การจัดการพอร์ตการลงทุนที่ติดลบ ไม่ว่าจะเป็นการถือต่อหรือย้ายไปลงทุนในกองทุนอื่น จะไม่ใช่สิ่งที่ยากอีกต่อไป เมื่อมีคำแนะนำจาก K WEALTH เกี่ยวกับกองทุนที่ควรถือและกองทุนที่ควรขาย เพื่อให้คุณสามารถตัดสินใจได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพในการลงทุน

How to จัดการเมื่อพอร์ตแดง ถือต่อ หรือควรย้าย?

การจัดการพอร์ตการลงทุนที่ติดลบ ไม่ว่าจะเป็นการถือต่อหรือย้ายไปลงทุนในกองทุนอื่น จะไม่ใช่สิ่งที่ยากอีกต่อไป เมื่อมีคำแนะนำจาก K WEALTH เกี่ยวกับกองทุนที่ควรถือและกองทุนที่ควรขาย เพื่อให้คุณสามารถตัดสินใจได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพในการลงทุน

กดฟัง
หยุด
  • แม้ว่าพอร์ตหรือกองทุนที่ถือจะมีผลตอบแทนติดลบ แต่หากกองทุนในพอร์ตยังมีแนวโน้มเติบโตได้ เช่น กองทุน K-VIETNAM, K-USA-A(A), K-HIT-A(A), K-GHEALTH, K-GTECH และ K-GINFRA-A(D) ที่ K WEALTH แนะนำให้เข้าลงทุน ก็ยังสามารถถือต่อ เพื่อรอราคากลับมาฟื้นตัวตามแนวโน้มที่ดีในอนาคต
  • กองทุนไหนที่ถืออยู่ หาก K WEALTH มีมุมมองเป็นลบ หรือไม่แนะนำให้เข้าลงทุน เช่น กองทุน K-EUROPE-A(D), K-EUSMALL, K-EUX, K-JPX-A(A) และ K-JP-A(D) แม้ยังมีกำไร ก็ควรขายหรือสับเปลี่ยนออกไปกองทุนหุ้นแนะนำอื่นแทน
  • เพื่อให้ถือเงินลงทุนได้อย่างมั่นใจ แนะนำตรวจสอบและจัดสัดส่วนเงินลงทุนที่มี โดยแบ่งเงินลงทุนเป็น 70% ลงทุนในกองทุนผสมที่มีผู้จัดการกองทุนดูแล เช่น K-WPSPEEDUP, K-WPBALANCED เพื่อให้พอร์ตรวมมีความมั่นคง ไม่ผันผวนมากนัก อีก 30% คอยติดตามมุมมองการลงทุนจาก K WEALTH เป็นประจำทุกเดือน เพื่อไม่พลาดโอกาสลงทุนในกองทุนที่มีโอกาสเติบโต เช่น K-HIT-A(A) หรือ K-GHEALTH เป็นต้น

พอร์ตลงทุนล้วนมีช่วงที่เป็นสีเขียวหรือผลตอบแทนเป็นบวก และย่อมมีช่วงที่ติดลบเป็นสีแดงไม่ว่าจะทั้งพอร์ตหรือแค่บางกองทุนที่ถือ ยิ่งปัจจุบันสามารถเปิดดูผลตอบแทนพอร์ตได้ทุกวันผ่านมือถือแล้ว ยิ่งทำให้ช่วงที่พอร์ตติดลบรู้สึกยาวนานกว่าปกติ จนอยากตัดสินใจปรับเปลี่ยนบางอย่าง แล้วผู้ลงทุนควรจัดการอย่างไรกับพอร์ตที่มี ถือต่อ หรือควรย้าย? บทความนี้ K WEALTH มีแนวทางมาให้กับผู้ลงทุน


I: แดงทั้งพอร์ต หรือแค่บางกองทุน?

แต่ละกองทุน แต่ละสินทรัพย์ ในช่วงเวลาเดียวกันอาจให้ผลตอบแทนที่ต่างกัน ทำให้แม้บางกองทุนมีผลขาดทุน แต่ภาพรวมพอร์ตอาจไม่ได้ติดลบหนักมากนัก เช่น หากลงทุนกองทุนหุ้น K-JPX-A(A), K-SET50, K-VIETNAM และ K-EUROPE-A(D) ด้วยสัดส่วนที่เท่ากัน กองทุนละ 25% ซึ่งผลการดำเนินงาน 1 ปีที่ผ่านมา* ของกองทุนดังกล่าวอยู่ที่ +2.24%, -5.21%, -5.13% และ -2.54% ตามลำดับ ทำให้ภาพรวมผลตอบแทนพอร์ตอยู่ที่ -2.66%


จากตัวอย่าง แม้ภาพรวมพอร์ตติดลบ แต่ยังมีบางกองทุนที่ผลตอบแทนเป็นบวกที่ช่วยทำให้พอร์ตลงทุนขาดทุนไม่มาก ดังนั้นในวันที่เปิดมือถือหากพบว่าพอร์ตที่ถือติดลบ ก็อย่าเพิ่งกังวลใจ เพราะถ้าดูเป็นรายกองทุนอาจเห็นว่ามีบางกองทุนที่ยังกำไรอยู่ อีกทั้งหากแยกเงินที่เน้นลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนส่วนเพิ่ม ออกจากส่วนของเงินเก็บหรือเงินลงทุนความเสี่ยงต่ำไว้ชัดเจนแล้ว การที่พอร์ตลงทุนมีส่วนที่ติดลบในบางช่วงเวลาก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจเลย


II: ของที่ถือยังดีอยู่ไหม K WEALTH มีมุมมองอย่างไร

สำหรับกองทุนตราสารหนี้ แม้ผลตอบแทนติดลบ แต่หากเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดี เช่น กองทุน K-FIXEDPLUS-A ที่ลงทุนตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ A ขึ้นไปรวม 85% ของเงินลงทุน** หากถือลงทุนได้นานกว่าอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่ 3 ปี 2.16 เดือน** ก็มีโอกาสสูงที่จะได้รับผลตอบแทนโดยไม่ขาดทุนได้ แต่หากกองทุนตราสารหนี้ที่ถือ ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อต่ำกว่า BBB ในสัดส่วนที่สูง หรือมีอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในกองทุนที่ยาวเกินไป ก็ควรพิจารณาย้ายเงินลงทุนส่วนนี้ไปกองทุนอื่นที่มีอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้สั้นกว่า เช่น กองทุน K-SF-A ที่มีอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ 4.20 เดือน**


สำหรับกองทุนหุ้น ที่มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี* ติดลบ เช่น


  • กองทุนหุ้นเวียดนาม K-VIETNAM ที่แม้ติดลบ แต่ยังมีแนวโน้มที่ดีหรือเติบโตต่อได้ เห็นได้จากเอกสาร K WEALTH Monthly View ประจำเดือนมีนาคม 2568 ที่ K WEALTH ยังมีมุมมองเป็นบวกเล็กน้อย (Slightly Positive) ต่อกองทุนนี้ ทำให้ผู้ลงทุนยังสามารถถือกองทุนนี้ต่อได้ เพราะมีโอกาสสูงที่ราคาจะปรับตัวสูงขึ้นได้
  • กองทุนหุ้นไทย K-SET50 ที่ติดลบ โดย K WEALTH ยังมีมุมมองการลงทุนเป็นกลาง (Neutral) ต่อกองทุนกลุ่มนี้ ผู้ลงทุนจึงอาจเลือกถือต่อได้เพราะยังมีโอกาสเติบโตได้บ้าง แต่หากอยากเปลี่ยนไปกองทุนอื่นที่มีแนวโน้มดีกว่า อาจเลือกสับเปลี่ยนไปกองทุนหุ้นแนะนำของ K WEALTH เช่น K-GTECH หรือ K-VIETNAM ที่ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 9.50% และ -5.13% ตามลำดับ*
  • กองทุนหุ้น K-EUROPE-A(D) ที่ติดลบ และ K WEALTH มีมุมมองเป็นลบเล็กน้อย (Slightly Negative) แนะนำว่าไม่จำเป็นต้องถือกองทุนกลุ่มนี้ต่อ โดยควรสับเปลี่ยนไปกองทุนหุ้นแนะนำของ K WEALTH เช่น K-GTECH K-USA-A(A) และ K-GSELECT เป็นต้น เพื่อโอกาสที่มูลค่าเงินลงทุนจะเติบโตได้มากกว่าหรือเร็วกว่าการถือต่อในกองทุนเดิม

สำหรับกองทุนหุ้น ที่มีผลการดำเนินงานเป็นบวก หากเป็นกองทุนที่ K WEALTH มีมุมมองเป็นบวก ก็สามารถถือต่อหรือลงทุนเพิ่มได้ แต่หากเป็นกองทุนที่ K WEALTH มีมุมมองเป็นลบเล็กน้อย (Slightly Negative) แม้ที่ผ่านมา 1 ปี มีผลการดำเนินงานที่เป็นบวก เช่น K-JPX-A(A) K-EUSMALL K-EUX ก็ควรพิจารณาขายทำกำไรและนำเงินไปลงทุนกองทุนหุ้นอื่นแทน เช่น กองทุน K-GTECH K-USA-A(A) K-GSELECT เป็นต้น


III: กองทุนที่ถือกระจุกตัว หรือกระจายตัวดีแล้ว

ตรวจสอบเงินลงทุนที่มี ว่าลงทุนกองทุนแต่ละกลุ่มในสัดส่วนเท่าไร โดยเบื้องต้นสามารถแบ่งกองทุนได้เป็น 3 กลุ่มหลักดังนี้


  • กองทุนตราสารหนี้ ที่เน้นลงทุนเฉพาะเงินฝากหรือตราสารหนี้ทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ ความเสี่ยงของกองทุนกลุ่มนี้มักอยู่ที่ ไม่เกินระดับ 4
  • กองทุนผสม ที่กระจายการลงทุนในตราสารหนี้ หุ้น และสินทรัพย์ต่างๆ ความเสี่ยงของกองทุนกลุ่มนี้มักอยู่ที่ ระดับ 5
  • กองทุนหุ้น/สินทรัพย์ทางเลือก ที่เน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ความเสี่ยงของกองทุนกลุ่มนี้มักอยู่ที่ ระดับ 6 ขึ้นไป (สูงสุดระดับ 8)

หากปัจจุบันเงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มกองทุนหุ้น (ความเสี่ยงระดับ 6 ขึ้นไป) โดยไม่มีกองทุนตราสารหนี้เลย แสดงว่าพอร์ตกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงเกินไป เมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลงพอร์ตก็อาจติดลบเป็นสีแดงตามไปด้วย แต่หากเงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในกองทุนตราสารหนี้ (ความเสี่ยงไม่เกินระดับ 4) โดยแทบไม่มีกองทุนหุ้นหรือกองทุนผสมเลย ก็ทำให้ผลตอบแทนโดยรวมของพอร์ตต่ำเกินไป ทำให้เสียโอกาสการลงทุนได้ ดังนั้นพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมคือการกระจายการลงทุน ทั้งกองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้น รวมถึงกองทุนผสมด้วย


สำหรับเงินที่ลงทุนในกองทุนหุ้น (ความเสี่ยงระดับ 6 ขึ้นไป) นอกจากติดตามมุมมองการลงทุนของ K WEALTH แล้ว ควรดูว่ามีการกระจุกตัวในหุ้นประเทศใด หรือกลุ่มอุตสาหกรรมใดมากเกินไปหรือไม่ เพราะหากกระจุกตัวเกินไป เมื่อประเทศหรืออุตสาหกรรมนั้นมีปัจจัยลบมากระทบ พอร์ตหรือเงินลงทุนส่วนนั้นก็จะติดลบมากตามไปด้วย


IV: กระจายการลงทุนอย่างไร ไม่ให้พอร์ตแดง จนแสลงใจ

การลงทุนที่ดี ควรแบ่งเงินให้เป็นสัดส่วน เพื่อตอบโจทย์การถือเงินลงทุนที่ต่างกัน โดยโจทย์หลักดังกล่าวแบ่งได้เป็น


  1. ถือเพื่อเป็นเงินเก็บระยะยาว ต้องการความมั่นคงของเงินลงทุนเป็นหลัก ควรเลือกลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยตราสารหนี้สอดคล้องกับระยะเวลาที่ต้องการ โดยยิ่งอายุเฉลี่ยนาน โอกาสรับผลตอบแทนจะยิ่งสูงตาม เช่น K-SF-A และ K-FIXEDPLUS-A ที่มีอายุเฉลี่ยตราสารหนี้ต่างกัน 4.20 เดือน** และ 3 ปี 2.16 เดือน** ตามลำดับ ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี ก็ต่างกัน โดยอยู่ที่ 2.24% และ 3.34% ตามลำดับ*
  2. ถือลงทุนเพื่อคาดหวังผลตอบแทนระยะยาว ด้วยการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี สม่ำเสมอ ไม่ผันผวนมากนักเมื่อเทียบกับหุ้นหรือกองทุนหุ้น โดยควรเลือกกองทุนผสมที่มีผู้จัดการกองทุน บริหารเงินลงทุนให้มีสัดส่วนการลงทุนสอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้สำหรับการลงทุนระยะยาว เช่น กองทุน K-WPSPEEDUP ที่ลงทุนในหุ้นประมาณ 65% หรือกองทุน K-WPBALANCED ที่ลงทุนในหุ้นประมาณ 30% เป็นต้น
  3. ถือลงทุนระยะสั้นถึงกลาง พร้อมสับเปลี่ยนตามสถานการณ์ตลาดเพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่ดี ควรเลือกกองทุนหุ้นหรือสินทรัพย์ทางเลือก ที่กระจายหลากหลายภูมิภาคและธีมอุตสาหกรรม และเป็นกองทุนแนะนำของ K WEALTH ณ ปัจจุบัน ด้วย
    • กระจายหลายภูมิภาค ในกองทุนแนะนำ เช่น หุ้นเวียดนาม K-VIETNAM และหุ้นสหรัฐฯ K-USA-A(A)
    • กระจายหลายธีมอุตสาหกรรม ในกองทุนแนะนำ เช่น หุ้นธุรกิจสุขภาพ K-GHEALTH หุ้นเทคโนโลยี K-GTECH หุ้นโครงสร้างพื้นฐาน K-GINFRA-A(D) หรือหุ้น Thematic ทั่วโลก K-HIT-A(A) เป็นต้น

สำหรับการแบ่งเงินลงทุน ควรแยกเงินส่วนที่ 1 ซึ่งเป็นเงินเก็บระยะยาว ออกจากเงินส่วนที่เน้นลงทุน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ว่าสถานการณ์ลงทุนเป็นอย่างไร เงินส่วนนี้จะยังมั่นคงไม่ผันผวนไปตามตลาด สามารถนำออกมาใช้ได้โดยไม่ต้องกังวลใจ โดยเราแนะนำให้นำเงินส่วนที่ 1 นี้ไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ T+1, T+2 แนะนำ เช่น K-SF-A และ K-FIXEDPLUS-A สำหรับเงินส่วนที่ 2-3 ซึ่งเป็นเงินลงทุนที่เน้นสร้างผลตอบแทน ควรแบ่งสัดส่วนเป็น 70:30 โดย

  • 70% ขึ้นไป แนะนำลงทุนในกองทุนผสม ที่มีการกระจายเงินลงทุนที่ดี บริหารโดยผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญ มีข้อมูลและเครื่องมือในการบริหารเงินลงทุนส่วนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กองทุน K-WPSPEEDUP หรือกองทุน K-WPBALANCED
  • อีก ไม่เกิน 30% สามารถเลือกลงทุนในกองทุนหุ้นแนะนำ เช่น K-VIETNAM, K-USA-A(A), K-HIT-A(A), K-GHEALTH, K-GTECH, K-GINFRA-A(D) เพื่อโอกาสทำกำไรหรือผลตอบแทนในระยะกลาง-สั้น ซึ่งเงินลงทุนส่วนนี้ไม่ควรมีสัดส่วนมากเกินไป เนื่องจากเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน หากไม่มีเวลาติดตามอย่างเพียงพอ อาจสับเปลี่ยนหรือย้ายเงินลงทุนไม่ทันจนเห็นผลขาดทุนได้

ผลตอบแทนของพอร์ตวันนี้จะขาดทุนเป็นสีแดงหรือกำไรเป็นสีเขียว ไม่สำคัญเท่ากับเงินที่ลงทุนอยู่ถูกที่ ลงทุนในกองทุนที่มีแนวโน้มเติบโตหรือไม่ และสัดส่วนที่ลงทุนมีการกระจายตัวอย่างเหมาะสมหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อผลตอบแทนของพอร์ตในอนาคตว่าจะมีโอกาสเปลี่ยนจากแดงเป็นเขียว หรือติดลบแดงหนักกว่าปัจจุบัน


* ข้อมูลผลการดำเนินงานย้อนหลัง ณ 5 มี.ค. 68 ** ข้อมูลจาก หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (Fund Fact Sheet) ณ 31 ม.ค. 68

หมายเหตุ:


  • ระดับความเสี่ยงกองทุน
    • K-WPSPEEDUP, K-WPBALANCED ความเสี่ยงกองทุนระดับ 5
    • K-VIETNAM, K-USA-A(A), K-HIT-A(A), K-GHEALTH, K-GINFRA-A(D) ความเสี่ยงกองทุนระดับ 6
    • K-GTECH ความเสี่ยงกองทุนระดับ 7
  • นโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
    • K-USA-A(A), K-HIT-A(A), K-GHEALTH, K-GINFRA-A(D): ป้องกันความเสี่ยงบางส่วน
    • K-WPBALANCED, K-WPSPEEDUP, K-VIETNAM, K-GTECH: ป้องกันความเสี่ยงตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
  • ระยะเวลาการรับเงินค่าขายคืน (ตัวอย่างเช่น ระยะเวลาการรับเงินค่าขายคืน T+6 หมายถึง จะได้รับเงินค่าขายคืน 6 วันทำการถัดจากวันที่ทำรายการ (T+6) เช่น ขายคืนวันจันทร์ จะได้รับเงินค่าขายคืนวันอังคารของสัปดาห์ถัดไป (กรณีไม่มีวันหยุดอื่น นอกจากเสาร์-อาทิตย์))
    • K-USA-A(A), K-HIT-A(A), K-GHEALTH, K-GINFRA-A(D), K-GTECH: T+4
    • K-VIETNAM: T+5
    • K-WPBALANCED, K-WPSPEEDUP: T+6

คำเตือน

“ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”, “ทำความเข้าเงื่อนไขการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีและผลกระทบหากทำผิดเงื่อนไขก่อนตัดสินใจลงทุน”

ผู้เขียน

K WEALTHราชันย์ ตันติจินดา CFP®

Back to top