อ่านบทความนี้ ถ้าไม่อยากเกษียณทุกข์

เทคนิคการเก็บเงินให้พอใช้หลังเกษียณสำหรับทุกกลุ่มทุกอาชีพ

• 5 เทคนิคออมเงินสำหรับคนอายุ ไม่เกิน 50 ปี มีเวลาเตรียมตัวนาน 1)ประเมินเงินใช้หลังเกษียณให้เต็มที่ 2)ออมภาคบังคับทุกทาง 3)ออมภาคสมัครใจ(ถ้ามีเงินเหลือ) และเลือกพอร์ตลงทุนเสี่ยงสูงขึ้น 1 ระดับ 4)ใช้เทคนิค DCA ช่วยในการออม และ 5)ทำประกันสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ


• 4 เทคนิคจัดการเงินใกล้เกษียณ 1)ประเมินเงินหลังเกษียณเพื่อดูความเพียงพอ 2)เตรียมรับมือค่ารักษาพยาบาล 3)จัดการเงินก้อนที่สั่งสมมา 4)ลดความเสี่ยงของพอร์ตลง




คำว่า เกษียณ สำหรับใครหลายๆ คน หมายถึง การหยุดทำงาน หรือ มีความพร้อมด้านการเงินมากเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องยึดติดที่อายุเสมอไป แต่หลายคนจะมองว่า จะเกษียณอายุได้ ต้องมีอายุ 55 ปี หรือ 60 ปี ซึ่งเป็นเรื่องไกลตัวในการเตรียมความพร้อมเรื่องเงิน ดังนั้น คำว่า เกษียณ จะมีหลายมุมมอง โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงอายุ 1.ช่วงอายุ ไม่เกิน 50 ปี มีเวลาเตรียมพร้อมตั้งแต่เนิ่นๆ 2.ช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ใกล้จะเกษียณแล้ว บทความนี้จะสรุปเทคนิคให้เตรียมความพร้อมการเงินใน 2 ช่วงอายุให้มีความพร้อม ถ้าได้อ่านบทความนี้ จะไม่เกษียณทุกข์



I: ช่วงอายุ ไม่เกิน 50 ปี มีเวลาเตรียมความพร้อมตั้งแต่เนิ่นๆ

ตัวอย่างเช่น ผู้อ่านกลุ่มที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี มีเวลาในการเตรียมความพร้อม 20 ปีขึ้นไป จะมีลักษณะ คือ ออกแบบการออมเงินเพื่อเกษียณได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากยังมีระยะเวลาในการออม แต่มีเทคนิคในการออมสำหรับคนกลุ่มนี้ ดังนี้


1.1 ประเมินเงินใช้หลังเกษียณให้เต็มที่ วิธีที่ง่ายและได้รับความนิยมคือ วิธีประเมินจากค่าใช้จ่ายเพราะจะได้ผลลัพธ์ที่ใกล้ความเป็นจริง โดยประเมินค่าใช้จ่ายปัจจุบันเป็นรายเดือน และประเมินเพิ่มด้วยอัตราเงินเฟ้อต่อปี ทำให้เป็นเงินก้อนที่ต้องใช้เมื่อเกษียณ เช่น อายุ 40 ปี ปัจจุบันใช้จ่ายรายเดือน 20,000 บาท อีก 20 ปี สมมติว่าอัตราเงินเฟ้อ 3% ทำให้มีอัตราคูณของเงินเฟ้อ อยู่ที่ 1.8061 แปลว่า จากค่าใช้จ่าย 1 บาท ตอนอายุ 40 ปี จะกลายเป็น 1.8061 บาทตอนอายุ 60 ปี ดังนั้น ค่าใช้จ่ายรายเดือนตอนอายุ 60 ปี จะกลายเป็น 36,122 บาท ดังนั้น ซึ่งจะใช้เงินก้อนประมาณ 10,836,600 บาท (36,122 บาท*12 เดือน*25 ปี) เพื่อใช้จนกระทั่งอายุ 85 ปี (อีก 25 ปีหลังเกษียณ)


1.2 ออมภาคบังคับทุกช่องทาง เช่น เงินสมทบประกันสังคม สำหรับผู้มีรายได้ประจำ โดย 2 สิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง คือ 1)เงินสงเคราะห์ชราภาพ ที่จะเป็นเงินบำนาญ/บำเหน็จ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาสะสม และ 2)เงินสงเคราะห์กรณีเจ็บป่วย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จะเป็นการออมภาคบังคับสำหรับข้าราชการที่รับราชการหลัง 27 มี.ค. 40 สามารถจัดการเองได้ เช่น เลือกนโยบายการลงทุนได้ เลือกจำนวนเงินสะสม (2%-15% ของเงินเดือน) ได้ กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (อยู่ระหว่างรอประกาศบังคับใช้) สำหรับผู้มีรายได้ประจำ ที่นายจ้างไม่จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้มีการออมเงินเพื่อใช้หลังเกษียณ


1.3 ออมเพิ่มภาคสมัครใจ (หากมีเงินเหลือ) และเลือกพอร์ตลงทุนเสี่ยงสูงขึ้น 1 ระดับ กลุ่มผลิตภัณฑ์การออมและจูงใจด้วยการลดหย่อนภาษี เช่น

กองทุน RMF (เสี่ยงต่ำ : KSFRMF เสี่ยงปานกลาง : KWPBALRMF เสี่ยงสูง : KWPULTIRMF, KGTECHRMF)

กองทุน SSF (เสี่ยงต่ำ : K-SF-SSF เสี่ยงปานกลาง : K-GINCOME-SSF เสี่ยงสูง : K-VIETNAM-SSF)

กองทุน TESG (เสี่ยงต่ำ : K-ESGSI-ThaiESG เสี่ยงสูง : K-TNZ-ThaiESG)

ประกันชีวิต (ประกันชีวิต 80/5 ทริปเปิ้ลเงินก้อน จะได้รับเงิน 3 ก้อน ตอนอายุ 60, 70 และ 80 ปี ตามลำดับ)

ประกันแบบบำนาญ โดยสามารถเลือกพอร์ตลงทุนเสี่ยงสูงขึ้นได้ 1 ระดับ เนื่องจากมีระยะเวลาออมยาว ยกตัวอย่างเช่น ต้องการใช้เงินก้อนหลังเกษียณ 10,836,600 บาท คำนวณเงินก้อนจากแหล่งเงินออมภาคบังคับ ได้ 5,000,000 บาท (เมื่ออายุ 60 ปี) เหลืออีก 5,836,600 บาท จะต้องออมด้วย ผลิตภัณฑ์ลดหย่อนภาษี เดิมรับความเสี่ยงได้ปานกลางค่อนข้างสูง (เทียบเท่าลงทุนในกอง KWPBALRMF ลงทุนในหุ้นไม่เกิน 45%) สามารถจัดพอร์ตในระดับความเสี่ยงสูง (เทียบเท่าลงทุนในกองทุน KWPULTIRMF ลงทุนในหุ้นไม่เกิน 100%) ได้ เป็นต้น


1.4 ใช้เทคนิคการลงทุนแบบ DCA กับการออมภาคสมัครใจ จะเห็นว่าการออมหลายๆ อย่าง เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. ก็จะใช้เทคนิคการออมรายเดือน ซึ่งจะเป็นการออมที่สอดคล้องกับรายได้ (หากเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ใช้เทคนิคออม 15% ของรายได้แทน) และทยอยลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์การออมและลดหย่อนภาษี อย่างกองทุน RMF SSF TESG เป็นต้น


1.5 ทำประกันสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อปกป้องค่ารักษาพยาบาลให้พร้อมก่อนเกษียณ เพราะ โรคภัยมักเพิ่มขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โรคที่เป็นมาก่อนการทำประกันอาจจะรับประกันแต่เพิ่มเบี้ย หรือไม่รับประกันก็ได้ หากต้องการทำประกันสุขภาพแบบครอบคลุม แนะนำประกันสุขภาพวงเงินเหมาจ่าย เช่น Elite Health Plus หรือ D Health Plus เป็นต้น


สำหรับ 5 เทคนิคในการออมเพื่อเกษียณช่วงอายุไม่เกิน 50 ปีแบบเนิ่นๆ จะเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จในการมีเงินเพียงพอใช้หลังเกษียณได้



II: ช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป เตรียมพร้อมอย่างไร ด้วยเงินที่มีอยู่


สำหรับผู้อ่านกลุ่มใกล้เกษียณแล้ว หรือมีเวลาไม่มากพอจะเสี่ยงสู้สูงแล้ว จะต้องปรับตัวตามจำนวนเงินที่มี แต่ยังต้องใช้คณิตศาสตร์เข้ามาช่วยประเมินความเป็นไปได้ กับ เทคนิคออมเงินสำหรับคนใกล้เกษียณ


2.1 ประเมินเงินใช้หลังเกษียณเพื่อดูความเพียงพอ สำหรับคนใกล้เกษียณ จะใช้วิธีประเมินค่าใช้จ่ายรายเดือนต่างกัน คือ จะประเมินที่ 70% ของค่าใช้จ่ายรายเดือนก่อนเกษียณ เช่น วันนี้ อายุ 50 ปี คาดว่าตอนที่เกษียณมีอายุ 60 ปี จะใช้เงินเดือนละ 30,000 บาท ประเมินแบบเร็วๆ คือ จะใช้เงินหลังเกษียณลดลงเหลือ 70% ของ 30,000 บาท เหลือ 21,000 บาท ก็จะประเมินเงินก้อนได้ประมาณ 21,000*12 เดือน *25 ปี เท่ากับ 6,300,000 บาท (สมมติว่าเงินก้อนนี้ลงทุนหลังเกษียณชนะเงินเฟ้อ) มาถึงตัวเลขนี้ 6 ล้านกว่า ให้เปรียบเทียบกับเงินก้อนที่ตนเองมีว่าห่างกันมากน้อยขนาดไหน เพื่อประเมินความเป็นไปได้ของการใช้เงินก้อนนี้


2.2 เตรียมรับมือค่ารักษาพยาบาล หลังเกษียณแล้วจะใช้สวัสดิการอะไรในการรักษาพยาบาล มีทางเลือก 3 ทาง ทางเลือกแรกคือ ประกันสุขภาพ วิธีนี้ต้องเตรียมตัวมาแต่เนิ่นๆ หากไม่เตรียมตัวมาแล้วเตรียมใกล้เกษียณจะเจอเบี้ยแพง ก็หรือไม่รับประกันโรคที่เป้นเป็นมาก่อน ทางเลือกที่ 2 คือ บัตรทอง ซึ่งหลายคนเลือกวิธีนี้ เพราะไม่มีต้นทุน แต่อยากให้เทียบกับแนวทางรักษา กับ ระยะเวลารอหมอ ด้วย หรือบางคนอาจมีทางเลือกที่ 3 คือ สิทธิรักษาจากประกันสังคม วิธีนี้ใช้ได้เฉพาะผู้ที่เป็นสมาชิกประกันสังคม และเลือกจะเป็นสมาชิกต่อตาม ม.39 และมักถูกเทียบกับทางเลือกที่ 2 ก็ให้พิจารณาจากชื่อ ร.พ. ประกอบด้วย จะช่วยให้ตัดสินใจได้มากขึ้น


2.3 จัดการเงินก้อนที่สั่งสมมา เช่น เงินบำเหน็จบำนาญจากกองทุนประกันสังคม ซึ่งต้องเลือกว่าจะรับเป็นเงินสงเคราะห์ชราภาพ หรือ ใช้เป็นสวัสดิการรักษาพยาบาล (ต่อ ม.39), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กบข. จะมีสิทธิในการจัดการเงิน เมื่อเข้าเงื่อนไขเกษียณอายุ (อายุสมาชิกเกิน 5 ปี อายุตัวเกิน 55 ปีบริบูรณ์) จะถอนเงินออกมาด้วยวิธีใด จะไม่เสียภาษี ส่วนใหญ่จะมีทางเลือก คือ ให้ถอนทั้งหมด เมื่อมีเงินเพียงพอใช้แล้วจะถอนออกมาเพื่อบริหารเงินกับที่อื่นที่เราพอใจ หรือ เมื่อเราต้องการใช้เงินก้อนนี้ก็ต้องถอนออกมาทั้งหมด รับเป็นรายงวด (ถอนมาเฉพาะที่จะใช้ ที่เหลือลงทุนต่อ) วิธีนี้จะช่วยให้เงินหมดช้าลง และต้องพอใจกับวิธีการบริหารของ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กบข. ด้วย สุดท้าย คือ การคงเงิน วิธีนี้ใช้เฉพาะปีที่ตลาดหุ้นผันผวนจนทำให้มูลค่าเงินลงทุนหายไปมาก การคงเงินเป็นการดึงเวลาและหวังว่าในอีก 1 ปีข้างหน้า สถานการณ์จะดีขึ้น ไม่ถูกบังคับให้นำเงินออกในปีที่เงินลงทุนยังขาดทุนอยู่


2.4 ลดความเสี่ยงของพอร์ตลง เมื่อใกล้เกษียณ สำหรับคนใกล้เกษียณที่เตรียมตัวมาดี เงินเพียงพอกับเงินก้อนที่จะใช้หลังเกษียณแล้ว ส่วนคนที่ยังไม่บรรลุ ควรดูแลพอร์ตอย่างใกล้ชิดไม่ให้พอร์ตลงทุนเสี่ยงเกินไป อาจจะกระทบเงินก้อนที่จะใช้หลังเกษียณได้ ให้ใช้เทคนิคการถอน 4% ของเงินก้อนที่มีแล้วประเมินว่า เพียงพอจะใช้เงินรายเดือนหลังเกษียณหรือไม่ เช่น มีเงินก้อน 5 ล้านบาท ต้องการใช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 21,000 บาท ใช้กฎ 4%* 5,000,000 บาท เท่ากับ 200,000 บาทต่อปี หรือ 16,667 บาทต่อเดือน ยังขาดอยู่เดือนละประมาณ 5,000 บาท จะทำอย่างไรกับเงินส่วนขาดนี้ จะนำเงิน 5 ล้านบาทไปลงทุนเพื่อให้มีรายได้มาชดเชยส่วนขาดนี้ หรือจะลดค่าใช้จ่ายให้เหลือ เดือนละ 16,000 บาท ก็ทำได้


นอกจากเรื่องเงินออมหลังเกษียณแล้ว อย่าลืม การดูแลเงินก้อนที่เก็บไว้ ไม่ให้ถูกมิจฉาชีพ มาหลอกโอนเงินออกไปจากบัญชี ดังนั้น การเก็บเงินในบัญชีกองทุน อาจจะปลอดภัยกว่า เพราะขายกองทุน (เสี่ยงต่ำ) ได้เงินเข้าบัญชีเร็วที่สุด ก็ 1 วันทำการ มิจฉาชีพ คงมาหลอกเอาเงินเราไม่ได้ แต่และยังได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ด้วย




คำเตือน


ผู้เขียน

K WEALTH สุนิติ ถนัดวณิชย์ CFP®
Back to top