หุ้นกู้อนุพันธ์แฝงคืออะไร?
เครื่องมือการลงทุนประเภทหนึ่ง ซึ่งให้ผลตอบแทนที่เชื่อมโยงกับหลักทรัพย์อ้างอิง (underlying asset) อาจอ้างอิงกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นหรือดัชนีราคาก็ได้ เช่น ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ หุ้นหลายตัว สินค้าโภคภัณฑ์ อัตราดอกเบี้ย หรือแม้แต่การผสมกันของทรัพย์สินอ้างอิงหลายประเภทก็ได้
โดยทั่วไปแล้ว ลักษณะของหุ้นกู้อนุพันธ์แฝง ส่วนใหญ่จะมีออปชั่น (option) แฝงอยู่ ซึ่งออปชั่น คือ ตราสารอนุพันธ์ประเภทหนึ่งที่ให้สิทธิผู้ถือในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์อ้างอิง ตามราคา (strike price) และมีเงื่อนไขเวลาตามที่ตกลงกันไว้
“Call Option” ให้สิทธิผู้ถือออปชั่นในการซื้อหลักทรัพย์อ้างอิงในราคาที่ตกลงกัน
“Put Option” ให้สิทธิผู้ถือออปชั่นในการขายหลักทรัพย์อ้างอิงในราคาที่ตกลงกัน
ลักษณะเด่นของหุ้นกู้อนุพันธ์แฝงที่แตกต่างจากหุ้นกู้ทั่วไป
สามารถปรับเงื่อนไขให้ตรงกับความต้องการของผู้ลงทุนได้ และสามารถเพิ่มผลตอบแทนให้นักลงทุนซึ่งแปรผันไปตามการเคลื่อนไหวของราคาตลาดของหลักทรัพย์อ้างอิง
รูปแบบการลงทุนของตราสารหนี้ที่มีอนุพันธ์แฝง
หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง หรือตราสารหนี้ที่มีอนุพันธ์แฝง (structured products) สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆด้วยกันคือ “structured deposits” และ “structured notes”
a. Structured Deposits
โดยปกติจะประกอบด้วยส่วนผสมของ “zero-coupon bond” และออปชั่น ซึ่ง zero-coupon bond คือ ตราสารหนี้ที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย แต่เป็นการซื้อในลักษณะได้ส่วนลด (discount) เทียบกับราคาหน้าตั๋วเมื่อครบกำหนด เช่น ซื้อที่ราคา 99% ของมูลค่าหน้าตั๋ว ในกรณีนี้ส่วนที่เหลือ 1% จะนำมาใช้ในการซื้อออปชั่นสำหรับหลักทรัพย์อ้างอิงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ structured products เพื่อโอกาสเพิ่มผลตอบแทนจากเงินลงทุน 1%
Structured Deposits ผู้ลงทุนจะได้รับเงินต้นคืนเต็มจำนวน เมื่อถือการลงทุนจนถึงวันครบอายุ พร้อมผลตอบแทนอาจเป็นแบบคงที่หรือผันแปรก็ได้ ขึ้นกับการจัดเงื่อนไขของตราสาร หรือขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์อ้างอิง
ตัวอย่าง กองทุน KCR1YC-AI (เคยเสนอขายเมื่อ มิ.ย. 64) อ้างอิงผลตอบแทนจากราคาทองคำ XAUUSD (Gold Spot) ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา โดยราคาทองคําที่สัญญาออปชั่นอ้างอิงจะใช้ราคาที่ประกาศโดย Bloomberg ณ เวลา 15.00 น. ตามเวลาของกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กองทุนนี้สร้างขึ้นมาจากความเชื่อว่าราคาทองคำจะอยู่ในระดับที่ไม่สูงหรือขึ้นเร็วจนเกินไปในช่วงเวลา 1 ปี โดยเชื่อว่าราคาทองคำ XAUUSD เคลื่อนไหวในกรอบ (-12% ถึง +12%) จากวันเริ่มต้นสัญญา
รายละเอียดของสัญญาออปชั่นหรือวอร์แรนท์ที่กองทุนลงทุน
วันเริ่มต้นสัญญา คือ วันที่กองทุนเริ่มลงทุนในสัญญาออปชั่นหรือตราสารวอร์แรนท์
วันพิจารณาสินทรัพย์อ้างอิง คือ วันสุดท้ายที่ประเมินราคาสินทรัพย์อ้างอิงตามสัญญา หากตรงกับวันหยุดจะใช้วันทําการถัดไปแทน
อัตราการมีส่วนร่วม (Participation Rate: PR) ของหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง ซึ่งกำหนดไว้ในเอกสารรายละเอียดผลิตภัณฑ์
ค่าการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์อ้างอิง = (ราคาสินทรัพย์อ้างอิง ณ วันทําการใดหรือวันพิจารณาสินทรัพย์อ้างอิง / ราคาสินทรัพย์ อ้างอิง ณ วันเริ่มต้นสัญญา) – 1
สมมติ : ราคาทองคำ อยู่ที่ระดับ 1,700 จุด ณ วันเริ่มต้นสัญญา
จากรูป แสดง ความการเคลื่อนไหวของราคาทองคำซึ่งหากราคาทองคำเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ (-12% ถึง +12%) อย่างในกรณีที่ 3 และ 4 นักลงทุนจะมีโอกาสรับผลตอบแทนสูงสุดที่ 5.4%
วิธีคำนวณดังนี้
(ผลตอบแทนจากสัญญาออปชั่น = PR* 0.45 x lค่าการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์อ้างอิงl x เงินต้น)
*knock-out Event คือ เหตุการณ์ที่ราคาสินทรัพย์อ้างอิง ณ วันทําการใด ตั้งแต่วันทําการถัดจากวันเริ่มต้นสัญญาถึงวันพิจารณาสินทรัพย์อ้างอิงปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากกว่า 12% เมื่อเทียบกับราคาสินทรัพย์อ้างอิง ณ วันเริ่มต้นสัญญา
เงินต้นและผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับเมื่อครบกำหนดอายุโครงการในแต่ละกรณี
หมายเหตุ: ตัวเลขเงินต้นและผลตอบแทนเป็นเพียงตัวอย่างการคํานวณเพื่อประกอบการอธิบายเท่านั้น
“Structured deposit” จะคืนเงินลงทุนเต็มจำนวนเมื่อครบกำหนด และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากออปชั่น จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่าการฝากเงินธนาคารโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นออมทรัพย์ กระแสรายวันหรือเงินฝากประจำ
b. Structured Notes
Structured notes เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่รับประกันเงินต้น ต่างจาก structured deposits (ยกเว้นในกรณีที่มีการรับประกันเงินต้นโดยบุคคลที่สาม ในกรณีที่ผู้ออก structured notes ไม่สามารถจ่ายเงินตามข้อตกลงได้)
เนื่องจาก structured notes ในตลาดมีความหลากหลายมาก จึงไม่มีคำอธิบายรูปแบบของผลิตภัณฑ์นี้ที่ใช้กันโดยทั่วไป แต่ปกติแล้ว structured notes จะมีส่วนประกอบที่เป็นออปชั่นอยู่ด้วย ซึ่งผู้ออก structured notes อาจจะซื้อหรือขายออปชั่นที่มีมูลค่าอ้างอิงกับหลักทรัพย์ที่ตกลงกัน และนักลงทุนก็จะเป็นผู้ที่ให้สิทธิผู้ออก structured notes ในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์แทนตนเอง
หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง (Structured notes) ที่นิยมเสนอขายในปัจจุบัน
Equity Linked Note (ELN) หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงระยะสั้นที่ใช้หลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้นหรือตราสารทุน ซึ่งสามารถเลือกรับในตอนไถ่ถอน (Maturity) เป็นหลักทรัพย์อ้างอิงหรือเงินสดได้ แล้วแต่กรณี
Principal Protective Note (PPN) หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงระยะสั้นที่มีการไถ่ถอนเป็นเงินสด และมีการคุ้มครองเงินต้น โดยรับประกันคืนเงินต้นอย่างน้อยที่สุดเท่ากับจำนวนเงินลงทุนเริ่มต้นของนักลงทุน (ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของผู้ออก)
Fixed Coupon Equity Linked Note หรือ Knock-In Knock-Out (KIKO) หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงระยะสั้นที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้นหรือตราสารทุน (มีทั้งหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ) จ่ายคืนเงินต้นและผลตอบแทนอ้างอิงกับราคาหุ้นและช่วงราคาที่กำหนดไว้ (Barrier) โดยได้ดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ตามงวดที่ระบุไว้ในตราสารหากเข้าเงื่อนไข และอาจจะได้เป็นหลักทรัพย์อ้างอิง หรือ เงินสด ตามเหตุการณ์ที่กำหนดไว้
Autocallable Fixed Coupon Equity Linked Note หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงประเภทนี้จะคล้ายคลึงกับหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงแบบมีกำหนดกรอบ (KIKO) ไว้ สามารถไถ่ถอนคืนได้โดยอัตโนมัติหากถึงระดับที่กำหนดเอาไว้ และอาจได้รับเป็นเงินสดหรือหุ้นตามที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงเหล่านี้อาจมีคุณสมบัติเพิ่มเติม เช่น Bullish Sharkfin Equity-Linked Note เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มองว่าราคาของหุ้นอ้างอิงจะขึ้นไปในระดับที่กำหนดไว้ หากผิดทางยังสามารถป้องกันผลขาดทุนได้ หรือ Bearish Sharkfin Equity-Linked Note เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มองว่าราคาของหุ้นอ้างอิงจะลงไปในระดับที่กำหนดไว้ แต่ไม่อยากรับผลขาดทุนเมื่อหุ้นปรับตัวขึ้น เป็นต้น
ประโยชน์ของหุ้นที่มีอนุพันธ์แฝง (Structured Products)
มีความหลากหลายและปรับให้ตรงความต้องการได้ : ผู้ออกหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง (Structured Products) สามารถปรับแต่งเงื่อนไขต่างๆให้ตรงกับความต้องการที่แตกต่างกันของผู้ลงทุนได้
มีโอกาสสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม : โอกาสในการรับผลตอบแทนส่วนเพิ่มหากคาดการณ์ทิศทางตลาดได้ถูกต้อง
เนื่องจากหุ้นกู้อนุพันธ์แฝงมีหลากหลายแต่ไม่มีหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงตัวใดที่เหมาะกับทุกสถานการณ์การลงทุน จึงควรศึกษาข้อมูลก่อนลงทุนเพื่อเลือกใช้งานอย่างเหมาะสม
ตัวอย่าง การใช้หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงเป็นเครื่องมือบริหารทางการเงิน
ถือแทนหลักทรัพย์อ้างอิงโดยตรง และอยากได้ผลตอบแทนระหว่างทาง ในสถานการณ์ลักษณะนี้หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงจะเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ป้องกันความเสี่ยงขาลงได้ระดับหนึ่ง หากหลักทรัพย์อ้างอิงไม่ลงไปมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และยังได้รับผลตอบแทนระหว่างการถือครอง เช่น
Fixed Coupon Notes และ Income Notes เป็นต้น
ต้องการผลตอบแทนระหว่างที่ตลาดหรือหลักทรัพย์อ้างอิงมีทิศทางที่ไม่ชัดเจน กรณีนี้คือการที่หลักทรัพย์หรือดัชนีอ้างอิงมีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่ไม่ชัดเจน (Sideways) สามารถใช้หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงประเภท
Knock-in Knock-Out (Barrier) เพื่อหาผลตอบแทนในจังหวะดังกล่าวได้
มีมุมมองที่ชัดเจนกับหลักทรัพย์หรือดัชนีอ้างอิง แต่ไม่มีเวลาติดตามตลาดอย่างใกล้ชิด การใช้เครื่องมืออย่างหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง ทำให้สามารถบริหารจัดการได้ด้วยการกำหนดเงื่อนไขในการลงทุนล่วงหน้า (คล้ายคลึงกับการซื้อออปชันและใช้สิทธิโดยอัตโนมัติ) เช่น
Sharkfin Equity Linked Notes ที่จะให้ผลตอบแทนซึ่งอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
ทำกำไรทั้งขาขึ้นและขาลงพร้อมกัน ในบางกรณีที่หลักทรัพย์หรือดัชนีอ้างอิงมีความผันผวนสูง ตัวอย่างเช่น สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ น้ำมัน เป็นต้น แม้อาจจะได้ผลตอบแทนสูง แต่โอกาสขาดทุนก็มีสูงเช่นกัน การใช้เครื่องมืออย่างหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงที่เป็น
Twin-Win Notes จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถทำกำไรทั้งในขาขึ้นและขาลงได้ โดยยังอยู่ในกรอบที่กำหนด
ใช้เพื่อเปิดรับความเสี่ยง โดยยังปกป้องเงินต้น ในกรณีนี้ ผู้ลงทุนเลือกที่จะเปิดรับความเสี่ยงจากสินทรัพย์ที่อยากลงทุน แต่ไม่อยากสูญเสียเงินต้น จึงใช้หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงที่มีการป้องกันเงินต้น คือ
Principal Protective Notes ในการลงทุนแทนการถือสินทรัพย์หรือดัชนีอ้างอิงโดยตรง
ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงสถานการณ์บางส่วนเท่านั้น ซึ่งนักลงทุนจำเป็นจะต้องมีความเข้าใจในสินทรัพย์หรือดัชนีที่ใช้ในการอ้างอิง ตลอดจนเข้าใจประเภทของหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง โดยหากมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจ สามารถขอคำแนะนำหรือปรึกษาผู้แนะนำการลงทุนก่อนการลงทุนทุกครั้ง
ความเสี่ยงของ “หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง” และข้อควรรู้
• ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์หรือดัชนีอ้างอิง คือ ความผันผวนของราคาที่มากเกินกว่านักลงทุนคาดการณ์ไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม ทำให้สุดท้ายอาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวัง เช่น ราคาหลักทรัพย์ AAA ขึ้นไปเกินกรอบของ Twin Win Notes กำหนดไว้ ทำให้ได้รับเงินต้นคืนเพียงอย่างเดียว หรือได้รับหลักทรัพย์ของดัชนีอ้างอิงที่ราคาใช้สิทธิ
• ความเสี่ยงจากการไม่ชำระหนี้หรือส่งมอบหลักทรัพย์ของผู้ออก ลักษณะสำคัญของหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงคือการเป็นตราสารหนี้ นั่นก็คือ ผู้ออกมีภาระที่ต้องจ่ายหรือส่งมอบเงินหรือหลักทรัพย์อ้างอิงให้กับผู้ลงทุน ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงอาจไม่สามารถชำระเงินหรือส่งมอบหลักทรัพย์ให้กับผู้ลงทุนได้
• ความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน เกิดจากหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงบางประเภท มีการอ้างอิงหลักทรัพย์ ดัชนี หรือตราสารอื่น ๆ ในต่างประเทศ
• ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทน แม้หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงจะให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป หลักทรัพย์อ้างอิงอาจมีความผันผวนด้านราคาและทำให้ถูกไถ่ถอนอัตโนมัติ เช่น มีคุณสมบัติการไถ่ถอนก่อนกำหนด ทำให้ได้รับดอกเบี้ยไม่ครบตามอายุสัญญา
• ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง หากนักลงทุนประสงค์อยากเปลี่ยนมือหรือต้องการขายคืนก่อนครบกำหนด อาจจะไม่สามารถขายคืนหรือไถ่ถอนคืนก่อนเวลาที่กำหนดไว้ได้หากผู้ออกหลักทรัพย์ไม่อนุญาต
• ความเสี่ยงทางภาษี แม้จะเป็นหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง แต่โดยหลักการแล้วยังคงเป็นหุ้นกู้อยู่เช่นเดิม นักลงทุนจึงมีภาระที่ต้องเสียภาษี 15% (หากได้รับดอกเบี้ย) ทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับจริงอาจน้อยกว่าผลตอบแทนที่ระบุไว้หน้าตราสาร
หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงขึ้นอยู่กับชนิดหรือประเภทของหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงที่เลือกลงทุน โดยนักลงทุนต้องทราบถึงความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน ซึ่งสามารถศึกษาได้จากหนังสือชี้ชวน หรือ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับผู้ออกได้โดยตรง
จะเห็นว่าหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ไว้บริหารความเสี่ยงและสามารถทำผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้ แต่ก็มีความซับซ้อนสูงมาก ทำให้นักลงทุนที่สามารถลงทุนได้จะต้องเป็นนักลงทุนในกลุ่มนักลงทุนสถาบัน/ผู้ลงทุนรายใหญ่ (II/HNW) ตามเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. และเป็นนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์จะสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม