ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลง หลังมีความกังวลมากขึ้นเรื่องเศรษฐกิจถดถอย
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อคืนที่ผ่านมา (1 ส.ค. 67) เจอแรงเทขาย หลังจากมีการประกาศตัวเลขสำคัญ 2 ตัว จากตัวเลข ISM Manufacturing PMI ที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือนในเดือนกรกฎาคมที่ 46.8 ซึ่งบ่งชี้ถึงการหดตัวทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง และตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) เพิ่มขึ้น 14,000 ราย สู่ระดับ 249,000 ราย เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2566 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 236,000 ราย
นอกจากนี้นักลงทุนต่างขายหุ้นเทคโนโลยีซึ่งเปิดเผยผลประกอบการออกมาไม่เป็นไปตามความคาดหวังของนักลงทุน เช่น Microsoft ซึ่งรายได้จาก Azure ต่ำกว่าคาดการณ์, ARM ปรับลดประมาณการสำหรับไตรมาสหน้าและปี 24 หรือแม้กระทั่งก่อนหน้านี้ Google มีรายได้จากการโฆษณาผ่าน YouTube ลดลง
มุมมองการลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ภาพรวมเศรษฐกิจโดยรวมยังแข็งแกร่ง GDP ไตรมาส 2/67 เติบโตดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เงินเฟ้อที่อยู่ในช่วงขาลง และคาดว่า Fed จะมีการลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้งปลายปีนี้ ในช่วงเดือนกันยายน
จากทิศทางเศรษฐกิจที่ยังเติบโตได้ดีและความคาดหวังเรื่องการลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปี รวมถึงกระแส AI ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สะท้อนผ่านระดับมูลค่าที่ตึงตัวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้ Upside มีค่อนข้างจำกัด และเริ่มเห็นแรงกดดันจากผลประกอบการที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Magnificent 7 อีกทั้งในระยะสั้นยังคงมีความผันผวนจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี ดังนั้น K WEALTH จึงมีมุมมองเป็นกลางต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ
คำแนะนำการลงทุนกองทุนรวมหุ้นสหรัฐฯ
• คำแนะนำการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นสหรัฐฯ เช่น กองทุน K-USA, K-USXNDQ, K-US500X ดังนี้
o นักลงทุนที่ยังไม่มีการลงทุนในกองทุนหุ้นสหรัฐฯ แนะนำลงทุนในกองทุนแนะนำอื่น ๆ ด้านล่าง
o นักลงทุนที่มีการลงทุนในกองทุนหุ้นสหรัฐฯ แนะนำถือลงทุนต่อ หรือหากมีกำไรมากกว่า 10% แนะนำให้ทยอยขายทำกำไร
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลงแรง หลังจากเงินเยนกลับมาแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 4 เดือน
เช้าวันนี้ (2 ส.ค. 67) ตลาดหุ้นญี่ปุ่น (TOPIX) และดัชนี Nikkei 225 ปรับตัวลงแรง ต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้ โดยในสองวันนี้ปรับตัวลงไปแล้วเกือบ 10% นำโดยหุ้นกลุ่มส่งออก เนื่องจากค่าเงินเยนที่กลับมาแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 4 เดือน อยู่ที่ 148.51 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 0.25% และส่งสัญญาณว่าอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในอนาคต รวมทั้งยังประกาศแผนปรับลดปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาลลง โดยจะลดการซื้อพันธบัตรลงไตรมาสละ 400,000 ล้านเยน ทำให้จะลดวงเงินซื้อพันธบัตรในระหว่างเดือน ม.ค. - มี.ค. 68 ให้ลงมาเหลือ 3 ล้านล้านเยนต่อเดือน หรือเหลือเพียงครึ่งหนึ่งจากวงเงินในปัจจุบัน
มุมมองการลงทุน
เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มมีสัญญาณการเติบโตที่ลดลงตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนชัดผ่านการปรับลดประมาณการ GDP ในการประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้ BoJ ยังต้องจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อสูงและเงินเยนที่อ่อนค่า ทำให้ต้องใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นทั้งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดวงเงินซื้อพันธบัตร ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้
เมื่อประกอบกับอัตราส่วน P/E ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ขึ้นมาแตะระดับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง K WEALTH มองว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นรับข่าวปัจจัยบวกไปแล้ว และมี Upside เหลือไม่มาก จึงมีมุมมอง Neutral ต่อการลงทุนตลาดหุ้นญี่ปุ่น
คำแนะนำการลงทุนกองทุนญี่ปุ่น มีดังนี้
คำแนะนำการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นญี่ปุ่น เช่น กองทุน K-JPX-A(A) และ K-JP-A(D) ดังนี้
o นักลงทุนที่ยังไม่มีการลงทุนในกองทุนหุ้นญี่ปุ่น แนะนำลงทุนในกองทุนแนะนำอื่น ๆ ด้านล่าง
o นักลงทุนที่มีการลงทุนในกองทุนหุ้นญี่ปุ่น แนะนำถือลงทุนต่อ หรือหากมีกำไรมากกว่า 10% แนะนำให้ทยอยขายทำกำไร
สำหรับกองทุนแนะนำอื่น มีดังนี้
• สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงจากการลงทุนได้
o แนะนำพิจารณาลงทุนกองทุน K-GHEALTH* (ระดับความเสี่ยง 6 จาก 8 ระดับ) ลงทุนในบริษัท Healthcare ครอบคลุมทั้งกลุ่ม Defensive เช่น Pharmaceutical, Healthcare Services และกลุ่ม Growth เช่น Medtech, Biotechnology
o แนะนำพิจารณาลงทุนกองทุน K-VIETNAM* (ระดับความเสี่ยง 6 จาก 8 ระดับ) ลงทุนหุ้นเวียดนามที่รับประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจ เช่น บริโภคภายใน การเงิน อุตสาหกรรม
• สำหรับนักลงทุนที่มีความกังวลต่อความผันผวนของตลาดหุ้น
o หากไม่สามารถรับความเสี่ยงการลงทุนต่างประเทศได้ แนะนำพิจารณาลงทุนกองทุน K-FIXED-A** (ระดับความเสี่ยง 4 จาก 8 ระดับ) ถือลงทุนอย่างน้อย 1 ปี
o ชอบกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศบางส่วน แนะนำพิจารณาลงทุน K-FIXEDPLUS** (ระดับความเสี่ยง 4 จาก 8 ระดับ) แนะนำถือลงทุนอย่างน้อย 1 ปี
• สำหรับผู้ที่ยังกังวลกับความผันผวนของตลาดหุ้น และไม่สามารถรับความเสี่ยงได้ แนะนำพักเงินในกองทุน K-SF-A** (ระดับความเสี่ยง 4 จาก 8 ระดับ) ซึ่งเหมาะกับการลงทุน 1-3 เดือน เพื่อรอจังหวะเข้าลงทุนอีกครั้ง หรือกองทุน K-SFPLUS** (ระดับความเสี่ยง 4 จาก 8 ระดับ) เหมาะกับการลงทุน 3-6 เดือน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Investing, Bloomberg, CNBC
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”
*กองทุน K-GHEALTH และ K-VIETNAM มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
**กองทุน K-FIXED-A, K-FIXEDPLUS, K-SF-A และ K-SFPLUS มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด