กลยุทธ์จัดพอร์ตลงทุนแบบ Barbell

• ในช่วงที่ตลาดผันผวนสูงและมีความไม่ชัดเจนจากหลากหลายปัจจัย เช่น Fed จะลดดอกเบี้ยต่อหรือไม่ หรือหุ้นเทคที่โตแรงนำตลาดจะเติบโตต่อได้หรือไม่ การใช้กลยุทธ์ Barbell จะช่วยให้เราไม่พลาดโอกาสลงทุนในทุกสถานการณ์รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงไปในขณะเดียวกัน


• การจัดพอร์ตแบบ Barbell สามารถทำได้หลากหลาย มีทั้งแบบผสมหุ้นขนาดใหญ่-ขนาดเล็ก ผสมหุ้น Defensive คู่กับหุ้น Growth ผสมตราสารหนี้ระยะสั้นคู่กับหุ้นทั่วโลก หรือผสมตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาว ช่วยเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้แตกต่างกันได้เป็นอย่างดี


• สำหรับคู่ที่น่าสนใจ K-WEALTH คัดมาให้ 3 คู่คือ 1.K-GSELECT และ K-HIT-A(A) 2.KFGDIV-A และ K-GTECH 3.K-SF-A และ K-GSELECT




แนวคิดการจัดพอร์ตแบบ Barbell

เมื่อพูดถึงการลงทุน สิ่งที่ยากที่สุดคือการคาดเดาทิศทางราคาสินทรัพย์โดยเฉพาะในระยะสั้น การมีกลยุทธ์การลงทุนที่แตกต่างออกไปในแต่ละภาวะตลาดเหมือนกับเวลาที่เราออกรบแล้วมีอาวุธครบมือ วันนี้เราขอแนะนำหนึ่งกลยุทธ์คือ Barbell กลยุทธ์ที่จัดสรรสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงตรงกันข้ามโดยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงตรงกลาง กลยุทธ์ Barbell โดยปกติจะมีประสิทธิภาพในช่วงที่ตลาดมีแนวโน้มไม่ชัดเจนหรือ Sideway เนื่องจากเป็นการลดความเสี่ยงหากมีปัจจัยเข้ามากดดันสินทรัพย์ที่เราลงทุนให้ไม่เป็นไปตามคาด แต่ปัจจัยนั้นอาจสนับสนุนทางเลือกตรงข้าม ยกตัวอย่างเช่น หุ้นขนาดเล็กมักทำผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่หุ้นขนาดใหญ่มักทำผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดในช่วงอัตราดอกเบี้ยสูงเนื่องจากหุ้นขนาดใหญ่โดยปกติจะมีฐานะการเงินแข็งแกร่งกว่า มีกระแสเงินสดเป็นบวก อย่างไรก็ตามการคาดเดาทิศทางอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องยากพอๆ กับการคาดเดาทิศทางราคาหุ้นโดยเฉพาะช่วงที่ดอกเบี้ยกำลังเปลี่ยนทิศ การลงทุนหุ้นทั้ง 2 ประเภทจะช่วยให้เราไม่พลาดโอกาสลงทุนรวมถึงลดความเสี่ยงไปในขณะเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ภาวะตลาดปัจจุบันที่ Fed เพิ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤต Covid-19 แต่ตลาดก็ยังมีมุมมองที่แตกต่างกัน เกิดเป็นคำถามที่ถกเถียงกันว่า Fed จะลดดอกเบี้ยอีกครั้งหรือไม่ หากดูในภาพที่ 1 จะเห็นว่า หุ้นขนาดใหญ่ (S&P 500) ซึ่งราคาหุ้นปรับขึ้นมาโดดเด่นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มจะยังดีต่อหรือไม่ และหุ้นขนาดเล็ก (Russell 2000) ที่ราคาหุ้นถูกกดดันมาตลอดในช่วงเดียวกันจะเริ่มกลับตัวแล้วหรือยัง


หากเราเลือกลงทุนเพียงสไตล์ใดสไตล์หนึ่งและผลลัพธ์ออกมาตรงกันข้ามก็อาจพลาดโอกาสลงทุนไปอย่างน่าเสียดาย เช่น ลงทุนเน้นหุ้นใหญ่แต่ Fed กลับลดดอกเบี้ยมากกว่าตลาดคาด ส่งผลให้หุ้นเล็กอาจจะมีผลตอบแทนที่ดีกว่า หรือเน้นลงทุนแต่หุ้นขนาดเล็กแต่ Fed กลับลดดอกเบี้ยน้อยกว่าตลาดคาด ผลตอบแทนอาจจะแพ้การลงทุนในหุ้นใหญ่ ดังนั้นการใช้กลยุทธ์ Barbell ที่ลงทุนในหุ้นทั้ง 2 ประเภท อาจจะตอบโจทย์กว่าในภาวะตลาดแบบนี้


ภาพที่ 1 ผลตอบแทนดัชนี Rusell 2000 ตัวแทนหุ้นขนาดเล็กและ S&P 500 ตัวแทนหุ้นขนาดใหญ่ย้อนหลัง 5 ปี




ที่มา Bloomberg, Investment Products KBank ณ วันที่ 30 ก.ย. 2024



การจัดพอร์ตแบบ Barbell สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ

- หุ้น Defensive คู่กับหุ้น Growth ในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตดีหรือความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในระดับสูงหุ้น Growth มักทำผลตอบแทนได้ดีกว่า แต่หากเริ่มมีสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวหรือความเชื่อมั่นนักลงทุนเริ่มลดลง หุ้น Defensive มักจะมาทำผลตอบแทนได้ดีกว่าในหลายครั้ง อย่างล่าสุดเมื่อไตรมาส 3 ที่ผ่านมา (ภาพที่ 2) นักลงทุนเริ่มกังวลว่ามูลค่าหุ้นเติบโต ที่ปรับตัวขึ้นมาตลอดทางกว่า 2 ปีนำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เริ่มแพงและจากตัวเลขเศรษฐกิจขณะนั้นบวกกับเหตุการณ์ Yen Carry Trade ทำให้มีความกังวล recession จึงเกิดเหตุการณ์เทขายหุ้นเมื่อวันจันทร์ต้นเดือนสิงหาคม หรือ Black Monday ทำให้หุ้น Value ที่มีความ Defensive กลับมาทำผลตอบแทนได้ดีกว่าในช่วงดังกล่าว


ภาพที่ 2 ผลตอบแทนดัชนี Rusell 1000 Growth และ Rusell 1000 Value ในไตรมาส 3/2024



ที่มา Bloomberg, Investment Products KBank ณ วันที่ 30 ก.ย. 2024


- ตราสารหนี้ระยะสั้นคู่กับหุ้นทั่วโลกแบบครึ่ง ๆ หรือ 50/50 Portfolio สำหรับกรณีนี้เป็นการผสมระหว่าง 2 สินทรัพย์ ที่โดยทั่วไปแล้วมักไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กัน (Low Correlation) ซึ่งมีข้อดีคือช่วยลดความผันผวน เพิ่มสภาพคล่องให้กับพอร์ตลงทุนจากส่วนตราสารหนี้ระยะสั้น และเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนระยะยาวจากส่วนหุ้น จากกราฟด้านล่างจะเห็นว่า ในปี 2022 ที่กองทุนหุ้นโลก (เส้นสีแดง) มีผลตอบแทนติดลบ การจัดพอร์ตแบบ 50/50 (เส้นสีเขียว) มีผลตอบแทนติดลบที่น้อยกว่าเนื่องจากมีสัดส่วนกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น (เส้นสีเทา) ที่ผลตอบแทนเป็นบวก เข้ามาผสม และหากดูในระยะยาวก็ดูมีแนวโน้มว่าผลตอบแทนของการจัดพอร์ตแบบ 50/50 จะสามารถทำผลตอบแทนได้ดีกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเพียงอย่างเดียว


ภาพที่ 3 ผลตอบแทน K-SF-A, K-WORLDX และการผสม 2 กองทุนอย่างละครึ่งตั้งแต่เริ่มต้นปี 2022 ถึงสิ้นไตรมาส 3 ปี 2024 (ช่วงที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ย)



ที่มา Bloomberg, Investment Products KBank ณ วันที่ 30 ก.ย. 2024


- ตราสารหนี้ระยะสั้นคู่กับตราสารหนี้ระยะยาว นักลงทุนสามารถทำได้โดยถือตราสารหนี้ระยะสั้นพร้อมกับตราสารหนี้ระยะยาว ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยกำลังเปลี่ยนทิศ ตราสารหนี้ระยะยาวจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านราคามากกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น จากภาพด้านล่างจะเห็นว่ากองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นทำผลตอบแทนได้ค่อนข้างสม่ำเสมอกว่ากองทุนตราสารหนี้ระยะยาว อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2020-2021 ที่ดอกเบี้ยเป็นขาลง กองทุนตราสารหนี้ระยะยาวทำผลตอบแทนได้ดีกว่ามากเนื่องจากมีการปรับลดดอกเบี้ย แต่ในปี 2022 ที่เงินเฟ้อทั่วโลกรวมถึงไทยสูงขึ้นทำให้กนง.ขึ้นดอกเบี้ย กองทุนตราสารหนี้ระยะยาวก็เผชิญผลขาดทุนในระยะสั้น ในขณะที่ตราสารหนี้ระยะสั้นยังให้ผลตอบแทนเป็นบวก ซึ่งในปีนั้นหากนักลงทุนมีเพียงกองทุนตราสารหนี้ระยะยาวและจำเป็นใช้เงินอาจต้องขายขาดทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งสภาพคล่อง แต่หากนักลงทุนมีกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นด้วยก็สามารถขายส่วนของกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นออกมาได้โดยไม่ขาดทุน ดังนั้น การมีตราสารหนี้ทั้ง 2 แบบจะช่วยทั้งด้านสภาพคล่องขณะเดียวกันเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนส่วนเพิ่มในบางจังหวะ


ภาพที่ 4 ผลตอบแทน K-SF-A ตัวแทนตราสารหนี้ระยะสั้น และ K-FIXED-A ตัวแทนตราสารหนี้ระยะยาวย้อนหลัง 5 ปี




ที่มา Bloomberg, Investment Products KBank ณ วันที่ 30 ก.ย. 2024



กองทุนที่ K WEALTH แนะนำลงทุนแบบ Barbell ได้ในช่วงนี้

K-GSELECT และ K-HIT-A(A) สำหรับคู่แรกเป็นการจัดพอร์ต Barbell โดยหุ้นขนาดใหญ่มี K-GSELECT เป็นตัวแทน และ K-HIT-A(A) ที่มี Market Cap เล็กกว่าเป็นตัวแทนของหุ้นกลาง-เล็ก ทั้ง 2 กองทุนมีหน้าหุ้นที่ค่อนข้างแตกต่างกัน เรามองว่าหากหุ้นตัวใหญ่ยังไปต่อ K-GSELECT มีแนวโน้มทำได้ดีกว่า แต่หากหุ้นขนาดกลาง-เล็กกลับมา K-HIT-A(A) มีโอกาสทำได้ดีกว่า


K-GINFRA-A(D)/ K-GHEALTH/ KFGDIV-A และ K-GTECH/ K-VIETNAM/ TBIOTECH คู่ที่ 2 เป็นการจัดหุ้น Defensive ผสมหุ้น Growth นักลงทุนสามารถเลือกจับคู่ได้หลากหลาย เช่น K-GINFRA-A(D) เน้นหุ้นโครงสร้างพื้นฐานที่รายได้สม่ำเสมอ คู่กับ K-GTECH หุ้นเทคโนโลยีที่แนวโน้มการเติบโตสูงแต่ก็มาพร้อมกับความผันผวนที่สูงในบางช่วงเวลา


K-SF-A และ K-GSELECT คู่ถัดมาเป็นการผสม 2 สินทรัพย์คือตราสารหนี้และหุ้น อย่างละครึ่ง (50/50) Portfolio โดย K-SF-A เน้นลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นในประเทศอายุเฉลี่ยเพียง 3 เดือน และ K-GSELECT เน้นลงทุนหุ้นทั่วโลกแบบ Bottom-up หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่ทำให้หุ้นทุกประเภทและตราสารหนี้ระยะยาวปรับฐานลงพร้อมๆกัน เช่น ปี 2022 อีกครั้ง อาทิ เงินเฟ้อกลับมาอีกครั้ง (แต่เรามองโอกาสเกิดขึ้นน้อย) การจัดพอร์ตลักษณะนี้จะช่วยลดความผันผวนลง แต่หากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่เกิดขึ้นและหุ้นโลกไปต่อ นักลงทุนก็ยังสามารถเปิดโอกาสสร้างผลตอบแทนจากส่วนของกองหุ้น Active อย่าง K-GSELECT ที่ระยะยาวมีแนวโน้มทำผลตอบแทนได้ดีกว่าดัชนี


K-SF-A และ K-FIXED-A คู่สุดท้ายเป็นการผสมระหว่างตราสารหนี้ระยะสั้นและตราสารหนี้ระยะยาว โดย K-FIXED-A มีอายุเฉลี่ยตราสารหนี้ที่ราวๆ 2 ปี 8 เดือน หากธนาคารกลางแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยอีกในปีนี้และปีหน้า K-FIXED-A ก็มีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้ (Mark-to-Market gain) แต่ด้วยมุมมองปัจจุบันเราเชื่อว่ากนง. มีแนวคงดอกเบี้ยถึงลดอัตราดอกเบี้ยใน 1-2 ปีข้างหน้า หากนักลงทุนรับความเสี่ยงได้ปานกลางค่อนข้างต่ำและไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป อาจจะพิจารณาลงทุนเพียง K-FIXED-A ตัวเดียวได้ ข้อมูลจาก KAsset ล่าสุด ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2024 กองทุน K-FIXED-A มี Yield to Maturity อยู่ที่ 2.8% ต่อปี


สุดท้ายนี้ K WEALTH มีข่าวดีมาบอก วันนี้เราเพิ่มทางเลือกกองทุนของค่ายอื่นอีก 15 บลจ. ให้นักลงทุนได้ช้อปด้วยตนเองผ่าน K PLUS แอพที่ทุกคนมีไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แค่คลิ๊กง่ายๆ ไปที่เมนู Investment หรือลงทุน


* โปรดศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจาก บลจ. กสิกรไทย (KAsset) ผลการดำเนินงานในอดีต/ ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน


คำเตือน


ผู้เขียน

K WEALTH สุกฤษฎิ์ กิตติธนโสภณ
Back to top