ทำความเข้าใจ P/E Ratio ตัวชี้วัดสำคัญในการวิเคราะห์มูลค่าหุ้น พร้อมวิธีการคำนวณ P/E และ เคล็ดลับเลือกหุ้นถูก เพิ่มความแม่นยำในการลงทุน สร้างพอร์ตหุ้นที่มั่นคงและคุ้มค่า

P/E คืออะไร? รู้แล้วจะช่วยวิเคราะห์หุ้นให้แม่นยำ

ทำความเข้าใจ P/E Ratio ตัวชี้วัดสำคัญในการวิเคราะห์มูลค่าหุ้น พร้อมวิธีการคำนวณ P/E และ เคล็ดลับเลือกหุ้นถูก เพิ่มความแม่นยำในการลงทุน สร้างพอร์ตหุ้นที่มั่นคงและคุ้มค่า

กดฟัง
หยุด
  • อัตราส่วน P/E (Price to Earnings Ratio) เป็นเครื่องมือพื้นฐานสำคัญในการประเมินมูลค่าหุ้น โดยเปรียบเทียบราคาหุ้นกับความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ช่วยให้นักลงทุนประเมินความเหมาะสมของราคาหุ้นและระยะเวลาคืนทุน
  • การวิเคราะห์ P/E ที่มีประสิทธิภาพต้องพิจารณาปัจจัยหลายด้าน ทั้งการเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม แนวโน้มการเติบโตของบริษัท และการใช้ร่วมกับเครื่องมือวิเคราะห์อื่นๆ เพื่อให้การตัดสินใจลงทุนมีความแม่นยำมากขึ้น
  • นักลงทุนที่ไม่มีเวลาติดตามตลาดหุ้นหรือไม่เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์หุ้น สามารถลงทุนในหุ้นผ่านกองทุนหุ้นได้ เช่น กองทุน K-GSELECT, K-HIT-A(A), K-USA-A(A)

ในโลกของการลงทุนที่มีความซับซ้อนและความผันผวน การมีเครื่องมือช่วยในการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนอย่างมีหลักการถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยหนึ่งในเครื่องมือพื้นฐานที่นักลงทุนทั่วโลกนิยมใช้คือ อัตราส่วน P/E หรือ Price to Earnings Ratio แล้วอัตราส่วน P/E คืออะไร ช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจเลือกหุ้นเข้าพอร์ตการลงทุนได้อย่างไร ติดตามได้ในบทความนี้


P/E คืออะไร และทำไมถึงสำคัญ

P/E Ratio หรือ อัตราส่วนราคาต่อกำไร เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่คำนวณจากการนำราคาหุ้น (Price) หารด้วยกำไรต่อหุ้น (Earnings Per Share หรือ EPS) ของบริษัท ค่า P/E ที่ได้จะแสดงถึงจำนวนปีที่นักลงทุนต้องรอเพื่อให้ได้กำไรคุ้มค่ากับเงินลงทุน หรือพูดง่ายๆ คือ ระยะเวลาคืนทุนนั่นเอง


ในการวิเคราะห์ P/E นักลงทุนจะเจอ P/E 2 ประเภทหลัก ได้แก่


  1. Trailing P/E คือ P/E ที่คำนวณจากกำไรต่อหุ้นย้อนหลัง 12 เดือน เป็นตัวเลขที่สะท้อนผลประกอบการที่เกิดขึ้นจริง แต่อาจไม่สะท้อนแนวโน้มในอนาคต
  2. Forward P/E คือ P/E ที่คำนวณจากประมาณการกำไรต่อหุ้นในอนาคต 12 เดือนข้างหน้า ช่วยให้เห็นภาพการเติบโตในอนาคต แต่มีความไม่แน่นอนเนื่องจากเป็นเพียงการคาดการณ์

วิธีการคำนวณ P/E ที่นักลงทุนควรรู้

การคำนวณ P/E สามารถทำได้ 2 วิธีหลักคือ


  1. ใช้ราคาหุ้นและกำไรต่อหุ้น
  2. P/E = ราคาหุ้น ÷ กำไรต่อหุ้น (EPS) ตัวอย่าง หุ้น A ราคา 50 บาท มีกำไรต่อหุ้น 2.5 บาท P/E = 50 ÷ 2.5 = 20 เท่า


  3. ใช้มูลค่าตลาดและกำไรสุทธิ
  4. P/E = มูลค่าตลาด (Market Cap) ÷ กำไรสุทธิ (Net Profit) ตัวอย่าง บริษัท B มีมูลค่าตลาด 10,000 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 500 ล้านบาท P/E = 10,000 ÷ 500 = 20 เท่า


การใช้งาน P/E ในการเลือกหุ้น เจาะลึกมุมมองการวิเคราะห์

ในการวิเคราะห์หุ้นด้วย P/E นักลงทุนจำเป็นต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างหุ้นที่มี P/E สูงและต่ำ โดยหุ้นที่มี P/E ต่ำ (Low P/E) มักเป็นหุ้น Value Stock ที่ราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับความสามารถในการทำกำไร ซึ่งเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะยาวและรอคอยการปรับตัวของราคา โดยมักพบในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตช้า แต่มั่นคง เช่น ธนาคาร พลังงาน และสาธารณูปโภค ซึ่งอาจมี P/E เฉลี่ยประมาณ 8-12 เท่า


ในทางตรงกันข้าม หุ้นที่มี P/E สูง (High P/E) มักเป็นหุ้น Growth Stock ที่ตลาดคาดหวังการเติบโตสูงในอนาคต เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงและเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโต โดยมักพบในกลุ่มเทคโนโลยี อีคอมเมิร์ซ หรือธุรกิจนวัตกรรม ซึ่งอาจมี P/E สูงถึง 30-50 เท่า หรือมากกว่า


ข้อควรระวังในการใช้ P/E เข้าใจข้อจำกัดเพื่อการวิเคราะห์ที่แม่นยำ

แม้ P/E จะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ แต่นักลงทุนควรตระหนักถึงข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่


  • P/E ไม่เหมาะกับบริษัทที่ขาดทุน เนื่องจากไม่สามารถคำนวณได้เมื่อบริษัทมีผลขาดทุน ซึ่งอาจทำให้พลาดโอกาสลงทุนในบริษัทที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านหรือบริษัทที่ลงทุนเพื่อการเติบโต
  • ความผันผวนของกำไรอาจส่งผลให้ค่า P/E บิดเบือนได้ โดยเฉพาะกำไรที่ไม่ปกติหรือรายการพิเศษ ดังนั้น นักลงทุนควรพิจารณากำไรที่เป็นปกติ (Normalized Earnings) เพื่อการวิเคราะห์ที่แม่นยำ
  • ความแตกต่างของแต่ละอุตสาหกรรมทำให้ไม่ควรเปรียบเทียบ P/E ข้ามอุตสาหกรรม เนื่องจากแต่ละอุตสาหกรรมมีโครงสร้างต้นทุน รูปแบบรายได้ และความเสี่ยงที่แตกต่างกัน
  • ช่วงเวลาที่ใช้ในการคำนวณมีผลต่อค่า P/E อย่างมาก โดย P/E อาจแตกต่างกันมากขึ้นอยู่กับว่าใช้กำไรในช่วงใดมาคำนวณ จึงควรพิจารณาทั้ง Trailing P/E และ Forward P/E ประกอบกัน

เคล็ดลับการใช้ P/E ให้มีประสิทธิภาพ มากกว่าการดูตัวเลข

การใช้ P/E ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการลงทุน นักลงทุนควรใช้ร่วมกับเครื่องมือวิเคราะห์อื่นๆ โดยหนึ่งในอัตราส่วนที่นิยมใช้ควบคู่กับ P/E คือ อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity หรือ ROE) ซึ่งช่วยให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำกำไรของบริษัท


นอกจากนี้ สัดส่วนของราคาต่อกำไรต่อการเติบโต หรือ PEG Ratio (Price/Earnings to Growth) เป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยในการประเมินความเหมาะสมของ P/E เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของกำไร โดย PEG Ratio คำนวณจากการนำ P/E หารด้วยอัตราการเติบโตของกำไร ซึ่งค่า PEG ที่ต่ำกว่า 1 ถือว่าหุ้นมีราคาที่น่าสนใจ เนื่องจากอัตราการเติบโตสูงกว่า P/E เช่น


หุ้น A มี P/E อยู่ที่ 20 เท่า และมีอัตราการเติบโตของกำไรอยู่ที่ 40%


PEG Ratio = 20 ÷ 40 = 0.50 เท่า


ขณะที่การเปรียบเทียบ P/E กับอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) จะช่วยให้นักลงทุนเห็นภาพรวมของผลตอบแทนที่จะได้รับ โดยหุ้นที่มี P/E ต่ำ มักมี Dividend Yield สูง เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการรายได้สม่ำเสมอจากเงินปันผล


ทั้งนี้ การวิเคราะห์แนวโน้ม P/E ในอดีตเป็นอีกวิธีที่มีประสิทธิภาพ โดยนักลงทุนควรศึกษาค่า P/E ย้อนหลังอย่างน้อย 3-5 ปี เพื่อดูว่าค่า P/E ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงหรือต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต เช่น บริษัท XYZ มี P/E เฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 15 เท่า หาก P/E ปัจจุบันอยู่ที่ 12 เท่า ถือว่าหุ้นของบริษัทมีราคาที่น่าสนใจ


แนวทางการเลือกใช้ตัวชี้วัดให้เหมาะสมกับสถานการณ์

ในภาวะตลาดที่แตกต่างกัน การเลือกใช้ตัวชี้วัดควรปรับให้เหมาะสมกับภาวะตลาดที่เกิดขึ้น เช่น ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว การใช้ Forward P/E อาจเหมาะสมกว่า เนื่องจากสะท้อนความคาดหวังต่อการเติบโตในอนาคต แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง การใช้ Trailing P/E อาจให้ภาพที่ชัดเจนกว่าเพราะใช้ข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงแล้ว


กองทุนแนะนำจาก K WEALTH

สำหรับคนที่ไม่มีเวลาติดตามตลาดหุ้นหรือไม่เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์หุ้น สามารถลงทุนในหุ้นที่สนใจผ่านกองทุนหุ้นได้ โดย K WEALTH แนะนำกองทุนหุ้นดังนี้


  • กองทุน K-GSELECT ลงทุนในหุ้นของบริษัทในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก
  • กองทุน K-HIT-A(A) ลงทุนในหุ้นทั่วโลก เน้นสร้างพอร์ตการลงทุนให้หลากหลายผ่านกลยุทธ์การคัดเลือก ธีมการลงทุน กลุ่มอุตสาหกรรม และหุ้น
  • กองทุน K-USA-A(A) ลงทุนในหุ้นของบริษัทสหรัฐอเมริกาขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และมีศักยภาพการเติบโตสูง

โดยหุ้นที่สนใจสามารถดูได้จาก Top 5 หรือ Top 10 ใน Fund Fact Sheet หรือเว็บไซต์ของกองทุนหลัก


นอกจากนี้ แนะนำให้ลงทุนในกองทุนผสมที่มีการกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ทั่วโลกเป็นพอร์ตหลัก เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงและรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้น โดยกองทุนผสมแนะนำ ได้แก่


  • กองทุน K-WPBALANCED ลงทุนในหุ้นประมาณ 30% และลงทุนในตราสารหนี้ประมาณ 70%
  • กองทุน K-WPSPEEDUP ลงทุนในหุ้นประมาณ 65% และลงทุนในตราสารหนี้ประมาณ 35%
  • กองทุน K-WPULTIMARE ลงทุนในหุ้นประมาณ 85% และลงทุนในตราสารหนี้ประมาณ 15%

โดยสรุป P/E เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่มีประโยชน์ในการวิเคราะห์หุ้น แต่ไม่ควรใช้เพียงเครื่องมือเดียวในการตัดสินใจลงทุน นักลงทุนควรพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท แนวโน้มอุตสาหกรรม และภาวะเศรษฐกิจโดยรวม การเข้าใจข้อจำกัดและการใช้ P/E ร่วมกับเครื่องมือวิเคราะห์อื่นๆ จะช่วยให้การตัดสินใจลงทุนมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : • บลจ.กสิกรไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


คำเตือน

กองทุน K-WPBALANCED และ K-WPSPEEDUP มีระดับความเสี่ยงที่ 5 (จากสูงสุด 8 ระดับ) ส่วนกองทุน K-WPULTIMATE, K-GSELECT, K-HIT-A(A) และ K-USA-A(A) มีระดับความเสี่ยงที่ 6 (จากสูงสุด 8 ระดับ)

กองทุน K-HIT-A(A) และ K-USA-A(A) มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 75% ของมูลค่าเงินลงทุนต่างประเทศ ส่วนกองทุน K-WPBALANCED, K-WPSPEEDUP, K-WPULTIMATE และ K-GSELECT มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน

Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”

ผู้เขียน

KWEALTHสุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ CFP®

Back to top