ศึกเทคโนโลยีสหรัฐฯ-จีน การแข่งขันและบทบาทใหม่ของจีนบนเวทีโลก

กดฟัง
หยุด

Harold Ford อดีตสมาชิกสภาคอนเกรสพรรคเดโมแครต เคยกล่าวเตือนสหรัฐฯ ว่า “ผู้นำจีนกำลังวางแผนในหลักร้อยปี ส่วนผู้นำสหรัฐฯ คิดในหลัก 140 คำ”

140 คำ คงหมายถึงจำนวนคำในทวีตของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งทวีตทีไร ก็ปั่นป่วนโลกได้ทุกครั้ง ในขณะที่ดูเหมือนจีนกำลังเล่นบทน้ำนิ่งไหลลึก วางเกมระยะยาว ทนเจ็บปวดในระยะสั้น


ในส่วนสงครามการค้านั้น จีนและสหรัฐฯ ยังคงแตกหักกันในทันทีไม่ได้ ต้องพักรบระยาวกันต่อไป เพราะสหรัฐฯ ยังคงต้องการแร่แรร์เอิร์ธจากจีน ส่วนจีนเองก็ยังคงต้องการซอฟแวร์สำหรับใช้ดีไซน์ชิปจากสหรัฐฯ


ก่อนหน้านี้ที่ทั้งสองฝ่ายระงับการส่งออกของเหล่านี้ระหว่างกัน ส่งผลกดดันให้สองฝ่ายต้องกลับมาที่โต๊ะเจรจาและประกาศลดอัตราภาษีระหว่างกันลงมาเท่ากับระดับอัตราภาษีก่อนเดือนเมษายนที่ทรัมป์เริ่มทำสงครามการค้ากับทั้งโลก


ท่ามกลางความผันผวนจากสงครามการค้าและปัญหาอสังหาริมทรัพย์ในจีนเอง เศรษฐกิจจีนยังคงอ่อนแรง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีนกลับพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด สัญญาณชัดว่าจีนกำลังเล่นเกมยาว


เพราะเทคโนโลยีคือปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริงที่จะกำหนดว่าสุดท้ายใครเป็นเจ้าเศรษฐกิจและความมั่นคงของโลกยุคใหม่ ที่อังกฤษชนะจีนในสงครามฝิ่นก็เพราะการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุค 2.0 ในอังกฤษ และในขณะนี้ จีนเองก็กำลังมั่นใจว่าตนเองได้ก้าวขึ้นรถด่วนขบวนแรกในยุคอุตสาหกรรม 4.0 และ 5.0 ได้เรียบร้อย


ในสามอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ พลังงานสะอาด AI และไบโอเทค จีนขึ้นมาแข่งขันกับฝั่งตะวันตกได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ


ด้านพลังงานสะอาด โลกกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากยุคน้ำมันไปสู่ยุคพลังงานสีเขียว ซึ่งให้โอกาสมหาศาลแก่จีนที่ลงทุนมหึมาในด้านนี้จนก้าวขึ้นมานำการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานใหม่


“สามสิ่งใหม่” ของจีน ได้แก่ โซล่าเซลล์ ซึ่งจีนผลิต 9 ใน 10 ของกำลังการผลิตของโลก รถยนต์ EV ที่จีนผลิต 2 ใน 3 ของกำลังการผลิตของโลก และแบตเตรี่ ที่จีนผลิต 3 ใน 4 ของกำลังการผลิตทั้งโลก


ส่วนเรื่อง AI นั้น เหมือนเป็นศึกขนมชั้น เพราะสมรภูมิ AI มีองค์ประกอบหลายชั้น สหรัฐฯ และจีนต่างผลัดกันเป็นผู้นำกันคนละชั้น


เริ่มจากชั้นแรก คือ AI ต้องใช้พลังงานสะอาดมหาศาล เรื่องนี้จีนชนะขาด แต่พอมาถึงชั้นที่สองคือพลังการประมวลผล (computing power) ของชิปไฮเทค สหรัฐฯ กีดกันไม่ขายชิปที่ดีที่สุดให้จีน ดังนั้นในชั้นนี้สหรัฐฯ ยังครองความเป็นผู้นำ


ชั้นถัดมาคือเรื่องของข้อมูล (data) ซึ่งเป็นเสมือนน้ำมันของโลกยุคใหม่ ยิ่งใครมีข้อมูลเยอะ AI ยิ่งจะฉลาดมากขึ้น ดังที่เทคโนโลยี Facial Recognition ของจีนดีที่สุดในโลก เพราะจีนมีใบหน้าคนในโลกดิจิทัลเยอะที่สุด ในเรื่องปริมาณข้อมูลนั้น ด้วยประชากร 1.4 พันล้านคนที่เป็นพลเมืองดิจิทัล ทำให้จีนนำหน้าสหรัฐฯ


แต่พอถึงชั้นถัดไปคือ ชั้นของโมเดลอัลกอริทึม อย่างเทคโนโลยี Generative AI ที่ตัวอัลกอริทึมสำคัญมาก ในเรื่องนี้ Chat GPT ยังคงเป็นผู้นำโลก สหรัฐฯ ยังนำหน้าจีน แม้เราจะเห็น DeepSeek ของฝั่งจีนขึ้นมาสร้างแรงสั่นสะเทือนและกำลังตามติดชนิดหายใจรดต้นคอ


ส่วนชั้นสุดท้ายคือ การประยุกต์ AI ไปใช้ในวงการต่างๆ (Application and Adoption) ต้องบอกว่าเรื่องการนำไปใช้นี้จีนเก่งและเร็วที่สุด ทำให้เกิดเมืองอัจฉริยะ (smart city) ท่าเรืออัจฉริยะ (smart port) โรงงานอัจฉริยะ (smart factory) โรงพยาบาลอัจฉริยะ (smart hospital) รถอัจฉริยะหรือรถไร้คนขับ (smart car) ฯลฯ AI กำลังจะมาเปลี่ยนโฉมทุกภาคอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ของจีน


ข่าวที่ได้สั่นสะเทือนวงการเทคโนโลยีโลกในช่วงต้นปีก็คือ ความสำเร็จของ DeepSeek ซึ่งเป็น Generative AI สายพันธุ์จีน หากสมัยก่อนเคยมี “Sputnik Moment” ที่คนสหรัฐฯ ตื่นและตระหนก เพราะการส่งดาวเทียมดวงแรกของโลกชื่อ Sputnik ของสหภาพโซเวียต หลายคนก็เปรียบทียบปีนี้ว่าเป็น “DeepSeek Moment” ที่สหรัฐฯ ได้ตื่นและเริ่มตระหนกต่อการพัฒนาที่รวดเร็วของเทคโนโลยีจีน


DeepSeek สามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำและด้วยการใช้ชิปที่ไม่ได้มีพลังการประมวลผลสูง แถม DeepSeek ยังเป็น open source ซึ่งจะทำให้การประยุกต์ใช้ AI แพร่หลายต่อไปในทุกวงการได้อย่างรวดเร็ว


แต่ที่สำคัญและน่าสนใจที่สุดคือ DeepSeek ไม่ใช่บริษัทของรัฐบาลและไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ แต่เป็นม้ามืดที่มาจากกากรรวมตัวกันของบัณฑิตปริญญาเอกด้าน AI ของมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงกลุ่มหนึ่ง สะท้อนว่าพื้นฐานความแข่งแกร่งด้านเทคโนยีของจีนจริงๆ แล้วอยู่ที่ทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่มีปริมาณมหาศาลที่สุดในโลกและมีคุณภาพสูง


ล่าสุดหลายคนมองว่าวงการ Biotech เองก็กำลังเกิด DeepSeek Moment ขึ้นเช่นกัน เมื่อฝรั่งตื่นและตระหนกกับการพัฒนาที่รวดเร็วในวงการไบโอเทค ยา เครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีสุขภาพของจีน รายงานชื่อ Critical and Emerging Technologies Index ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเพื่องออกมาเมื่อต้นเดือนมิถุนายนนี้เอง ประเมินว่าในสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในมิติต่างๆ นั้น มิติที่จีนมีโอกาสแซงหน้าสหรัฐฯ เร็วที่สุดคือ ด้านไบโอเทค


Thomas Friedman คอลัมน์นิสต์ชื่อดังของ New York Times ซึ่งไม่ได้ไปจีนมา 5 ปี ตั้งแต่วิกฤตโควิด จนเมื่อต้นปี 2025 เขาจึงได้มีโอกาสไปเยือนจีนอีกครั้ง ปรากฎว่าเขากลับมาเขียนบทความเรื่อง “I just saw the future. It was not in America”


อนาคตอยู่ที่เซี่ยงไฮ้กับเสินเจิ้นที่เขาได้ไปเห็นนวัตกรรมด้านต่างๆ ของจีนด้วยตาตัวเองครับ

คำเตือน


Back to top