หลอดเลือดหัวใจตีบ โรคร้ายอันตรายถึงชีวิต
อัตราการเสียชีวิตของคนไทยจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มสูงขึ้นทุกปีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มวัย ยิ่งการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง อาจทำให้เราละเลยการดูแลสุขภาพตนเอง นำมาซึ่งความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้น ดังนั้นเราจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้เอาไว้ เพื่อสังเกตอาการตัวเองเบื้องต้น รวมทั้งวางแผนดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเกิดจากอะไร?
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease)
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจแคบลงหรืออุดตัน เนื่องจากมีการสะสมของคอเลสเตอรอลและสารต่าง ๆ ภายในหลอดเลือด จนเกิดคราบไขมันเกาะบริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจ ทำให้ปิดกั้นการไหลเวียนของเลือด เป็นผลทำให้ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและตายเฉียบพลันหรือหัวใจวาย ซึ่งอาจร้ายแรงถึงชีวิตได้
อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
หลายคนอาจจะสงสัยว่าอาการเส้นเลือดหัวใจตีบ เป็นยังไง? เพราะผู้ป่วยบางรายก็ไม่แสดงอาการชัดเจน เราจึงรวบรวมสัญญาเตือนที่บ่งบอกว่าคุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยหากมีอาการดังต่อไปนี้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยทันที
- เจ็บแน่นหน้าอกตรงกลาง บางครั้งอาจปวดร้าวลามไปถึงไหล่ซ้ายและแขนซ้าย
- แน่นหน้าอกจนหายใจไม่ออก
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- บางรายอาจมีอาการใจสั่น เหงื่อออกร่วมด้วย
- วูบ หมดสติ หัวใจหยุดเต้น
ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- ผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้หญิงอายุ 55 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน
- ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำและขาดการออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง
- ผู้ที่มีภาวะเครียด หรืออยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดเป็นประจำ
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่บ่อย
- ผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
อย่างไรก็ตาม โรคหลอดเลือดหัวใจตีบไม่ได้พบเฉพาะกลุ่มชายหญิงวัยกลางคนไปจนถึงวัยทองเท่านั้น ด้วยปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการ ทั้งการแข่งขันสูง ความเครียด สูบบุหรี่จัดตั้งแต่อายุน้อย หรือพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สามารถพบภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบในอายุ 30-35 ปี มากขึ้น
วิธีดูแลป้องกันไม่ให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
สามารถลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารเค็มหรือหวานจัด
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
- หากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด
- พักผ่อนให้เพียงพอ
การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบทางการแพทย์
ใครที่สงสัยว่าเส้นเลือดหัวใจตีบ รักษายังไง? การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบทางการแพทย์นั้น สามารถทำได้ดังต่อไปนี้
- การรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่หลอดเลือดหัวใจตีบตันบางส่วน ยังไม่จำเป็นต้องทำหัตถการ
- การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนหรือบอลลูนหัวใจ (Balloon Angioplasty) และใส่ขดลวด (Stent) เข้าไป เป็นการทำหัตถการโดยไม่ต้องผ่าตัด วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่หลอดเลือดหัวใจตีบตันมาก
- การผ่าตัดทำบายพาสหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting) เพื่อทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เลือดผ่านส่วนที่ตีบหรือตันได้ดีขึ้น วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำบอลลูนหัวใจได้
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีความร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต หากปล่อยทิ้งไว้และไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ดังนั้นหมั่นสังเกตอาการตนเองและคนในครอบครัวอยู่เสมอ ถ้าพบว่ามีอาการเข้าข่ายโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางทันที นอกจากนี้ยังสามารถลดความเสี่ยงของโรคด้วยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกายและหัวใจ
ขึ้นชื่อว่าโรคร้ายแรง ย่อมมีค่ารักษาพยาบาลสูง ซึ่งค่ารักษาพยาบาลจะแตกต่างไปตามวิธีการรักษา และระดับความรุนแรงของโรค อย่างเช่นการรักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจ หรือการทำบายพาสหัวใจ ค่ารักษาจะเริ่มต้นตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไปเลยทีเดียว จะดีกว่าไหมหากเราเตรียมรับมือกับค่ารักษาพยาบาลโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยการทำประกันโรคร้ายแรง ตัวช่วยดูแลค่ารักษาพยาบาล ให้คุณได้รับการรักษาอย่างเต็มที่เมื่อตรวจเจอ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย
ช่วยค้นหาประกันที่ใช่
ดูแล คุ้มครองได้ตรงใจคุณ
เพียงเลือกสิ่งที่คุณสนใจ และให้เราเลือกประกัน
ที่เหมาะที่สุดสำหรับคุณ