เจาะลึกหุ้นจีน 2025 รวมทุกดัชนี A-Shares, H-Shares เทรนด์เทคโนโลยี หุ้นเทคโนโลยี และกองทุนเด่น พร้อมกลยุทธ์การลงทุนอย่างมืออาชีพ เข้าใจง่ายในบทความเดียว

วิเคราะห์หุ้นจีน 2025: แนวโน้ม โอกาส หุ้นจีนที่น่าจับตา พร้อมกองทุนแนะนำ

เจาะลึกหุ้นจีน 2025 รวมทุกดัชนี A-Shares, H-Shares เทรนด์เทคโนโลยี หุ้นเทคโนโลยี และกองทุนเด่น พร้อมกลยุทธ์การลงทุนอย่างมืออาชีพ เข้าใจง่ายในบทความเดียว

กดฟัง
หยุด
  • เศรษฐกิจจีนมีทั้งความท้าทายและโอกาส โดยตลาดหุ้นจีนในปี 2025 มีความเสี่ยงด้านการส่งออกในอนาคตและภาวะชะลอตัวจากอัตราภาษีของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การใช้นโยบายการคลังเพิ่มเติมจากงบประมาณใหม่ และความเป็นไปได้ในการผ่อนคลายทางการเงินเร็วๆ นี้ จะช่วยประคองเศรษฐกิจจีนให้เติบโตได้ต่อเนื่อง
  • หุ้นเทคโนโลยีจีนมีการเติบโตในกลุ่ม AI โดยธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และเทคโนโลยีสีเขียว พร้อมบริษัทชั้นนำที่น่าจับตา เช่น Tencent, Alibaba, Meituan, BYD และ Baidu
  • การลงทุนในหุ้นจีนสามารถทำได้หลายช่องทาง ทั้งซื้อหุ้นรายตัวผ่านโบรกเกอร์ที่รองรับตลาดจีน หรือลงทุนผ่านกองทุนรวมและ ETF เพื่อกระจายความเสี่ยง K WEALTH แนะนำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในกองทุนหุ้นจีนและติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าของสงครามการคาในช่วงเวลาต่อจากนี้

เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ ในปี 2025 หลังจากภาวะชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้นจีน K WEALTH รวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นจีนที่จะช่วยให้เข้าใจแนวโน้ม โอกาส และตัวเลือกการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนในตลาดหุ้นจีนได้อย่างมั่นใจมากขึ้น


หุ้นจีนคืออะไร?

หุ้นจีน คือ หลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทจีนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ ทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง โดยแบ่งเป็นประเภทหลักๆ ได้แก่


  • A-Shares หุ้นของบริษัทจีนที่จดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น เดิมสงวนไว้สำหรับนักลงทุนในประเทศจีนเท่านั้น แต่ปัจจุบันเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าถึงได้มากขึ้นผ่านโครงการ Stock Connect
  • H-Shares หุ้นของบริษัทจีนแผ่นดินใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ซึ่งนักลงทุนต่างชาติสามารถซื้อขายได้อย่างเสรี

เศรษฐกิจจีนไตรมาส 1 ปี 2568 ขยายตัว 5.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการเติบโตในเดือนมีนาคมเป็นแรงหนุนสำคัญ หลังรัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบการใช้จ่ายภาครัฐและโครงการสนับสนุนการบริโภค โดยการบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวเด่นชัด การผลิตภาคอุตสาหกรรมแข็งแกร่ง และการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวต่อเนื่อง


แม้จะมีความเสี่ยงด้านการส่งออกในอนาคตและภาวะชะลอตัวจากอัตราภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม อย่างไรก็ตาม การใช้นโยบายการคลังเพิ่มเติมจากงบประมาณใหม่ และความเป็นไปได้ในการผ่อนคลายทางการเงินเร็วๆ นี้ จะช่วยประคองเศรษฐกิจจีนให้เติบโตได้ต่อเนื่อง และอาจทำให้ GDP ตลอดปี 2568 ยังคงอยู่เหนือระดับ 5%


สำรวจดัชนีหุ้นจีนและตลาดหลักที่ควรรู้

การเข้าใจดัชนีหุ้นจีนและตลาดหลักทรัพย์สำคัญจะช่วยให้นักลงทุนสามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนได้ดียิ่งขึ้น โดยดัชนีหลักที่ควรรู้จักมีดังนี้


CSI 300 ดัชนีที่ประกอบด้วยหุ้นชั้นนำ 300 ตัวจากตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของ A-Shares ขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูง


Hang Seng Index (HSI) ดัชนีหลักของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ประกอบด้วยหุ้นชั้นนำในฮ่องกง รวมถึง H-Shares ของบริษัทจีนแผ่นดินใหญ่


SSE Composite ดัชนีที่รวมหุ้นทั้งหมดที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ครอบคลุมทั้งบริษัทขนาดใหญ่ กลางและเล็ก



ตลาดหลักทรัพย์สำคัญของจีนที่นักลงทุนควรทำความเข้าใจ


  1. ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ (SSE) ตลาดเก่าแก่และใหญ่ที่สุดในจีนแผ่นดินใหญ่ เน้นบริษัทขนาดใหญ่ รัฐวิสาหกิจ และอุตสาหกรรมดั้งเดิม
  2. ตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น (SZSE) เน้นบริษัทเทคโนโลยี สตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการนวัตกรรม มีดัชนี ChiNext ที่เป็นเวอร์ชั่นของ Nasdaq ในจีน
  3. ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (HKEX) เป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงจีนกับตลาดทั่วโลก มีกฎระเบียบและมาตรฐานสากล ทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้าถึงได้ง่าย

หุ้นเทคโนโลยีจีน - กลุ่มที่นักลงทุนจับตา

หุ้นเทคโนโลยีของจีนยังคงเป็นที่จับตามองในปี 2025 จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องและการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ โดยในกลุ่ม AI และเทคโนโลยีดิจิทัล มีความโดดเด่นกว่าอุตสาหกรรมดั้งเดิม


บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่น่าจับตา
  • Tencent Holdings ยักษ์ใหญ่ด้านเกมและโซเชียลมีเดีย กำลังลงทุนอย่างหนักในด้าน AI และคลาวด์คอมพิวติ้ง โดยธุรกิจเกมและโฆษณาออนไลน์ยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
  • Alibaba Group ผู้นำด้าน e-Commerce และคลาวด์ กำลังปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลักดันนวัตกรรมด้าน AI ในแพลตฟอร์มของตน
  • Meituan ผู้นำด้านการจัดส่งอาหารและบริการออนไลน์ มีการเติบโตของรายได้อย่างต่อเนื่องจากการขยายบริการสู่เมืองรองและชนบทมากขึ้น
  • BYD ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำ กำลังขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป
  • Baidu บริษัท AI และเสิร์ชเอนจินรายใหญ่ของจีน กำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยี AI เช่น Ernie Bot และรถยนต์ไร้คนขับ

กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเติบโต
  1. ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จีนมีเป้าหมายเป็นผู้นำด้าน AI ภายในปี 2030 บริษัทอย่าง Baidu, Tencent และ SenseTime กำลังพัฒนาแพลตฟอร์ม AI สำหรับการใช้งานหลากหลาย
  2. เซมิคอนดักเตอร์ จีนกำลังลงทุนอย่างหนักเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าชิป บริษัทอย่าง SMIC และ Hua Hong Semiconductor กำลังขยายกำลังการผลิต
  3. ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จีนเป็นตลาดและผู้ผลิต EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผู้ผลิตอย่าง BYD, NIO และ Li Auto มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ
  4. เทคโนโลยีสีเขียว การมุ่งสู่ Carbon Neutrality ภายในปี 2060 กระตุ้นการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน โซลาร์เซลล์ และเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน

ในด้าน ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) นโยบายของรัฐบาลจีนมีผลกระทบอย่างมากต่อภาคเทคโนโลยี โดยเฉพาะการกำกับดูแลที่เข้มงวดมากขึ้นในด้านการแข่งขัน ความปลอดภัยของข้อมูล และความมั่นคงทางไซเบอร์ อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นจีนได้ปรับตัวกับความไม่แน่นอนทางนโยบายมากขึ้น และนักลงทุนมองเห็นโอกาสบริษัทที่ปรับตัวได้ดีตามกฎระเบียบใหม่


วิธีการลงทุนในหุ้นจีน

สำหรับนักลงทุนไทยที่สนใจลงทุนในหุ้นจีน มีหลายทางเลือกดังนี้


ซื้อหุ้นรายตัวผ่านโบรกเกอร์ที่รองรับตลาดหุ้นจีน
  • ตลาดฮ่องกง นักลงทุนสามารถเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านโบรกเกอร์ในประเทศไทยที่มีบริการซื้อขายหุ้นในตลาดฮ่องกง เช่น บล.กสิกรไทย ที่มีบริการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่าน KS Global Invest
  • ตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ การเข้าถึง A-Shares ในตลาดเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นทำได้ยากกว่า แต่สามารถทำผ่านโบรกเกอร์นานาชาติที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงโครงการ Stock Connect ได้

ข้อควรระวัง การลงทุนในหุ้นรายตัวต้องอาศัยความรู้และการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจเป็นความท้าทายสำหรับนักลงทุนที่ไม่คุ้นเคยกับตลาดหุ้นจีน/p>
ลงทุนผ่านกองทุนรวมหรือ ETF

วิธีนี้เหมาะสำหรับนักลงทุนทั่วไปที่ต้องการกระจายความเสี่ยงและไม่ต้องการบริหารพอร์ตเอง


  • กองทุนรวมในประเทศไทย บลจ.หลายแห่งในไทยมีกองทุนที่ลงทุนในหุ้นจีน เช่น K-CHINA, SCBCHA, KT-CHINA-A เป็นต้น
  • ETF ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ เช่น iShares MSCI China ETF (MCHI), KraneShares CSI China Internet ETF (KWEB) สามารถซื้อผ่านโบรกเกอร์ที่รองรับการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ

แนวโน้มหุ้นจีน 2025 - ปัจจัยที่ต้องจับตามอง

ปี 2025 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงสำหรับเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจีน โดยมีปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนควรติดตาม


ปัจจัยมหภาค ได้แก่
  1. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน รัฐบาลจีนประกาศ "แผนปฏิบัติการพิเศษเพื่อกระตุ้นการบริโภค" พร้อมเพิ่มงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาถึง 10.3% ในปี 2025 เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์
  2. ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไป หลังจากสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษี Reciprocal Tariffs กับจีน ซึ่งจีนได้ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ทุกชนิดเช่นกัน
  3. การปฏิรูปตลาดทุน จีนกำลังดำเนินการปฏิรูปตลาดทุนเพื่อดึงดูดการลงทุนและปรับปรุงการกำกับดูแล ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะยาว
กลุ่มธุรกิจดาวรุ่ง
  1. เทคโนโลยี AI และ Deep Tech บริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยี AI, ชิปเซมิคอนดักเตอร์ และหุ่นยนต์มีแนวโน้มเติบโตสูง จากการสนับสนุนของรัฐบาลที่ต้องการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
  2. ยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด จีนตั้งเป้าเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2060
  3. การบริโภคระดับพรีเมียม บริษัทที่มุ่งเน้นสินค้าและบริการคุณภาพสูงสำหรับชนชั้นกลางที่กำลังเติบโตของจีนมี โอกาสเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มสุขภาพและความงาม
  4. เศรษฐกิจดิจิทัล ธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น e-Commerce, FinTech และ Cloud Computing ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะเผชิญการกำกับดูแลที่เข้มงวดมากขึ้น

วิธีการลงทุนเมื่อเกิดความผันผวน

ความผันผวนในตลาดหุ้นจีนมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายและปัจจัยภายนอก นักลงทุนควรเตรียมกลยุทธ์รองรับดังนี้


  1. เลือกบริษัทที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง มุ่งเน้นบริษัทที่มีฐานะการเงินมั่นคง อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำ และมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะช่วยให้บริษัทรับมือกับความผันผวนได้ดี
  2. ติดตามนโยบายรัฐบาลอย่างใกล้ชิด นโยบายของรัฐบาลจีนมีผลกระทบอย่างมากต่อทิศทางตลาด การติดตามการประชุมสำคัญ เช่น National People''s Congress ซึ่งจัดขึ้นปีละครั้ง จะช่วยคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตได้
  3. กระจายการลงทุน ไม่ควรลงทุนในหุ้นจีนเพียงอย่างเดียว ควรกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์และภูมิภาคอื่นๆ ด้วย โดยสัดส่วนการลงทุนในหุ้นจีนไม่ควรเกิน 20% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด
  4. ทยอยลงทุนแบบ DCA (Dollar-Cost Averaging) ลงทุนเป็นประจำทุกเดือนเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา และเฉลี่ยต้นทุนการลงทุนในระยะยาว

หุ้นจีนเหมาะกับใคร และควรเริ่มอย่างไร?


แนะนำแนวทางการเริ่มลงทุนในหุ้นจีน
  1. สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้
    • แนะนำชะลอการลงทุนและติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าของสงครามการค้าในช่วงเวลาต่อจากนี้
    • สำหรับการพักเงินเพื่อรอประเมินสถานการณ์ก่อนกลับเข้าลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง แนะนำพักเงินใน K-SFPLUS-A
  2. สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำถึงปานกลาง
    • พิจารณากองทุนผสมที่มีสัดส่วนหุ้นจีนบางส่วน เช่น K-WPBALANCED หรือ K-WPSPEEDUP ที่ ณ ก.พ. 68 มีหุ้นจีนอยู่ที่ 3% และ 4% ตามลำดับ
    • พิจารณาลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาวเพื่อรับอานิสงส์ในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลง เช่น กองทุน K-FIXED-A หรือ K-FIXEDPLUS-A
  3. ช่องทางการลงทุนที่สะดวก
    • ผ่าน K PLUS สามารถซื้อกองทุนรวมได้ง่ายๆ ผ่านแอปพลิเคชัน K PLUS โดยเลือกที่เมนู "ลงทุน" ซึ่งมีกองทุนให้เลือกจาก บลจ.ต่างๆ กว่า 15 บลจ.
    • ผ่านโบรกเกอร์ หากต้องการลงทุนในหุ้นจีนรายตัวหรือ ETF สามารถเปิดบัญชี KS Global Invest เพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศได้

หุ้นจีนมีความน่าสนใจในปี 2025 โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง AI และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ แม้จะมีความท้าทายจากสงครามการค้าและความไม่แน่นอนของนโยบาย อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพิจารณาความเหมาะสมกับเป้าหมายทางการเงินและความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนเองก่อนตัดสินใจลงทุน


หมายเหตุ:
  • ระดับความเสี่ยงกองทุน
    • K-SFPLUS-A, K-FIXED-A, K-FIXEDPLUS-A: ความเสี่ยงกองทุนระดับ 4
    • K-WPBALANCED, K-WPSPEEDUP: ความเสี่ยงกองทุนระดับ 5
    • K-CHINA-A(A) SCBCHA, KT-CHINA-A: ความเสี่ยงกองทุนระดับ 6
  • นโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
    • K-SFPLUS-A: ป้องกันความเสี่ยง 100% ของเงินลงทุนต่างประเทศ
    • K-FIXEDPLUS-A, SCBCHA: ป้องกันความเสี่ยงไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าเงินลงทุนต่างประเทศ
    • K-CHINA-A(A): ป้องกันความเสี่ยงไม่น้อยกว่า 75% ของมูลค่าเงินลงทุนต่างประเทศ
    • K-WPBALANCED, K-WPSPEEDUP, KT-CHINA-A: ป้องกันความเสี่ยงตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
    • K-FIXED-A: ไม่มีการลงทุนต่างประเทศ
  • ระยะเวลาการรับเงินค่าขายคืน (ตัวอย่างเช่น ระยะเวลาการรับเงินค่าขายคืน T+6 หมายถึง จะได้รับเงินค่าขายคืน 6 วันทำการถัดจากวันที่ทำรายการ (T+6) เช่น ขายคืนวันจันทร์ จะได้รับเงินค่าขายคืนวันอังคารของสัปดาห์ถัดไป (กรณีไม่มีวันหยุดอื่น นอกจากเสาร์-อาทิตย์))
    • K-SFPLUS-A: T+1
    • K-FIXED-A, K-FIXEDPLUS-A, SCBCHA: T+2
    • K-CHINA-A(A), KT-CHINA-A: T+4
    • K-WPBALANCED, K-WPSPEEDUP: T+6

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : • บลจ.กสิกรไทย, บล.กสิกรไทย


คำเตือน

“ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”

ผู้เขียน

K WEALTHสุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ CFP®

Back to top