25 ก.ค. 67 ดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่น Nikkei 225 ปรับตัว -3.14%เทียบกับวันก่อนหน้า โดยเป็นการปรับตัวลงต่อเนื่อง 7 วันทำการติดต่อกัน รวมปรับตัวลง -8.18%เทียบกับวันที่ 16 ก.ค. 67
สอดคล้องกับดัชนี TOPIX ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดกองทุน K-JP และ K-JPX ของ KAsset ที่มีการปรับตัวลงต่อเนื่องเกือบทุกวันเช่นกัน โดยมีการปรับตัวลง -7.04%เทียบกับวันที่ 17 ก.ค. 67
ทำไมหุ้นญี่ปุ่น ปรับตัวลง
ดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่น Nikkei 225 ณ 25 ก.ค. 67 มีการปรับตัวลงแรงถึง -3.14% ซึ่งหากเทียบเป็นรายวันแล้วถือว่าเป็นการปรับลงแรงที่สุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ 21 มิ.ย. 64 เกิดจากนักลงทุนต่างชาติมีการเทขายหุ้นญี่ปุ่นค่อนข้างมาก ซึ่งหากนับเป็นรายสัปดาห์ ณ สิ้นวันที่ 19 ก.ค. แล้ว ต่างชาติมีการขายหุ้นญี่ปุ่นสุทธิมากที่สุดนับตั้งแต่ ปลาย เม.ย. 67 โดยเฉพาะการขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ตามการเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีทั่วโลก อย่างที่ทีม K WEALTH ได้มีการออกบทความ ประเด็นร้อน “จังหวะลงทุนหรือไม่ เมื่อหุ้นเทคฯ ปรับตัวลงแรง!” และ “หุ้นเทคผันผวน ท่ามกลางศึกเลือกตั้ง” ไปเมื่อ 25 ก.ค. และ 23 ก.ค. มาแล้วตามลำดับ ซึ่งราคากองทุน ณ 24 ก.ค. ของ K-USXNDQ ผู้ลงทุนได้รับรู้ผลตอบแทนในพอร์ตกองทุนแล้ว ส่วน K-GTECH ราคากองทุนหลัก (CT (Lux) Global Technology) ก็มีการประกาศแล้ว โดยคาดว่าผู้ถือกองทุน K-GTECH จะรับรู้ผลตอบแทนของวันดังกล่าวซึ่งมีการปรับตัวลง ได้ในคืนวันนี้
ประกอบกับ ณ วันที่ 24 ก.ค. 67 เงินเยนมีการแข็งค่าขึ้น 2.35%เทียบกับ 19 ก.ค. มาอยู่ที่ 153.87 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นการแข็งค่าที่สุดนับตั้งแต่ 3 พ.ค. 67 (เทียบ ณ สิ้นวัน) ส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลว่าการแข็งค่าของเงินยนอาจส่งผลลบต่อผลประกอบการบริษัทส่งออกของญี่ปุ่นได้
อีกทั้งยังมีข่าวว่าคณะกรรมการ BOJ อาจมีการพิจารณายุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ การพิจารณาความเหมาะสมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดการซื้อพันธบัตรลงในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ณ เช้าวันที่ 26 ก.ค. 67 ความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยของ BOJ เริ่มลดลง เนื่องจากมีการเปิดเผยข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งเป็นตัววัดเงินเฟ้อที่ไม่นับรวมราคาอาหารสด ของเดือน ก.ค. 67 ว่าอยู่ที่ระดับ 2.2% ซึ่งสอดคล้องกับที่ตลาดเคยคาดไว้ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากเดือน มิ.ย. ที่ 2.1% โดยการประชุม BOJ ครั้งถัดไปจะจัดขึ้นสัปดาห์หน้าในวันที่ 30-31 ก.ค. 67 ปัจจัยเรื่องดอกเบี้ยจึงส่งผลต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นในช่วงนี้
คำแนะนำการลงทุน
K WEALTH มีมุมมองการลงทุนเป็นกลาง ทั้งสำหรับกองทุนหุ้นญี่ปุ่น เช่น กองทุน K-JP K-JPX ฯลฯ กองทุนหุ้นเทคโนโลยี K-GTECH K-ATECH ฯลฯ รวมถึงกองทุนหุ้นสหรัฐฯ เช่น K-USXNDQ ฯลฯ ที่มีการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีด้วย
• สำหรับผู้ที่ถือลงทุนน้อยกว่า 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด
o หากมีกำไร สามารถพิจารณาขายส่วนที่กำไรได้
o แต่หากยังขาดทุน ก็ยังคงสามารถถือต่อได้อยู่ เพื่อรอให้ราคาปรับตัวขึ้นอีกครั้ง
• สำหรับผู้ที่ถือลงทุนเกิน 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด แนะนำพิจารณาหาโอกาสขายเพื่อลดสัดส่วนให้เหลือน้อยกว่า 30%ของเงินลงทุนรวม
โดยเงินที่ได้จากการขายคืน หรือเงินที่ต้องการลงทุนเพิ่ม แนะนำลงทุนในกองทุนแนะนำของ K WEALTH เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสการลงทุน เช่น K-EUROPE-A(D) K-VIETNAM K-GHEALTH
สำหรับผู้ที่กังวลกับความเสี่ยงจากความผันผวนในตลาดหุ้นบางประเทศ หรือบางสินทรัพย์ แนะนำลงทุนในกองทุนผสมที่มีการกระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายและมีผู้จัดการกองทุนในการพิจารณาปรับพอร์ตการลงทุนอย่างเหมาะสม เช่น K-WPULTIMATE K-WPBALANCED
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”