อยากลดหย่อนภาษีแบบที่ได้ผลตอบแทนมากกว่าตราสารหนี้ แต่ไม่อยากรับความเสี่ยงจากหุ้นมากเกินไป ต้องทำอย่างไร บทความนี้มีกองทุนลดหย่อนภาษีที่ตอบโจทย์คนสายกลางมาแนะนำ

ลดหย่อนภาษีแบบนี้สิ! เสี่ยงไม่มาก กระจายครบ

อยากลดหย่อนภาษีแบบที่ได้ผลตอบแทนมากกว่าตราสารหนี้ แต่ไม่อยากรับความเสี่ยงจากหุ้นมากเกินไป ต้องทำอย่างไร บทความนี้มีกองทุนลดหย่อนภาษีที่ตอบโจทย์คนสายกลางมาแนะนำ

• ข้อดีของการเลือกลดหย่อนภาษีผ่านกองทุนผสมคือ มีการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ผ่านการลงทุนในกองเดียว ทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนส่วนเพิ่ม พร้อมทั้งช่วยกระจายความเสี่ยง ลดความผันผวนของพอร์ต และสามารถรับมือได้ทุกสภาวะตลาดเนื่องจากมีผู้จัดการกองทุนคอยปรับสัดส่วนให้

• กองทุนผสมลดหย่อนภาษีแนะนำได้แก่ กองทุน K-BL30-ThaiESG สำหรับคนที่ต้องการเงินคืนเร็วสุด กองทุน K-GINCOME-SSF สำหรับคนที่อายุน้อยกว่า 45 ปี ส่วนคนที่อายุมากกว่า 45 ปี แนะนำกองทุน KGINCOMERMF, KWPBALRMF, KWPSPEEDRMF และ KWPULTIRMF


เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการลดหย่อนภาษีปี 2567 กันอีกแล้ว สำหรับคนที่กำลังวางแผนลดหย่อนภาษีด้วยการซื้อกองทุน แต่เป็นคนสายกลางคือไม่อยากรับความเสี่ยงหรือความผันผวนจากการลงทุนในกองทุนหุ้นมากเกินไป แต่ก็อยากได้ผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้เพียงอย่างเดียว บทความนี้มีกองทุนลดหย่อนภาษีที่ตอบโจทย์คนสายกลางมาแนะนำ


ปัญหาของคนซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี

คนที่มีรายได้ต้องเสียภาษีก็จะมองหาตัวช่วยเพื่อลดภาระภาษีในแต่ปี ซึ่งกองทุนลดหย่อนภาษีเป็นตัวเลือกที่ดีเพราะได้ทั้งลดหย่อนภาษีและสามารถลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนงอกเงย แต่ปัญหาที่คนซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีมักเจอ ได้แก่

1. ไม่รู้จะลงทุนกองทุนอะไรดี อาจเป็นเพราะไม่มีความรู้ด้านการลงทุนมากนัก หรือไม่มีเวลาติดตามข่าวสารหรือสถานการณ์ตลาด จึงไม่ทราบว่าตอนนี้กองทุนประเภทไหนที่น่าลงทุน หรือมีแนวโน้มเติบโตในอนาคต

2. ลงทุนไปแล้วผลตอบแทนติดลบ เมื่อลงทุนไปแล้วก็คาดหวังให้เงินเติบโตงอกเงยในอนาคต แต่เวลาผ่านไปไม่นานผลตอบแทนกลับติดลบ บางคนขาดทุนมากกว่าภาษีที่ประหยัดได้เสียอีก ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น - เข้าซื้อผิดจังหวะ

- ไม่รู้จักสินทรัพย์ที่กองทุนนั้นไปลงทุนมากพอ

- ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากเกินไป เช่น ลงทุนกองทุนหุ้นเติมเข้าพอร์ตทุกปี ทำให้พอร์ตการลงทุนมีสัดส่วนของสินทรัพย์เสี่ยงที่มากเกินไป เมื่อตลาดผันผวนจึงส่งผลกระทบกับพอร์ตการลงทุนโดยตรง

- ลงทุนกระจุกตัวในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง หรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง ซึ่งหลักของการลงทุนที่ดีคือ เน้นกระจายการลงทุน แต่บางคนจะชอบลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น เพราะอยากได้ผลตอบแทนสูงๆ ก็มักจะลงทุนกระจุกตัวแค่กองทุนหุ้นเพียงอย่างเดียว ไม่กระจายไปสินทรัพย์อื่น หรือบางคนชอบการลงทุนในสหรัฐฯ มากเพราะมองว่าเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนได้ดีในระยะยาว ก็อาจจะเทเงินไปลงทุนในกองทุนหุ้นสหรัฐฯ ทั้งหมด ไม่ได้กระจายการลงทุนไปยังภูมิภาคอื่น หากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น เศรษฐกิจชะลอตัว ที่จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้น หรือนักลงทุนกังวลสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ก็อาจมีการเทขายกองทุนหุ้นสหรัฐฯ เกิดขึ้น ทั้งสองเหตุการณ์ที่ยกตัวอย่างมาล้วนส่งผลกระทบกับนักลงทุนที่ลงทุนกระจุกตัวโดยตรง

3. ขาดทุน แต่ยังขายคืนไม่ได้ เนื่องจากกองทุนลดหย่อนภาษีมีเงื่อนไขให้ผู้ลงทุนต้องปฏิบัติตามเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น กำหนดระยะเวลาถือลงทุน หากขายคืนก่อนครบกำหนดจะถือว่าผิดเงื่อนไขและมีบทลงโทษตามมา กรณีขาดทุน ผู้ลงทุนจึงทำได้เพียงสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนไปยังกองทุนลดหย่อนภาษีประเภทเดียวกันเท่านั้น


3 เหตุผลที่ควรเลือกกองทุนผสมเพื่อลดหย่อนภาษี

การลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีที่เป็นกองทุนผสมจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจาก

1. ลงทุนกองทุนเดียวได้หลากหลายสินทรัพย์

ลงทุนกองเดียวได้ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ และสินทรัพย์ทางเลือก ซึ่งมีผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์การลงทุนคัดเลือกสินทรัพย์เข้าพอร์ตมาให้เรียบร้อยแล้ว

2. ช่วยกระจายความเสี่ยง

ลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน การลงทุนในหลายสินทรัพย์จะช่วยกระจายความเสี่ยง ทำให้ความผันผวนในภาพรวมของพอร์ตลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักลงทุนที่มีสัดส่วนหุ้นในพอร์ตเยอะ

3. รับมือได้ทุกสภาวะตลาด

ไม่ว่าตลาดจะขึ้นหรือลง และส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ใดก็สามารถรับมือได้ทุกสภาวะ เพราะมีผู้จัดการกองทุนปรับพอร์ตให้อย่างรวดเร็ว หมดกังวลว่าจะตามตลาดไม่ทัน ดังนั้น พอเห็นท่าไม่ดี เราก็ไม่ต้องสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนไปกองทุนอื่นเพราะผู้จัดการกองทุนคอยปรับสัดส่วนให้


กองทุนผสมลดหย่อนภาษีแนะนำ

K WEALTH มีกองทุนลดหย่อนภาษีที่เป็นกองทุนผสมมาแนะนำเพื่อให้ผู้ลงทุนพิจารณา ดังนี้

1. หากต้องการเงินคืนเร็วสุด

- กองทุน K-BL30-ThaiESG* ลงทุนในหุ้นเพื่อความยั่งยืนไม่เกิน 30% โดยเน้นลงทุนในหุ้นไทยที่มี SET ESG Rating อยู่ในระดับ AAA มากกว่า 50% ซึ่งมีโอกาสสร้างผลตอบแทนชนะดัชนีชี้วัดได้ในระยะยาว ส่วนที่เหลือลงทุนในตราสารหนี้ โดยผู้ลงทุนถือหน่วยลงทุนเพียง 5 ปีก็สามารถขายคืนได้แล้ว

2. หากอายุน้อยกว่า 45 ปี

- กองทุน K-GINCOME-SSF* ลงทุนในกองทุนหลัก JPMorgan Investment Funds – Global Income Fund, Class I (mth) - USD (hedged) ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ หุ้น และหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก โดยเน้นลงทุนในตราสารที่มีการจ่ายผลตอบแทนสูง ทั้งในรูปดอกเบี้ยหรือเงินปันผล และมีนโยบายจ่ายเงินปันผลปีละไม่เกิน 4 ครั้ง ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี ณ วันที่ 30 ต.ค. 67 อยู่ที่ 14.34% ต่อปี

3. หากอายุมากกว่า 45 ปี

- กองทุน KGINCOMERMF* ลงทุนในกองทุนหลัก JPMorgan Investment Funds – Global Income Fund, Class JPM I (mth) - USD (hedged) ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ หุ้น และหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก รวมถึงประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี ณ วันที่ 30 ต.ค. 67 อยู่ที่ 14.43% ต่อปี

- กองทุน KWPBALRMF* ลงทุนในหุ้น 15-45% และลงทุนในตราสารหนี้ 55-85% โดยผลการดำเนินงานย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ณ วันที่ 14 พ.ย. 67 อยู่ที่ 6.42%

- กองทุน KWPSPEEDRMF* เน้นลงทุนในหุ้น 50-80% และลงทุนในตราสารหนี้ 20-50% โดยผลการดำเนินงานย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ณ วันที่ 14 พ.ย. 67 อยู่ที่ 4.10%

- กองทุน KWPULTIRMF* เน้นลงทุนในหุ้น 70-100% และลงทุนในตราสารหนี้ 0-30% โดยผลการดำเนินงานย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ณ วันที่ 14 พ.ย. 67 อยู่ที่ 9.86%


กองทุนผสมลดหย่อนภาษี นอกจากจะได้ประโยชน์ทางภาษีแล้ว ยังช่วยให้พอร์ตการลงทุนของเราสามารถรับมือกับความผันผวนได้ดีกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเพียงอย่างเดียว และยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว โดยแนะนำให้ทำความเข้าใจเงื่อนไขการลงทุน ศึกษานโยบายการลงทุนเพิ่มเติมและเลือกกองทุนที่ตอบโจทย์ความต้องการ เพื่อให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อย่างสบายใจและมีเงินก้อนไว้ใช้ในอนาคต


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :

• บลจ.กสิกรไทย



คำเตือน

กองทุน K-BL30-ThaiESG, K-GINCOME-SSF, KGINCOMERMF, KWPBALRMF และ KWPSPEEDRMF มีระดับความเสี่ยงที่ 5 (จากสูงสุด 8 ระดับ) ส่วนกองทุน KWPULTIRMF มีระดับความเสี่ยงที่ 6 (จากสูงสุด 8 ระดับ)

กองทุน K-BL30-ThaiESG และ K-GINCOME-SSF มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วน ส่วนกองทุน KGINCOMERMF, KWPBALRMF, KWPSPEEDRMF และ KWPULTIRMF มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน

Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”

ผู้เขียน

K WEALTHสุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ CFP®

Back to top