เข้าใจง่าย! ภาษีดอกเบี้ยเงินฝากคืออะไร คิดอย่างไร เกณฑ์ 20,000 บาทสำคัญแค่ไหน? วิธีขอคืนภาษีดอกเบี้ยแบบง่ายๆ พร้อมอัปเดทข้อมูลล่าสุดที่คุณต้องรู้ในปีนี้!

ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ขอคืนได้ไหม?

เข้าใจง่าย! ภาษีดอกเบี้ยเงินฝากคืออะไร คิดอย่างไร เกณฑ์ 20,000 บาทสำคัญแค่ไหน? วิธีขอคืนภาษีดอกเบี้ยแบบง่ายๆ พร้อมอัปเดทข้อมูลล่าสุดที่คุณต้องรู้ในปีนี้!

• ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ หากได้รับดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาทต่อปี รวมทุกบัญชีทุกธนาคารรวมทุกบัญชีในธนาคารเดียวกัน โดยธนาคารจะเป็นผู้หักภาษีไว้และนำส่งกรมสรรพากร ซึ่งผู้ฝากเงินสามารถขอคืนภาษีได้หากไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีในฐานภาษีน้อยกว่า 15%

• ผู้ฝากเงินสามารถลดภาระภาษีดอกเบี้ยเงินฝากได้โดยใช้บัญชีเงินฝากปลอดภาษี หรือลงทุนในทางเลือกอื่น เช่น กองทุนรวม ซึ่งผลตอบแทนในส่วนของส่วนต่างกำไรไม่ต้องเสียภาษี


หลายคนสงสัยว่าทำไมดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจริงปีละ 2 ครั้ง ในเดือนมิถุนายนและธันวาคมถึงน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ทางธนาคารประกาศไว้ เราถูกหักภาษีดอกเบี้ยเงินฝากไปเท่าไหร่ หักมากกว่าที่ควรไหม K WEALTH จะมาไขข้อข้องใจเรื่องภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก พร้อมแนะนำวิธีลดภาระภาษีอย่างถูกต้อง


ภาษีดอกเบี้ยเงินฝากคืออะไร

ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากรายได้ดอกเบี้ยที่ได้รับจากการฝากเงินกับธนาคาร ทั้งบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และบัญชีเงินฝากประจำ โดยธนาคารจะทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จากดอกเบี้ยที่จ่ายให้ผู้ฝากและนำส่งกรมสรรพากร


เกณฑ์การคิดภาษีดอกเบี้ยเงินฝากเป็นอย่างไร

กรณีดอกเบี้ยเงินฝากประจำ จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ เช่น ฝากเงิน 100,000 บาท ในบัญชีเงินฝากประจำ 24 เดือน อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยหลังหักภาษีอยู่ที่ 2 x 0.85 = 1.7% ต่อปี หรือถูกหักไปปีละ 300 บาท


กรณีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% หากผู้ฝากได้รับดอกเบี้ยจากบัญชีออมทรัพย์รวมทุกบัญชีจากธนาคารเกิน 20,000 บาทในปีนั้น โดยธนาคารจะหักภาษีดอกเบี้ยตั้งแต่บาทแรก


ตัวอย่าง


หากได้รับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์รวม 25,000 บาท จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ตั้งแต่บาทแรก คือ 25,000 x 15% = 3,750 บาท


ดังนั้น ผู้ฝากเงินจะได้รับดอกเบี้ยจริง 25,000 – 3,750 บาท = 21,250 บาท


ขอคืนภาษีได้หรือไม่

ผู้ที่เสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากจากการถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สามารถขอคืนภาษีได้ในกรณี

1. เป็นผู้ไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้พึงประเมินอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับยกเว้นภาษี (รายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี)

2. มีเงินได้พึงประเมินอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีในฐานภาษีน้อยกว่า 15% (รายได้ทั้งปี หักค่าใช้จ่าย หักค่าลดหย่อน แล้วมีรายได้สุทธิไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี หรือเงินเดือนไม่เกินประมาณ 55,000 บาท ในกรณีที่ไม่มีรายได้อื่นและมีค่าลดหย่อนเฉพาะประกันสังคม)


สำหรับวิธีขอคืนภาษีทำได้โดยการนำรายได้จากดอกเบี้ยไปรวมกับรายได้อื่นๆ เพื่อยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 พร้อมแนบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้รับจากทางธนาคาร ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.


ส่วนคนที่มีเงินได้พึงประเมินอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีในฐานภาษีตั้งแต่ 15% ขึ้นไป แนะนำว่าไม่ต้องนำรายได้ดอกเบี้ยเงินฝากมารวมคำนวณเพื่อยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะไม่เพียงแต่จะขอคืนไม่ได้ ยังต้องจ่ายภาษีเพิ่มอีก ทำให้เสียภาษีมากกว่าภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้


วิธีประหยัดภาษีอย่างชาญฉลาด

1. เลือกใช้บัญชีเงินฝากปลอดภาษี เช่น

บัญชีเงินฝากทวีทรัพย์ ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากประจำระยะยาวที่มีระยะเวลาฝากตั้งแต่ 24 เดือนขึ้นไป โดยต้องฝากเท่ากันทุกเดือนๆ ละ 1 ครั้ง เป็นจำนวนเงินเท่ากับที่เปิดบัญชีครั้งแรก ขั้นต่ำ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท ซึ่งจะได้รับดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการฝาก และไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเมื่อฝากครบกำหนดเวลา โดยเราสามารถมีเงินฝากประเภทนี้รวมทุกธนาคารได้เพียงคนละ 1 บัญชีเท่านั้น


2. พิจารณาทางเลือกการลงทุนอื่นๆ ที่ไม่ถูกหักภาษี เช่น กองทุนรวม เป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่งที่ผู้ลงทุนหลายๆ คนนำเงินลงทุนมารวมกัน โดยให้ผู้จัดการกองทุนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเป็นคนบริหารจัดการเงินลงทุนนั้นให้ตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้ โดยกองทุนแนะนำ ได้แก่


กองทุน Term Fund

เป็นกองทุนที่มีกำหนดระยะเวลาการลงทุนแน่นอนคล้ายๆ กับเงินฝากประจำ เช่น 6 เดือน 1 ปี ความเสี่ยงต่ำ ลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝากทั้งในและต่างประเทศ โดยผู้ลงทุนจะทราบประมาณการผลตอบแทนที่จะได้รับก่อนลงทุน และเมื่อลงทุนจนครบกำหนดเวลาจะมีการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ


กองทุนรวมตลาดเงิน

- กองทุน K-CASH* ความเสี่ยงต่ำที่สุด ลงทุนในตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หรือพันธบัตรที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าหรือเทียบเท่า


กองทุนรวมตราสารหนี้

- กองทุน K-SF-A* ความเสี่ยงต่ำ ลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ภาคเอกชน และหรือเงินฝากทั้งในและต่างประเทศ


ทั้งนี้ ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนในกองทุนรวมในส่วนของส่วนต่างกำไรไม่ต้องเสียภาษี


การเสียภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากเป็นเรื่องที่ควรคำนึงถึง เพื่อให้สามารถวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้ ทั้งนี้ อาจพิจารณาการลงทุนในรูปแบบอื่นที่สามารถตอบสนองเป้าหมายการลงทุนได้อย่างเหมาะสมและผลตอบแทนที่ได้รับไม่เสียภาษี


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :

• บลจ.กสิกรไทย, ธนาคารแห่งประเทศไทย


คำเตือน

กองทุน K-CASH มีระดับความเสี่ยงที่ 1 (จากสูงสุด 8 ระดับ) ส่วนกองทุน K-SF-A มีระดับความเสี่ยงที่ 4 (จากสูงสุด 8 ระดับ)

กองทุน K-CASH และ K-SF-A สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ หากต้องการขายคืนหน่วยลงทุนจะได้รับเงินค่าขายคืน T+1 วันทำการ เช่น ขายคืนวันจันทร์ ได้รับเงินวันอังคาร

Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”

ผู้เขียน

K WEALTHสุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ CFP®

Back to top