สรุปทุกเรื่องที่คุณต้องรู้ก่อนรับเงิน Digital Wallet 10,000 บาท

สรุปทุกรายละเอียดที่คุณต้องรู้ก่อนลงทะเบียนรับสิทธิ์ Digital Wallet 10,000 บาท พร้อมเสิร์ฟคำแนะนำการบริหารเงินสด 10,000 บาท ที่จะสามารถประหยัดได้จากโครงการนี้ว่าควรเอาไปทำอะไร ใช้จ่ายอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด!

• Digital Wallet เป็นโครงการเรือธงที่รัฐบาลชุดนี้เชื่อว่า ถ้าทำได้จริงจะทำให้เกิดภาวะพายุหมุนทางเศรษฐกิจในประเทศไทย และจะช่วยกอบกู้ประเทศจากภาวะเศรษฐกิจซบเซามาอย่างยาวนาน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนรอความชัดเจนจากรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการว่าจะเปิดให้ใช้ได้เมื่อไหร่


• • K-Wealth ขอนำทุกท่านมาอัพเดทรายละเอียดล่าสุดของโครงการ Digital Wallet หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์จากของเดิมในช่วงเดือน ก.ค. 67 พอสมควร โดยเริ่มต้นแจกเงินสดให้กับกลุ่มเปราะบางก่อนตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. – 30 ก.ย. 2567




อัพเดทล่าสุดของโครงการ Digital Wallet ภายหลังวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมกันแถลงรายละเอียดความคืบหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet แต่ภายหลังมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญจากนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนางสาว แพทองธาร ชินวัตร นโยบาย Digital Wallet ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแจกเงินจากเดิมที่แถลงไปพอสมควร โดยมีใจความสำคัญของโครงการอัพเดทดังนี้



เฟส 1 แจกกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน

ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ค่อนข้างดีในมุมมองของรัฐบาล สอดรับกับตลาดหุ้นไทยที่มีการปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา นโยบาย Digital Wallet จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแจกให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยจะแบ่งการแจกเงินออกเป็นเฟส ซึ่งเฟส 1 จะเป็นการแจกกลุ่มเปราะบาง ซึ่งประกอบไปด้วย


1) กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน จ่ายเงินสด จำนวน 12 ล้านราย
2) กลุ่มคนพิการ จ่ายเงินสด จำนวน 2.5 ล้านราย

สาเหตุที่ต้องเร่งแจกกลุ่มนี้ก่อนเป็นเพราะ 1) สามารถทำได้ทันที เพราะมีข้อมูลอยู่แล้ว ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรประจำตัวประชาชนผู้พิการ และมีระบบการจ่ายเงินที่ใช้ในการจ่ายเงินให้คนกลุ่มนี้อยู่แล้ว และ 2) เป็นเรื่องของงบประมาณประจำปี 67 ซึ่งถ้าไม่ใช้ก่อนวันที่ 30 กันยายน 2567 จะไม่สามารถใช้ได้อีกเพราะหมดรอบปีงบประมาณแล้ว


ใช้ได้เมื่อไหร่ แล้วใช้ยังไง?

เนื่องจากเฟส 1 นี้แจกเป็นเงินสด ช่วงระหว่างวันที่ 25-30 กันยายน 67 โดยจะโอนผ่านช่องทางพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน จึงทำให้เมื่อได้รับเงินแล้วสามารถนำไปใช้จ่ายได้ทันทีโดยไม่มีข้อกำหนดในการใช้งานเหมือนครั้งที่ประกาศเมื่อช่วงเดือนก.ค. ที่ผ่านมา โดยจะกำหนดช่วงเวลาที่จะได้รับเงินด้วยเลขท้ายบัตรประชาชน ดังนี้

วันที่ 25 ก.ย.

• กลุ่มผู้พิการทั้งหมด

• ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐบัตรประชาชน เลขบัตรประชาชนลงท้ายด้วยเลข 0


วันที่ 26 ก.ย.

• บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน เลขบัตรประชาชนลงท้ายด้วยเลข 1,2,3


วันที่ 27 ก.ย.

• บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน เลขบัตรประชาชนลงท้ายด้วยเลข 4,5,6,7


วันที่ 30 ก.ย.

• บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน เลขบัตรประชาชนลงท้ายด้วยเลข 8,9



หลักเกณฑ์มาแบบนี้ ยังไงต่อดี?

จะเห็นได้ว่าโครงการ Digital Wallet ในเฟส 1 นี้ แจกเป็นเงินสดและให้กลุ่มเปราะบางซึ่งอาจจะไม่ได้มีกำลังซื้อมากนัก ดังนั้นหากคุณเป็นผู้ที่ได้รับเงิน Digital Wallet เราแนะนำการบริหารเงินหมื่นที่ได้รับดังนี้


หากท่านเป็นคนทั่วไปแต่อาจจะไม่ได้สามารถกันเงิน 10,000 บาทไปลงทุนได้เพราะมีภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่นต้องใช้หนี้ หรือจ่ายค่าเช่า เราแนะนำให้เอาเงินสดที่ได้รับมาใช้หนี้เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และเก็บออมส่วนที่เหลือไปลงทุนตามความเสี่ยงที่รับได้


ส่วนเฟส 2 สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์ผ่านแอปทางรัฐ ไว้ อาจจะต้องรอติดตามอย่างใกล้ชิดทั้งในเรื่องของความเป็นไปได้ที่จะแจกเงิน ช่วงเวลา และรูปแบบที่จะแจก อย่างไรก็ดี ทาง K WEALTH ขอทิ้งคำแนะนำไว้เพื่อเป็นทางเลือก คือหากท่านเป็นคนทั่วไปที่รอรับเงินหมื่นได้เลยและไม่ได้เดือดร้อนสภาพคล่องถ้าไม่ได้เงินหมื่นนี้ เราแนะนำให้แบ่งเงิน 10,000 บาทซัก 60-70% หรือทั้งหมดเลยก็ได้ ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าถือเงินสดไว้เฉยๆตามความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ ถ้ารับความเสี่ยงไม่ได้มากก็อาจจะเอาไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือกองทุนตราสารหนี้เสี่ยงต่ำ แต่ถ้าหากรับความเสี่ยงได้มากขึ้นก็เอาไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นหรือลงทุนในหุ้นเลยก็ได้


สรุปก็คือ ไม่ว่าในปีนี้เราจะเป็นผู้โชคดีได้รับเงิน Digital Wallet 10,000 บาท หรืออาจจะต้องรอความชัดเจนในปีหน้า เราควรมีการวางแผนทางการเงินที่รัดกุม คิดถึงสภาพคล่องของตัวเองอยู่เสมอ ไม่ควรใช้จ่ายเกินตัวโดยความเชื่อว่าเราจะได้เงินสนับสนุนส่วนนี้มาใช้อย่างแน่นอน มิเช่นนั้นแล้วอาจทำให้ท่านประสบปัญหาทางการเงินและไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุนของท่านได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก: กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐ, Workpoint Today



คำเตือน


ผู้เขียน

K WEALTH จิรพัฒน์ จิรนิรันดร์กุล CFA
Back to top