คว่ำบาตรอิหร่าน-รัสเซีย ทำราคาน้ำมันปรับขึ้น

• ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นจากมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มงวดขึ้นต่อรัสเซียและอิหร่าน, แนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่ได้รับการสนับสนุนมากขึ้น, ความวุ่นวายทางการเมืองในตะวันออกกลาง และแนวโน้มที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในสัปดาห์หน้า

• อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะทรงตัวในกรอบ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มที่ราคาจะลดลงจากการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯที่เพิ่มสูงขึ้น ประเด็นความขัดแย้งในตะวันออกกลางอาจสร้างความผันผวนกับราคาน้ำมันเพียงระยะสั้น

• K WEALTH ยังคงมีมุมมองเป็นกลางต่อการลงทุนในกองทุนน้ำมัน หากลูกค้าที่ถือในปัจจุบันมีกำไร แนะนำขายทำกำไรบางส่วน เนื่องจากลักษณะเฉพาะของสินทรัพย์ประเภทนี้ที่มีความผันผวนสูง ซึ่งราคาน้ำมันได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลากหลาย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์


หลายปัจจัยส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

1. ความไม่แน่นอนในภูมิภาคตะวันออกกลางยังยืดเยื้อ

ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มสูงขึ้นหลังวันที่ 8 ธ.ค. 67 จากการที่กลุ่มกบฏซีเรียสามารถยึดครองกรุงดามัสกัสที่เป็นเมืองหลวงของซีเรียและโค่นล้มรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ซึ่งรัสเซียและอิหร่านได้ให้การสนับสนุน ส่งผลกระทบต่อความไม่มั่นคงในพื้นที่ตะวันออกกลาง และอาจกระทบกับความสัมพันธ์อันดีกับประเทศผลิตน้ำมันขนาดใหญ่อย่างรัสเซียและอิหร่าน


อย่างไรก็ดี ผลจากความขัดแย้งในซีเรียส่งผลจำกัดต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เนื่องจากซีเรียไม่ใช่ผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบรายสำคัญของโลก โดยหลังจากเกิดสงครามกลางเมืองในซีเรียปี 54 โครงสร้างพื้นฐานและภาคการผลิตน้ำมันถูกทำลาย ส่งผลให้ซีเรียผลิตน้ำมันดิบได้ลดลงมากจากก่อนหน้านี้ที่ผลิตได้ราว 380,000 บาร์เรลต่อวัน โดยน้ำมันทั้งหมดเป็นการผลิตเพื่อใช้บริโภคในประเทศ


ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้น หากสถานการณ์ขยายวงกว้างออกไปนอกซีเรีย แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันคาดว่าจะยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากรัสเซียกำลังมุ่งทำสงครามกับยูเครน และอิหร่านมีบทบาทมากขึ้นในสงครามอิสราเอล-ฮามาส ขณะที่นโยบายผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่มีนโยบายลดบทบาทของสหรัฐฯ ในพื้นที่ความขัดแย้งต่างๆ และมุ่งประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก


2. การกระตุ้นเศรษฐกิจจีนครั้งใหญ่ หนุนความหวังราคาน้ำมันฟื้นตัว

ราคาน้ำมันยังได้รับปัจจัยบวกจากรายงานที่ว่า กรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือ โปลิตบูโร ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า จีนจะใช้มาตรการทางการคลังในเชิงรุกมากขึ้น รวมทั้งใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในปีหน้าเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจจากรัฐบาลจีนในการรับมือกับสงครามการค้าที่อาจเกิดขึ้นจากทรัมป์ โดยนับเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปีหรือนับตั้งแต่ปี 53 ที่จีนส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงิน


ขณะเดียวกันจีนนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน


3. ยุโรปประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย-อิหร่านและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงอาจหนุนราคาน้ำมัน

น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) พุ่งขึ้นเกือบ 2% ในวันศุกร์ 13 ธ.ค. แตะระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ หลังคณะเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป (EU) ตกลงที่จะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียครั้งที่ 15 ในสัปดาห์นี้ อันเนื่องมาจากสงครามของรัสเซียกับยูเครน โดยมุ่งเป้าไปที่กองเรือบรรทุกน้ำมันเงาของรัสเซีย (shadow tanker fleet) ขณะที่สหรัฐฯ ก็กำลังพิจารณาดำเนินการในลักษณะเดียวกัน


อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีแจ้งต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ว่า พวกเขาพร้อมที่จะกลับไปใช้มาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศทั้งหมดต่ออิหร่านหากจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จากการคาดการณ์ว่า การคว่ำบาตรเพิ่มเติมกับรัสเซียและอิหร่านอาจทำให้อุปทานตึงตัวขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงในยุโรปและสหรัฐฯ อาจช่วยหนุนความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นโดยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงสามารถกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเพิ่มความต้องการน้ำมัน


ดัชนีที่เกี่ยวข้อง (ผลตอบแทน 1 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 9 - 13 ธ.ค. 67)

กองทุนหลัก Invesco DB Oil : +5.42%

(ราคากองทุนหลักจะสะท้อนในกองทุน K-OIL ในวันที่ 17 ธ.ค. 67 (ประกาศ NAV T+2)


มุมมองการลงทุน

K WEALTH ยังคงมีมุมมองเป็นกลางต่อการลงทุนในกองทุนน้ำมัน เนื่องจากลักษณะเฉพาะของสินทรัพย์ประเภทนี้ที่มีความผันผวนสูง ซึ่งราคาน้ำมันได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลากหลาย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ โดยปัจจัยสำคัญที่ควรพิจารณา ได้แก่:


1. ความต้องการและอุปทานน้ำมันโลก ราคาน้ำมันมักตอบสนองต่อความสมดุลระหว่างความต้องการ (Demand) และอุปทาน (Supply) ในตลาดโลก ตัวอย่างเช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ เช่น จีนและสหรัฐฯ อาจผลักดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่การเพิ่มกำลังการผลิตจากกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC+) ที่มีแนวโน้มผลิตเพิ่มขึ้นในปีหน้าหรือการค้นพบแหล่งพลังงานทดแทนใหม่ ๆ อาจกดดันให้ราคาน้ำมันปรับลดลง


2. สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งทางการเมือง เช่น สงครามหรือความตึงเครียดในภูมิภาคที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันหลักยังคงยืดเยื้อ เช่น ตะวันออกกลาง หรือรัสเซีย-ยูเครน มักส่งผลโดยตรงต่อราคาน้ำมัน เนื่องจากความเสี่ยงในการหยุดชะงักของอุปทาน


3. นโยบายการเงินของธนาคารกลาง การปรับขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลาง เช่น เฟด (FED) มีผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสกุลเงินหลักในการซื้อขายน้ำมัน หากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ราคาน้ำมันอาจถูกกดดันให้ลดลง และในทางกลับกันหากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ทำให้ราคาน้ำมันถูกลงสำหรับนักลงทุนต่างชาติ


โดยในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นทิศทางดอกเบี้ยขาลง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดการเงินเพิ่มขึ้น ทำให้ให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ราคาน้ำมันที่ซื้อขายในสกุลเงินดอลลาร์จึงมีราคาถูกลงสำหรับนักลงทุนที่ถือสกุลเงินอื่น ซึ่งอาจเป็นการกระตุ้นความต้องการน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น


แม้ว่ากองทุนน้ำมันจะได้รับปัจจัยสนับสนุนในบางช่วง แต่ตลาดน้ำมันยังถือเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้


คำแนะนำการลงทุนในกองทุนน้ำมัน

o ผู้ที่ลงทุนกองทุนน้ำมัน ได้แก่ K-OIL สามารถถือลงทุนต่อได้ หรือหากมีกำไรแนะนำขายทำกำไรบางส่วน โดยมีสัดส่วนการลงทุนที่แนะนำไม่เกิน 15% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด

o สำหรับผู้ที่ยังไม่มีกองทุนน้ำมัน แนะนำรอประเมินสถานการณ์ โดยพิจารณาความเสี่ยง ความผันผวน และแนะนำให้กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เพื่อไม่ให้พอร์ตการลงทุนพึ่งพาการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันเพียงอย่างเดียว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Bloomberg ศูนย์วิจัยกสิกร สำนักข่าวอินโฟเควสท์ และ บมจ. ไทยออยล์


คำเตือน

Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”

*กองทุน K-OIL ความเสี่ยงกองทุนระดับ 8 ,มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน ,วันที่ประกาศ NAV (T+2 วันทำการ) ,ระยะเวลาการรับเงินค่าขายคืน (T+3 วันทำการ (10.00 น.เป็นต้นไป))

ผู้เขียน

K WEALTH

Back to top