ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน ที่ทรัมป์ประกาศขึ้นกำแพงภาษีสินค้าจีนและทั่วโลก ปรากฎมีจีนชาติเดียวที่ยืนหยัดเด็ดเดี่ยวขึ้นแพงภาษีตอบโต้สหรัฐฯ โต้กันไปโต้กันมาจนระดับกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ต่อสินค้าจีนขึ้นมาที่ร้อยละ 145 ระดับกำแพงภาษีของจีนต่อสินค้าสหรัฐฯ ขึ้นมาที่ร้อยละ 125 ขณะที่ทรัมป์เริ่มต้นการขึ้นกำแพงภาษีทั่วโลกที่ร้อยละ 10 และหยุดการขึ้นกำแพงภาษีที่เหลือกับทั่วโลกไป 90 วัน
ทรัมป์กำลังเล่นกับไฟ รอบนี้ดูเหมือนจีนตั้งใจมาเล่นเกมลากยาว ทำสงครามยืดเยื้อ จีนมองว่าสามารถทนในเกมนี้ได้ยาวกว่าสหรัฐฯ และอาจเจาะฟองสบู่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้
สหรัฐฯ ตั้งอัตราภาษีต่อสินค้าจีนร้อยละ 145 ทำให้สินค้าจีนไม่สามารถขายในสหรัฐฯ ได้ แต่จีนก็คงพยายามระบายสินค้าเหล่านี้ภายในประเทศ และพยายามส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนาทดแทน คงพอจะดูดซับได้ส่วนหนึ่ง จีนคงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นเจ็บนั้นเตรียมใจพร้อมเจ็บ แต่รัฐบาลจีนบอกฟ้าไม่ถล่มแน่นอน
ที่สำคัญ ฟองสบู่ในตลาดจีนได้ถูกเจาะมาก่อนหน้านี้แล้ว ตลาดจีนในช่วงก่อนหน้านี้ ได้ปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก จนนักวิเคราะห์หลายคนมองว่าเริ่มอยู่ในระดับราคาที่ถูก แม้สถานการณ์เศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน แต่รัฐบาลจีนเตรียมกระสุนไว้พร้อมที่กระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจและตลาดทุน
ยิ่งแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจีนสูงขึ้นจากสงครามการค้า รัฐบาลจีนยิ่งต้องออกแรงกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อตลาด ในการประชุมสองสภาฯ เมื่อเดือนมีนาคม รัฐบาลจีนได้ประกาศตัวเลขขาดดุลงบประมาณสูงถึงร้อยละ 4 ของ GDP ซึ่งป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 30 ปี สะท้อนความมุ่งมั่นในการออกแรงกระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกในปีนี้
รอบนี้สหรัฐฯ ประเมินผิดพลาด ทีมงานของทรัมป์ชอบให้สัมภาษณ์ว่า คนซื้อมีอำนาจต่อรอง ส่วนคนขายไม่มีอำนาจต่อรองหรอก เพราะไม่ขายให้สหรัฐฯ แล้วจะทำอย่างไร จะปิดโรงงาน จะให้คนตกงาน จะให้สหรัฐฯ หันไปสั่งเจ้าใหม่ จีนก็จะเสียลูกค้าไปตลอดกาล แล้วของส่วนใหญ่ที่จีนผลิต คนอื่นก็ทำแทนได้ ไม่ได้ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงอะไร แม้กระทั่งแร่แรร์เอิร์ธที่บอกว่าจีนผลิตได้มากกว่าร้อยละ 90 นั้น คนอื่นจะผลิตก็ทำได้ ไม่ใช่เรื่องยากเย็น
แต่คนขายมีอำนาจต่อรองแน่ถ้าคนขายพร้อมยอมเจ็บไปด้วยกันกับคนซื้อ สินค้าจากจีนที่ขายในสหรัฐฯ นั้น ไม่ได้หาแหล่งทดแทนได้ทันทีหรือได้ง่ายดาย ดังนั้น จะเกิดช็อคแน่นอนต่อผู้บริโภคสหรัฐฯ สินค้าขาดแคลน ราคาข้าวของสูงขึ้น แรร์เอิร์ธที่บอกว่าจริงๆ ใครก็ผลิตได้ แต่ก็ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะลงทุนตั้งโรงงานและดำเนินการผลิต ระยะสั้นจะวิบัติหายนะแน่สำหรับสหรัฐฯ
ฟองสบู่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะแตกดังโพละหรือไม่กับนโยบายของทรัมป์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้และสร้างความผันผวนให้ตลาดเป็นอย่างมาก นี่ยังไม่นับตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปั่นป่วนอีก แต่ทั้งหมดนี้ ไว้รอตลาดสินค้าราคาถูกในวอลมาร์ทปั่นป่วนก่อน นั่นแหละจะวุ่นวายของจริง
นอกจาก Trade War แล้ว Tech War ระหว่างสหรัฐฯ และจีนก็ยังคงสู้กันต่อเนื่องไม่ต่างจากในสมัยรัฐบาลไบเดน เพราะการแข่งขันเทคโนโลยีกับจีนเป็นนโยบายร่วมของทั้งสองพรรคในสหรัฐฯ แต่ท่ามกลางความเสี่ยงจาก Tech War ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของจีน เราก็ได้เห็นภาพความสำเร็จที่จีนแหวกวงล้อมได้อย่างมีชั้นเชิง
ตัวอย่างที่ทุกคนจับตาคือ Deep Seek ซึ่งเป็น AI ของจีนที่ล้มสมมติฐานเดิมๆ ของสหรัฐฯ ว่าบริษัทต้องมีทุนหนาและชิปไฮเทคที่สุดเท่านั้นจึงจะพัฒนา AI ที่ดีที่สุดได้ เพราะ Deep Seek ของจีนสามารถทำ AI ที่ฉลาดด้วยต้นทุนที่ต่ำและชิปที่ไม่ต้องมีพลังการประมวลผลที่สูงที่สุด
ผลจากการแหวกวงล้อมของจีนในเรื่องเทคโนโลยี จึงส่งผลลบต่อหุ้นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็ทำให้ความสนใจมาจับที่หุ้นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีน ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีมา ผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีจีนยักษ์ใหญ่กลุ่ม Terrific 10 มีผลตอบแทนเหนือกว่าหุ้นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สหรัฐฯ กลุ่ม Magnificent 7 อย่างหักปากกาเซียน
ดังนั้น ภายใต้ Trade และ Tech War ที่ร้อนแรงจากฝั่งสหรัฐฯ ต่อจีนและโลก จึงไม่ได้มีเพียงแค่ความเสี่ยงและความกดดันขาลงอย่างเดียว แต่ยังคงมีโอกาสการลงทุนสำหรับคนที่จับจังหวะและจับตัวเลือกบริษัทเทคโนโลยีจีนที่มีศักยภาพและมี valuation เหมาะสมได้ท่ามกลางความผันผวนของทรัมป์และจังหวะการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนครับ