ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงหนักจากนโยบายการขึ้นภาษีของทรัมป์ JPMorgan คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยถึง 60% หากนโยบายนี้ถูกนำมาใช้จริง ซึ่งยังคงต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป

ประเด็นร้อน: ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงแรง ตอบรับการขึ้นภาษีของทรัมป์

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงหนักจากนโยบายการขึ้นภาษีของทรัมป์ JPMorgan คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยถึง 60% หากนโยบายนี้ถูกนำมาใช้จริง ซึ่งยังคงต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป

กดฟัง
หยุด
  • ตลาดหุ้นสหรัฐร่วงแรง เนื่องจากนักลงทุนกังวลต่อนโยบายมาตรการขึ้นภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดย JPMorgan คาดว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ถึง 60% หากมีการใช้มาตรการภาษีอย่างจริงจัง
  • สงครามการค้าในครั้งนี้มีความรุนแรงและครอบคลุมมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ทำให้ตลาดการลงทุนมีความผันผวนในระยะสั้น K WEALTH แนะนำให้ชะลอการลงทุน และติดตามสถานการณ์พร้อมกับความคืบหน้าต่อไป

Market Update

3 เม.ย. 68 ตลาดการเงินทั่วโลกเผชิญแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าโดยจะเก็บภาษีขั้นต่ำ 10% สำหรับสินค้าทุกชนิดที่ส่งออกมายังสหรัฐฯ และเก็บภาษีเพิ่มเติมสูงถึง 34% สำหรับจีน และ 32% สำหรับไต้หวัน นักลงทุนทั่วโลกจึงกังวลต่อความไม่แน่นอนของนโยบาย และความเสี่ยงต่อสภาพเศรษฐกิจ


ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 4.84% ขณะที่ Nasdaq ดิ่ง 5.97% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ช่วง COVID-19 ขณะเดียวกัน Russell 2000 ร่วงแรง 6.6% เช่นกัน


มีรายงานว่า JPMorgan ปรับเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ขึ้นเป็น 60% จากเดิม 40% โดยชี้ว่าการขึ้นภาษีครั้งนี้เป็น “ตัวเร่ง” ที่สำคัญ ไม่ใช่เพียงเหตุการณ์หนึ่ง แต่คือจุดเริ่มต้นของวิกฤตเชิงโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจโลก


ดัชนีและกองทุนที่เกี่ยวข้อง ที่เปลี่ยนแปลงเทียบกับวันก่อนหน้า (ข้อมูลวันที่ 3 เมษายน 2568)

  • Dow Jones -3.98%
  • S&P 500 -4.84%
  • Nasdaq Composite -5.97%
  • Russell 2000 -6.6%

มุมมองตลาด

  • การเปิดศึกทางการค้าครั้งใหม่นี้มีความรุนแรงและครอบคลุมมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้ในระยะสั้นตลาดการลงทุนมีความผันผวนสูง นักลงทุนควรติดตามการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะถ้อยแถลงของประธาน Jerome Powell ในปลายสัปดาห์นี้ ซึ่งอาจส่งสัญญาณเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการใช้มาตรการการคลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ การเจรจาต่อรองทางการค้าระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับประเทศคู่ค้าทั้งในเอเชียและยุโรป ว่าจะมีการผ่อนปรนหรือยกระดับความตึงเครียดเพิ่มเติม ซึ่งอาจสร้างความผันผวนต่อเนื่องให้กับตลาดในช่วงกลางปีนี้

คำแนะนำ

สำหรับนักลงทุนที่ถือกองทุนหุ้นสหรัฐฯ เช่น K-USA, K-US500X, K-USXNDQ


  • หากมีสัดส่วนมากกว่า 30% แนะนำขายเพื่อลดความผันผวนของพอร์ต โดยนำเงินที่ขายพักไว้ในกองทุน K-SFPLUS ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ความเสี่ยงต่ำ สภาพคล่องสูง ที่พร้อมสับเปลี่ยนเข้ากองทุนหุ้นอีกครั้งเมื่อสถานการณ์ชัดเจนขึ้น
  • หากมีสัดส่วนน้อยกว่า 30% แนะนำถือเพื่อรอติดตามความคืบหน้าของสงครามการค้า

สำหรับผู้ที่มีเงินต้องการลงทุนเพิ่มในจังหวะที่ตลาดปรับตัวลง หากเป็นกองทุนหุ้นรายภูมิภาคหรือรายประเทศ K WEALTH แนะนำให้ชะลอการลงทุนและติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าของสงครามการค้าในช่วงเวลาต่อจากนี้ โดยสามารถ


  • พักเงิน 3-6 เดือน ในกองทุน K-SFPLUS ที่เป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น หรือหากต้องการพักเงินนานขึ้น เช่น 1-1.5 ปี แนะนำถือเงินลงทุนในกองทุน K-FIXED-A K-FIXEDPLUS-A ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะยาว ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ และได้รับปัจจัยหนุนจากดอกเบี้ยขาลง
  • หรือหากยังเห็นเป็นโอกาสการลงทุน แนะนำให้กระจายการลงทุนผ่านกองทุนกลุ่ม K-WealthPLUS Series เช่น K-WPBALANCED ที่มีการลงทุนในหุ้นประมาณ 30%ของเงินลงทุน หรือ K-WPULTIMATE ที่มีการลงทุนในหุ้นที่หลากหลายทั่วโลกประมาณ 85%ของเงินลงทุน

หมายเหตุ:
  • ระดับความเสี่ยงกองทุน
    • K-SFPLUS, K-FIXEDPLUS-A, K-FIXED-A ความเสี่ยงกองทุนระดับ 4
    • K-WPBALANCED ความเสี่ยงกองทุนระดับ 5
    • K-USA-A(A), K-USA-A(D), K-US500X-A(A), K-USXNDQ-A(A), K-USXNDQ-A(D), K-WPULTIMATE ความเสี่ยงกองทุนระดับ 6
  • นโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
    • K-FIXED-A: ไม่มีการลงทุนต่างประเทศ
    • K-SFPLUS: ป้องกันความเสี่ยง100%ของเงินลงทุนต่างประเทศ
    • K-FIXEDPLUS-A: ป้องกันความเสี่ยง มากกว่า 90%ของเงินลงทุนต่างประเทศ
    • K-USA-A(A) K-USA-A(D): ป้องกันความเสี่ยงบางส่วน
    • K-WPBALANCED, K-US500X-A(A), K-USXNDQ-A(A), K-USXNDQ-A(D), K-WPULTIMATE: ป้องกันความเสี่ยงตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
  • ระยะเวลาการรับเงินค่าขายคืน (ตัวอย่างเช่น ระยะเวลาการรับเงินค่าขายคืน T+6 หมายถึง จะได้รับเงินค่าขายคืน 6 วันทำการถัดจากวันที่ทำรายการ (T+6) เช่น ขายคืนวันจันทร์ จะได้รับเงินค่าขายคืนวันอังคารของสัปดาห์ถัดไป (กรณีไม่มีวันหยุดอื่น นอกจากเสาร์-อาทิตย์))
    • K-SFPLUS: T+1
    • K-FIXEDPLUS-A, K-FIXED-A: T+2
    • K-US500X-A(A), K-USXNDQ-A(A), K-USXNDQ-A(D): T+3
    • K-USA-A(A) K-USA-A(D): T+4
    • K-WPBALANCED, K-WPULTIMATE: T+6