ในช่วงที่เศรษฐกิจมีความผันผวน การลงทุนเพื่อสร้างรายได้สม่ำเสมอเป็นสิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจมากขึ้น เงินปันผลจึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องการ K WEALTH จึงได้รวบรวมข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเงินปันผล เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจวิธีการสร้างรายได้แบบ Passive จากการลงทุน
เงินปันผล คืออะไร?
เงินปันผล (Dividend) คือ ส่วนแบ่งกำไรที่บริษัทจดทะเบียนจ่ายคืนให้กับผู้ถือหุ้น หลังจากที่บริษัทมีผลประกอบการที่ดีและมีกำไรสุทธิ โดยคณะกรรมการบริษัทจะเป็นผู้พิจารณาและขอมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้จ่ายเงินปันผล ซึ่งถือเป็นการตอบแทนผู้ถือหุ้นที่ได้นำเงินมาลงทุนในบริษัท
Dividend Income หรือรายได้จากเงินปันผล เป็นรายได้ที่ผู้ลงทุนได้รับโดยไม่ต้องขายหุ้นที่ถืออยู่ ซึ่งเป็นรูปแบบการลงทุนที่ช่วยสร้างกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอให้กับนักลงทุน
เงินปันผลมีความสำคัญสำหรับนักลงทุนมือใหม่เพราะช่วยสร้างรายได้ระหว่างการลงทุนโดยไม่ต้องรอขายหุ้น อีกทั้งยังสามารถคาดการณ์กระแสเงินสดได้ล่วงหน้า ช่วยในการวางแผนการเงิน และลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้น เหมาะกับผู้ที่ต้องการใช้เงินลงทุนสร้างรายได้เสริมหรือรายได้หลังเกษียณ
ประเภทของเงินปันผล
เงินปันผลที่บริษัทจดทะเบียนจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้
เงินปันผลเป็นเงินสด (Cash Dividends) บริษัทจ่ายเงินสดโดยตรงเข้าบัญชีผู้ถือหุ้น โดยมักแสดงในรูปแบบของ "บาทต่อหุ้น" เช่น 0.50 บาทต่อหุ้น ยกตัวอย่างเช่น หากถือหุ้น ABC จำนวน 1,000 หุ้น และบริษัทจ่ายปันผล 2 บาทต่อหุ้น จะได้รับเงินปันผล 2,000 บาท
เงินปันผลเป็นหุ้น (Stock Dividends) บริษัทจ่ายปันผลในรูปแบบของหุ้นสามัญใหม่แทนที่จะเป็นเงินสด โดยแสดงในรูปแบบอัตราส่วน เช่น 10:1 หมายถึง ได้หุ้นใหม่ 1 หุ้นทุกๆ 10 หุ้นที่ถืออยู่ บริษัทมักเลือกจ่ายปันผลเป็นหุ้นเมื่อต้องการรักษาเงินสดไว้ใช้ในธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น หากถือหุ้น AAA จำนวน 100 หุ้น และบริษัทจ่ายปันผลเป็นหุ้นในอัตรา 10:1 จะได้รับหุ้นใหม่เพิ่มอีก 10 หุ้น
การทำงานของระบบจ่ายเงินปันผล
บริษัทตัดสินใจจ่ายปันผลได้อย่างไร?
คณะกรรมการบริษัทจะเป็นผู้พิจารณาจ่ายเงินปันผลเพื่อขออนุมัติในการประชุมผู้ถือหุ้น โดยอ้างอิงจากผลประกอบการของบริษัท นโยบายการจ่ายปันผลของบริษัท แผนการลงทุนและความต้องการใช้เงินในอนาคต รวมถึงสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท โดยทั่วไปบริษัทจะกำหนดนโยบายการจ่ายเงินปันผลไว้ชัดเจน เช่น จ่าย 40-60% ของกำไรสุทธิ หลังหักสำรองตามกฎหมายและภาระผูกพันอื่นๆ
วันที่สำคัญในระบบการจ่ายเงินปันผล
ในระบบการจ่ายเงินปันผลมีวันสำคัญที่ผู้ลงทุนควรรู้ ได้แก่
- วันประกาศจ่ายปันผล (Declaration Date) คือ วันที่บริษัทประกาศมติจ่ายเงินปันผล
- วันขึ้นเครื่องหมาย XD (Ex-Dividend Date) คือ วันแรกที่ผู้ซื้อหุ้นจะไม่ได้รับสิทธิปันผลในรอบนั้น
- วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้น (Record Date) คือ วันที่บริษัทปิดสมุดทะเบียนเพื่อรวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับปันผล
- วันจ่ายเงินปันผล (Payment Date) คือ วันที่บริษัทโอนเงินปันผลเข้าบัญชีให้ผู้ถือหุ้น
ผู้ลงทุนควรรู้เงื่อนไขสำคัญว่าต้องถือหุ้นจนถึงวัน XD เพื่อให้มีชื่อในวัน Record Date จึงจะมีสิทธิรับเงินปันผล โดยเงินปันผลจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% และราคาหุ้นมักจะปรับตัวลดลงในวัน XD ใกล้เคียงกับมูลค่าปันผลที่จ่าย
Dividend Yield คืออะไร?
Dividend Yield คือ อัตราส่วนที่แสดงผลตอบแทนจากเงินปันผลเทียบกับราคาหุ้น คำนวณได้จาก
ividend Yield = (เงินปันผลต่อหุ้น ÷ ราคาหุ้น) × 100%
ตัวอย่างการคำนวณ
หุ้น ABC ราคา 50 บาท จ่ายปันผลปีละ 2.5 บาทต่อหุ้น จะมี Dividend Yield = (2.5 ÷ 50) × 100% = 5%
การตีความ Dividend Yield ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะ Dividend Yield สูงไม่ได้หมายความว่าเป็นหุ้นที่ดีเสมอไป อาจเกิดจากราคาหุ้นที่ตกลงมาก แต่เงินปันผลยังคงเดิม หรือบริษัทจ่ายปันผลสูงเกินไปจนอาจไม่เหลือเงินลงทุนเพื่อการเติบโตในอนาคต ในทางกลับกัน Dividend Yield ต่ำไม่ได้หมายความว่าเป็นหุ้นที่ไม่ดี อาจเกิดจากราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการเติบโตของบริษัท หรือบริษัทเน้นการลงทุนเพื่อการเติบโตในอนาคตมากกว่าการจ่ายปันผล
การใช้ Dividend Yield เปรียบเทียบหุ้นหรือกองทุน ควรเปรียบเทียบหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลหรือดอกเบี้ยเงินฝาก รวมถึงควรดูแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของ Dividend Yield ในอดีตด้วย
วิธีเริ่มต้นรับเงินปันผล
การลงทุนเพื่อรับเงินปันผลมีหลายทางเลือก นักลงทุนควรเลือกให้เหมาะกับความต้องการและความเชี่ยวชาญของตนเอง
ทางเลือกในการลงทุนเพื่อรับเงินปันผล
-
การซื้อหุ้นปันผลโดยตรง หุ้นปันผล คือ หุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง เมื่อบริษัทมีกำไรจากการดำเนินการ และแบ่งเงินบางส่วนจากกำไรมาจ่ายให้ผู้ถือหุ้น มีข้อดีคือ มีอิสระในการเลือกหุ้นและไม่มีค่าธรรมเนียมการจัดการ แต่มีข้อเสียคือ ต้องมีความรู้ในการวิเคราะห์หุ้นและต้องติดตามข่าวสารบริษัทอย่างใกล้ชิด เหมาะกับผู้ที่มีความรู้ด้านการลงทุน มีเวลาติดตามข่าวสาร และมีเงินลงทุนพอสมควร
-
การลงทุนผ่านกองทุนรวมที่เน้นหุ้นปันผล มีข้อดีคือ ช่วยกระจายความเสี่ยง มีผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญบริหารให้ และสามารถลงทุนได้ตั้งแต่ 500 บาท แต่มีข้อเสียคือ มีค่าธรรมเนียมการจัดการ เหมาะกับผู้ที่ไม่มีเวลาติดตามข่าวสาร หรือมีเงินลงทุนไม่มาก หรือต้องการกระจายความเสี่ยง
ข้อดี-ข้อเสียของการลงทุนในหุ้นปันผล
การลงทุนในหุ้นปันผลมีข้อดีที่สำคัญคือ สามารถสร้างรายได้สม่ำเสมอ ได้รับกระแสเงินสดระหว่างการลงทุนโดยไม่ต้องขายหุ้น และสามารถนำปันผลไปใช้จ่ายหรือลงทุนต่อได้ นอกจากนี้ ยังช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนเพราะหุ้นปันผลมักเป็นบริษัทที่มีความมั่นคง ธุรกิจโตเต็มที่แล้ว และราคามักผันผวนน้อยกว่าหุ้นเติบโต
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นปันผลก็มีข้อจำกัดคือ อาจได้ผลตอบแทนโดยรวมต่ำกว่าหุ้นเติบโต เพราะบริษัทที่เน้นจ่ายปันผลมักเป็นธุรกิจที่เติบโตช้า ในขณะที่หุ้นเติบโตอาจให้ผลตอบแทนในรูปของกำไรจากส่วนต่างราคาที่สูงกว่าในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายปันผล เพราะบริษัทอาจปรับลดหรือระงับการจ่ายปันผลในช่วงเศรษฐกิจถดถอยหรือบริษัทไม่มีกำไรเพียงพอในการจ่ายปันผล ซึ่งอาจทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงอย่างรุนแรงหากมีการตัดปันผล
การลงทุนแบบปันผลจึงเหมาะกับนักลงทุนแบบ Passive Income ที่ต้องการสร้างรายได้สม่ำเสมอโดยไม่ต้องขายสินทรัพย์ ผู้ที่ใกล้เกษียณหรือเกษียณแล้วที่ต้องการกระแสเงินสดสม่ำเสมอ ผู้ที่ต้องการความมั่นคงที่เน้นความปลอดภัยและความสม่ำเสมอมากกว่าการเติบโตสูง และนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงโดยเพิ่มสัดส่วนหุ้นปันผลเพื่อสร้างสมดุลให้พอร์ต
คำถามที่พบบ่อย
เงินปันผลเสียภาษีหรือไม่?
เงินปันผลจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% โดยนักลงทุนสามารถเลือกนำไปรวมคำนวณเพื่อยื่นภาษี หรือเลือกไม่นำไปรวมคำนวณก็ได้ ส่วนเงินปันผลจากกองทุนรวมถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% เช่นกัน
จะรู้ได้อย่างไรว่าหุ้นไหนจ่ายปันผล?
สามารถตรวจสอบประวัติการจ่ายปันผลได้จากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เว็บไซต์ของบริษัท หรือแอปพลิเคชันซื้อขายหุ้น หรือดูผ่านบทวิเคราะห์หุ้นปันผลของสถาบันการเงินต่างๆ รวมถึงติดตามข่าวจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับการประกาศจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียน
เงินปันผลทุกเดือนมีจริงหรือ?
ในตลาดหุ้นไทย บริษัทส่วนใหญ่จ่ายปันผลปีละ 1-2 ครั้ง ส่วนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ บางบริษัทมีการจ่ายปันผลรายไตรมาส การได้รับปันผลที่ถี่เกือบทุกเดือนอาจทำได้โดยกระจายการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนที่มีรอบการจ่ายปันผลต่างกัน แต่คงเป็นไปได้ยากที่จะได้รับเงินปันผลทุกเดือน
ควรซื้อหุ้นเมื่อไหรเพื่อให้ได้ปันผล?
ต้องซื้อและถือครองหุ้นถึงวันขึ้นเครื่องหมาย XD เนื่องจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้ระบบ T+2 (ส่งมอบ 2 วันทำการหลังวันซื้อขาย) จึงต้องซื้อหุ้นล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วันทำการก่อนวัน XD
เงินปันผลเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างรายได้สม่ำเสมอจากการลงทุน โดยมีข้อได้เปรียบคือไม่ต้องขายสินทรัพย์เพื่อรับผลตอบแทน เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มองเป้าหมายระยะยาวที่ต้องการสร้างกระแสรายได้สม่ำเสมอเพื่อใช้ในอนาคต ผู้ที่ต้องการรายได้ประจำเสริมเพื่อใช้เป็นรายได้เสริมนอกเหนือจากเงินเดือน และผู้เตรียมเกษียณหรือเกษียณแล้วที่ต้องการรายได้ประจำหลังเกษียณโดยไม่ต้องแตะเงินต้น
วิธีเริ่มต้นลงทุนแบบปันผลควรเริ่มจากการวางแผนการเงินและกำหนดเป้าหมายว่าต้องการรายได้ปันผลเท่าไรต่อเดือนหรือต่อปี จากนั้นศึกษาบริษัทหรือกองทุนที่มีประวัติจ่ายปันผลสม่ำเสมอ โดยดูประวัติย้อนหลังและอัตราการเติบโตของปันผล แล้วเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์หรือกองทุนผ่าน K PLUS พร้อมเริ่มลงทุนและทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอด้วยวิธี DCA (Dollar-Cost Averaging) และควรนำปันผลกลับมาลงทุนต่อเพื่อใช้พลังของการทบต้นช่วยเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาว
K WEALTH ขอแนะนำให้ผู้ลงทุนที่สนใจรับเงินปันผลเริ่มต้นด้วยการกระจายการลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายปันผล ซึ่งจะช่วยให้ได้รับประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงและการบริหารจัดการโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยสามารถเริ่มต้นลงทุนได้ง่ายๆ ผ่าน K PLUS แอปพลิเคชันที่คุณใช้ในชีวิตประจำวัน เพียงคลิกที่เมนู "ลงทุน" และเลือก "กองทุนรวม" สำหรับกองทุนแนะนำที่มีนโยบายจ่ายปันผล ได้แก่
-
กองทุน K-GHEALTH ลงทุนในหุ้นบริษัทที่ประกอบธุรกิจดูแลสุขภาพทั่วโลกไม่น้อยกว่า 67% ของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน และมีนโยบายจ่ายปันผลไม่เกินปีละ 4 ครั้ง
-
กองทุน K-GINFRA-A(D) ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่เป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่มีลักษณะคงทนถาวรทั่วโลก เช่น บริษัทที่อยู่ในหมวดสาธารณูปโภค การขนส่ง พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ และสินค้าอุตสาหกรรม และมีนโยบายจ่ายปันผลไม่เกินปีละ 4 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม การลงทุนเพื่อคาดหวังเงินปันผลควรเป็นการทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอและถือเงินลงทุนระยะยาวอย่างน้อย 3-5 ปีขึ้นไปเพื่อช่วยลดความผันผวน เพราะในระยะสั้นราคามักมีความผันผวน และในบางช่วงเวลาอาจไม่มีการจ่ายเงินปันผลได้
หมายเหตุ:
- ระดับความเสี่ยงกองทุน
- K-GHEALTH, K-GINFRA-A(D): ความเสี่ยงกองทุนระดับ 6
- นโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
- K-GHEALTH, K-GINFRA-A(D): ป้องกันความเสี่ยงไม่น้อยกว่า 75% ของมูลค่าเงินลงทุนต่างประเทศ
- ระยะเวลาการรับเงินค่าขายคืน (ตัวอย่างเช่น ระยะเวลาการรับเงินค่าขายคืน T+6 หมายถึง จะได้รับเงินค่าขายคืน 6 วันทำการถัดจากวันที่ทำรายการ (T+6) เช่น ขายคืนวันจันทร์ จะได้รับเงินค่าขายคืนวันอังคารของสัปดาห์ถัดไป (กรณีไม่มีวันหยุดอื่น นอกจากเสาร์-อาทิตย์))
- K-GHEALTH, K-GINFRA-A(D): T+4
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : บลจ.กสิกรไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย