ดอกเบี้ยขาลง จะเลือกลงทุนตราสารหนี้อย่างไร

ดอกเบี้ยจะขึ้นหรือลง ทำไมกระทบกับตราสารหนี้ในแบบตรงข้าม

ดอกเบี้ยขาลง จะเลือกลงทุนตราสารหนี้อย่างไร

กดฟัง
หยุด
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในเดือนเมษา ค่อนข้างผันผวน หลังมีการประกาศขึ้นภาษีตอบโต้ทางการค้า (Reciprocal Tariff) โดยขึ้นไปที่ 4.5% สูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 68 ก่อนจะกลับลงมาที่ 4.23% ช่วงปลายเดือนเมษา อย่างไรก็ตาม ภาพรวมยังเป็นแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลง แต่อาจจะลงช้ากว่าที่คาด
  • เช่นเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยล่าสุดปลายเดือนเมษา ทาง กนง.มีการปรับลดดอกเบี้ยลง
  • ในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลง ทำให้นักลงทุนเข้าลงทุนตราสารหนี้เพื่อล็อกผลตอบแทน ราคาตราสารหนี้จึงปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้น การลงทุนในตราสารหนี้หรือกองตราสารหนี้ช่วงนี้ จะได้รับประโยชน์ ซึ่งนักลงทุนสามารถลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ หรือกองตราสารหนี้อย่าง K-FIXED-A หรือ K-FIXEDPLUS-A ได้

ในช่วงต้นเดือน เม.ย. 68 ที่สหรัฐฯ ประกาศมาตรการขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับนานาชาติ ทำให้ทั้งสินทรัพย์เสี่ยงและตราสารหนี้มีความผันผวน อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง K WEALTH ยังคงแนะนำว่าการลงทุนในตราสารหนี้จะได้รับประโยชน์ เลยมาอัปเดตสถานการณ์ตลาดล่าสุดกันหน่อย


แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ และไทย (ช่วงเดือน เม.ย. 68)

อย่างที่เราทราบกัน แนวโน้มดอกเบี้ยของฝั่งสหรัฐฯ อยู่ในช่วงขาลง แต่อาจจะช้ากว่าที่ตลาดคาดไปบ้าง จากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ในภาพรวม 1 เดือนที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ค่อนข้างผันผวน หลังมีการประกาศอัตราภาษีตอบโต้ทางการค้ากับหลายประเทศ ทำให้มีความกังวลมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี ปรับขึ้นมาสูงที่ 4.5% ก่อนจะลดมาเหลือ 4.23% ช่วงปลายเดือน



รูปที่ 1 : อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 68 จาก K Research Bullentin วันที่ 29 เม.ย. 68


ส่วนสถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ไทย ก็มีแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเป็นขาลงเช่นเดียวกัน จากการที่ ธปท.ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยล่าสุด ปลายเดือนเมษา ได้ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรฯ ไทย 10 ปี ปรับลงมาที่ 1.87% ในช่วงปลายเดือน



อัตราดอกเบี้ย กับราคาตราสารหนี้ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร?

คำถามที่ตามมาคือ เมื่อเราเห็นข่าวว่าอัตราดอกเบี้ยกำลังลดลง แล้วกระทบกับราคาตราสารหนี้อย่างไร ลองนึกภาพตามว่า เมื่อดอกเบี้ยกำลังทยอยลดลง นักลงทุนจะเริ่มต้องการเข้าไปซื้อตราสารหนี้ที่ให้ดอกเบี้ยสูงไว้ก่อน เพื่อล็อกผลตอบแทน นั่นทำให้ราคาตราสารหนี้ที่ซื้อขายกันอยู่ ปรับเพิ่มขึ้น และเมื่อราคาเพิ่ม ก็เลยทำให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond Yield) ปรับลงนั่นเอง


ยกตัวอย่างเช่น ถ้าตราสารหนี้ A ราคา 100,000 บาท ให้ดอกเบี้ย 4% แต่วันนี้ดอกเบี้ยในตลาดลดลงมาเหลือ 3% แปลว่า ถ้าใครจะออกตราสารหนี้ใหม่ๆ ก็จะให้ดอกเบี้ยที่ลดลงมาตามตลาดด้วย ดังนั้น การเข้าไปซื้อตราสารหนี้ A ก็จะให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าของใหม่ๆ ที่กำลังจะออกมา เมื่อคนมีความต้องการซื้อตราสารหนี้ A มากขึ้น ก็อาจยอมจ่ายเงินมากกว่า 100,000 บาท และนั่นทำให้ราคาของตราสารหนี้ A ปรับเพิ่มขึ้นนั่นเอง


ผลที่ตามมาคือ เมื่อราคาตราสารหนี้ A เพิ่มขึ้น สมมติเป็น 101,000 บาท ทำให้ดอกเบี้ยที่จะได้รับ เทียบกับต้นทุนที่ไปซื้อมา ปรับลดลง และนั่นก็ทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ A ลดลง (Bond Yield)


ดังนั้น จากภาพรวมตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯ และไทย ที่มีแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลงเหมือนกัน ทำให้นักลงทุนเข้าลงทุนในตราสารหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะยาว เพื่อล็อกผลตอบแทน ผลคือ ราคาตราสารหนี้ก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้น และ Bond Yield ก็จะมีแนวโน้มลดลง


สรุป ช่วงแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง ความต้องการตราสารหนี้ระยะยาว จะมีมากขึ้น เนื่องจากต้องการล็อกผลตอบแทนในระยะยาว ตรงกันข้าม ช่วงที่มีแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ความต้องการตราสารหนี้ระยะสั้น จะมีมากขึ้น เนื่องจากต้องการลงทุนระยะสั้น เพื่อรอไปลงทุนต่อในอนาคต ที่จะได้ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น


คำแนะนำการลงทุนในภาวะดอกเบี้ยขาลง

สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง และมีเงินก้อน แนะนำให้ลงทุนตราสารหนี้ระยะยาวมากขึ้น เพื่อล็อกผลตอบแทนให้อยู่ในระดับสูง ก่อนที่ดอกเบี้ยจะปรับลดลงในอนาคต ซึ่งในเดือน พ.ค. 68 จะมีตราสารหนี้ที่ออกจำหน่าย โดย ธนาคารกสิกรไทย ผ่าน Website: K-MyInvest ดังนี้



โดยนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ และสามารถลงทุนได้เกิน 5 ปี การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลก็เป็นทางเลือกที่จะช่วยล็อกผลตอบแทนได้ และใช้เงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 1,000 บาท


สำหรับหุ้นกู้เอกชน ควรเป็นนักลงทุนที่เคยลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงมาก่อน มีระยะเวลาลงทุนยาวเกิน 5 ปี และมีเงินลงทุนสูง (หลักแสนขึ้นไป) อย่าลืมศึกษาวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงินของบริษัทที่ออกหุ้นกู้ เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการใช้เงิน และความเสี่ยงควบคู่กับอัตราผลตอบแทน


สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ แนะนำ กองทุนตราสารหนี้ระยะยาว อย่าง K-FIXED-A ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ไทย หรือ K-FIXEDPLUS-A ที่เน้นลงทุนตราสารหนี้ไทยและต่างประเทศ ที่มีระยะเวลาลงทุนมากกว่า 1 ปี เหมาะกับล็อกผลตอบแทนในช่วงดอกเบี้ยขาลง สามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ โดยทั้ง 2 กองทุน มีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 4.77% และ 4.84% ตามลำดับ (ณ 29 เม.ย. 68) แต่หากระยะเวลาลงทุนน้อยกว่า 1 ปี แนะนำให้เริ่มต้นกับ กองทุน K-SF-A เน้นลงทุนในตราสารหนี้ไทยและต่างประเทศ ที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี (ตราสารหนี้ระยะสั้น) ก่อน ซึ่งมีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 2.29% (ณ 29 เม.ย. 68)


ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย K Research Bulletin Vol.1No.6 : 29 April 2025