ประเด็นร้อน: ราคาน้ำมันปรับขึ้น : ผลกระทบจากความตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครนและอุปสงค์จากจีน

ราคาน้ำมันพุ่งรับความตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครนและอุปสงค์จีนสูงสุดในประวัติการณ์ เจาะลึกมุมมองการลงทุนในกองทุนน้ำมัน พร้อมคำแนะนำและการจัดพอร์ตที่เหมาะสม

ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ราคาน้ำมันมีความผันผวน สะท้อนถึงความเปราะบางในตลาดพลังงานโลก โดยล่าสุดราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนจากปัจจัยหลักสองประการ ได้แก่ ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยกระดับขึ้น และการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนที่เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์


โดย K WEALTH ยังคงมีมุมมองเป็นกลางต่อการลงทุนในกองทุนน้ำมัน หากลูกค้าที่ถือในปัจจุบันมีกำไร แนะนำขายทำกำไรบางส่วน เนื่องจากลักษณะเฉพาะของสินทรัพย์ประเภทนี้ที่มีความผันผวนสูง ซึ่งราคาน้ำมันได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลากหลาย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์


ดัชนีที่เกี่ยวข้อง

• ณ 18 พ.ย. 67 K-OIL +3.30% เทียบกับวันก่อนหน้า และในรอบ 1 สัปดาห์ -1.06%


ปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น

ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์: ความเสี่ยงที่ไม่อาจมองข้าม

สถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนกลับมาสร้างแรงกดดันในตลาดอีกครั้ง หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ อนุญาตให้ยูเครนใช้ระบบขีปนาวุธ Army Tactical Missile Systems (ATACMS) เพื่อโจมตีดินแดนรัสเซีย ทำให้วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียตอบโต้ด้วยการประกาศแนวทางใหม่ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องกันตนเอง ท่ามกลางความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์นี้ ตลาดน้ำมันตอบสนองด้วยการปรับราคาขึ้น เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าความขัดแย้งที่ยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบต่ออุปทานพลังงานโลก


จีน: ตัวแปรสำคัญที่ขับเคลื่อนอุปสงค์น้ำมัน

นอกเหนือจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์แล้ว การนำเข้าน้ำมันดิบของจีนในเดือนพฤศจิกายนมีแนวโน้มทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตามข้อมูลของ Kpler ซึ่งระบุว่าจีนกำลังเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว ปัจจัยนี้ช่วยสร้างเสถียรภาพบางส่วนให้กับตลาดพลังงาน ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากฝั่งตะวันตก


มุมมองการลงทุน

K WEALTH ยังคงมีมุมมองเป็นกลางต่อการลงทุนในกองทุนน้ำมัน เนื่องจากลักษณะเฉพาะของสินทรัพย์ประเภทนี้ที่มีความผันผวนสูง ซึ่งราคาน้ำมันได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลากหลาย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ โดยปัจจัยสำคัญที่ควรพิจารณา ได้แก่:


1. ความต้องการและอุปทานน้ำมันโลก ราคาน้ำมันมักตอบสนองต่อความสมดุลระหว่างความต้องการ (Demand) และอุปทาน (Supply) ในตลาดโลก ตัวอย่างเช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ เช่น จีนและสหรัฐฯ อาจผลักดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่การเพิ่มกำลังการผลิตจากกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC+) หรือการค้นพบแหล่งพลังงานทดแทนใหม่ ๆ อาจกดดันให้ราคาน้ำมันปรับลดลง


2. สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งทางการเมือง เช่น สงครามหรือความตึงเครียดในภูมิภาคที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันหลัก เช่น ตะวันออกกลาง หรือรัสเซีย-ยูเครน มักส่งผลโดยตรงต่อราคาน้ำมัน เนื่องจากความเสี่ยงในการหยุดชะงักของอุปทาน


3. นโยบายการเงินของธนาคารกลาง การปรับขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลาง เช่น เฟด (FED) มีผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสกุลเงินหลักในการซื้อขายน้ำมัน หากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ราคาน้ำมันอาจถูกกดดันให้ลดลง และในทางกลับกันหากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ทำให้ราคาน้ำมันถูกลงสำหรับนักลงทุนต่างชาติ


โดยในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นทิศทางดอกเบี้ยขาลง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดการเงินเพิ่มขึ้น ทำให้ให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ราคาน้ำมันที่ซื้อขายในสกุลเงินดอลลาร์จึงมีราคาถูกลงสำหรับนักลงทุนที่ถือสกุลเงินอื่น ซึ่งอาจเป็นการกระตุ้นความต้องการน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น


แม้ว่ากองทุนน้ำมันจะได้รับปัจจัยสนับสนุนในบางช่วง แต่ตลาดน้ำมันยังถือเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้


คำแนะนำการลงทุนในกองทุนน้ำมัน

o ผู้ที่ลงทุนกองทุนน้ำมัน ได้แก่ K-OIL สามารถถือลงทุนต่อได้ หรือหากมีกำไรแนะนำขายทำกำไรบางส่วน โดยมีสัดส่วนการลงทุนที่แนะนำไม่เกิน 15% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด

o สำหรับผู้ที่ยังไม่มีกองทุนน้ำมัน แนะนำรอประเมินสถานการณ์ โดยพิจารณาความเสี่ยง ความผันผวน และแนะนำให้กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เพื่อไม่ให้พอร์ตการลงทุนพึ่งพาการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันเพียงอย่างเดียว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Bloomberg และ สำนักข่าวอินโฟเควสท์



คำเตือน

Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”

ผู้เขียน

K WEALTH

Back to top