-
ประเทศเวียดนาม มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 67 อยู่ที่ 7.09% สาเหตุหลักมาจาก ภาคการส่งออก ที่กลับมาฟื้นตัวจากปี 66 ทั้งนี้ KResearch คาดการณ์ว่า เวียดนามจะมี GDP ปี 68 เติบโตต่อที่ 6.80% จากเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่คาดจะโตต่อเนื่องและภาคส่งออกที่น่าจะยังดีในช่วงครึ่งแรกของปี
-
สนใจอยากลงทุนในหุ้นเวียดนาม มี 2 ทางเลือกในการลงทุน คือ ลงทุนในต่างประเทศโดยตรง ผ่านหุ้นหรือ กองทุน ETF กับ ลงทุนในตลาดไทย เช่น กองทุนรวมที่จัดตั้งในไทย ไปลงทุนในต่างประเทศ และ หลักทรัพย์ที่ออกในไทยและซื้อขายในไทย (Depository Receipt : DR) โดยผู้ออกจะนำเงินลงทุนไปซื้อตราสารในต่างประเทศ เพื่อเสนอขายต่อนักลงทุนไทยในรูปเงินบาท ซึ่งแต่ละทางเลือกมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป
-
K WEALTH มีมุมมองเป็นบวกเล็กน้อย (Slightly Positive) ต่อการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม จากปัจจัยบวก ที่มีการออกกฎหมายเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปัจจัยการเมืองที่มีเสถียรภาพ ยอดปล่อยสินเชื่อของภาคธนาคารที่เพิ่มสูงขึ้น และปัจจัยมูลค่าตลาดหุ้นเวียดนามที่ถูกกว่าค่าเฉลี่ย ส่วน KResearch มอง GDP เวียดนามจะถูกกดดันจากเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่จะกระทบกับ GDP เวียดนามได้
ประเทศเวียดนาม เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น โดยปี 67 GDP เติบโตเพิ่มขึ้น 7.09% เทียบกับ GDP ปี 66 ที่เติบโต 5.05% (YoY : เทียบเป็นรายปี) สาเหตุหลักมาจาก ภาคการส่งออก และภาคการลงทุน (Gross Capital Formation) ที่เติบโตขึ้น จึงถือเป็นอีกประเทศที่มีความน่าสนใจในการลงทุน อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างในปี 68 นักลงทุนหลายท่านจึงอาจจะมีคำถามว่า แล้วเวียดนามจะยังเติบโตต่อในปีนี้ได้หรือไม่ บทความนี้ K WEALTH ได้รวบรวมข้อมูลดีๆ และสรุปแนวโน้มการลงทุนในเวียดนามจากบทวิเคราะห์ของ KResearch และมุมมองการลงทุนของ K WEALTH และช่องทางการลงทุนในประเทศเวียดนามสำหรับผู้ที่สนใจ เพื่อให้นักลงทุนศึกษาเป็นข้อมูลให้ไม่พลาดกับโอกาสการลงทุนในปี 2568
ประเทศเวียดนามจะเติบโตต่อหรือไม่
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ของเวียดนามในปี 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.09% YoY เป็นผลมาจาก ภาคการส่งออก ที่เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่ 14.32% (ปี 66 ภาคการส่งออกเติบโตติดลบที่ -4.57%) เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2568 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) คาดการณ์ว่า GDP ของเวียดนาม จะเติบโตที่ 6.8% โดยมีปัจจัยบวกจาก 1) เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ที่คาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นจากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อลดความเสี่ยงจากสงครามการค้ารอบใหม่ และ 2) การส่งออกที่แม้คาดโตชะลอตัวลง แต่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่า ภาคการส่งออกจะเติบโตที่ 12% ในปี 2568 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และการส่งออกที่คาดจะเร่งตัวขึ้นมากในช่วงครึ่งแรกของปี เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการภาษีใหม่ของสหรัฐฯ ที่จะมีการบังคับใช้ในช่วงครึ่งปีหลัง
รูปที่ 1 แสดงสัดส่วนการส่งออก และการพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ เทียบกับ การส่งออกทั้งหมด และ GDP ในปี 2566
รูปที่ 2 แสดงประเภทสินค้าของเวียดนามที่ส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ
จากมุมมองของ KResearch เศรษฐกิจเวียดนามในปี 68 จะยังคงเติบโตโดดเด่นเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน แต่ยังปัจจัยเสียงจาก
- ผลกระทบการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เนื่องจากส่งออกไปสหรัฐฯ มากที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียนด้วยกัน (รูปที่ 1)
- คาดได้รับผลกระทบจากกำลังการผลิตส่วนเกินในจีนที่จะทะลักเข้ามาในเวียดนาม ส่งผลให้การแข่งขันในสินค้าบางประเภทเช่น เหล็ก หรือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศสูงขึ้น
- ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ในระบบธนาคารจากภาคอสังหาฯ ที่ซบเซา และลูกหนี้บางส่วนที่ธนาคารยังต้องเยียวยาผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นยางิ และ
- ค่าเงินดองมีแนวโน้มอ่อนค่า จากการไหลออกของเงินทุนในตลาดทุนและตลาดหุ้นกู้ รวมถึงการลดดอกเบี้ยของ Fed ที่น้อยกว่าคาด
สนใจลงทุนหุ้นเวียดนาม มีทางเลือกอะไรบ้าง
ทางเลือกในการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ มี 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- 1. ลงทุนหลักทรัพย์ในตลาดต่างประเทศโดยตรง วิธีนี้ จะเลือกลงทุนในหุ้น หรือ กองทุน Exchange Traded Fund (ETF) เป็นกองทุนเปิดที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯในต่างประเทศ ด้วยราคาตลาดในขณะนั้น (Real Time)
ข้อดี
- ค่าธรรมเนียมมีเฉพาะค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้น / กองทุน ETF (เสียค่าธรรมเนียมต่อเดียว)
- เลือกลงทุนรายตัวได้ ตามความสนใจ
แต่มีข้อควรระวัง คือ
- ซื้อ-ขาย มีกำไรจากการลงทุนในต่างประเทศ หากนำกลับประเทศต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษี
- เงินลงทุนขั้นต่ำ ประมาณ 50,000-100,000 บาท ส่งผลให้ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถกระจายความเสี่ยง ด้วยการลงทุนหลายตัวได้ และ
- นักลงทุนต้องบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเองลงทุนผ่านเครื่องมือทางการเงินในตลาดไทย มี 2 รูปแบบ
- ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่จัดตั้งในประเทศไทย มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ เช่น กองทุน K-VIETNAM เป็นต้น
ข้อดี คือ
- หากมีกำไร จะได้รับยกเว้นภาษี
- มีผู้เชี่ยวชาญช่วยดูแลเรื่องการลงทุน
- มีให้เลือกจะป้องกันอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่
ข้อควรระวัง คือ
- 1. มีค่าธรรมเนียมสูงกว่า (เทียบกับการลงทุนในต่างประเทศโดยตรง)
- ลงทุนผ่านตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Depository Receipt : DR) เป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ซื้อขายในตลาดหุ้นไทย โดยผู้ออก DR ต้องนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ เพื่อมาเสนอขายผู้ลงทุนในไทยในสกุลเงินบาท ซึ่งปัจจุบัน DR ที่เกี่ยวข้องกับหุ้นเวียดนาม จะเป็น DR ที่อ้างอิงดัชนีหุ้นในเวียดนาม
ข้อดี คือ
- หากมีกำไร ได้รับยกเว้นภาษี เนื่องจากเสมือนหุ้นตัวหนึ่ง
- กระจายความเสี่ยงผ่านตราสารที่ซื้อขายในตลาดหุ้นไทย
ข้อควรระวัง คือ
- ตราสารต่างประเทศที่ลงทุน จะได้เฉพาะตราสารหรือดัชนีตามที่อ้างอิงเท่านั้น
แนวโน้มการลงทุนหุ้นเวียดนามในปี 2568
สำหรับมุมมองการลงทุนในหุ้นเวียดนาม K WEALTH มีมุมมองบวกเล็กน้อย (Slightly Positive) โดยมองว่าเวียดนามมีศักยภาพที่จะขึ้นมาเป็นฐานการผลิตแทนจีน ด้วยปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน ประชากรวัยแรงงาน จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) โดยคาดการณ์ GDP ในปี 2568 จะอยู่ที่ 6.5% (ที่มาจาก World Bank) เทียบกับ 6.8% (จาก KResearch) ถือว่าใกล้เคียง โดยทางการเวียดนามก็ประเมิน GDP ในปี 68 อยู่ในช่วง 6.5%-7.0% เช่นกัน ซึ่งการเติบโตจะมาจาก
- การผ่านร่างกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น การขยายเวลาลด VAT ลง 2% การปรับปรุงและจัดระเบียบกลไกรัฐ เป็นต้น หลังยืดเยื้อมานานในช่วงที่การเมืองมีความวุ่นวาย
- ปัจจัยการเมืองที่มีเสถียรภาพ ช่วยเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติต่อทั้งภาคเศรษฐกิจและตลาดหุ้น และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 68
- ยอดปล่อยสินเชื่อ ที่เติบโตต่อเนื่อง หนุนด้วยภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ การเร่งลงทุนของภาครัฐ และการฟื้นตัวของภาคอสังหาฯ ทำให้มีโอกาสแตะเป้าหมายการเติบโตของปีที่ 15%
- ระดับมูลค่าของตลาดหุ้นเวียดนามต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง ประกอบกับการผลิต ส่งออก และบริโภคภายในยังเติบโต อีกทั้ง Credit Growth ยังเติบโต ในขณะที่เงินเฟ้อต่ำลงเปิดโอกาสให้ใช้มาตรกระตุ้นเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ทาง KResearch มองถึงปัจจัยกดดันเศรษฐกิจของเวียดนาม คือ มาตรการจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกจากเวียดนามไปยังสหรัฐฯที่อยู่ระดับสูง ที่จะออกมาตรการภาษีเพื่อกีดกันทางการค้าในช่วงครึ่งปีหลัง และ ปัจจัยคุณภาพสินทรัพย์ที่ถึงแม้จะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซาส่งผลให้มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระ ลูกหนี้บางส่วนได้รับการเยียวยาจากธนาคารจากเหตุไต้ฝุ่นยางิ ซึ่งล่าสุด หลังประธานาธิบดีทรัมป์ เข้ารับตำแหน่ง มีนโยบายควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งการกีดทางการค้าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้น ทำให้มาตรการขึ้นภาษีดูเป็นปัจจัยกดดันในระยะสั้น โดยทาง KWEALTH มีคำแนะนำกองทุน K-VIETNAM สำหรับ 2 กลุ่มนักลงทุน
- นักลงทุนที่มีการลงทุนในหุ้นเวียดนามอยู่แล้ว
- มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเวียดนาม มากกว่า 30% แนะนำทยอยหาจังหวะขายทำกำไรเพื่อรักษาสัดส่วนการลงทุนโดยรวมให้เหมาะสม และนำเงินส่วนที่เหลือไปกระจายการลงทุนในส่วนอื่น
- ที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเวียดนาม น้อยกว่า 30% แนะนำเพิ่มการลงทุนในเวียดนามให้อยู่ในสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม
- นักลงทุนที่ยังไม่มีการลงทุนในหุ้นเวียดนามหรือเน้นการลงทุนระยะสั้น
- แนะนำให้เริ่มทยอยลงทุนในหุ้นเวียดนาม ในสัดส่วนไม่เกิน 30%