ทำไมต้องลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ หุ้นสหรัฐฯมีดีที่อะไร ใครถึงน่าสนใจลงทุนในระยะยาว

3 ปัจจัย ที่ยังทำให้ หุ้นสหรัฐฯ โตเหนือใคร

ทำไมต้องลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ หุ้นสหรัฐฯมีดีที่อะไร ใครถึงน่าสนใจลงทุนในระยะยาว

กดฟัง
หยุด



  • ดัชนีหุ้นหลักของสหรัฐฯ เช่น S&P500 และ NASDAQ ยังให้ผลตอบแทนที่ดี ส่วนแนวโน้มในปีนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ยังมีความน่าสนใจ ถึงแม้ในระยะสั้น จะถูกกดดันจากเรื่องการใช้ภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) แต่ก็ยังมีโอกาสเติบโตในระยะยาวได้ สำหรับนักลงทุนระยะยาว ถือเป็นจังหวะในการเข้าลงทุนเมื่อตลาดย่อตัว
  • 3 เหตุผล ที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดอื่นในระยะยาว คือ 1.สถิติผลตอบแทนย้อนหลังที่ดีกว่า ในขณะที่มาตรการ Tariff เป็นเรื่องชั่วคราว เพื่อต่อรองให้สหรัฐฯได้ประโยชน์ โอกาสที่หุ้นสหรัฐฯจะสร้างผลตอบแทนที่ดีในปีนี้ต่อ จะเพิ่มมากขึ้น 2.เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และ 3.มีทางเลือกให้ลงทุนหลากหลาย โดยมีจำนวนหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ราว 5,000 ตัว
  • เลือกลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ได้ โดยลงทุนโดยตรงในหุ้นสหรัฐฯ ทำได้ด้วยการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น Offshore หรือ ลงทุนโดยอ้อมผ่านกองทุนรวม ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหลักในต่างประเทศ หรือ กองทุนหุ้นในต่างประเทศ

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ แบ่งเป็น 2 ตลาด คือ New York Stock Exchange (NYSE) กับ NASDAQ ซึ่งเป็นตลาดหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าตลาดรวมกันประมาณ 40 ล้านล้านดอลลาร์ฯ* ในขณะเดียวกันมูลค่าทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย สหรัฐฯ จึงถือว่ามีความสำคัญในฐานะผู้นำของโลก ซึ่งในระยะยาว ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังสนใจและมีโอกาสสร้างกำไรได้มากกว่าภูมิภาคอื่น K WEALTH สรุปเหตุผลมาให้แล้วในบทความนี้

*ที่มา บล.หยวนต้า ณ วันที่ 31 ม.ค. 68


เกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เนื่องจากนโยบายการควบคุมเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ทำให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาตลอด ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้น เพราะดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้สูงขึ้นจนน่าสนใจ ในขณะที่ความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในหุ้น ทำให้ตลาดหุ้นได้รับความสนใจน้อยลง อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 2566-2567 ผลตอบแทนในดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น S&P500 หรือ NASDAQ ก็ยังอยู่ในระดับมากกว่า 10% ต่อปี ถือว่าไม่ได้แย่ จนกระทั่ง ช่วงปลายปี 2567 ที่ Fed เริ่มทยอยลดอัตราดอกเบี้ย เป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในหุ้นมากขึ้น ซึ่งทำให้ตลาดยังเป็นลักษณะปรับตัวออกข้าง (Side Way) อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทางการเมือง โดยเฉพาะนโยบายการขึ้นภาษี (Tariff) โดยประธานาธิบดี ทรัมป์ ที่จะเริ่มในวันที่ 2 เม.ย. 68 ก็ยังเป็นปัจจัยลบที่กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกช่วงต้นปี 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยระยะสั้น เพื่อเจรจาต่อรองกับคู่ค้าที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯยังน่าสนใจในระยะยาว หากมีการปรับตัวลดลง เป็นจังหวะในการทยอยสะสมหุ้นสหรัฐฯ


3 เหตุผลที่ลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯในระยะยาว มีโอกาสได้กำไรมากกว่าตลาดอื่น

  1. ผลตอบแทนย้อนหลังดีในระยะยาว
    • กำไรเติบโตโดดเด่นเทียบกับตลาดอื่น : อ้างอิงข้อมูลจาก Financial Times จะเห็นว่า กำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ (ดัชนี S&P500) เติบโต 290% นับตั้งแต่ปี 2010-2024 โดดเด่นกว่าคู่แข่งอย่างยุโรป ซึ่งกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (ดัชนี MSCI Europe) เติบโตเพียง 60% ในช่วงเวลาเดียวกัน
    • ผลตอบแทนย้อนหลังของหุ้นสหรัฐฯ ในระยะยาวสูงกว่าตลาดอื่น : ผลตอบแทนรวมของตัวแทนหุ้นสหรัฐ (ดัชนี MSCI USA) ดีกว่าเมื่อเทียบกับ ผลตอบแทนรวมของตัวแทนหุ้นทั่วโลก ไม่รวมหุ้นสหรัฐฯ (ดัชนี MSCI World Ex USA) ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผลตอบแทนย้อนหลังดี เนื่องจากผลการดำเนินงานของหุ้นเทคโนโลยี เติบโตได้ดี ตามรูป

    รูป 1 : แสดงผลตอบแทนรวมของดัชนี MSCI USA เทียบกับ ผลตอบแทนรวมดัชนี MSCI World ex US

    ที่มา : https://www.goldenstatemint.com/ , Bloomberg (As of Nov. 2024), UBS Asset Management


    ปัจจัยกดดันของหุ้นสหรัฐฯ คือ ผลการดำเนินงานของหุ้นเทคโนโลยี จะเติบโตแบบชะลอตัว ทำให้ไม่มีปัจจัยบวกต่อหุ้นสหรัฐฯ อีกปัจจัย คือ มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ ที่จะเริ่มในวันที่ 2 เม.ย. จะยืดเยื้อหรือไม่ หากไม่ยืดเยื้อ จะทำให้หุ้นสหรัฐฯที่เริ่มฟื้นตัว กลับมาได้ ถือเป็นโอกาสทยอยสะสมเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้


  2. เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี
  3. หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตสูงและยังเป็นกลุ่มที่อยู่ในเทรนด์การลงทุนระยะข้างหน้า ส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งจะเห็นได้จาก


    • การเติบโตกำไรของบริษัทเทคโนโลยีเป็นกลุ่มนำในตลาดหุ้นสหรัฐฯ : บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในกลุ่ม 7 นางฟ้า (Mag7) เช่น Apple, Microsoft, และ Alphabet มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดหุ้นสหรัฐฯ และมีแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่โดดเด่น (สีน้ำเงิน) เทียบกับกำไรของดัชนีตัวแทนหุ้นสหรัฐฯ ไม่รวมหุ้น 7 นางฟ้า (สีเขียว) ซึ่งเติบโตในระดับใกล้เคียงกับกำไรของดัชนีตัวแทนหุ้นยุโรป (สีฟ้า) ดังรูปที่ 2

    รูปที่ 2 แสดงคาดการณ์กำไร 12 เดือนข้างหน้า ในรูปแบบดัชนี ของหุ้น 7 นางฟ้า เทียบกับ ตัวแทนหุ้นสหรัฐฯ ไม่รวมหุ้น 7 นางฟ้า และ ตัวแทนหุ้นยุโรป ไม่รวมหุ้น U.K.

    ที่มา : https://www.goldenstatemint.com/ และ Schroders


  4. ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักของโลก
    • มีโอกาสกระจายการลงทุนหุ้นหลากหลายอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มักจะเป็นศูนย์รวมของบริษัทจดทะเบียนจากหลากหลายอุตสาหกรรม เนื่องจากมีจำนวนหุ้น มากกว่า 5,000** ตัว เทียบกับ ตลาดหุ้นไทย มีประมาณ 700** ตัว ทำให้นักลงทุนมีทางเลือกการลงทุนที่มากขึ้น ถึงแม้จะหุ้นสหรัฐฯกลุ่มเทคโนโลยีราคาจะขึ้นมาสูงแล้ว และการเติบโตของกำไรเริ่มชะลอลง แต่ก็ยังมีหุ้นกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นโอกาสลงทุนได้ เช่น กลุ่มยานยนต์ ที่จะได้ประโยชน์จากมาตรการ Tariff หรือ กลุ่มธุรกิจสุขภาพ จะเป็นหุ้นกลุ่มที่มีความผันผวนน้อยกว่า เนื่องจากผลการดำเนินงานเกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่ ที่คนต้องดำรงชีวิตด้วย เป็นต้นt

    **ที่มา : www.setinvestnow.com


สนใจลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ทำได้อย่างไร

หุ้นสหรัฐฯ มีช่องทางการลงทุนหลากหลาย เช่น การลงทุนในตลาดหุ้นโดยตรง การลงทุนในตลาดหุ้นโดยอ้อม (ผ่านกองทุนหลัก / กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ) เป็นต้น แล้วถ้าสนใจลงทุนจะต้องทำอย่างไรบ้าง


  • ลงทุนโดยตรงในหุ้นสหรัฐฯ : จะต้องเป็นบัญชีหุ้น Offshore (บัญชีหุ้นต่างประเทศ) กับ บริษัทหลักทรัพย์ (Broker)
    • ข้อดี : เลือกลงทุนหุ้นที่สนใจหรือชอบได้โดยตรง
    • ข้อควรระวัง : ภาษีจากกำไร /เงินปันผลจากการลงทุนในต่างประเทศ เมื่อนำเงินได้กลับเข้าประเทศไทย

  • ลงทุนโดยอ้อม : แบ่งเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมหลักในต่างประเทศ พูดง่ายๆ ไปซื้อกองทุนในต่างประเทศโดยตรง หรือ การลงทุนกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ ที่จัดตั้งกองทุนในไทย เช่น กองทุน K-USA ที่เน้นลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ กองทุน K-GHEALTH ที่เน้นลงทุนในหุ้นธุรกิจสุขภาพ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นต้น
    • ข้อดี : มีมืออาชีพค่อยดูแลการเลือกสินทรัพย์ที่จะลงทุน ไม่ว่าจะลงทุนกองทุนหลักโดยตรง หรือ ผ่านกองทุนต่างประเทศ เหมาะกับนักลงทุนที่ไม่มีเวลาติดตามตลาด
    • ข้อควรระวัง : ไม่ได้ตัดสินใจเลือกสินทรัพย์/หุ้น ด้วยตัวเอง



คำเตือน


ผู้เขียน

K WEALTHสุนิติ ถนัดวณิชย์ CFP®

Back to top