หุ้นเวียดนามเติบโตสดใส แต่ไปแบบรถไฟเหาะ

เศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 2 ปี 2024 เติบโตโดดเด่น ธนาคารโลกมองโตต่อเนื่อง ทั้งปี2024 GDP อยู่ที่ 6.1% และ 6.5% ในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่ยังมีปัจจัยกดดันทำให้ตลาดผันผวน แล้วจะลงทุนยังไงบทความนี้มีคำตอบ

• เศรษฐกิจของเวียดนามเติบโต 6.9% ในไตรมาสที่ 2/24 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการบริโภคครัวเรือนและการลงทุนของรัฐ มีปัจจัยกดดันระยะสั้นจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศลดลง และการส่งออกที่โตช้าตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ตลาดโลก โดยธนาคารโลกได้ประเมินว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโต 6.1% ในปี 2024 และ 6.5% ในอีก 2 ปีข้างหน้า


• K Wealth มีมุมมองต่อตลาดหุ้นเวียดนามค่อนข้างบวก(Slightly Positive) แนะนำทยอยลงทุนในกองทุน K-VIETNAM ได้ โดยกองนี้มีการลงทุนในหลายอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ยังเติบโต




ภาพรวมจากการลงทุนของตลาดหุ้นเวียดนามในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา




ที่มา: TradingView


ตั้งแต่ปี 2019 จนถึงปัจจุบัน (ย้อนหลัง 5 ปี) VN Index ปรับตัวสูงขึ้นมากถึง 55.71% เนื่องจากตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงเวียดนามฟื้นตัวหลังการระบาดของโควิด-19 ก่อนจะลดลง -37.05% เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และในช่วงต้นปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นเวียดนามได้ฟื้นตัวอีกครั้ง โดยปรับตัวขึ้น 9.68% (ณ วันที่ 16/09/2024) จากการเติบโตที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจเวียดนาม


ปัจจัยการเติบโตและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของเวียดนาม

ปัจจัยสนับสนุนการเติบโต

ไตรมาสที่ 2 ปี 2024 อัตราการเติบโตอยู่ที่ 6.9% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงกว่าที่ consensus คาดไว้ที่ 5.8% และมากกว่าไตรมาสแรกอยู่ที่ 5.9% ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือการบริโภคในครัวเรือน และการลงทุนของรัฐ การบริโภคในครัวเรือนได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยยอดค้าปลีกสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 9.2% ในไตรมาสที่ 2 จาก 8.6% ในไตรมาสแรก ยอดขายรถยนต์ก็ฟื้นตัวในเดือนเมษายนและพฤษภาคมเป็นครั้งแรกตั้งแต่วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ปลายปี 2565 นอกจากนี้ การลงทุนจากรัฐขยายตัวถึง 3.2% ในไตรมาสที่ 2 สูงกว่า 0.9% ในไตรมาสแรก ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีอัตราเติบโตที่ 12.8% ในไตรมาสที่ 2 ลดลงจาก 13.4% ในไตรมาสแรก เนื่องจากปัจจัยทางการเมืองชั่วคราวทำให้ FDI ลดลง 9.5% ในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม แต่ฟื้นตัวได้ถึง 60% ในเดือนมิถุนายนหลังประธานาธิบดีคนใหม่เข้ารับตำแหน่ง ในขณะเดียวกัน การส่งออกของเวียดนามเติบโตช้าลง เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่


แนวโน้มการเติบโตในอีก 1-2 ปีข้างหน้า โดยธนาคารโลก(World Bank) คาดเศรษฐกิจเวียดนามยังคงเติบโตได้ดี โดยจะเติบโต 6.1% ในปี 2024 และ 6.5% ในปี 2025 และ 2026 ซึ่งการเติบโตนี้จะมาจากการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว รวมถึงการบริโภคและการลงทุนในภาคธุรกิจ การลงทุนเพิ่มเติมจากภาครัฐจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ด้านพลังงาน การขนส่ง และโลจิสติกส์ ซึ่งจะสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในระยะยาว


Ketut Ariadi Kusuma ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินของธนาคารโลกกล่าวว่า "หากเวียดนามได้รับการยกระดับจาก Frontier Market ไปเป็น Emerging Market จะมีการลงทุนจากกองทุนระดับโลกหลายพันล้านดอลลาร์ไหลเข้าสู่ตลาดทุน อีกทั้งการกระจายการลงทุนของกองทุนประกันสังคมเวียดนาม(VSS) อย่างค่อยเป็นค่อยไปถือเป็นกุญแจสำคัญ ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนระยะยาวเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามผ่านการลงทุนในภาคธุรกิจอีกด้วย"


ความเสี่ยงของเศรษฐกิจเวียดนาม

ในตลาดหุ้นเวียดนามซึ่งจัดอยู่ในประเภท Frontier Market มีขนาดตลาดที่ค่อนข้างเล็ก และยังอยู่ในช่วงพัฒนายังคงเผชิญกับปัญหาหลายๆด้าน เช่น


ตลาดหุ้นเวียดนามยังคงมีมูลค่าตลาดที่เล็ก ดัชนี VNI ของเวียดนามมีมูลค่า 207,360 ล้านเหรียญสหรัฐ (ณ วันที่ 16 กันยายน 2024) ในขณะที่ดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทยมีมูลค่า 534,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่ามากถึงสองเท่า ด้วยเหตุนี้กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่จึงสามารถสร้างความผันผวนในตลาดหุ้นเวียดนามด้วยการลงทุนจากจำนวนเงินเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของพอร์ต


ตลาดหุ้นเวียดนามมีนักลงทุนรายย่อยมีบทบาทในตลาดหุ้นมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนของมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 90% โดยมี 7.5 ล้านบัญชี คิดเป็น 7.5% ของประชากรทั้งหมด นักลงทุนรายย่อยในเวียดนามส่วนใหญ่นิยมการลงทุนแบบเก็งกำไร ทำให้ตลาดมีความเสี่ยงด้านความผันผวนสูง นอกจากนี้ตลาดหุ้นเวียดนามยังจำกัดการถือครองหุ้นโดยนักลงทุนต่างชาติที่ 49% สำหรับหุ้นทั่วไป และ 30% สำหรับหุ้นธนาคาร ซึ่งหากหุ้นถูกซื้อเต็มแล้ว นักลงทุนต่างชาติก็จะไม่สามารถซื้อหุ้นตัวนั้นเพิ่มได้อีก


เวียดนามยังคงประสบปัญหาการทุจริตอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2023 ศาลได้พิพากษาจำคุกอดีตรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงรวม 54 คนด้วยข้อหา “ติดสินบน” และ “ทุจริต” งบประมาณโควิด-19 อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เศรษฐินีรายหนึ่งได้ยักยอกเงินจาก “ธนาคาร Saigon Commercial Bank” (SCB) คิดเป็นมูลค่ากว่า 12,530 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4.4 แสนล้านบาท



อุสหกรรมและธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์

อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามตามปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น คือ


กลุ่มธนาคาร: การขยายตัวของเศรษฐกิจเวียดนามและการเติบโตของการส่งออกจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของกลุ่มธนาคาร เนื่องจากความต้องการสินเชื่อจากธุรกิจและการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทำให้ธนาคารมีรายได้จากการปล่อยสินเชื่อและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ นอกจากนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจยังช่วยเพิ่มยอดเงินฝากและกระตุ้นการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งส่งผลดีต่อรายได้จากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของธนาคาร ตัวอย่างเช่น Voicebank (Joint Stock Commercial Bank for Foreign Trade of Vietnam) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ชั้นนำที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในเวียดนาม โดยมูลค่าตลาดกว่า 670,853 ล้านบาท


ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้สุทธิจากการดำเนินงานของ voicebank สำหรับ 3 ปีล่าสุดมีดังนี้:

• ปี 2023: รายได้สุทธิอยู่ที่ประมาณ 33,033 ล้าน VND

• ปี 2022: รายได้สุทธิอยู่ที่ประมาณ 29,899 ล้าน VND

• ปี 2021: รายได้สุทธิอยู่ที่ประมาณ 21,996 ล้าน VND


กลุ่มก่อสร้าง: การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐจะสร้างโอกาสในงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจะเพิ่มรายได้โดยตรงจากสัญญาก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวของบริษัทก่อสร้างเพื่อรองรับโครงการที่มากขึ้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานยังช่วยกระตุ้นความต้องการวัสดุก่อสร้างและบริการที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น Hoa Phat Group ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ในเวียดนามที่ทำธุรกิจหลากหลาย รวมถึงการผลิตเหล็ก การจำหน่ายอุปกรณ์การเกษตร และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์


ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้สุทธิจากการดำเนินงานของ Hoa Phat Group สำหรับ 3 ปีล่าสุดมีดังนี้:

• ปี 2023: รายได้สุทธิอยู่ที่ประมาณ 6,835 ล้าน VND

• ปี 2022: รายได้สุทธิอยู่ที่ประมาณ 8,483 ล้าน VND

• ปี 2021: รายได้สุทธิอยู่ที่ประมาณ 34,478 ล้าน VND


กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ: การลงทุนจากภาครัฐและเอกชนในด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารจะสร้างโอกาสสำหรับบริษัทที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น FPT Corporation ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในเวียดนามที่ให้บริการด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ การจัดการระบบไอที การให้บริการคลาวด์ และโซลูชันด้านดิจิทัล รวมถึงการให้บริการโทรคมนาคมและการจัดการข้อมูล


ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้สุทธิจากการดำเนินงานของ FPT Corporation สำหรับ 3 ปีล่าสุดมีดังนี้:

• ปี 2023: รายได้สุทธิอยู่ที่ประมาณ 6,465 ล้าน VND

• ปี 2022: รายได้สุทธิอยู่ที่ประมาณ 5,310 ล้าน VND

• ปี 2021: รายได้สุทธิอยู่ที่ประมาณ 4,337 ล้าน VND


กลุ่มค้าปลีก: การเติบโตของการบริโภคและการลงทุนภาครัฐจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมค้าปลีก โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของยอดค้าปลีกสินค้าที่สะท้อนถึงการจับจ่ายใช้สอยที่สูงขึ้น การขยายตัวของการลงทุนภาครัฐช่วยกระตุ้นการบริโภคในระดับครัวเรือน ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น ตัวอย่างเช่น Mobile World Investment Corporation ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกชั้นนำที่มีทั้งร้านค้าออนไลน์และออฟไลน์ มีสาขากว่า 4,500 แห่งทั่วประเทศ และมีรายได้สะสมในช่วง 7 เดือนของปี 2024 ที่เติบโตขึ้น 6% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน


ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้สุทธิจากการดำเนินงานของ Mobile World Investment Corporation สำหรับ 3 ปีล่าสุดมีดังนี้:

• ปี 2023: รายได้สุทธิอยู่ที่ประมาณ 6,300 ล้าน VND

• ปี 2022: รายได้สุทธิอยู่ที่ประมาณ 6,029 ล้าน VND

• ปี 2021: รายได้สุทธิอยู่ที่ประมาณ 5,085 ล้าน VND



เจาะลึกกองทุน K-VIETNAM

สำหรับพอร์ตการลงทุนในปัจจุบันของกองทุน K-VIETNAM มีทรัพย์สินที่ลงทุน 5 อันดับแรก ดังนี้


ที่มา: kasikornasset


ในส่วนของหุ้นที่ลงทุน (Top 5 Holding) ของกองทุน K-VIETNAM พบว่ามีการกระจายการลงทุนที่ครอบคลุมไปยังหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมและธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามตามข้อมูลข้างต้น ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสการเติบโตจากการลงทุนในระยะยาวสำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนนี้


กองทุน K-VIETNAM ราคา NAV อยู่ที่ 13.0874 บาท ให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึง 16 กันยายน 2024 อยู่ที่ 12.59% ซึ่งถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว แต่หากมองในระยะสั้น อย่างในช่วง 3 เดือน และ 6 เดือน ล่าสุด พบว่าผลตอบแทนติดลบที่ -8.56% และ -3.94% ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความผันผวนของกองทุนในช่วงสั้น โดยค่าความผันผวน (Standard Deviation: SD) ในระยะเวลา 1 ปีของกองทุนนี้อยู่ที่ 21.95% หมายความว่าราคาของกองทุนมีการแกว่งตัวค่อนข้างสูง



ที่มา: kasikornasset


แต่ถ้าเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุนกับดัชนีชี้วัด(MSCI Vietnam Net Total Return USD Index) จะเห็นได้ว่ากองทุน K-VIETNAM ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าและมีความผันผวนน้อยกว่า



3 เดือน
6 เดือน
1 ปี
YTD
K-VIETNAM
-8.56%
-3.94%
-1.97%
12.59%
ดัชนีชี้วัด
-11.95%
-14.46%
-16.07%
-4.71%

K Wealth มีมุมมองที่ค่อนข้างบวก(Slightly Positive) ต่อตลาดหุ้นเวียดนาม จากการเติบโตทางเศรษฐกิจข้างต้น โดยกอง K-VIETNAM เป็นหนึ่งในกองที่อยู่ในการลงทุนส่วน Satellite ที่เราแนะนำ โดยแบ่งคำแนะนำตามกลุ่มนักลงทุนดังนี้


1.นักลงทุนที่มีการลงทุนในหุ้นเวียดนามอยู่แล้ว

• นักลงทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเวียดนาม มากกว่า 30% แนะนำทยอยหาจังหวะขายทำกำไรเพื่อรักษาสัดส่วนการลงทุนโดยรวมให้เหมาะสม และนำเงินส่วนที่เหลือไปกระจายการลงทุนในส่วนอื่น

• นักลงทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเวียดนาม น้อยกว่า 30% แนะนำเพิ่มการลงทุนในเวียดนามให้อยู่ในสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม


2.นักลงทุนที่ยังไม่มีการลงทุนในหุ้นเวียดนามหรือเน้นการลงทุนระยะสั้น

• แนะนำให้เริ่มทยอยลงทุนในหุ้นเวียดนาม ในสัดส่วนไม่เกิน 30%


ขอขอบคุณข้อมูลจาก: World Bank, Yahoo Finance




คำเตือน


ผู้เขียน

K WEALTH อรรถกิจ พิมพ์ศรี
Back to top