ประเด็นร้อน: ครบเครื่องเรื่องเงิน รับสมรสเท่าเทียม

  • คู่รักทุกคู่ สามารถจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมได้ตั้งแต่ 23 ม.ค. 68 เป็นต้นไป โดยเมื่อจดทะเบียนแล้วก็คือเป็นคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายไทย
  • หลังสมสแล้ว การจัดการเรื่องเงินเป็นสิ่งสำคัญ โดยมีทั้งสิ่งที่เหมือนและต่างไปจากการจัดการเงินของคู่สมรสสามีภรรยา เช่น จัดการมรดก จัดการภาษี การกู้ร่วม ทำประกันคุ้มครองความเสี่ยงให้แก่กัน รวมไปถึงการจัดการทรัพย์สินต่างๆ ด้วย

23 ม.ค. 68 วันที่ทุกคนสามารถแสดงออกทางความรักด้วยการ “จดทะเบียนสมรส” โดยไม่มีพรมแดนเพศกำเนิดมาขวางกั้น หรือที่ทุกคนรู้จักในคำว่า “สมรสเท่าเทียม” ซึ่งการสมรสเท่าเทียมนี้มีประเด็นเรื่องการเงินส่วนบุคคลใด ที่คู่รักควรทราบบ้าง K WEALTH จะมาสรุปกันแบบสั้นๆ ให้เข้าใจกัน เพื่อให้พร้อมเดินทางไปจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอกัน

สมรสเท่าเทียม เกี่ยวข้องกับทุกคู่รัก ทั้งชายหญิง และ LGBTQ+

ความรัก อาจไม่ราบรื่นตลอดไป คู่รักปัจจุบันหากมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดนอกใจไปรักกับผู้อื่น ไม่ว่าบุคคลที่ 3 นั้นจะเป็นเพศไหน ก็มีเหตุให้แยกทางหรือถูกฟ้องหย่าได้ เช่น คู่รักสามีภรรยา นับตั้งแต่ 23 ม.ค. 68 หากสามีนอกใจไปรักกับชายอื่น หรือภรรยานอกใจไปรักกับหญิงอื่น ก็เป็นเหตุให้เกิดการฟ้องหย่าร้างกันได้ ต่างจากในอดีตที่การนอกใจต้องเป็นความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงเท่านั้น เหตุการณ์แบบนี้แม้ไม่ได้เกิดขึ้นได้บ่อยๆ แต่ก็เป็นไปได้กับคู่รักทุกคู่ จึงไม่แปลกที่เราทุกคนต้องติดตามอัปเดตเฏเกณฑ์ใหม่ๆ รวมถึง “สมรสเท่าเทียม” ด้วย


บุตร ของคู่รักสมรสเท่าเทียม

คู่รักหลายคู่ เมื่อเริ่มต้นใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ก็อาจอยากมีบุตรร่วมกัน แต่หากไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้เอง “บุตรบุญธรรม” ถือเป็นทางออกสำหรับคู่รักได้ โดยการรับอุปการะเด็กและทำการจดทะเบียนบุตรบุญธรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยบุตรบุญธรรมนั้นแม้มีสถานะใกล้เคียงบุตรโดยสายเลือด เช่น เป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิรับมรดกจากผู้รับบุตรบุญธรรม สามารถส่งเสียเลี้ยงดูได้ตามปกติ เป็นต้น แต่ก็มีบางสิ่งที่คู่รักสมรสเท่าเทียมอาจเข้าใจผิด และควรเข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับบุตรบุญธรรมด้วย เช่น


  • การอุปการะเลี้ยงดู โดยไม่จดทะเบียนบุตรบุญธรรม ไม่ส่งผลให้เด็กนั้นเป็นบุตรบุญธรรม
  • คู่สมรสหากต้องการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมทั้งคู่ คู่สมรสทั้ง 2 คน ต้องจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม หากจดแค่ฝ่ายเดียวเด็กจะเป็นบุตรบุญธรรมของผู้จดเท่านั้น
  • ในอนาคตหากบุตรบุญธรรมเสียชีวิต โดยไม่ได้มีการเขียนพินัยกรรมไว้ ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกใดๆ จากบุตรบุญธรรม

ดังนั้นในวันที่คู่สมรสเท่าเทียมมีอายุมากขึ้น และอยู่ในช่วงวัยที่ต้องพึ่งพาบุตรบุญธรรมที่เลี้ยงดูมา การจัดการทรัพย์สินในครอบครัวจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่บุตรบุญธรรมเป็นผู้ถือครองทรัพย์สินส่วนใหญ่หรือเป็นเสาหลักของครอบครัว


สินสมรส สินส่วนตัว

ทรัพย์สินโดยทั่วไปที่ได้มาระหว่างสมรส (หากไม่ได้มีกฎหมายระบุไว้เป็นพิเศษ) จะถือเป็นสินสมรสทั้งหมด เช่น เงินเดือนที่ได้รับหลังสมรสแล้ว ดอกเบี้ย/เงินปันผลที่ได้รับหลังสมรส เป็นต้น เมื่อสินทรัพย์ใดเป็นสินสมรสแล้วก็เสมือนว่าคู่สมรสต่างฝ่ายมีสิทธิกันคนละครึ่งไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะมีชื่อผู้ใดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็ตาม ดังนั้นหากภายหลังคู่สมรสฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิครึ่งหนึ่งในสินสมรสนั้น โดยอัตโนมัติ


การจัดการเงิน ที่คู่สมรสเท่าเทียมควรรู้

  • กู้ซื้อบ้านร่วมกัน: เมื่อความสัมพันธ์ของคู่รักมีสถานะทางกฎหมายแล้ว การกู้ซื้อบ้านร่วมกันเหมือนกับคู่รักสามีภรรยา ก็สามารถทำได้ โดยเงื่อนไขการกู้ร่วมกันอาจแตกต่างกันไปในแต่ละธนาคาร
  • ซื้อประกันชีวิต: ผู้รับผลประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิต ต้องเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้ซื้อประกัน ดังนั้นเมื่อคู่รักได้จดทะเบียนสมรสกันแล้ว ย่อมมีคู่ชีวิตที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่บริษัทประกันจะรับพิจารณาในการออกกรมธรรม์ได้
  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา: กฏหมายภาษีหลายๆ ส่วนยังคงใช้คำว่า “สามี vs ภริยา” จึงควรรอความชัดเจนจากประกาศกรมสรรพากรอีกครั้ง ทั้งนี้กฎหมายที่เรียกว่า “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” มาตรา 67 ได้ระบุว่ากฎหมายใดๆ ที่อ้างถึงสามีภริยา ให้ถือว่าอ้างถึงคู่สมรสตาม “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” (เว้นแต่กฎหมายนั้นระบุ สิทธิ/หน้าที่ สามีภริยา ไว้ต่างกัน) จึงคาดว่าเกณฑ์ภาษีต่างๆ ของคู่สมรสเท่าเทียมก็ควรเหมือนหรือใกล้เคียงกับคู่สมรสสามีภรรยา เช่น
    • ลดหย่อนคู่สมรสที่ไม่ได้เงินได้ 60,000 บาท
    • ลดหย่อนบิดามารดาของคู่สมรส ท่านละ 30,000 บาท
    • ลดหย่อนบุตรของคู่สมรส (ลูกติด) คนละ 30,000 บาท
    • กรณีคู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ สามารถเลือก แยกยื่น/รวมยื่นภาษี ได้ เป็นต้น

ใครบ้าง ที่จดทะเบียนสมรสเท่าเทียมได้

คนที่จดทะเบียนสมรสเท่าเทียมได้ คือ ทุกคนไม่ว่าจะเพศกำเนิดใด ที่


  • อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
  • ฝ่ายหนึ่งหรือทั้ง 2 ฝ่าย มีสัญชาติไทย
  • ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น
  • ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือไร้ความสามารถ
  • ไม่เป็นพี่น้องทั้งร่วมบิดามารดา หรือต่างบิดา หรือต่างมารดา
  • ไม่ใช่เป็นการสมรสกันระหว่าง ผู้รับบุตรบุญธรรม และบุตรบุญธรรม
  • สำหรับผู้หญิง ที่เคยสมรสกับผู้ชายมาก่อน การสมรสนั้นต้องสิ้นสุดลงมาแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน ยกเว้น
    • คลอดบุตรมาแล้วหลังการสมรสเดิมสิ้นสุดลง
    • มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์

สมรสเท่าเทียม ถือเป็นสิ่งใหม่สำหรับหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย แนะนำให้คู่รักศึกษากฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการจัดการเรื่องเงินที่อาจมีรายละเอียดหรือเงื่อนไขที่ต่างไปจากคู่รักสามีภรรยา เพื่อให้การเงินของคู่รักมีความมั่นคงในระยะยาว


คำเตือน


ผู้เขียน

K WEALTHราชันย์ ตันติจินดา CFP®

Back to top