สงครามระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจของโลกอย่าง สหรัฐฯ และ จีน ถ้าบอกว่ามีแค่สงครามการค้า ปัจจุบันคงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง เพราะการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของทั้ง 2 ประเทศในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนภายในประเทศมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด หลายๆ คนรู้จัก และลงทุนในหุ้น “7 นางฟ้า” หรือ “Magnificent 7” ที่เป็นหุ้นยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลกสืบเนื่องมาจาก Trend AI อีกทั้งคนส่วนใหญ่เจ็บกับหุ้นจีนมาเยอะเลยเลือกที่จะมองข้ามตลาดหุ้นจีนในช่วง 3-4 ปีหลัง เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจภายในประเทศถูกกดดันจากภาคอสังหาฯ ที่ซบเซา และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงไม่กลับมา
ถึงแม้ช่วงปลายปี 2024 จนถึงปัจจุบัน นักลงทุนเริ่มมีความหวังมากขึ้นกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ที่ทางการจีนใส่เข้ามา เพื่อทั้งฟื้นฟูความเชื่อมั่นผู้บริโภค และรับมือกับสงครามการค้าที่คาดว่าจะกลับมาปะทุขึ้นอีกครั้งหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามารับตำแหน่งปธน. สหรัฐฯ ในสมัยที่ 2
ซึ่งสะท้อนผ่านตัวเลขตลาดหุ้นจีนที่เริ่มฟื้นตัวกลับมา หนุนโดยหุ้นกลุ่มที่ตลาดให้ชื่อเรียกว่ากลุ่ม “Terrific 10” ประกอบด้วย Alibaba, Tencent, Meituan, Xiaomi, BYD, JD, NetEase, Baidu, Geely และ SMIC หลายๆ ท่านคงสงสัยว่าแล้ว ณ ปัจจุบัน หุ้นกลุ่มไหนดีกว่ากัน วันนี้ทาง K WEALTH จึงขอนำหุ้นเด่นทั้ง 2 กลุ่มนี้มาวัดกันตัวต่อตัวเพื่อหาคำตอบให้ทุกท่านว่า หุ้นกลุ่มไหนเจ๋งกว่ากัน และเพื่อให้เทียบกันได้แบบหมดต่อหมัด เราขอเลือก Terrific 10 ขึ้นมา 7 บริษัท เพื่อมาชนกับ Magnificent 7 แบบตัวต่อตัวกันไปเลย
Match #1: Apple vs Xiaomi – The smartphone battle

มุมมอง K WEALTH: Xiaomi wins!
แม้ว่าในปัจจุบัน Apple จะยังคงเป็นผู้นำในตลาด Smartphone แต่เราเริ่มเห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ออกมามีความน่าตื่นเต้นน้อยลง จะเห็นได้จากการที่จำนวนนักวิเคราะห์ที่มีการปรับคำแนะนำลงจาก ซื้อ เป็น ถือ มากขึ้น ประกอบกับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างสูงทำให้ระดับ Valuation ปัจจุบันค่อนข้างตึงตัว (PE 35 เท่า) เมื่อเทียบกับ Xiaomi ที่เป็นผู้เล่นที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ สะท้อนผ่านส่วนแบ่งตลาดที่ขึ้นมาเป็นอันดับ 3 อย่างรวดเร็ว แม้ว่าราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างเยอะเช่นเดียวกันกับ Apple แต่ Valuation ยังอยู่ในระดับที่ถูกกว่าเล็กน้อย (PE 34.6 เท่า) ในขณะที่แนวโน้มการเติบโตกำไรปีนี้ยังโดดเด่น เราจึงเลือก Xiaomi ให้เป็นผู้ชนะ ในศึกนี้
Match #2: Microsoft vs Alibaba – Battle on the “Cloud”
มุมมอง K WEALTH: Microsoft wins!
อาจจะเปรียบเทียบกันลำบากแต่ที่หยิบมาเทียบกันเพราะว่าทั้ง 2 บริษัทมีธุรกิจ Cloud [Microsoft Azure และ Alibaba Cloud] ซึ่งถ้าเทียบกันแล้วทาง Microsoft Azure เหนือกว่า Alibaba Cloud อิงจาก
-
ส่วนแบ่งการตลาด ณ ก.พ. 68 Microsoft Azure อยู่ที่ 19.3% ของตลาด Infrastructure as a Services ในขณะที่ Alibaba Cloud อยู่ที่ 10.7% และ
-
ขอบข่ายการให้บริการที่กว้างกว่า ถ้าวัดกันในเชิงปัจจัยพื้นฐาน ทั้ง 2 บริษัทเป็นผู้นำใน scope ของตัวเอง แต่ถ้าวัดกันที่ธุรกิจ Cloud เรามองว่า Microsoft ทำได้ดีกว่า ประกอบกับในแง่การลงทุน เราเริ่มเห็นนักวิเคราะห์เริ่มมีการปรับคำแนะนำของ Alibaba ลงมาเป็นขายในช่วงเดือน ก.พ. 68 ที่ผ่านมา อาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาแรงตั้งแต่ช่วงปลายปีอาจจะขึ้นมารับข่าวดีไปหมดแล้วหรือไม่
Match #3: Amazon.com vs JD.com – Welcome to .com war!

มุมมอง K WEALTH: Amazon wins!
เราเลือก Amazon เป็นผู้ชนะเหนือ JD.com ด้วยภาพใหญ่ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน Amazon.com เป็น e-Commerce platform ที่เจาะตลาดผู้ใช้งานทั่วโลกในขณะที่ JD.com เจาะตลาดจีนเป็นหลัก เราจึงมองว่า Amazon.com เหนือกว่าบนฐานลูกค้าที่กว้างกว่าและเป็นการกระจายความเสี่ยงได้ดี ในขณะที่ JD.com มุ่งเน้นแค่ตลาดจีนซึ่งอย่างที่ทุกท่านทราบว่าปัญหาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจจีนในภาพรวม ด้วยความที่เป็น e-Commerce platform ความสามารถในการใช้จ่ายหรือความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจึงเป็นตัววัดที่สำคัญในมุมมองของเรา ในมุมมองปัจจัยพื้นฐาน นักวิเคราะห์บางส่วนแนะนำขายหุ้น JD.com ในช่วงที่ผ่านมาบนแนวโน้มที่ท้าทายของเศรษฐกิจจีน
Match #4: Nvidia vs SMIC – The battlefield of AI chip leaders

มุมมอง K WEALTH: Nvidia wins!
นาทีนี้คงหาคนมาล้ม Nvidia ยาก ในฐานะผู้นำตลาดที่แม้จะโตมาเยอะแล้วก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดโต ล่าสุดกำไรไตรมาส 4/2567 ออกมาดีกว่านักวิเคราะห์คาด และยังมีมุมมองเชิงบวกกับความต้องการของ Chip AI ใหม่อย่าง Blackwell GPU ในขณะที่ SMIC ที่เป็นผู้ผลิต Chip รายใหญ่ที่สุดของจีน แม้ว่ารายได้และอัตรากำไรจะทำได้ดีกว่าที่ตลาดคาด แต่กลับรายงานกำไรไตรมาส 4/2567 ลดลงเกือบ 40% ต่ำกว่านักวิเคราะห์คาด และผู้บริหารแสดงความกังวลต่อแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568 จากคำสั่งซื้อที่น่าจะถูกดึงมากองที่ช่วงครึ่งแรกของปีค่อนข้างมาก และการแข่งขันที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้น ทำให้เลือกไม่ยากสำหรับคู่นี้
Match #5: Alphabet vs Baidu – Who is the best search engines?
มุมมอง K WEALTH: เสมอกัน
ต้องบอกว่าดีกันคนละแบบ Google (Alphabet) ทุกคนรู้จักกันดีอยู่แล้วในฐานะผู้นำตลาด Search Engine ของโลกในขณะที่ Baidu เป็นเจ้าตลาด Search Engine ของคนจีน และเน้นตลาดจีนเป็นหลัก เรียกว่าอยู่กันคนละตลาดแต่ทำได้ดีที่สุดกันทั้งคู่ ด้วยความที่อยู่กันคนละตลาดจึงอาจจะเปรียบเทียบในเชิง Valuation ว่าบริษัทไหนถูกหรือแพงกว่ากันได้ค่อนข้างยาก แต่กำไรมีการเติบโตในระดับที่ใกล้เคียงกัน และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีมุมมองเป็นบวกต่อทั้ง 2 บริษัท เห็นได้จากคำแนะนำหุ้นที่ไม่มีนักวิเคราะห์แนะนำขาย ในช่วงที่ผ่านมา เราจึงแนะนำว่าขึ้นอยู่ที่ความชอบของนักลงทุน ว่าอยากลงทุนในระดับ Global Scale หรือระดับ Local Scale
Match #6: Tesla vs BYD – EV Wars!

มุมมอง K WEALTH: BYD wins!
ศึกนี้ BYD เป็นผู้ชนะอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งในเชิงของส่วนแบ่งตลาดที่ก้าวขึ้นมาแซง Tesla ได้สำเร็จในปีที่ผ่านมา และในเชิงปัจจัยพื้นฐานที่ valuation ถูกกว่าคู่แข่งอย่าง Tesla พอสมควร ประกอบกับนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการเติบโตของบริษัท สวนทางกับ Tesla ที่นักวิเคราะห์บางส่วนมีการแนะนำขายหุ้น Tesla มาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 เดือนหลัง เนื่องจากมองว่าระดับราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขาย PE ที่ 113 เท่า ถือว่าค่อนข้างแพงมากเมื่อเทียบกับแนวโน้มการเติบโตที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของบริษัท
Match #7: Meta vs Tencent – The battle between Social Media Giants

มุมมอง K WEALTH: เสมอกัน
คู่นี้ต้องบอกว่ากินกันไม่ลง ทั้ง 2 บริษัท เป็นบริษัท Social Media Platform ที่ยังคงได้รับความนิยมสูงจากผู้ใช้งาน ฝั่ง Meta (Facebook) มีผู้ใช้งานรายเดือนเฉลี่ยสูงถึง 2.9 พันล้านคน แถมยังมี Platform อื่นๆ ที่มีผู้ใช้งานทั่วโลกสนับสนุนการเติบโต เช่น Whatsapp หรือ Instagram ในขณะที่ Tencent เป็นเจ้าตลาด Social Media อย่าง WeChat ที่เป็น Chat Application อันดับ 1 ของจีนด้วยผู้ใช้งานรายเดือนเฉลี่ยกว่า 1.2 พันล้านคน ในแง่ของราคาหุ้นปัจจุบันทั้ง 2 บริษัทซื้อขายในระดับที่ใกล้เคียงกันที่ระดับ 26-30 เท่า และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อทั้ง 2 บริษัท อยู่ที่ความชอบของนักลงทุนแต่ละท่านแล้วว่าจะอยากเป็นเจ้าของเจ้าตลาด social media platform ของโลก หรือผู้นำตลาด social media platform ของจีน
สรุป
หากเปรียบเทียบเป็นการชกมวย เราสามารถสรุปผลการแข่งขันระหว่าง Magnificent 7 กับ Terrific 7 ได้ว่า หุ้นในกลุ่ม Magnificent 7 ชนะคะแนน Terrific 7 ไปแบบสูสี (ชนะ 3 เสมอ 2 แพ้ 2) แปลว่าในปัจจุบัน หุ้นในกลุ่ม 7 นางฟ้า ซึ่งเป็นตัวแทนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในภาพรวม แม้ว่าราคาจะปรับขึ้นมาค่อนข้างเยอะแล้ว ก็ยังมีความน่าสนใจในการเข้าลงทุนได้ สอดคล้องกับมุมมองของทาง K WEALTH ที่มีมุมมองบวกเล็กน้อยต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ นักลงทุนยังคงสามารถหาจังหวะสะสมกองทุน K-USA-A(A) ซึ่งเป็นกองทุนแนะนำของเราเข้า Satellite Port ได้ แต่ควรระมัดระวังให้สัดส่วนการลงทุนในสหรัฐฯ ไม่กระจุกตัวจนเกินไป เช่น ถ้าเกิน 30% ของพอร์ตแล้ว ก็แนะนำให้ขายทำกำไรมาเติมในส่วนของ Core Portfolio
อย่างไรก็ดี การที่หุ้น Terrific 7 แพ้ในมุมมองของเรา ไม่ได้หมายความว่าหุ้นกลุ่มนี้ไม่มีศักยภาพ หากนักลงทุนอ่านแล้วมีความสนใจอยากลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ สามารถเริ่มต้นศึกษากองทุนหุ้นจีนอย่าง K-CHINA-A(A)ที่มีลงทุนในหุ้น Terrific 7 อย่าง Alibaba, Tencent, หรือ JD.com เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: YahooFinance