหญ่ จะจ่ายเงินสมทบด้วยฐานเงินเดือนสูงสุด เป็นจำนวนมาก แล้วเงินสมทบในอัตรา 5% ของเงินเดือน ถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่มสิทธิประโยชน์ ดังนี้
ส่วนที่ 1 : อัตรา 0.5% ของเงินเดือน (75 บาท จาก 750 บาท) คุ้มครองกรณีว่างงาน
การว่างงานที่มีสิทธิได้เงินชดเชยจะต้องเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนการว่างงาน มีระยะเวลาว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป และต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานของสำนักงานจัดหางาน ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ถูกเลิกจ้าง ลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง โดยมาจาก 2 สาเหตุ คือ
1) ถูกเลิกจ้าง (โดยไม่ได้กระทำความผิด) จะได้รับเงินทดแทน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน (ประมาณ 6 เดือน) ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยทั่วไปอัตราเงินเดือนจะมากกว่า 15,000 บาท ก็จะใช้อัตราเงินเดือนสูงสุดใช้เป็นฐานในการคำนวณ ตัวอย่าง ค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละ 15,000 บาท จะได้รับเดือนละ 7,500 บาท
2) ลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง จะได้รับเงินทดแทน เป็นะระยเวลาไม่เกิน 180 วัน (ประมาณ 6 เดือน) ในอัตรา 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย ตัวอย่าง ค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละ 15,000 บาท จะได้รับเดือนละ 4,500 บาท
ส่วนที่ 2 : อัตรา 3% ของเงินเดือน (450 บาทจาก 750 บาท) เป็นเงินสมทบกรณีชราภาพ
เงินทดแทนกรณีชราภาพ มีสิทธิได้รับก็ต่อเมื่อ อายุตัว 55 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน จึงจะได้รับเงินทดแทน 1 ใน 2 รูปแบบ คือ
1) รับเป็นบำเหน็จ (ส่งเงินสมทบไม่เกิน 180 เดือน ประมาณ 15 ปี) มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า - ส่งเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้เงินบำเหน็จ เฉพาะส่วนที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ - ส่งเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้เงินบำเหน็จ ทั้งส่วนที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ
2) รับเป็นบำนาญ เป็นการส่งเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป (ตั้งแต่ 15 ปี) เริ่มต้นได้บำนาญ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย และส่งเงินสมทบเพิ่มทุกๆ 12 เดือน จะเพิ่มอัตราเงินบำนาญ 1.5% ของค่าจ้างเฉลี่ยฯ ตัวอย่าง ส่งเงินสมทบมาแล้ว 192 เดือน ส่งเงินสมทบมาถึง 180 เดือน ได้รับเงินบำนาญ 20% + 1.5% (สมทบเพิ่ม 12 เดือน) ทำให้ได้บำนาญ 21.5%*15,000 (สมมติว่าค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือน เท่ากับ ค่าจ้างสูงสุด) เท่ากับ 3,225 บาท/เดือน จนกว่าจะเสียชีวิต
ส่วนที่ 3 : อัตรา 1.5% ของเงินเดือน (225 บาทจาก 750 บาท) สำหรับคุ้มครองการเจ็บป่วย ทุพพลภาพ การคลอดบุตร และเงินสงเคราะห์บุตร
เมื่อผู้ประกันตนเจ็บป่วย มีสิทธิรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิ ไม่ต้องออกค่าใช้จ่าย หรือ กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต เข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก่อน (ภายใน 72 ชม.) โดยไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย ส่วนกรณีอื่นๆ ที่รักษาโรงพยาบาลอื่น ให้ออกค่าใช้จ่ายไปก่อนแล้วมาเบิกภายหลัง
นอกจากกรณีเจ็บป่วย ยังสามารถเบิกค่าคลอด เงินสงเคราะห์บุตร และ เงินทดแทนกรณีทันตกรรม สามารถศึกษารายละเอียดการเบิก และเงื่อนไขการได้สิทธิดังกล่าวได้ที่ สำนักงานประกันสังคม
ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้ประกันตน ตามมาตรา 33
จากสัดส่วนเงินสมทบในกองทุนประกันสังคม ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่กลุ่มความคุ้มครองเจ็บป่วย ทุพพลภาพ การคลอดบุตร เงินสงเคราะห์บุตร และเงินทดแทนชราภาพ จะคล้ายๆกับประกันสุขภาพ กับประกันบำนาญ สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อ คือ ความเพียงพอ หรือ ความสะดวกในการเข้ารักษาในโรงพยาบาลสิทธิ หากคิดว่าไม่เพียงพอ ควรทำประกันสุขภาพเพิ่มเติม นอกจากเพิ่มความคุ้มครอง และยังสามารถเบิกค่ารักษาจากโรงพยาบาลใดก็ได้ หากกังวลเรื่องเบี้ยประกันที่จะสูงไป แนะนำให้ทำประกันสุขภาพ ที่มีค่าเสียหายส่วนแรก หรือที่เรียกว่า ค่า Deduct ยกตัวอย่าง ประกันสุขภาพ แบบเหมาจ่าย วงเงิน 5 ล้านบาท D Health Plus ที่จะมี 3 แบบ ให้เลือก คือ แบบแรก คุ้มครองตั้งแต่บาท แบบที่ 2 มีค่าเสียหายส่วนแรก 30,000 บาท และแบบที่ 3 มีค่าเสียหายส่วนแรก 100,000 บาท แปลว่า กรณีเบิกค่ารักษาพยาบาล จะเบิกได้เฉพาะส่วนเกินจากค่าเสียหายส่วนแรก เช่น ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน 40,000 บาท จะเบิกประกันสุขภาพได้ 10,000 บาท หากเลือกแบบที่ 2 มีค่าเสียหายส่วนแรก 30,000 บาท ก็สามารถมาเบิกสวัสดิการของบริษัท หรือจะออกค่าใช้จ่ายเองก็ได้ ซึ่งประกันสุขภาพที่มีค่าเสียหายส่วนแรก จะช่วยให้เบี้ยประกันถูกลง
นอกจากนี้ยังมีในส่วนเงินทดแทนชราภาพ ที่จะให้เป็นเงินบำเหน็จหรือบำนาญ แล้วแต่กรณี หากประเมินแล้วยังไม่เพียงพอ และมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี แนะนำให้เริ่มออมเงินเพื่อเกษียณผ่านกองทุน TESG SSF RMF / ประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี เพื่อให้ได้ทั้งลดหย่อนภาษีและเงินนำมาลงทุนเพื่อใช้หลังเกษียณได้อีกด้วย หรือยังมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี สามารถออมผ่านกองทุนรวมแนะนำได้
การเป็นผู้ประกันตน ตาม มาตรา 33 ของประกันสังคม ถือว่า มีความคุ้มครองที่ครอบคลุม ถือเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานของผู้มีรายได้ประจำ แต่ถ้ายังไม่เพียงพอสามารถทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมได้ ให้ทำในวันที่ยังไม่เป็นโรค ดีกว่า เป็นโรคแล้วมาทำประกัน เพราะประกันสุขภาพจะไม่คุ้มครองค่ารักษาจะโรคที่เคยเป็นมาก่อน ทำให้วางแผนควบคุมค่ารักษาพยาบาลได้ รวมถึงเงินเก็บเพื่อใช้ยามเกษียณด้วย