-
ธนาคารเป็นกลุ่มที่นอกจากจะใกล้ตัวเราแล้ว ยังเป็นกลุ่มที่บ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ดีและสำคัญกับตลาดหุ้นในภาพรวม มีคุณลักษณะคล้ายกับนักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยงเพราะมีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด และเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่มองหารายรับจากเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ
-
ทาง K WEALTH ชวนนักลงทุนมารู้จักกลุ่มธนาคารให้มากขึ้นผ่านตัวเลขและอัตราส่วนที่สำคัญจากบทวิเคราะห์สรุปผลประกอบการไตรมาส 4/2567 ของทาง K Securities โดยภาพรวมกำไรออกมาสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้เสีย (ECL) ที่ต่ำกว่าคาด และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (Non-Interest Income) ที่เพิ่มขึ้น
-
แนวโน้มปี 2568 ธนาคารเติบโตแบบระมัดระวัง โดยการปล่อยสินเชื่ออาจไม่เติบโตมากนัก ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย และผู้บริหารหลายธนาคารเน้นการควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาระดับกำไร ท่ามกลางความกังวลด้านเศรษฐกิจ
เชื่อว่าหลาย ๆ คงเคยได้ยินผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าผลประกอบการหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของไทยเติบโตโดดเด่นสวนทางเศรษฐกิจไทยที่ซบเซา สำหรับนักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยง การลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารอาจจะเป็นหนึ่งในทางเลือกที่เริ่มต้นและติดตามข้อมูลได้ง่ายเพราะเป็นกลุ่มที่จับต้องได้และใช้บริการในชีวิตประจำวัน แต่โลกของการลงทุนหากไม่เข้าใจธุรกิจ หรือหากไม่ได้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดก็อาจจะทำให้พลาดจังหวะการลงทุนดีๆ ได้ ในบทความนี้จะเป็นการชวนมาทำความรู้จักหุ้นกลุ่มธนาคาร ผ่านการนำบทวิเคราะห์ของ K Securities ที่เป็นสรุปผลประกอบการหุ้นกลุ่มธนาคารในไตรมาส 4/2567 รวมถึงแนวโน้มในปี 2568 นี้ มาเล่าในภาษาที่เข้าใจง่าย
ทำไมถึงควรรู้จักหุ้นกลุ่มธนาคาร
-
เป็นกลุ่มที่ใช้บอกภาวะเศรษฐกิจในประเทศได้ดี: แนวโน้มของกลุ่มธนาคารเป็นตัวบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี เพราะการเติบโต GDP หรือทิศทางดอกเบี้ย ล้วนกระทบต่อผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารทั้งสิ้น เราสามารถใช้ตัวเลข หรืออัตราส่วนที่ทาง K WEALTH จะแนะนำให้รู้จักในบทความนี้ เป็นตัวช่วยในการประเมินสภาพเศรษฐกิจเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุนได้
-
สำคัญต่อตลาดหุ้น: หากนักลงทุนค้นหาคำว่า “SET 100” ซึ่งจะแสดงหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุด 100 อันดับแรก ที่หากราคาหุ้นของกลุ่มกลุ่มดังกล่าวเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญจะมีอิทธิพลต่อตลาดหุ้น (มีอธิบายในบทความ K WEALTH: ช่วงวุ่น ๆ ของตลาดหุ้นไทย) ณ ปัจจุบัน SET100 ประกอบด้วยธนาคารถึง 7 แห่งอยู่ในนั้น (BBL, KBANK, SCB, KTB, TISCO, KKP และ TTB) ดังนั้นหากมีปัจจัยใดมากระทบธนาคารเหล่านี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยในภาพรวมด้วย
-
ธนาคารก็เหมือนนักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยงสูง: ด้วยเหตุที่ธนาคารค่อนข้างมีความเกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจของประเทศค่อนข้างมาก กิจกรรมทางธุรกิจของธนาคารถ้ามีความเสี่ยงสูงจนเกินไป จะกระทบต่อเสถียรภาพของประเทศในภาพรวมได้ จึงมีหน่วยงานหลักคือ ธปท. (ธนาคารแห่งประเทศไทย) คอยกำกับดูแลผ่านการออกกฎระเบียบต่างๆ เช่น กำหนดอัตราส่วนสภาพคล่องขั้นต่ำ (Liquidity Coverage Ratio – LCR) คือสินทรัพย์ที่ขายออกมาเป็นเงินสดได้ทันทีต่อภาระหนี้สินระยะสั้น ให้ไม่ต่ำกว่า 100% พูดเป็นภาษาง่ายๆ คือมีเงินสดพอใช้หนี้ระยะสั้น
-
ความน่าสนใจอยู่ที่เงินปันผล: กลุ่มธนาคาร ก็เหมือนหุ้นกลุ่มอื่นๆ ที่มีผู้ถือหุ้นต้องดูแล ดังนั้นการตอบแทนผู้ถือหุ้นในรูปแบบของการจ่ายเงินปันผลก็เป็นความน่าสนใจอย่างหนึ่งของกลุ่มธนาคาร ด้วยฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งเพราะต้องทำตามกฏเกณฑ์ของ ธปท. จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในปี 2568 นี้ผู้บริหารของหลายธนาคารก็ออกมาพูดในทำนองเดียวกันว่ากำลังพิจารณาเพิ่มอัตราการจ่ายเงินปันผล ทำให้เป็นการสร้างความน่าสนใจให้นักลงทุนที่ต้องการแหล่งรายได้ที่มั่นคง
ผลประกอบการไตรมาส 4/2567 ออกมาดีกว่าคาด
ปัจจัยหนึ่งที่ใช้ดูได้ว่าธนาคารช่วงนี้ดีหรือไม่ดี คือกำไรของธนาคาร โดยกำไรของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 7 แห่งที่ บล. กสิกรไทย หรือ K Securities ทำการวิเคราะห์อยู่ คือ BBL (ธนาคารกรุงเทพ) KTB (ธนาคารกรุงไทย) BAY (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา) SCB (ธนาคารไทยพาณิชย์) TISCO (ธนาคารทิสโก้) KKP (ธนาคารเกียรตินาคินภัทร) และ TTB (ธนาคารทหารไทยธนชาต) โดยไม่นับรวมธนาคารกสิกรไทยที่เป็นบริษัทแม่ของ บล.กสิกรไทย ซึ่งกำไรของธนาคารทั้ง 7 แห่ง ออกมาที่ 47.1 พันลบ. เติบโต 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ดีกว่าที่ตลาดคาด 5% และดีกว่าที่ บล.กสิกรไทยคาด 8% สาเหตุหลักๆ มาจาก
- ค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้เสีย (Expected Credit Loss; ECL) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ธนาคารตั้งเผื่อไว้สำหรับหนี้ที่ไม่สามารถเก็บได้หรือมีแนวโน้มจะเก็บไม่ได้ ที่รายงานออกมาต่ำกว่าที่คาด
- รายได้อื่นที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (Non-Interest Income) ความหมายตรงตัวตามชื่อคือรายได้อื่นๆ ที่ไม่ได้มาจากการที่ธนาคารไปปล่อยสินเชื่อและได้รับดอกเบี้ยซึ่งเป็นรายได้หลักของธนาคาร เช่น รายได้พวกค่าธรรมเนียม กำไรจากการลงทุน ฯลฯ ที่ออกมาสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาด
ในภาพรวมธนาคารส่วนใหญ่ (KKP SCB BBL และ KTB) รายงานผลประกอบการดีกว่าคาด TISCO และ TTB กำไรออกมาตามคาด มีเพียง BAY ที่รายงานกำไรออกมาต่ำกว่าคาด ดังนั้นจะเห็นว่าผลประกอบการในไตรมาส 4/67 ของกลุ่มธนาคารถือว่าออกมาดี ทาง K WEALTH จึงขอต่อยอดจากบทวิเคราะห์นี้ ด้วยการแนะนำให้รู้จักตัวเลขหรืออัตราส่วนสำคัญของกลุ่มธนาคาร ดังนี้
-
สินเชื่อ (Gross Loans): เงินที่ธนาคารนำไปปล่อยกู้ลูกค้ารายย่อยอย่างเราๆ หรือลูกค้าบริษัท/ธุรกิจ แล้วเก็บดอกเบี้ยเป็นค่าตอบแทนการให้ยืมเงิน ซึ่งจะแสดงในงบกำไรขาดทุนเป็นส่วนของรายได้ดอกเบี้ยตรงๆ แปลความหมายง่ายๆ ว่าถ้าตัวเลขนี้เติบโตดี หมายความว่ารายได้ดอกเบี้ยมักจะสูงตามเพราะคนมากู้เงินสูงขึ้น
-
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin – NIM) เป็นตัวบอกความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร ภาษาง่ายๆ คือ สินทรัพย์ที่ธนาคารมี สามารถนำมาสร้างผลตอบแทนหลังจากหักดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมดแล้ว ได้ดีขนาดไหน ดังนั้นอัตราส่วนนี้ ยิ่งสูงยิ่งดี
-
อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio – CI Ratio) คือนำค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าอุปกรณ์ หารด้วยรายได้ของธนาคาร เป็นการบอกว่าธนาคารมีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรดีแค่ไหน ดังนั้นอัตราส่วนนี้ ยิ่งน้อยยิ่งดี
-
หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans – NPL) เรียกสั้นๆ ว่าหนี้เสีย คืออัตราส่วนสินเชื่อที่ธนาคารทวงหนี้ไม่ได้ 3 งวดขึ้นไปต่อสินเชื่อรวม ดังนั้นหากยิ่งสูง ยิ่งไม่ดีแน่ หรือถ้ามีแนวโน้มที่หนี้ที่มีอยู่จะกลายเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น ธนาคารอาจจะต้องกันเงินสำรองเพื่อรองรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่กระทบกำไรสุทธิของธนาคารได้
แนวโน้มปี 2568 ของกลุ่มธนาคารเป็นอย่างไร
อีกหนึ่งส่วนสำคัญที่อยากชวนให้นักลงทุนติดตามคือแนวโน้มในอนาคตข้างหน้าของธนาคาร ว่าผู้บริหารมีมุมมองอย่างไรต่อแนวโน้มการเติบโตของกลุ่ม หากกล่าวโดยสรุปง่ายๆ คือถ้าผู้บริหารธนาคารมองว่าแนวโน้มไม่ดี หมายความว่าเศรษฐกิจไทยดูมีแนวโน้มไม่ค่อยดี โดยปกติแล้ว ผู้บริหารจะให้มุมมองผ่าน 4 ตัวเลขหรืออัตราส่วนที่เราแนะนำให้รู้จัก ดังนี้
-
การเติบโตของสินเชื่อ – แนวโน้มของปี 2568 ธนาคารส่วนใหญ่มีมุมมองระมัดระวังต่อการปล่อยสินเชื่อ จึงไม่น่าเห็นการเติบโตมากนัก การที่สินเชื่อไม่โตมากแปลว่าธนาคารไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจนำเงินไปหมุนต่อ เงินหมุนในระบบมีจำกัด การเติบโตเศรษฐกิจในประเทศก็ไม่น่าตื่นเต้น
-
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ – แนวโน้มของปี 2568 ธนาคารส่วนใหญ่มองว่าน่าจะแคบลงเล็กน้อย ด้วยมุมมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการลดดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปี 2568 เท่ากับปี 2567 ในขณะที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อกับลูกหนี้คุณภาพดี เช่น บริษัทเอกชนขนาดใหญ่หรือสินเชื่อบ้าน ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า แปลว่าอัตราดอกเบี้ยที่เก็บจะลดลงเพราะลูกหนี้คุณภาพดีหรือสินเชื่อแบบมีหลักประกัน มักจะไม่โดนเรียกเก็บดอกเบี้ยสูง แปลว่าความสามารถในการทำกำไรของธนาคารในปี 2568 จะดูไม่น่าสนใจมากนัก
-
แนวโน้มค่าใช้จ่าย – เนื่องจากในส่วนของสินเชื่อที่เป็นตัวสร้างรายได้ดูไม่น่าเติบโตมากนัก ผู้บริหารจึงให้มุมมองที่ค่อนข้างรัดกุมต่อการควบคุมต้นทุนในอีกทางหนึ่ง เพื่อทำให้รักษาระดับกำไรของธนาคารไว้ได้
-
หนี้เสีย – ในภาพรวมอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แม้ผู้บริหารธนาคารยังค่อนข้างกังวลกับสภาพเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบบางกลุ่มที่ความเสี่ยงสูง เช่น กลุ่ม SME สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ หรือสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้มักมีรายได้ไม่แน่นอน นั่นแปลว่าถ้าเศรษฐกิจไม่ดีก็อาจจะไม่มีเงินมาชำระหนี้กับธนาคารได้
บทความนี้ของ K WEALTH ไม่ได้มีเจตนาแนะนำการลงทุนในหุ้นแต่อย่างใด แต่เป็นการนำบทวิเคราะห์ดีๆ มาย่อยให้นักลงทุนอ่านด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายขึ้น แต่สำหรับนักลงทุนที่สนใจอยากทราบว่าบริษัทในเครือธนาคารกสิกรไทย มีมุมมองอย่างไรต่อกลุ่มธนาคารไทย หากอ้างอิงจากบทวิเคราะห์ของ K Securities ซึ่งทางนักวิเคราะห์เพิ่งมีการปรับมุมมองจากเดิมที่เป็น “Negative” หรือเป็น “ลบ” มาเป็น “Neutral” หรือเป็น “กลาง” เนื่องจากเชื่อว่าการบริหารเงินทุนของธนาคารที่มีแนวโน้มดีขึ้นและแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ที่เริ่มควบคุมได้ ทำให้ประมาณการกำไรที่ทำไว้มีโอกาสที่จะถูกปรับลงอีกค่อนข้างจำกัด ส่วนจะเลือกหุ้นเด่นเป็นอะไรนั้น แนะนำติดตามอ่านได้ที่บทวิเคราะห์ของ K Securities
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: บทวิเคราะห์ K Securities วันที่ 25 มกราคม 2568 - Risks remains but DPS to be a cushion