Santa Claus Rally ปรากฏการณ์ตลาดหุ้นช่วงสิ้นปีที่มักปรับตัวเพิ่มขึ้น พร้อมคำแนะนำการลงทุนในช่วงตลาดผันผวน

Santa Claus Rally เรื่องจริงหรือจ้อจี้?

Santa Claus Rally ปรากฏการณ์ตลาดหุ้นช่วงสิ้นปีที่มักปรับตัวเพิ่มขึ้น พร้อมคำแนะนำการลงทุนในช่วงตลาดผันผวน

• ปรากฎการณ์ Santa Claus Rally เป็นเหตุการณ์ไม่ปกติของตลาดอย่างหนึ่ง ที่นักลงทุนมีความเชื่อว่าตลาดจะให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกทีช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปีจนถึงต้นสัปดาห์ของปีใหม่ เหมือนลุงซานต้ามาแจกของขวัญส่งท้ายปี เมื่อดูจากสถิติย้อนหลังจะพบว่าผลตอบแทนของทั้งดัชนี S&P500 และ SET Index มักจะเป็นไปตาม Santa Claus Rally แต่ไม่ใช่จะเกิดขึ้นทุกครั้ง

• นักลงทุนควรใช้ Santa Claus Rally ประกอบการตัดสินใจร่วมกับปัจจัยพื้นฐาน และสภาพตลาด แต่ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนอย่างนี้เราแนะนำให้ลงทุนในกองทุนหุ้นกลุ่ม Defensive อย่าง K-GHEALTH และ K-GINFRA รวมถึงกองทุนตราสารหนี้ K-FIXEDPLUS ที่รับเทรนด์ดอกเบี้ยขาลง และสินทรัพย์ปลอดภัยเช่น ทองคำ เพื่อบริหารความเสี่ยงของพอร์ตในภาพรวม

โดยปกติแล้ว ตลาดทุนควรจะดำเนินไปตามทฤษฎีที่เรียกว่า Efficient Market Hypothesis (ทฤษฏีตลาดที่มีประสิทธิภาพ) คือราคาซื้อขายของหุ้นทุกตัวในตลาดเหมาะสมอยู่แล้ว ไม่มีคำว่าถูกหรือแพง และการคาดเดาทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้เลย แต่ในวงการตลาดหุ้นจะมีสิ่งที่เรียกว่า Market Anomalies ซึ่งคือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่เป็นไปตามทฤษฎีนี้ คือเชื่อว่าเราสามารถคาดเดาทิศทางราคาหุ้นได้ในช่วงเวลา หรือช่วงจังหวะใดจังหวะหนึ่ง และหนึ่งในเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าเข้ากับสถานการณ์ในช่วงสิ้นปีแบบนี้ที่ทาง K WEALTH นำมาเล่าในบทความนี้คือเหตุการณ์ “Santa Claus Rally”


Santa Claus Rally คืออะไร?

Santa Claus rally คือคำที่ใช้เรียกแนวโน้มที่ตลาดหุ้นมักปรับตัวเพิ่มขึ้นสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าปกติในช่วงเทศกาล Christmas (ช่วง 5 วันทำการสุดท้ายของเดือนธันวาคมไปจนถึง 2 วันซื้อขายแรกของเดือนมกราคมในปีถัดไป) ทฤษฎีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1970 โดยคุณ Yale Hirsch


เหตุผลสนับสนุนการเกิด Santa Rally มีหลากหลาย เช่น เป็นช่วงเวลาที่คนมักมีการจับจ่ายใช้สอยในช่วงวันหยุดมากขึ้น เหมือนเป็นปัจจัยฤดูกาลอย่างหนึ่งที่ตลาดหุ้นมักจะมีการตอบรับเชิงบวก รวมถึงเป็นช่วงที่คนมักนำโบนัสประจำปีมาใช้จ่ายหรือลดหย่อนภาษี และเป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนสถาบันมีการทำ window dressing เพื่อจัดการพอร์ตการลงทุนของตัวเองให้เรียบร้อยก่อนที่จะไปพักผ่อนหยุดยาวช่วงปลายปี ทำให้ตลาดในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปีมักมีปริมาณการซื้อขายที่น้อย และประกอบด้วยนักลงทุนรายย่อยเป็นส่วนใหญ่ของตลาด ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นกลุ่มที่มีมุมมอง bullish ต่อตลาดหุ้นมากกว่านักลงทุนสถาบัน


Santa Claus Rally เกิดขึ้นจริงหรือไม่?

หากเรามาย้อนดูผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ และดัชนี SET Index ของไทยในช่วง 10 ปีย้อนหลัง (ปี 2014-2023) ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี (ประมาณวันที่ 25 ธ.ค.) ไปจนถึงสองวันทำการแรกของปีถัดไป ประมาณวันที่ 2-3 ม.ค.) จะพบว่า ทั้งดัชนี S&P 500 และดัชนี SET Index มีผลตอบแทนในภาพรวมที่เป็นบวก 7 จาก 10 ปี หากดูแบบนี้ก็จะพอตอบได้ว่า Santa Claus Rally เป็นเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้งจนเป็นโอกาสที่ทำให้นักลงทุนสามารถใช้ช่วงเวลานี้ของปีในการทำกำไรได้เสมอไป และหากดูจากกราฟจะเห็นว่ามีความผันผวนของผลตอบแทนค่อนข้างมาก ดังนั้นหากไม่ใช่นักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้มากนัก ไม่ควรนำเอาเหตุการณ์นี้มาใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อขาย


ที่มา: manageronline, Finnomena, and K WEALTH Compilation


คำแนะนำการลงทุน

Santa Claus Rally เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่นักลงทุนบางส่วนมักจะใช้เพื่อหาผลตอบแทนในช่วงเวลาสิ้นปี แต่เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 100% ทุกปี และมีความผันผวนของผลตอบแทนในแต่ละปีค่อนข้างมาก เราจึงแนะนำว่าให้ศึกษาข้อมูลด้านปัจจัยพื้นฐาน สภาพแวดล้อมการลงทุน ร่วมกับใช้เหตุการณ์ Santa Claus Rally เพื่อให้มีความมั่นใจก่อนตัดสินใจลงทุนมากขึ้น เพราะด้วยเศรษฐกิจโลกในปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูง ทั้งจากปัจจัยการเมืองหลัง Donald Trump เตรียมขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิปดีที่จะส่งผลกระทบกับทั้งความสัมพันธ์ทางการค้ากับหลายประเทศ และเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากนโยบายต่าง ๆ จากปัจจัยความตึงเครียดระดับภูมิรัฐศาสตร์ทั้งสงครามรัสเซีย ยูเครน ที่เราจะเห็นการคว่ำบาตรจีนและประเทศที่สนับสนุนรัสเซียจากทางสหภาพยุโรป หรือสงครามตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบกับราคาสินทรัพย์โภคภัณฑ์อย่างน้ำมัน ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมในช่วงนี้ จะเป็นดังนี้


1) ใครชอบลงทุนในหุ้น เราแนะนำสะสมหุ้นหรือกองทุนหุ้นกลุ่ม Defensive อย่างกองทุน K-GHEALTH หรือ K-GINFRA ในช่วงที่ตลาดมีความไม่แน่นอนสูง หากยังไม่มี หรือมีอยู่ในพอร์ตอยู่แต่ไม่เกิน 30% แนะนำให้สะสมเพิ่มแต่ไม่เกิน 30% ของพอร์ต

2) ช่วงดอกเบี้ยขาลง เรามองว่าตราสารหนี้จะยังคงได้ประโยชน์จากเทรนด์นี้ไปอย่างน้อยจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2025 แนะนำสะสมกองทุนตราสารหนี้อย่าง K-FIXEDPLUS เพิ่มลดสัดส่วนตามระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ หากรับความเสี่ยงได้ต่ำก็สะสมเพิ่มเยอะหน่อย รับความเสี่ยงได้สูงก็มีตราสารหนี้ติดพอร์ตไว้เพื่อลดความผันผวน

3) เพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ เพื่อป้องกันความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนในช่วงที่ตลาดผันผวนสูง เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ทางเลือก เราจึงแนะนำให้มีติดพอร์ตไว้ไม่เกิน 15% ของพอร์ตทั้งหมด


ขอขอบคุณข้อมูลจาก: • https://mgronline.com/stockmarket/detail/9660000115370


คำเตือน


ผู้เขียน

K WEALTHจิรพัฒน์ จิรนิรันดร์กุล CFA

Back to top