Hedge หรือ Unhedge เรื่องปวดหัวเมื่อค่าเงินเหวี่ยง

เทคนิคการเลือกลงทุนกองทุนต่างประเทศ จะเลือกแบบ Hedge หรือ Unhedge ดี

• การลงทุนในต่างประเทศจะมีผลตอบแทนรวม มาจาก ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ลงทุน และผลตอบแทนจากอัตราแลกเปลี่ยน


• กองทุนต่างประเทศที่มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedge) จะช่วยปิดความเสี่ยงเรื่องค่าเงินที่ผันผวน โดยเฉพาะในช่วงที่เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ส่วนกองทุนที่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Unhedge) จะได้ประโยชน์จากค่าเงินในช่วงที่เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง เทียบกับสกุลเงินต่างประเทศ


• แนะนำให้เลือกกองทุนแบบ Hedge ไว้ก่อนสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน




จะว่าไปแล้ว ค่าเงิน ก็เปรียบเสมือนสินค้าประเภทหนึ่ง ที่มีราคาที่ต้องจ่าย ยกตัวอย่าง ใครที่จะไปเที่ยวญี่ปุ่น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะจ่ายเงินบาทเพื่อแลกเงินเยนได้มากขึ้น แสดงว่า ค่าเงินเยนอ่อนค่า ทำให้ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว หรือ ใช้ซื้อของฝากจากประเทศญี่ปุ่น ได้ถูกกว่า อันนี้จะทำให้เห็นภาพของค่าเงินบาทกับสกุลเงินต่างประเทศ มีผลต่อเงินในกระเป๋าเรา ในอีกทางหนึ่ง คือ การนำเงินไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ค่าเงินก็จะมีผลต่อผลตอบแทนที่จะได้รับด้วย ซึ่งบางกองทุนจะมีให้เลือกว่าจะ ป้องกันอัตราแลกเปลี่ยน (Hedge) หรือ ปล่อยอัตราแลกเปลี่ยนตามกลไกตลาด (Unhedge) เราในฐานะผู้ลงทุน จะเลือกลงทุนอย่างไรในภาวะค่าเงินเหวี่ยงแรง บทความนี้จะช่วยให้ตัดสินใจได้ ว่าควร Hedge หรือ Unhedge ดี



ลงทุนในกองทุนต่างประเทศ มีเรื่องค่าเงินเป็นตัวแปร

การลงทุนในกองทุนต่างประเทศ นอกจากเรื่องผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ไปลงทุนแล้ว ยังมีเรื่องค่าเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น หากเราสนใจผลตอบแทนจากการลงทุน ยิ่งต้องทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินว่าจะกระทบกับกำไร/ขาดทุนของเงินลงทุนเราอย่างไรนั่นเอง




จากรูปเป็นกราฟความเปลี่ยนแปลงของค่าเงินสกุลต่างๆ เทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ เดือน ก.ค. 67) ดูค่าเงินบาท ที่แข็งค่าขึ้น 2.95% เทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ แปลว่า ถือเงินดอลลาร์สหรัฐแลกเงินบาทได้น้อยลง 2.95% แล้ว ดังนั้น หากมีกองทุนหุ้นสหรัฐฯ ต้องให้ผลตอบแทน 1 เดือนย้อนหลัง มากกว่า 2.95% จึงจะทำให้ผลตอบแทนรวมของกองทุน มีกำไร ดังนั้น กำไร/ขาดทุนจากค่าเงินในกองทุนต่างประเทศ มีผลต่อกำไร/ขาดทุนจากการลงทุนทั้งหมด



Hedge VS Unhedge คือออะไร

Hedge ค่าเงิน คือ การป้องกันอัตราแลกเปลี่ยน หรือ ล็อคอัตราแลกเปลี่ยนไว้ ยกตัวอย่าง เช่น ทำการป้องกันอัตราแลกเปลี่ยน ที่ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จะช่วยนักลงทุน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มองว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าในอนาคต หรือ ดอลลาร์แลกเงินบาทได้น้อยลง แต่ล็อคอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 35 บาท/ดอลลาร์ ทำให้ไม่ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน กับ กลุ่มที่มองว่า ปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไปเลย และสนใจที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศเท่านั้น ดังนั้น นโยบาย Hedge ค่าเงิน จะเหมาะกับแนวโน้มค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น หรือ นักลงทุนที่สนใจแต่ผลตอบแทนจากสินทรัพย์


Unhedge ค่าเงิน คือ การไม่ป้องกันอัตราแลกเปลี่ยน หรือ ปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามกลไกธรรมชาติ ยกตัวอย่าง เช่น วันที่ 1 ม.ค. 67 ได้ลงทุน 3,500,000 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ) เทียบเท่า 100,000 ดอลลาร์ฯ ต่อมาในวันที่ 30 มิ.ย. 67 ผลตอบแทนจากกองทุนต่างประเทศ = 0% แต่อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34 บาท/ดอลลาร์ฯ เนื่องจากมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หรือ แลกเงินบาทได้น้อยลง จะทำให้ขาดทุน 2.86% จากค่าเงินดอลลาร์ฯที่อ่อนค่าลง เป็นต้น ดังนั้น นโยบาย Unhedge จะเหมาะกับแนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนค่าลง



ตัวอย่างกองทุนที่มี Hedge & Unhedge

ตัวอย่างจะเห็นได้ชัดที่สุด คือ กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนเหมือนกัน แตกต่างเพียงนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน Hedge กับ Unhedge นั่นคือ กองทุน K-GHEALTH โดยผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี ณ 31 ก.ค. 67 ของกองทุนที่ Hedge กับ Unhedge คือ 6.77% และ 14.21% ต่อปี แปลว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Healthcare เท่ากัน ส่วนที่แตกต่างคือ ผลตอบแทนจากอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อกลับมาดูอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคาร USD/THB อยู่ที่ 34.359 และ 35.723 บาท/ดอลลาร์ฯ ในวันที่ 31 ก.ค. 66 และ 31 ก.ค. 67 จะเห็นว่า เงินบาทอ่อนค่าลงเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้กองทุนที่มีนโยบายลงทุนเหมือนกัน แต่ต่างกันเพียงการป้องกันอัตราแลกเปลี่ยน จะเป็นกองทุนที่ Unhedge ที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ส่วนกองทุนที่ Hedge จะไม่ได้ประโยชน์



คำแนะนำลงทุนในกองทุนที่มีให้เลือกทั้ง Hedge และ Unhedge ค่าเงิน

จากตัวอย่างแสดงให้เห็นแล้วว่าการเลือกนโยบายป้องกันอัตราแลกเปลี่ยน มีผลต่อผลตอบแทนการลงทุน แล้วจะเลือกอย่างไรดีให้เหมาะสม เนื่องจากนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวม จะเหมาะกับผู้ไม่มีเวลาติดตาม ต้องการให้ผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพช่วยดูแลเงินลงทุนให้ แนะนำให้เลือกนโยบายแบบ Hedge ค่าเงิน จะช่วยให้ผู้ลงทุนเน้นรับผลตอบแทนตามนโยบายการลงทุน และปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงนักลงทุนในระยะยาว ส่วนการเลือกนโยบายแบบ Unhedge จะเหมาะกับนักลงทุนที่เก็งกำไรระยะสั้นๆ ที่ติดตามแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ซึ่งจากมุมมองค่าเงินบาท มีเป้าหมายอยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสิ้นปี 2567 นี้ แปลว่า คาดว่าเงินบาทจะอ่อนตัวอีกเล็กน้อย หากจะเก็งกำไรเรื่องค่าเงิน และเลือกนโยบายแบบ Unhedge อาจจะไม่คุ้ม


นอกจากเรื่องค่าเงินแล้ว ปัจจัยสำคัญในการลงทุน คือ จะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่น่าสนใจ โดยทาง K WEALTH จะมี update กองทุนแนะนำในแต่ละเดือน สามารถติดตามได้ที่หน้ากองทุนแนะนำรายเดือน



คำเตือน


ผู้เขียน

K WEALTH สุนิติ ถนัดวณิชย์ CFP®
Back to top