กลยุทธ์การลงทุนปี 2025 ภายใต้นโยบายทรัมป์ วิเคราะห์ผลกระทบต่อหุ้น พลังงาน และสินทรัพย์ปลอดภัย พร้อมคำแนะนำการจัดพอร์ตเพื่อรับมือความผันผวน

ทรัมป์คัมแบ็ก เศรษฐกิจพลิก เกมลงทุนต้องพร้อม

กลยุทธ์การลงทุนปี 2025 ภายใต้นโยบายทรัมป์ วิเคราะห์ผลกระทบต่อหุ้น พลังงาน และสินทรัพย์ปลอดภัย พร้อมคำแนะนำการจัดพอร์ตเพื่อรับมือความผันผวน

  • การกลับมาของทรัมป์ในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ที่กำลังจะเริ่มในปี 2025 นี้ อาจสร้างทั้งโอกาสและความเสี่ยงสำหรับนักลงทุน โดยนโยบายสำคัญ เช่น "America First" อาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น ราคาพลังงาน และอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกจากนี้ สงครามการค้าและการเปลี่ยนแปลงด้านพันธมิตรระหว่างประเทศอาจเพิ่มความผันผวนของตลาดการลงทุน แนวทางที่เน้นการกระจายการลงทุนและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจะช่วยนักลงทุนในการจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม

วันที่ 20 มกราคม 2025 ที่ผ่านมา เป็นวันที่เริ่มต้นนับหนึ่งการกลับมาของทรัมป์ ในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 อย่างเป็นทางการ ซึ่งก่อให้เกิดความคาดหวังและความกังวลในหลายด้าน โดยเฉพาะในมิติของเศรษฐกิจ การค้า และนโยบายต่างประเทศ การตัดสินใจของนักลงทุนในช่วงเวลานี้จะต้องพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของนโยบายอย่างรอบคอบ พร้อมกับเตรียมตัวรับมือกับโอกาสและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น


ผลกระทบทางการเมือง

  1. นโยบาย "America First" ที่กลับมา
  2. นโยบาย "America First" เป็นหัวใจสำคัญในยุคทรัมป์สมัยที่แล้ว การเน้นสร้างงานและการผลิตภายในประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน การเกษตร และการผลิตสินค้าในประเทศ แต่ขณะเดียวกัน การลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ อาจเพิ่มต้นทุนการผลิตในประเทศและความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทาน


  3. สงครามการค้าและผลกระทบระหว่างประเทศ
  4. อาจเพิ่มความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ ผลกระทบจากภาษีและมาตรการตอบโต้ทางการค้า ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศที่พึ่งพิงการส่งออก รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในเอเชียและยุโรป


  5. ความเปลี่ยนแปลงในพันธมิตรระหว่างประเทศ
  6. การลดบทบาทของสหรัฐฯ ในองค์กรระหว่างประเทศ เช่น การถอนตัวจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศที่มุ่งลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ การถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก (WHO) สหรัฐฯ โดยให้เหตุผลว่า WHO จัดการกับการระบาดของ COVID-19 อย่างไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก


ผลกระทบด้านการลงทุน : การเปลี่ยนแปลงของนโยบายที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจสร้างความไม่แน่นอนในตลาดการลงทุนต่างๆ ดังนี้


  1. ตลาดหุ้น
  2. กลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจับตา

    • กลุ่มพลังงาน: ทรัมป์ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานแห่งชาติเพื่อลดราคาพลังงานในประเทศและสั่งให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเบนซินเพิ่มเติม โดยยกเว้นกฎด้านสิ่งแวดล้อมหลายข้อที่จำกัดการขุดเจาะ การดำเนินการนี้อาจเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล อย่างไรก็ตาม แม้สหรัฐฯ จะเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ยังคงนำเข้าน้ำมันจากหลายประเทศ ในระยะสั้นการผลิตพลังงานและลดราคาพลังงานในประเทศอาจทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลงได้ แต่การขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าเชื้อเพลิง และ การคว่ำบาตรประเทศคู่แข่ง เช่น อิหร่านและรัสเซีย อาจทำให้ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกลดลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นได้ในระยะถัดไป
    • กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า: ภายใต้นโยบาย ''Unleashing American Energy'' ทรัมป์ได้ยกเลิกกฎที่กำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์ลดการปล่อยมลพิษของรถยนต์ขนาดเล็กลงครึ่งหนึ่งตั้งแต่ปี 2027 รวมถึงอาจยกเลิกเครดิตภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า การเปลี่ยนแปลงนี้อาจส่งผลให้การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าชะลอตัว และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ที่ใช้น้ำมันมากขึ้น
    • กลุ่มพลังงานทางเลือก: การถอนตัวจาก Paris Agreement หรือข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้เหตุผลว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่สอดคล้องกับค่านิยมและเป้าหมายทางเศรษฐกิจของประเทศ การถอนตัวนี้อาจส่งผลให้สหรัฐฯ เพิ่มการผลิตและการใช้พลังงานจากฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและความพยายามระดับโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดย Morgan Stanley คาดว่านโยบายนี้ อาจส่งผลให้เงินลงทุนกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์ไหลออกจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะจากกองทุนพลังงานสะอาด ในขณะที่เอเชียมีการเติบโตของการลงทุน ESG เพิ่มขึ้น 150% ในช่วงปี 2022-23 ซึ่งอาจส่งผลให้กองทุน ESG ทั่วโลกมีการปรับพอร์ต โดยลดน้ำหนักการลงทุนในสหรัฐฯ และเพิ่มการลงทุนในเอเชียมากขึ้น
  3. ทิศทางอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ
    1. ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ : จากเป้าหมายของทรัมป์ ที่เน้นคุมเงินเฟ้อ และ การสั่งให้หน่วยงานรัฐบาลกลางดำเนินการเพื่อมุ่งลดต้นทุนค่าครองชีพสำหรับผู้บริโภคชาวอเมริกัน รวมถึงแรงผลักดันให้ใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ ส่งผลให้ทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ น่าจะยังคงปรับลดลงต่อได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลทรัมป์ ดำเนินนโยบายขาดดุลอย่างต่อเนื่อง เช่น การลดภาษีหรือเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ จะเพิ่มแรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ย เนื่องจากรัฐบาลต้องออกพันธบัตรจำนวนมากเพื่อระดมทุน

    2. ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
    3. ปัจจัยที่อาจทำให้ดอลลาร์แข็งค่า

      • นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ: หากทรัมป์ ยังคงใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ลดภาษีภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน หรือลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาจดึงดูดเงินทุนไหลเข้าประเทศ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
      • ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า: การดำเนินนโยบาย "America First" เช่น การกีดกันทางการค้ากับจีนหรือคู่ค้าประเทศอื่น ๆ อาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก และอาจกระตุ้นให้นักลงทุนเลือกที่จะถือดอลลาร์ในฐานะ "สินทรัพย์ปลอดภัย"

      ปัจจัยที่อาจทำให้ดอลลาร์อ่อนค่า

      • สงครามการค้า: หากทรัมป์ ใช้แนวทางการกีดกันทางการค้าอย่างเข้มข้น อาจลดความน่าสนใจของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทำให้เงินทุนไหลออก ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง
      • หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น: หากมีการขยายงบประมาณแบบขาดดุลอย่างหนัก ค่าเงินดอลลาร์อาจเผชิญแรงกดดันจากความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการคลังได้

  4. สินทรัพย์ปลอดภัย
  5. การเพิ่มความต้องการในสินทรัพย์ปลอดภัยอาจเป็นตัวเลือกสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลดความเสี่ยง อย่างไรก็ตามราคาทองคำและพันธบัตรรัฐบาล อาจมีความผันผวนตามความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมือง โดย


    • ทองคำ: ราคามีโอกาสปรับตัวขึ้นในกรณีที่เกิดความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง หรือเงินเฟ้อเร่งตัว
    • พันธบัตรรัฐบาล: ราคาอาจมีความผันผวนขึ้นอยู่กับนโยบายดอกเบี้ยของ Fed และระดับการขาดดุลงบประมาณ หากอัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น พันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นอาจจะได้รับผลกระทบด้านราคาที่น้อยกว่า

บทเรียนจากอดีต (สมัยทรัมป์ปี 2017-2020)

  • ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงต้น เกิดความผันผวนจากสงครามการค้าในช่วงปี 2018-2019 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนดังนี้
    • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ: นโยบายลดภาษี (Tax Cuts and Jobs Act 2017) สนับสนุนผลประกอบการบริษัทในตลาด ทำให้ตลาดหุ้นเติบโต
    • การลดกฎระเบียบ: นโยบายที่ลดข้อกำหนดในหลายอุตสาหกรรม เช่น พลังงานและการเงิน ส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำลง
    • ความตึงเครียดทางการค้า:การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในปี 2018-2019 ทำให้เกิดความผันผวนในบางช่วง
  • ค่าเงินดอลลาร์ (Dollar Index) และ ทองคำ (Gold): ทั้ง 2 สินทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2019 จากความตึงเครียดของสงครามการค้าในปี 2018-2019 ที่ส่งผลให้ทั้งค่าเงินดอลลาร์และทองคำปรับตัวขึ้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
  • ความสำคัญของการกระจายความเสี่ยง: การกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลาย เช่น ทองคำ พันธบัตร และหุ้น ช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาด

กราฟ : ความเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ต่างๆ ซึ่งครอบคลุมการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์ในช่วงปี 2017-2020



ที่มา Bloomberg


กลยุทธ์การลงทุนในปี 2025

การกลับมาของทรัมป์ในปี 2025 อาจนำพาทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับนักลงทุน เรายังคงแนะนำให้ใช้กลยุทธ์ในการกระจายพอร์ตการลงทุน เพื่อบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การลงทุนในสินทรัพย์หลากหลาย เช่น หุ้น พันธบัตร ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ เน้นลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลบวกจากนโยบาย หรือมีความยืดหยุ่นที่ปรับตัวได้ดีกับสภาพเศรษฐกิจได้ดี เช่น อสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมผสม เป็นต้น