รู้ทุกสิทธิประโยชน์เมื่อเกษียณอายุ รวมมาแล้วสำหรับข้าราชการและพนักงานบริษัท วางแผนการเงินและสุขภาพเพื่อชีวิตหลังเกษียณที่มั่นคงและมีความสุข พร้อมเคล็ดลับวางแผนภาษีและการลงทุน

เกษียณอายุได้รับอะไรบ้าง? รู้ทันสิทธิประโยชน์ ครอบคลุมข้าราชการ และพนักงานบริษัท

รู้ทุกสิทธิประโยชน์เมื่อเกษียณอายุ รวมมาแล้วสำหรับข้าราชการและพนักงานบริษัท วางแผนการเงินและสุขภาพเพื่อชีวิตหลังเกษียณที่มั่นคงและมีความสุข พร้อมเคล็ดลับวางแผนภาษีและการลงทุน

• ข้าราชการและพนักงานบริษัทเอกชนจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันเมื่อเกษียณอายุ โดยข้าราชการจะได้รับเงินบำเหน็จหรือบำนาญ พร้อมสวัสดิการรักษาพยาบาลตลอดชีพ ในขณะที่พนักงานบริษัทเอกชนจะได้รับเงินชดเชยเกษียณอายุตามกฎหมายแรงงาน เงินบำเหน็จชราภาพหรือบำนาญชราภาพจากประกันสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณ

• แนะนำเคล็ดลับการเพิ่มเงินเกษียณให้งอกเงยผ่านการลงทุนในกองทุนรวม เช่น K-SF-A, K-FIXEDPLUS-A, K-WPBALANCED รวมถึงการสร้างรายได้ประจำหลังเกษียณผ่านการลงทุนในพันธบัตร หุ้นปันผล อสังหาริมทรัพย์ หรือประกันชีวิตแบบบำนาญ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์


ในยุคที่คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น การวางแผนเกษียณจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเรามีเวลาใช้เงินหลังเกษียณที่นานขึ้นจึงต้องเตรียมเงินไว้มากขึ้น K WEALTH ได้รวบรวมข้อมูลสำคัญที่ควรรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์เมื่อเกษียณอายุและการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณมาฝากกัน


สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อเกษียณอายุแตกต่างกันตามอาชีพ

คนที่ทำงานเป็นข้าราชการหรือพนักงานบริษัทเอกชน เมื่อเกษียณอายุจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน


สำหรับข้าราชการที่เกษียณอายุราชการจะได้รับสิทธิประโยชน์หลัก 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่

1. เงินบำนาญรายเดือนตลอดชีพ หรือเงินบำเหน็จก้อนเดียว

• เงินบำนาญคำนวณจาก อายุราชการ x เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ÷ 50 ทั้งนี้ เงินบำนาญที่ได้รับต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

• เงินบำเหน็จคำนวณจาก อายุราชการ x เงินเดือนเดือนสุดท้าย


2. สวัสดิการรักษาพยาบาล ครอบคลุมทั้งในส่วนของตนเอง คู่สมรส บุตร และบิดามารดา


สำหรับพนักงานบริษัทเอกชนที่เกษียณอายุจะได้รับสิทธิประโยชน์ดังนี้

1. เงินชดเชยเกษียณอายุตามกฎหมายแรงงาน สูงสุด 400 วันของเงินเดือนสุดท้าย กรณีอายุงาน 20 ปีขึ้นไป


2. เงินบำเหน็จชราภาพหรือบำนาญชราภาพจากประกันสังคม ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการจ่ายเงินสมทบ โดยหากจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ แต่หากจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ โดยจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่จะได้รับขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการจ่ายเงินสมทบ

• กรณีจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

• กรณีจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญเพิ่ม 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน


3. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากรัฐบาลจำนวน 600-1,000 บาทต่อเดือน ตามช่วงอายุ


4. เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ถ้ามี) ในส่วนของเงินสะสม ผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบ


กลยุทธ์สร้างความมั่นคงทางการเงินหลังเกษียณ

การพึ่งพาเพียงเงินบำเหน็จบำนาญหรือเงินชดเชยเกษียณอายุอาจไม่เพียงพอในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ ดังนั้น ควรวางแผนออมเงินและลงทุนเพิ่มเติมผ่านเครื่องมือต่างๆ ได้แก่

• การออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยแนะนำให้ส่งเงินสะสมสูงสุดเท่าที่สามารถทำได้เพื่อเป็นการสะสมเงินและต่อยอดเงินให้งอกเงย รวมถึงได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี

• การลงทุนในกองทุน RMF/SSF/Thai ESG เพื่อให้มีเงินก้อนไว้ใช้และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

• การทำประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อสร้างรายได้ประจำที่แน่นอนหลังเกษียณ หรือประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เพื่อสร้างเงินก้อนที่แน่นอนตามระยะเวลาที่ตั้งใจ

• การลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ประจำในรูปของดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า เช่น พันธบัตร หุ้นปันผล หรืออสังหาริมทรัพย์ เช่น คอนโดฯ อาคารพาณิชย์ปล่อยเช่า


เรื่องที่มักพลาดกับการเกษียณ

1. ไม่ศึกษารายละเอียดเงื่อนไขการรับสิทธิประโยชน์ให้ดี เช่น

- การเลือกระหว่างเงินบำเหน็จหรือบำนาญ สำหรับข้าราชการ

- การลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

- การเลือกต่อหรือไม่ต่อประกันสังคม เมื่อเกษียณก่อนอายุ 55 ปี

- การเลือกนโยบายการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในช่วงที่ยังมีเวลาสะสมเงินและลงทุน

2. วางแผนภาษีไม่เหมาะสม เช่น

- ไม่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการลงทุนในกองทุน RMF/SSF/Thai ESG ตลอดจนประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันบำนาญ ให้เต็มสิทธิ

- ไม่วางแผนการรับเงินก้อนเพื่อลดภาระภาษี

3. เตรียมเงินไม่พอใช้ตอนเกษียณ เช่น

- เริ่มวางแผนเกษียณช้า

- ไม่นำเงินไปลงทุนในทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ กองทุนรวม


กองทุนแนะนำสำหรับวัยใกล้เกษียณ

K WEALTH แนะนำกองทุนที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการใช้เงิน และมีโอกาสให้เงินงอกเงย ดังนี้

1. กองทุน K-SF-A* ไว้ใช้จ่ายสั้นๆ ในชีวิตประจำวัน ความเสี่ยงต่ำ โดยมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ภาคเอกชน และหรือเงินฝากทั้งในและต่างประเทศ สำหรับผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี ณ วันที่ 16 ธ.ค. 67 อยู่ที่ 2.20% ต่อปี

2. กองทุน K-FIXEDPLUS-A* ไว้ถือยาว เพื่อใช้จ่ายเกิน 1 ปีขึ้นไป โดยมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชน และเงินฝากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เน้นตราสารหนี้คุณภาพดี อายุเฉลี่ยตราสารระยะกลาง-ยาวซึ่งได้ประโยชน์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงในปี 2568 สำหรับผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี ณ วันที่ 16 ธ.ค. 67 อยู่ที่ 3.44% ต่อปี

3. กองทุน K-WPBALANCED* เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้มีเงินใช้นานขึ้น โดยมีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมทั้งในและต่างประเทศที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ และทรัพย์สินทางเลือก ตั้งแต่ 2 กองทุนขึ้นไป สำหรับผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี ณ วันที่ 16 ธ.ค. 67 อยู่ที่ 6.96% ต่อปี


ชีวิตในวัยเกษียณอย่างที่ฝันไว้สามารถเป็นจริงได้ ด้วยการเริ่มวางแผนเกษียณตั้งแต่วันนี้ เพื่ออนาคตที่มั่นคงและมีความสุขในช่วงบั้นปลายชีวิตอย่างที่ต้องการ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :

• บลจ.กสิกรไทย, สำนักงานประกันสังคม



คำเตือน

กองทุน K-SF-A และ K-FIXEDPLUS-A มีระดับความเสี่ยงที่ 4 (จากสูงสุด 8 ระดับ) ส่วนกองทุน K-WPBALANCED มีระดับความเสี่ยงที่ 5 (จากสูงสุด 8 ระดับ)

กองทุน K-SF-A สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ หากต้องการขายคืนหน่วยลงทุนจะได้รับเงินค่าขายคืน T+1 วันทำการ เช่น ขายคืนวันจันทร์ ได้รับเงินวันอังคาร ส่วนกองทุน K-FIXEDPLUS-A หากต้องการขายคืนหน่วยลงทุนจะได้รับเงินค่าขายคืน T+2 วันทำการ สำหรับกองทุน K-WPBALANCED หากต้องการขายคืนหน่วยลงทุนจะได้รับเงินค่าขายคืน T+6 วันทำการ

กองทุน K-SF-A และ K-FIXEDPLUS-A มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ส่วนกองทุน K-WPBALANCED มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน

ผู้เขียน

K WEALTHสุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ CFP®

Back to top