จากตารางจะพบว่า ในปี 2569-2571 ปรับฐานเงินเดือนสูงสุด (ตาม ม. 33) เป็น 17,500 บาท ปี 2572-2574 ปรับเป็น 20,000 บาท และตั้งแต่ปี 2575 ปรับเป็น 23,000 บาท ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้เงินบำนาญของลูกจ้างที่มีเงินเดือนสูงกว่าเพดานตาม ม.33 ได้รับปรับเพิ่มสูงขึ้น ตามจำนวนเดือนที่ส่งเงินสมทบไปด้วย ในขณะที่ฐานเงินเดือนสูงสุด (เดิม) อยู่ที่ 15,000 บาท
ใครได้เพิ่ม ใครได้ลด
ตัวอย่างในการคำนวณ มีสมมติฐาน คือ เริ่มส่งเงินสมทบตั้งแต่ ม.ค. 2542 จนถึง ธ.ค. 2568 (เกษียณ) เป็นเวลา 27 ปี คิดเป็น 38% ของสูตรคำนวณเงินบำนาญ
ตัวอย่างที่ 1: นาย A ฐานเงินเดือน 15,000 บาท ส่งสมทบ ตาม ม.33 มาตลอด จนกระทั่ง 6 ปีหลังสุด เปลี่ยนมาสมทบด้วยฐานเงินเดือน 4,800 บาท ตาม ม.39 ส่งผลให้สูตรเก่า (คำนวณ 60 เดือนสุดท้าย) ได้เงินบำนาญ 1,824 บาทต่อเดือน (4,800x38%) กับ สูตรใหม่ (คำนวณตลอดช่วงที่สมทบ) ได้เงินบำนาญประมาณ 4,838 บาทต่อเดือน (ฐานเงินเดือนตลอดอายุสมาชิก มาจาก ((15,000x21ปี)+(4,800x6ปี))/27ปี) เท่ากับ (12,733 บาท x38%) จะเห็นว่าการคำนวณด้วยสูตรใหม่ ได้เงินบำนาญเพิ่มขึ้น 165%
ตัวอย่างที่ 2: นาย B ฐานเงินเดือน 15,000 บาท ส่งสมทบตาม ม.33 มาแค่ 5 ปี หลังจากนั้นส่งตาม ม.39 มาตลอด สูตรเก่า ได้เงินบำนาญ 1,824 บาทต่อเดือน กับ สูตรใหม่ ได้เงินบำนาญประมาณ 2,541 (ฐานเงินเดือนตลอดอายุสมาชิก มาจาก ((15,000x5ปี)+(4,800x22ปี))/27ปี)) เท่ากับ (6,688x38%) บาทต่อเดือน จะเห็นว่าการคำนวณด้วยสูตรใหม่จะได้เงินบำนาญเพิ่มขึ้น แต่ไม่มากเท่าตัวอย่างที่ 1
ทั้ง 2 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างของสมาชิกตาม ม. 39 ที่เพดานเงินเดือนปรับลดลง 68% (จาก 15,000 เหลือ 4,800 บาท) ทำให้สูตรเก่าได้รับบำนาญน้อยกว่าที่ควรจะเป็น การปรับมาคำนวณด้วยสูตรใหม่จะช่วยให้ผู้ประกันตนได้เงินบำนาญเพิ่มขึ้น
ตัวอย่างที่ 3: นาย C ส่งสมทบตามเพดานเงินเดือน 15,000 บาท มาตลอด เพื่อให้เปรียบเทียบได้ชัดเจน ขอคำนวณภายใต้สมมติฐานว่า นาย C ส่งสมทบต่อจนถึงสิ้นปี 2569 เป็นเวลา 28 ปี
การคำนวณด้วยสูตรเก่า จะได้เงินบำนาญ 6,122.50 บาทต่อเดือน หากคำนวณด้วยสูตรใหม่ จะได้เงินบำนาญ 5,960.27 บาท ซึ่งเป็นสูตรตามช่วงเปลี่ยนผ่าน คือ 80% ของสูตรเก่า + 20% ของสูตรใหม่ จะได้บำนาญประมาณ 6,090 บาทต่อเดือน การคำนวณตามสูตรใหม่แม้จะทำให้ได้รับเงินบำนาญลดลง แต่จะถูกชดเชยจากเพดานเงินเดือนที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 17,500 บาท ที่เริ่มสมทบตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป
ตัวอย่างที่ 4: นาย D เป็นกลุ่มลูกจ้างที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท จะได้เงินบำนาญใกล้เคียงสูตรเก่า เนื่องจากฐานรายได้ไม่แตกต่างกันมากและถูกคำนวณจากฐานเงินได้จริง
ตัวอย่างที่ 5: นาย E เป็นกลุ่มลูกจ้างที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท แต่ช่วงใกล้เกษียณ มีรายได้เกินเพดาน กลุ่มนี้ สูตรเก่าจะทำให้ได้บำนาญสูงกว่า ส่วนสูตรใหม่ จะทำให้ได้บำนาญลดลงมา และสะท้อนความเท่าเทียมกันในการส่งเงินสมทบมาก ควรได้ผลประโยชน์มาก ส่งเงินสมทบน้อยได้ผลประโยชน์น้อย ยกตัวอย่างเช่น สมทบด้วยเงินเดือน 10,000 บาท ตลอด 22 ปี แต่ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น(เกิน 15,000 บาท) ในช่วง 5 ปีสุดท้าย ทำให้สมทบตามเพดานเงินเดือน 15,000 บาท ตาม ม. 33 จะทำให้สูตรเก่า ได้เงินบำนาญ 15,000 บาท (เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย)x 38% = 5,700 บาท ในขณะที่สูตรใหม่ ได้เงินบำนาญ ((10,000x22)+(15,000x5)) = 10,925.93 บาท (เฉลี่ยตลอดอายุสมาชิก) x 38% = 4,151.85 บาท
ตัวอย่างทั้งหมดนี้ เป็นเพียงการวิเคราะห์ให้เห็นภาพผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสูตรคำนวณเงินบำนาญชราภาพของกองทุนประกันสังคม คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สูตรใหม่ จะได้ใช้จริงเมื่อไหร่ และหลักเกณฑ์อาจมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้หรือไม่ เนื่องจากยังมีกระบวนการทำประชาพิจารณ์ด้วย
ทางเลือกอื่น เพื่อเก็บเงินเกษียณ
ถึงแม้สูตรเงินบำนาญชราภาพของประกันสังคม จะช่วยให้ผู้ที่เกษียณอายุ มีเงินบำนาญไว้ใช้หลังเกษียณแล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่าเพียงแค่เงินบำนาญอย่างเดียว อาจจะยังไม่เพียงพอ หากใครที่ยังมีกำลังในการออมเพิ่ม ยังมีรูปแบบในการออมอื่น ๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนลดหย่อนภาษี เช่น กองทุน TESGX (กำลังจะเปิดให้ลงทุนในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 68) กองทุน ThaiESG, RMF รวมถึงประกันชีวิต ที่นอกจากจะเป็นเงินออมแล้ว ยังใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย