ส่องประวัติศาสตร์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้น วิเคราะห์แนวโน้มปัจจัยสำคัญและกลยุทธ์การลงทุน เตรียมพร้อมรับมือปี 2024

ส่องประวัติศาสตร์เลือกตั้งสหรัฐอเมริกา พร้อมวางแผนกลยุทธ์การลงทุน

ส่องประวัติศาสตร์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้น วิเคราะห์แนวโน้มปัจจัยสำคัญและกลยุทธ์การลงทุน เตรียมพร้อมรับมือปี 2024

• การปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจ การค้าฯ ของผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ ย่อมส่งผลโดยตรงต่อประเทศคู่ค้า รวมถึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วทั้งโลก


• ตลาดหุ้นมักให้ผลตอบแทนดีหลังรู้ผลเลือกตั้งฯ ใช้ประโยชน์จากความผันผวนระยะสั้น เข้าสะสมหุ้นคุณภาพดี ลดสัดส่วนสินทรัพย์ที่ได้ผลกระทบเชิงลบจากนโยบาย


• K WEALTH แนะนำให้นักลงทุนกระจายการลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากนโยบายผู้นำสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มสาธารณูปโภค สุขภาพ และบริษัทที่เน้นรายได้ในประเทศ รวมถึงกลุ่มการเงินและเทคโนโลยี เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนช่วงเลือกตั้งปี 2024




ทำไมการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาถึงสำคัญกับนักลงทุน

สหรัฐฯเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) กว่า 28.78 พันล้านดอลาร์สหรัฐ (ณ ปี 2566) ดังนั้น การปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจ การค้าฯ ของผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ ย่อมส่งผลโดยตรงต่อประเทศคู่ค้า รวมถึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วทั้งโลก


K WEALTH ได้รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้ง เพื่อให้นักลงทุนสามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม


ตลาดหุ้นมักให้ผลตอบแทนดีหลังรู้ผลเลือกตั้งฯ

ข้อมูลในอดีตดัชนี VIX index (Volatility Index) ที่บอกถึงความผันผวนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ บ่งชี้ว่าความผันผวนของตลาดมักเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งและยิ่งหากนโยบายของพรรคที่เป็นแคนดิเดตมีความแตกต่างกันมาก ตลาดหุ้นก็มักมีความผันผวนมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งมักเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนในการตัดสินใจของนักลงทุนอย่างไรก็ตาม ความผันผวนจะลดลงหลังวันเลือกตั้ง จากความชัดเจนด้านการเมืองที่มากขึ้น ทำให้นักลงทุนเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการลงทุน (รูปที่ 1)


(รูปที่ 1) กราฟค่าของ VIX แบบเฉลี่ย 2 สัปดาห์




นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความผันผวนของตลาดหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ปี 2024 ได้แก่

1. ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อนโยบายเศรษฐกิจของผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่

2. สภาวะเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงาน ที่จะส่งผลต่อนโยบายการเงิน

3. ความชัดเจนของผลการเลือกตั้งและการส่งมอบอำนาจ


ขณะที่ข้อมูลในอดีตปีที่มีการเลือกตั้งสหรัฐฯ (ตั้งแต่ปี 1980-2020) สะท้อนว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯมักให้ผลตอบแทนที่ดีได้ หากไม่นับปีที่เกิดวิกฤตใหญ่ เช่น วิกฤตดอทคอม (ปี 2000) และวิกฤตซับไพรม์ (ปี 2008) โดย S&P500 สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยมากกว่า 10% ต่อปี ไม่ว่าผลที่ออกมาพรรคใดจะเป็นฝ่ายชนะ (รูปที่ 2) ซึ่งส่วนใหญ่หุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาในทันทีมักเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากนโยบายพรรคที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งนั่นเอง


(รูปที่ 2) ดัชนี S&P500 ในช่วงก่อน-หลังการเลือกตั้ง (ปี 1980-2020)



จัดพอร์ตอย่างไร ในปีที่มีเลือกตั้งสหรัฐฯ

1. ลดสัดส่วนสินทรัพย์ที่ได้ผลกระทบเชิงลบจากนโยบาย

วิธีที่ง่ายที่สุดคือการลดสัดส่วนสินทรัพย์ลงทุน เช่น ในกลุ่มรายประเทศ หรือ รายอุตสาหกรรม ที่ถูกกดดันจากนโยบาย แต่วิธีนี้ก็อาจจะทำให้นักลงทุน “เสียประโยชน์มากที่สุด” หากสินทรัพย์นั้นยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เช่น ในยุคของทรัมป์สมัยแรกที่สนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานดั้งเดิมอย่างฟอสซิลมากกว่าการพัฒนาพลังงานสะอาด ทำให้นักลงทุนไม่กล้าลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานสะอาดมากนัก แต่ผลลัพธ์กลับกลายเป็นว่าในช่วงปี 2020 ที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่ง หุ้นกลุ่มพลังงานสะอาดกลับสร้างผลตอบแทนได้กว่า 100% (ดัชนี S&P Global Clean Energy Index สร้างผลตอบแทน 141% ในปี 2020 (ที่มา : BlackRock, S&P)) โดดเด่นกว่าในหุ้นกลุ่มพลังงานดั้งเดิมอย่าง ดัชนี S&P Energy Index และ MSCI World Energy Index ที่สร้างผลตอบแทนได้เพียง -34 และ -32% ตามลำดับ (ที่มา : Bloomberg, Morningstar Direct, MSCI Jan 2021)


2. มองหากลุ่มที่ได้ประโยชน์จากนโยบายทั้งสองพรรค

โดยปกติไม่ว่าพรรคใดจะได้รับชัยชนะ มักมีการลงทุนจากภาครัฐในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น หุ้นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานมักถูกเลือกเป็นหลุมหลบภัยในยามที่ตลาดมีความผันผวนสูง อีกทั้งหุ้นกลุ่มนี้สามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากมีรายได้ค่อนข้างแน่นอนและเป็นอุตสาหกรรมที่มีความมั่นคง คู่แข่งน้อย ทำให้ราคาหุ้นไม่ค่อยผันผวนเหมาะกับการถือลงทุนในระยะยาว


3. ใช้ประโยชน์จากความผันผวนระยะสั้น เข้าสะสมหุ้นคุณภาพดี

หุ้นคุณภาพดีหลายบริษัทมักปรับตัวลงจากความไม่แน่นอน จังหวะนี้จึงเป็นโอกาสในการสะสมสินทรัพย์ที่ดีอย่างหุ้นกลุ่ม Megatrend เช่น AI, Healthcare ที่มีโอกาสเติบโตในระยะยาว โดยพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานเฉพาะตัวของธุรกิจ ความสามารถในการทำกำไร และ แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อราคาหุ้นในอนาคต


ในช่วงที่มีการเลือกตั้งแม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนสูง แต่การย้อนกลับไปดูข้อมูลในอดีตจะช่วยให้สามารถกำหนดกลยุทธ์รวมถึงแผนการลงทุนให้เหมาะสมได้ ขณะเดียวกันก็อาจจะกลายเป็นช่วงที่ดีในการคัดเลือกสินทรัพย์ที่ดีเข้าพอร์ตการลงทุนได้


สำหรับมุมมองการลงทุนหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯในปี 2024

หลังทรัมป์คว้าชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และพรรครีพับลิกันครองเสียงส่วนใหญ่ทั้งในสภาบนและสภาล่าง (Republican Sweep) จะเป็นโอกาสให้สามารถดำเนินนโยบายที่เคยประกาศไว้ในช่วงหาเสียงได้ง่ายขึ้น ซึ่งนโยบายสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุน ได้แก่

• นโยบายลดภาษี – นโยบาย Tax Cuts and Jobs Act (TCJA) หรือนโยบายการลดอัตราภาษีบุคคลธรรมาดาที่มีมาตั้งแต่สมัยทรัมป์ดำรง ปธน.สมัยแรกในปี 2017 ซึ่งกำลังจะหมดอายุในปี 2025 มีโอกาสที่จะต่ออายุนโยบายต่อไป นอกจากนี้ยังประกาศที่จะปรับลดลดภาษีนิติบุคคลจากเดิม 21% ลงมาอยู่ที่ระดับ 15% อีกด้วย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาพรวมกำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ

• นโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้า – นโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภท 10% และปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน 60% ซึ่งประเด็นนี้อาจทำให้ตลาดหุ้นเกิดความผันผวน โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน และประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน อาจเผชิญกับความท้าทายทั้งด้านการส่งออก รวมถึงอาจกระทบเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากนโยบายดึงดูดการลงทุนกลับสู่สหรัฐฯ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ตาม คาดว่าทางการจีนได้เตรียมรับมือการมาของทรัมป์มาระยะหนึ่งแล้ว และเป็นไปได้ว่าจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติมเพื่อชดเชยผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์

• ภูมิรัฐศาสตร์ – ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอาจรุนแรงขึ้น ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย มีโอกาสจะยุติลง โดยทรัมป์จะหยุดให้เงินสนับสนุนกับยูเครน และจะพยายามเจรจากับรัสเซีย ขณะเดียวกันความขัดแย้งในตะวันออกกลางอาจจะไม่ต่างจากเดิม เนื่องจากทรัมป์น่าจะสนับสนุนทางการทหารต่ออิสราเอล รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่จะออกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันได้ในอนาคต

• การลด/ยกเลิกกฎระเบียบ – ในสมัยที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่ง ปธน. ก่อนหน้านี้ ได้มีการยกเลิกกฎหมายบางส่วนของกฎหมาย Dodd- Frank Act โดยในการดำรงตำแหน่งครั้งนี้จะยังคงดำเนินการในทิศทางเดียวกับครั้งก่อน ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นในกลุ่มสถาบันการเงิน และ กลุ่มอื่นๆ


คำแนะนำสำหรับนักลงทุน

K WEALTH แนะนำให้นักลงทุนพิจารณากระจายการลงทุนในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากนโยบายของผู้นำสหรัฐฯ เช่น

• กลุ่ม Defensive (สาธารณูปโภค/อุตสาหกรรม/สุขภาพ)

• บริษัทที่เน้นรายได้ภายในประเทศสหรัฐฯ

• หุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการลด/ยกเลิกกฎระเบียบ (การเงิน/พลังงาน/เทคโนโลยี)


ทางทีม K WEALTH มองว่าการเลือกตั้งอาจสร้างความผันผวนในระยะสั้น แต่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะเป็นตัวกำหนดทิศทางตลาดในระยะยาว โดยเฉพาะนโยบายการค้าระหว่างประเทศและการปรับโครงสร้างภาษี


ดังนั้น หากนักลงทุนมีการวางแผนที่ดีและกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสมจะสามารถรับมือกับความผันผวนได้ K WEALTH แนะนำให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Bloomberg, Morningstar Direct, BlackRock , MSCI Jan 2021,บลจ.กสิกร ,ประชาชาติธุรกิจ


คำเตือน

Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน"

ผู้เขียน

กานต์พิชชา แดงพิบูลย์สกุล AFPT

Back to top