ปี 2567 เป็นปีสุดท้าย ที่สามารถนำเงินที่ซื้อกองทุน SSF มาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ จากที่เริ่มใช้สิทธิได้มาตั้งแต่ปี 2563 หลายคนจึงมีคำถามในใจว่า แล้วปีนี้ยังควรซื้อกองทุน SSF เพื่อลดหย่อนภาษีต่อดีไหม หรือปล่อยผ่านไปใช้สิทธิทางเลือกอื่นดี? วันนี้ K WEALTH จะมาเคลียร์คำถามนี้ให้ทุกคนกัน
I: หากยังเสียภาษี ก็ยังควรซื้อกองทุน SSF
คนที่มีรายได้หรือเงินเดือนที่ยังต้องเสียภาษี แม้จะซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีอื่นที่ลงทุนสั้นกว่า เช่น กองทุน ThaiESG เต็มสิทธิแล้ว แต่หากยังมีภาระภาษีอยู่อีก ก็ยังควรซื้อกองทุน SSF เพื่อไม่ให้เสียสิทธิในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม ยกตัวอย่างเช่น
สมมติฐาน: มีรายได้เฉพาะเงินได้ 40(1) หักลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และประกันสังคมปีละ 9,000 บาท เท่านั้น
จากตารางข้างต้นจะเห็นว่า การซื้อกองทุน SSF จะช่วยประหยัดภาษีได้มากขึ้น เช่น คนเงินเดือน 100,000 บาท แม้ซื้อกองทุน ThaiESG เต็มสิทธิแล้ว แต่การซื้อกองทุน SSF เพิ่ม ก็ยังสามารถช่วยประหยัดภาษีเพิ่มได้อีก ซึ่งด้วยยอดซื้อกองทุน SSF 200,000 บาทที่เท่ากัน สำหรับคนที่รายได้ยิ่งสูงภาษีที่ประหยัดได้จะยิ่งสูง ส่วนคนรายได้ที่น้อยลงมาแม้ภาษีที่ประหยัดได้จะน้อยลง แต่ก็ยังคงช่วยประหยัดภาษีและเป็นการนำเงินไปต่อยอดให้งอกเงยอีกด้วย
การซื้อกองทุน SSF ยังคงช่วยประหยัดภาษีได้ 5%-35% ของยอดเงินลงทุนขึ้นกับฐานภาษีแต่ละคน อย่างไรก็ตามหลังจากซื้อกองทุน ThaiESG เต็มสิทธิแล้ว โดยเฉพาะสำหรับคนที่อายุมากกว่า 45 ปี การซื้อกองทุน RMF ก็ช่วยให้ประหยัดภาษีได้มากขึ้นเช่นกัน โดยมีระยะเวลาการลงทุนที่สั้นกว่ากองทุน SSF (ตามเงื่อนไขการลงทุนของ RMF ที่ต้องลงทุนต่อเนื่องถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็ม)
สำหรับคนที่มีการใช้สิทธิในเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กบข. + กองทุน RMF + เบี้ยประกันบำนาญ ครบ 5 แสนบาทแล้ว ไม่ควรซื้อกองทุน SSF อีก เพราะเป็นการลงทุนเกินสิทธิ ไม่สามารถนำเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษีได้อีก และถึงแม้จะตั้งใจลงทุนโดยไม่ใช้สิทธิภาษีก็ยังต้องถือต่ออีก 10 ปีเต็ม ซึ่งกรณีแบบนี้แนะนำว่าควรนำเงินไปลงทุนกองทุนรวมทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีจะดีกว่า
II: กองทุน SSF ยังอยู่ ถือได้จนครบเงื่อนไข 10 ปี
ที่ผ่านมาเคยมีกองทุนลดหย่อนภาษีประเภทอื่น (เช่น กองทุน LTF หรือกองทุน SSFX) ที่ปัจจุบันไม่สามารถนำเงินที่ลงทุนเพิ่มไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้แล้ว แต่กองทุนเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ อีกทั้งผลการดำเนินงาน (performance) และมูลค่าต่อหน่วย (NAV) ของกองทุน ซึ่งรวมถึงกองทุน SSF ด้วยนั้น หลัก ๆ ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ที่กองทุนไปลงทุน (เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ฯลฯ) ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณเงินในกองทุนหรือปริมาณการซื้อกองทุนเพิ่มในแต่ละปี ตัวอย่างเช่น จากข้อมูล ณ 22 ต.ค. 67
• กองทุน KDLTF-C(L) ที่ซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีได้ปีสุดท้ายเมื่อปี 2562 ปัจจุบันกองทุนยังคงอยู่และมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 13,187 ล้านบาท มีผลการดำเนินงานนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน อยู่ที่ 6.11%ต่อปี (จดทะเบียนกองทุน เมื่อ 19 ต.ค. 2547)
• กองทุน K-SUPSTAR-SSFX ที่ซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีได้ปีเดียวเมื่อปี 2563 ปัจจุบันกองทุนยังคงอยู่และมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2,088 ล้านบาท มีผลการดำเนินงานนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน อยู่ที่ 4.23%ต่อปี (จดทะเบียนกองทุน เมื่อ 14 เม.ย. 2563)
สำหรับคนที่ยังกังวลว่า สินทรัพย์ที่กองทุน SSF ไปลงทุน จะมีเงินลงทุนไหลเข้าน้อยจนอาจส่งผลกระทบต่อระดับราคาสินทรัพย์ในอนาคต เช่น ตลาดหุ้นไทย ฯลฯ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเงินไหลเข้าของกองทุนรวมภายในประเทศเป็นเพียงหนึ่งจากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ดังกล่าวเท่านั้น โดยยังมีปัจจัยอื่นอีกมากมาย เช่น เงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ สภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เพื่อคลายความกังวลใจนี้ ก็สามารถเลือกลงทุนกองทุน SSF ที่เน้นลงทุนต่างประเทศ หรือลงทุนใน Master Fund ที่ปริมาณเงินลงทุนผ่านกองทุน SSF ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นต่างประเทศหรือ Master Fund เช่น กองทุน K-GINCOME-SSF, K-VIETNAM-SSF, K-USA-SSF, K-CHANGE-SSF
นอกจากนี้ หลังจากกองทุนลดหย่อนภาษีไม่สามารถนำเงินลงทุนไปใช้สิทธิได้แล้ว โดยทั่วไป บลจ. มักมีการเปิด Share Class เพิ่ม อย่างเช่น กองทุน KDLTF เป็นกองทุน LTF ที่มี Share Class คือกองทุน KDLTF-A(D) ที่สามารถลงทุนเพิ่มได้เหมือนกองทุนเปิดทั่วไป เพิ่มเติมจากกองทุน KDLTF-C(L) ที่ไม่สามารถซื้อเพิ่มได้ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนในการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีลักษณะเดียวกับกองทุนลดหย่อนภาษีเดิมได้ เพื่อลดความกังวลเรื่องปริมาณเงินลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าวลง
III: คนที่ไม่อยากลงทุนยาว หรือถือแต่หุ้นไทย กองทุน SSF ยังเป็นทางเลือกที่ดี
กองทุน SSF มีจุดเด่นที่ต่างจากกองทุนลดหย่อนภาษีอื่น ทำให้เป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับผู้มีเงินได้หรือผู้ลงทุนหลายคน เช่น
• กองทุน SSF มีทางเลือกการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ไม่จำกัดการลงทุนแค่ในหุ้นไทยหรือตราสารหนี้ไทย เหมือนอย่างกองทุน ThaiESG ดังนั้นกองทุน SSF จึงเหมาะกับผู้ที่ถือหุ้นไทยและกองทุนหุ้นไทยในสัดส่วนที่สูง เพื่อใช้กระจายเงินลงทุนไปยังต่างประเทศ ได้มากกว่ากองทุน ThaiESG
• กองทุน SSF สามารถสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนระหว่าง SSF ด้วยกัน ในช่วงที่ต้องถือลงทุน 10 ปีได้ ซึ่งจากการที่กองทุน SSF มีสินทรัพย์ที่หลากหลาย จึงสามารถสับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ ดังนั้นกองทุน SSF จึงเหมาะกับผู้ที่ชอบติดตามสถานการณ์หรือติดตามคำแนะนำการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ หรือต้องการทางเลือกที่หลากหลายเพื่อรับมือกับความผันผวนของตลาดจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นและกระทบกับพอร์ตการลงทุนที่มีอยู่
• กองทุน SSF ที่ต้องถือลงทุนเพียง 10 ปี ต่างจากกองทุน RMF ที่ต้องลงทุนต่อเนื่องถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ ดังนั้นกองทุน SSF จึงเหมาะกับผู้ที่อายุน้อยกว่า 45 ปี เพราะมีระยะเวลาการลงทุนที่สั้นกว่ากองทุน RMF
IV: กองทุน SSF เด่น น่าลงทุน
กองทุน SSF มีหลากหลายประเภท ทำให้นักลงทุนอาจตัดสินใจไม่ได้ว่าควรลงทุน SSF กองทุนไหนดี K WEALTH จึงขอแนะนำเป็นกองทุนเด่นน่าลงทุนประจำเดือน ต.ค. 67 ตามสินทรัพย์หรือตามระดับความเสี่ยง ดังนี้
• กองทุนตราสารหนี้ ได้แก่ K-SF-SSF ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 1 ปี ความเสี่ยงระดับ 4 มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 100% ของมูลค่าเงินลงทุนต่างประเทศ มีระยะเวลาการรับเงินค่าขายคืน T+1*
• กองทุนผสม ได้แก่ K-GINCOME-SSF ที่กองทุนหลักลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายทั่วโลก มีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่เกินปีละ 4 ครั้ง ความเสี่ยงระดับ 5 มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วน มีระยะเวลาการรับเงินค่าขายคืน T+5*
• กองทุนหุ้นต่างประเทศ ความเสี่ยงระดับ 6 มีระยะเวลาการรับเงินค่าขายคืน T+5* ได้แก่
o K-VIETNAM-SSF ที่กองทุนหลักเน้นลงทุนในหุ้นเวียดนาม โดยมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
o K-USA-SSF ที่กองทุนหลักเน้นลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ โดยมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วน
o K-CHANGE-SSF ที่กองทุนหลักเน้นลงทุนหุ้นทั่วโลกของบริษัทที่ี่ส่งผลกระทบเชิงบวก (Positive Impact) ต่อสังคมและหรือสิ่งแวดล้อม โดยมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วน
สำหรับใครที่สนใจกองทุนอื่นไม่ว่าจะเป็นกองทุน SSF/RMF/ThaiESG หรือกองทุนทั่วไป รวมถึงหากอยากจะรู้ว่าทำไม K WEALTH ถึงแนะนำกองทุนเหล่านี้ สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ “K WEALTH Monthly View ประจำเดือน ตุลาคม 2567 ”
หมายเหตุ*: ตัวอย่างเช่น ระยะเวลาการรับเงินค่าขายคืน T+5 หมายถึง จะได้รับเงินค่าขายคืน 5 วันทำการถัดจากวันที่ทำรายการ (T+5) เช่น ขายคืนวันจันทร์ จะได้รับเงินค่าขายคืนวันจันทร์ของสัปดาห์ถัดไป (กรณีไม่มีวันหยุดอื่น นอกจากเสาร์-อาทิตย์)
กองทุน SSF เป็นกองทุนทางเลือกลดหย่อนภาษีที่ลงทุนได้ไม่เกิน 30%ของเงินได้พึงประเมินทั้งปีที่เสียภาษี สูงสุดปีละ 200,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนและประกันกลุ่มเกษียณแล้วต้องไม่เกินปีละ 500,000 บาท รวมถึงยังมีสิทธิได้รับโปรโมชัน Fund Back เป็นกองทุน K-FIXEDPLUS-A มูลค่า 0.2%ของยอดการลงทุนสะสม หากมีการลงทุน DCA ตามเงื่อนไขที่กำหนด และถึงแม้ปัจจุบันกองทุน SSF จะซื้อเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ถึงปี 2567 แต่เกณฑ์ทางภาษีอาจมีประกาศเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ แนะนำให้ผู้มีเงินได้และผู้ลงทุนติดตามเกณฑ์ใหม่ๆ จากข่าวหรือกรมสรรพากรอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้พลาดการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของตนเอง
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”, “ทำความเข้าเงื่อนไขการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีและผลกระทบหากทำผิดเงื่อนไขก่อนตัดสินใจลงทุน”