-
หุ้นค้าปลีกเหมาะสำหรับการเริ่มต้นลงทุน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่คุ้นเคยและสามารถประเมินสถานการณ์ได้ง่าย โดยกลุ่มค้าปลีกสามารถแบ่งออกเป็นสินค้าจำเป็น, สินค้าฟุ่มเฟือย, และสินค้าตกแต่งบ้าน
-
นอกจากงบการเงิน เช่น รายได้และกำไร นักลงทุนควรพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญสำหรับธุรกิจค้าปลีก เช่น การเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม, อัตรากำไรขั้นต้น, และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร
-
ไตรมาส 1 ของปีนี้ อาจเห็นการชะลอตัวของธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากหมดช่วง High Season อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวก เช่น การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่หนี้ครัวเรือนที่ยังสูงเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง
-
กองทุน K-STAR-A เป็นกองทุนที่เน้นการลงทุนในหุ้นไทยขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตดี โดยมีหุ้นค้าปลีก เช่น CPALL เป็นหนึ่งในหุ้นหลัก (Top Holding) นักลงทุนที่มีการลงทุนในกองทุนนี้อยู่แล้ว ควรพิจารณารักษาสัดส่วนเดิมไว้ แต่หากยังไม่ได้ลงทุน ควรประเมินสถานการณ์และพิจารณาความเสี่ยงจากหนี้ครัวเรือนก่อนตัดสินใจลงทุน
ทำไมค้าปลีกถึงเป็นหุ้นที่เหมาะสำหรับการเริ่มต้นลงทุน
ธุรกิจค้าปลีกเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สามารถวิเคราะห์และทำความเข้าใจได้ง่าย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าในชีวิตประจำวัน ข้อดีของการเริ่มต้นลงทุนในกลุ่มนี้คือ
-
เป็นธุรกิจที่คุ้นเคย เช่น ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์ค้าส่ง และร้านเฟอร์นิเจอร์ เราสามารถเห็นแบรนด์และรูปแบบธุรกิจเหล่านี้ได้ในทุกที่
-
สามารถประเมินสถานการณ์ของธุรกิจได้ง่าย เราสามารถสังเกตร้านค้าต่างๆ ได้โดยตรง เช่น ร้านไหนมีลูกค้าเยอะ หรือสินค้าใดได้รับความนิยม สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เราประเมินโอกาสทางธุรกิจและแนวโน้มการเติบโตของบริษัทได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเฉพาะข้อมูลทางการเงินเพียงอย่างเดียว
การแบ่งกลุ่มค้าปลีกตามประเภทของสินค้า
การลงทุนในหุ้นค้าปลีกสามารถแบ่งออกเป็นหมวดหมู่หลักๆ ตามลักษณะของสินค้า ซึ่งแต่ละประเภทมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตและความเสี่ยงที่แตกต่างกัน
-
ค้าปลีกสินค้าที่จำเป็น (Staples Retailers) ธุรกิจค้าปลีกกลุ่มนี้เน้นจำหน่ายสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องใช้ในบ้าน และของใช้ส่วนตัว แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจจะผันผวน แต่สินค้ากลุ่มนี้ยังคงมีความต้องการอยู่เสมอ ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคง ตัวอย่างหุ้นที่อยู่ในกลุ่มนี้: CAPLL, BJC, CPAXT
-
ค้าปลีกสินค้าฟุ่มเฟือย (Discretionary Retailers) ธุรกิจค้าปลีกในกลุ่มนี้จำหน่ายสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่เป็นสินค้าที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายหรือความพึงพอใจ เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งยอดขายของกลุ่มนี้มักได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค ตัวอย่างหุ้นที่อยู่ในกลุ่มนี้: CRC, MOSHI
-
ค้าปลีกสินค้าตกแต่งบ้าน (Home Improvement Retailers) ธุรกิจค้าปลีกประเภทนี้มุ่งเน้นจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการตกแต่งและปรับปรุงบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ก่อสร้าง โดยมักได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์และการซ่อมแซมบ้านเรือน ตัวอย่างหุ้นที่อยู่ในกลุ่มนี้: HMPRO, GLOBAL, DOHOME
สิ่งที่ต้องรู้เบื้องต้นในการลงทุนหุ้นค้าปลีก
นอกจากรายได้และกำไรของบริษัท นักลงทุนควรพิจารณาปัจจัยทางการเงินที่สำคัญต่อธุรกิจค้าปลีก ซึ่งช่วยให้เข้าใจศักยภาพและแนวโน้มของบริษัทได้ดียิ่งขึ้น
-
การเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม หรือ Same Store Sales Growth (SSSG) : เป็นอัตราการเติบโตของยอดขายเฉพาะสาขาเดิม โดยไม่นับรวมสาขาใหม่ ถ้าค่า SSSG เป็นบวก แสดงว่าร้านค้าเดิมสามารถเพิ่มยอดขายได้ ซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของแบรนด์และความสามารถในการดึงดูดลูกค้า
-
อัตรากำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit Margin (GPM) : คำนวณจาก (รายได้ - ต้นทุนขาย) ÷ รายได้ ถ้า GPM เพิ่มขึ้น หมายความว่าบริษัทสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น หรือสามารถตั้งราคาขายสูงขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อกำไรโดยรวมของบริษัท
-
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารหรือ Selling, General & Administrative Expenses (SG&A) : ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร เช่น ค่าโฆษณา ค่าเช่าสถานที่ และเงินเดือนพนักงาน ถ้าค่า SG&A ลดลง แสดงว่าบริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มกำไรให้กับบริษัท
แนวโน้มธุรกิจค้าปลีก
เป็นเรื่องปกติที่กำไรของกลุ่มค้าปลีกจะลดลงในไตรมาส 1 ของทุกปี เนื่องจากหมดช่วง High Season ของไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผู้คนมีการใช้จ่ายสูง ทั้งการจับจ่ายของขวัญ ท่องเที่ยว และกิจกรรมเฉลิมฉลอง ทำให้ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกเพิ่มขึ้นมากในช่วงปลายปี พอเข้าสู่ไตรมาส 1 การจับจ่ายใช้สอยมักจะลดลงตามปกติ เนื่องจากผู้บริโภคใช้จ่ายไปมากในไตรมาสก่อนหน้า และเริ่มกลับสู่พฤติกรรมการใช้จ่ายตามปกติ
แม้กำไรภาพรวมของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกในไตรมาส 1/2025 อาจลดลง QoQ แต่ K Securities มีมุมมองเป็นบวกต่อกลุ่มค้าปลีก โดยมีปัจจัยสนับสนุนดังนี้
ปัจจัยบวก
-
การท่องเที่ยวฟื้นตัว ส่งผลดีต่อยอดขายค้าปลีก โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อที่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยว ศูนย์การค้า และร้านค้าปลอดภาษีตามสนามบิน
-
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น Easy E-Receipt 2.0 และ Digital Wallet ช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้การใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมีมากขึ้น
ปัจจัยกดดัน
-
หนี้ครัวเรือนยังสูง ซึ่งอาจทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้การบริโภคหดตัว แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้ามาช่วย แต่หนี้สินที่สูงยังเป็นข้อจำกัดหลักในการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของธุรกิจค้าปลีกบางประเภท เช่น ร้านสะดวกซื้อและห้างค้าส่ง
กลยุทธ์การลงทุนธุรกิจค้าปลีกผ่านกองทุน K-STAR-A
กองทุน K-STAR-A เป็นกองทุนหุ้นไทยที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพเติบโตสูง จากข้อมูล ณ 28 กุมภาพันธ์ 2568 มีหุ้นค้าปลีก เช่น CPALL เป็นหนึ่งในหุ้นหลัก (Top Holding) ดังนั้น นักลงทุนที่มีกองทุน K-STAR-A อยู่ในพอร์ตสามารถพิจารณากลยุทธ์การลงทุนดังนี้
- K WEALTH แนะนำสัดส่วนการลงทุน ในกองทุนหุ้นไทยที่ 20% ของพอร์ต เพื่อให้เกิดการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม
- หากมีอยู่แล้ว: แนะนำคงสัดส่วนการลงทุนเดิมหรือหากมีสัดส่วนเกิน 20% ของพอร์ตแนะนำขายทำกำไรบางส่วนให้ไม่เกินสัดส่วนที่แนะนำ เนื่องจากโดยรวมแล้วธุรกิจค้าปลีกยังมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโต แม้อาจมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบกับหุ้นในกลุ่มค้าปลีก แต่ก็ยังมีโอกาสในการเติบโตและสร้างผลตอบแทนได้
- หากยังไม่มี: ควรรอประเมินสถานการณ์ โดยพิจารณาปัจจัยเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องก่อนเข้าลงทุน เช่น สภาวะหนี้ครัวเรือน รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งนักลงทุนสามารถติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดได้ที่ K WEALTH ทุกช่องทาง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: K Securities วันที่ 12 มีนาคม 2025 – Report Commerce Sector