อยากลงทุนในหุ้นเทคระดับโลก? ต้องรู้จัก Nasdaq พร้อมสรุปวิธีเริ่มต้น ความเสี่ยง และกองทุนยอดนิยมสำหรับคนอยากโตแบบมั่นใจ เหมาะสำหรับมือใหม่!

Nasdaq คืออะไร? คู่มือสำหรับผู้สนใจเริ่มลงทุน พร้อมทางเลือกการลงทุนผ่านกองทุนรวม

อยากลงทุนในหุ้นเทคระดับโลก? ต้องรู้จัก Nasdaq พร้อมสรุปวิธีเริ่มต้น ความเสี่ยง และกองทุนยอดนิยมสำหรับคนอยากโตแบบมั่นใจ เหมาะสำหรับมือใหม่!

กดฟัง
หยุด
  • Nasdaq คือตลาดหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐฯ เป็นบ้านของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Apple, Microsoft, Amazon, Google โดย Nasdaq 100 เป็นดัชนีที่รวม 100 บริษัทชั้นนำที่มีศักยภาพเติบโตสูง ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่า 15% ต่อปี
  • นักลงทุนไทยสามารถลงทุนใน Nasdaq ได้ง่ายผ่านกองทุนรวม เริ่มต้นได้ด้วยเงินเพียง 500 บาท ไม่ต้องกังวลเรื่องภาษีหรือการบริหารพอร์ต และมีหลายกองทุนให้เลือก เช่น K-USXNDQ-A(A), K-USA-A(A), K-HIT-A(A) ที่ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีชั้นนำของโลก
  • การลงทุนใน Nasdaq เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการโอกาสเติบโตสูงและรับความผันผวนได้ เนื่องจากหุ้นเทคโนโลยีมักมีความผันผวนมากกว่าหุ้นในอุตสาหกรรมอื่น แต่ที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนสูงในระยะยาว จึงเหมาะกับนักลงทุนที่มีระยะเวลาลงทุน 3-5 ปีขึ้นไป และต้องการกระจายความเสี่ยงจากตลาดหุ้นไทย

หากได้ติดตามข่าวการลงทุนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คงคุ้นหูกับชื่อ "Nasdaq" ที่มักถูกกล่าวถึงพร้อมกับการเติบโตของหุ้นเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Apple, Microsoft หรือ Tesla แต่หลายคนอาจยังไม่ค่อยเข้าใจว่า Nasdaq คืออะไร และทำไมถึงสำคัญสำหรับนักลงทุนทั่วโลก บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับ Nasdaq อย่างเข้าใจง่าย พร้อมแนะนำวิธีเริ่มต้นลงทุนผ่านช่องทางที่สะดวกและเหมาะสมสำหรับนักลงทุนไทย


Nasdaq คืออะไร? ทำไมนักลงทุนไทยควรรู้จัก

Nasdaq ย่อมาจาก National Association of Securities Dealers Automated Quotations เป็นตลาดหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐอเมริการองจาก New York Stock Exchange (NYSE) และเป็นตลาดที่มีมูลค่าซื้อขายสูงที่สุดในโลก Nasdaq ก่อตั้งขึ้นในปี 1971 โดยเริ่มต้นเป็นระบบเสนอราคาซื้อขายอัตโนมัติแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนับเป็นการปฏิวัติวงการตลาดหุ้นในยุคนั้น เพราะก่อนหน้านี้การซื้อขายหุ้นต้องผ่านนายหน้าและโบรกเกอร์ที่ต้องเจรจาต่อรองราคากันโดยตรง


Nasdaq มีความแตกต่างจาก NYSE หลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องของบริษัทที่จดทะเบียน NYSE มักเป็นบ้านของบริษัทดั้งเดิมที่มีประวัติยาวนาน เช่น JPMorgan Chase, Coca-Cola หรือ Walmart ในขณะที่ Nasdaq เป็นที่รวมของบริษัทเทคโนโลยี นวัตกรรม และการเติบโตสูง อย่าง Apple, Amazon, Google (Alphabet), Facebook (Meta) และ Netflix


ความสำคัญของ Nasdaq ในโลกการลงทุนนั้นมหาศาล เพราะเป็นศูนย์รวมของบริษัทที่ขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลก การเคลื่อนไหวของ Nasdaq จึงมักสะท้อนแนวโน้มของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วโลก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2015-2024) ดัชนี Nasdaq ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่า 15% ต่อปี ซึ่งโดดเด่นกว่าตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทย


Nasdaq 100 คืออะไร?

เมื่อพูดถึงการลงทุนใน Nasdaq คนส่วนใหญ่มักนึกถึง Nasdaq 100 ซึ่งเป็นดัชนีที่รวบรวม 100 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดและมีสภาพคล่องสูงที่สุดที่จดทะเบียนใน Nasdaq ยกเว้นบริษัทในกลุ่มการเงิน Nasdaq 100 จึงเป็นเสมือนบารอมิเตอร์วัดความเคลื่อนไหวของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก


ความแตกต่างระหว่าง Nasdaq กับ Nasdaq 100 คือ Nasdaq เป็นตลาดหลักทรัพย์ที่มีบริษัทจดทะเบียนมากกว่า 3,000 บริษัท ส่วน Nasdaq 100 เป็นดัชนีที่คัดเลือกเฉพาะ 100 บริษัทยักษ์ใหญ่จากตลาด Nasdaq ทั้งหมด


ตัวอย่างบริษัทชั้นนำที่อยู่ในดัชนี Nasdaq 100 ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี ได้แก่ บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ 7 บริษัท หรือ “หุ้น 7 นางฟ้า” ได้แก่

  • Apple (AAPL)
  • Microsoft (MSFT)
  • Amazon (AMZN)
  • Alphabet (GOOGL) บริษัทแม่ของ Google
  • Nvidia (NVDA)
  • Tesla (TSLA)
  • Meta Platforms (META) บริษัทแม่ของ Facebook

ดัชนี Nasdaq 100 มีความสำคัญต่อพอร์ตการลงทุนเพราะเป็นดัชนีที่รวมบริษัทที่เป็นผู้นำเทรนด์เทคโนโลยีระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น AI, Cloud Computing, E-commerce หรือ Electric Vehicles การลงทุนใน Nasdaq 100 จึงเป็นการกระจายความเสี่ยงไปยังหุ้นเทคโนโลยีคุณภาพสูงหลายบริษัทในคราวเดียว


ทำไมนักลงทุนไทยถึงควรสนใจการลงทุนใน Nasdaq?

การลงทุนใน Nasdaq มีความน่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทยหลายประการ ได้แก่

  • โอกาสในการเติบโตของเทคโนโลยีระดับโลก บริษัทใน Nasdaq เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีระดับโลก และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยี AI กำลังเปลี่ยนแปลงทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ
  • การกระจายความเสี่ยง ตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนของบริษัทในกลุ่มธนาคาร พลังงาน และค้าปลีกเป็นหลัก แต่มีบริษัทเทคโนโลยีค่อนข้างน้อย การลงทุนใน Nasdaq จึงช่วยกระจายความเสี่ยงไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมที่ตลาดหุ้นไทยไม่มี
  • เทรนด์นักลงทุนไทยสนใจตลาดต่างประเทศ ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนไทยสนใจการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น สะท้อนจากมูลค่าเงินลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนต่างประเทศ (FIF) ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากประมาณ 1 ล้านล้านบาทในปี 2020 เป็นมากกว่า 1.5 ล้านล้านบาทในปี 2025
  • ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ในระยะยาว การลงทุนในสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐ ยังช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการอ่อนค่าของเงินบาท เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐมักเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าในช่วงเศรษฐกิจผันผวน

วิธีลงทุนใน Nasdaq จากประเทศไทย

นักลงทุนไทยสามารถลงทุนใน Nasdaq ได้หลายช่องทาง ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน

การซื้อหุ้นต่างประเทศโดยตรง

นักลงทุนสามารถเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศกับโบรกเกอร์ไทยที่ให้บริการ เช่น บล. กสิกรไทย


ข้อดี สามารถเลือกลงทุนในหุ้นเฉพาะที่สนใจ มีสิทธิในการออกเสียงและรับเงินปันผลโดยตรง


ข้อเสีย ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ต้องศึกษาข้อมูลบริษัทอย่างละเอียด ค่าธรรมเนียมการซื้อขายอาจสูง ต้องจัดการเรื่องภาษีเอง


การลงทุนผ่านกองทุนรวม

วิธีที่สะดวกและเป็นที่นิยมที่สุดสำหรับนักลงทุนไทย คือ การลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนใน Nasdaq โดยเฉพาะกองทุนประเภท Feeder Fund ที่นำเงินไปลงทุนในกองทุนหลักในต่างประเทศที่ลงทุนในหุ้นกลุ่ม Nasdaq หรือกองทุน ETF ที่อิงกับดัชนี Nasdaq 100


ข้อดี เริ่มต้นลงทุนได้ด้วยเงินน้อย เช่น เริ่มต้นที่ 500 บาท กระจายความเสี่ยงในหลายบริษัทในคราวเดียว ไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดการภาษีเพราะกำไรจากการขายคืนกองทุนได้รับการยกเว้นภาษี และกรณีมีเงินปันผล จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราคงที่ 10% โดยไม่จำเป็นต้องนำไปยื่นภาษีอีก เงินลงทุนบริหารจัดการโดยผู้เชี่ยวชาญ


ข้อเสีย มีค่าธรรมเนียมการจัดการรายปี ไม่มีสิทธิในการออกเสียงประชุมผู้ถือหุ้นที่ลงทุนผ่านกองทุน บางกองทุนอาจมีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินทำให้ไม่ได้ประโยชน์เต็มที่หากเงินดอลลาร์แข็งค่า


การลงทุนผ่าน ETF ในไทย

ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมี ETF (Exchange Traded Fund) ที่อิงกับดัชนีต่างประเทศ รวมถึง Nasdaq 100 ให้เลือกลงทุน เช่น NASDAQ100TH


ข้อดี ซื้อขายได้เหมือนหุ้นทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์ไทย ค่าธรรมเนียมการจัดการต่ำกว่ากองทุนรวมทั่วไป


ข้อเสีย สภาพคล่องในการซื้อขายอาจไม่สูงนัก มีจำนวน ETF ให้เลือกไม่มาก


กองทุน Nasdaq ที่น่าสนใจในไทย

ปัจจุบันมีกองทุนรวมในไทยหลายกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกลุ่ม Nasdaq หรือหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ตัวอย่างกองทุนที่น่าสนใจ ได้แก่


กองทุน K-USXNDQ-A(A)

นโยบายการลงทุน ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Invesco NASDAQ 100 ETF ซึ่งเป็นกองทุนอีทีเอฟที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ โดยมีนโยบายการลงทุนให้มีผลตอบแทนตามดัชนีหุ้นสหรัฐ Nasdaq-100


เหมาะสำหรับ นักลงทุนที่ต้องการรับผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นของบริษัทชั้นนำในสหรัฐอเมริกา


กองทุน K-USA-A(A)

นโยบายการลงทุน ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Brown Advisory US Sustainable Growth Fund ที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทสหรัฐฯ ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและมีรูปแบบธุรกิจที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว


เหมาะสำหรับ นักลงทุนที่ต้องการรับผลตอบแทนจากการลงทุนในบริษัทชั้นนำในสหรัฐอเมริกา โดยมีแนวคิดการลงทุนอย่างยั่งยืน


กองทุน K-HIT-A(A)

นโยบายการลงทุน ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Allianz Global Investors Fund – Allianz Thematica ที่ลงทุนในหุ้นทั่วโลก โดยเน้นสร้างพอร์ตการลงทุนให้หลากหลายผ่านกลยุทธ์การคัดเลือกธีมการลงทุน (Theme) กลุ่มอุตสาหกรรม (Sector) และหุ้น (Stock)


เหมาะสำหรับ นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นทั่วโลก ผ่านกลยุทธ์การคัดเลือกธีมการลงทุน (Theme) กลุ่มอุตสาหกรรม (Sector) และหุ้น (Stock) ที่เหมาะสม


ข้อควรรู้ก่อนลงทุนใน Nasdaq

ความเสี่ยงจากค่าเงิน USD

การลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ผลตอบแทนจากการลงทุนเมื่อแปลงกลับมาเป็นเงินบาทอาจลดลง แม้ว่าราคาหุ้นจะไม่เปลี่ยนแปลงก็ตาม ในทางกลับกัน หากเงินบาทอ่อนค่า ผลตอบแทนเมื่อแปลงเป็นเงินบาทจะเพิ่มขึ้น


นักลงทุนควรพิจารณาเลือกกองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน (Hedging) ที่เหมาะสมกับมุมมองที่มีต่อทิศทางค่าเงิน หากคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่า ควรเลือกกองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่หากคาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่า อาจเลือกกองทุนที่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือป้องกันไม่เต็มจำนวน


ความผันผวนของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีโดยเฉพาะที่จดทะเบียนใน Nasdaq มักมีความผันผวนสูงกว่าหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ เนื่องจากมูลค่าของบริษัทเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความคาดหวังในการเติบโตในอนาคต ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วตามข่าวสารและนวัตกรรมใหม่ๆ


ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงปี 2022 ดัชนี Nasdaq 100 ปรับตัวลดลงมากกว่า 30% เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก่อนที่จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2023 เป็นต้นมา


นักลงทุนที่สนใจลงทุนใน Nasdaq ควรมีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวเพียงพอ อย่างน้อย 3-5 ปีขึ้นไป และสามารถรับความผันผวนในระยะสั้นได้


การติดตามข่าวสารและแนวโน้มเศรษฐกิจ

นักลงทุนควรติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ นโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รวมถึงพัฒนาการสำคัญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น AI, Cloud Computing หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อาจส่งผลต่อการเติบโตของบริษัทใน Nasdaq


แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือสำหรับการติดตามข่าวสาร Nasdaq และหุ้นเทคโนโลยี ได้แก่

  • เว็บไซต์ CNBC, Bloomberg, Reuters
  • บทวิเคราะห์และบทความจาก K WEALTH และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนชั้นนำ
  • แอปพลิเคชันการลงทุนที่ให้ข้อมูลตลาดหุ้นสหรัฐฯ และข่าวสารที่เกี่ยวข้อง

Nasdaq เหมาะกับคุณหรือไม่?



สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนใน Nasdaq แต่ยังไม่มีประสบการณ์มากนัก K WEALTH แนะนำให้เริ่มต้นด้วยการลงทุนผ่านกองทุนรวมหรือ ETF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกลุ่ม Nasdaq หรือเทคโนโลยีสหรัฐฯ และใช้วิธีการลงทุนแบบทยอยซื้อสม่ำเสมอ (Dollar Cost Averaging) เพื่อช่วยลดความผันผวนของการลงทุน


การลงทุนใน Nasdaq อาจเป็นส่วนเติมเต็มที่สำคัญในพอร์ตการลงทุนของคุณ แต่ไม่ควรลงทุนทั้งหมดในสินทรัพย์ประเภทเดียว การกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์หลากหลายประเภทยังคงเป็นหลักการสำคัญของการลงทุนที่ประสบความสำเร็จในระยะยาว


หมายเหตุ:
  • ระดับความเสี่ยงกองทุน
    • K-USXNDQ-A(A), K-USA-A(A), K-HIT-A(A): ความเสี่ยงกองทุนระดับ 6
  • นโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
    • K-USXNDQ-A(A), K-USA-A(A), K-HIT-A(A): ป้องกันความเสี่ยงไม่น้อยกว่า 75% ของมูลค่าเงินลงทุนต่างประเทศ
  • ระยะเวลาการรับเงินค่าขายคืน (ตัวอย่างเช่น ระยะเวลาการรับเงินค่าขายคืน T+6 หมายถึง จะได้รับเงินค่าขายคืน 6 วันทำการถัดจากวันที่ทำรายการ (T+6) เช่น ขายคืนวันจันทร์ จะได้รับเงินค่าขายคืนวันอังคารของสัปดาห์ถัดไป (กรณีไม่มีวันหยุดอื่น นอกจากเสาร์-อาทิตย์))
    • K-USXNDQ-A(A): T+3
    • K-USA-A(A), K-HIT-A(A): T+4


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : บลจ.กสิกรไทย, บล.กสิกรไทย



คำเตือน

“ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”

ผู้เขียน

K WEALTHสุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ CFP®

Back to top