รวมเทคนิคผ่อนบ้านให้หมดเร็ว รวมเทคนิคผ่อนบ้านให้หมดเร็ว

รวมเทคนิคผ่อนบ้านให้หมดเร็ว

การซื้อบ้านสักหลังนั้นใช้เงินจำนวนไม่น้อย และยังใช้เวลาเก็บเงินก้อนยาวนาน จึงมีตัวเลือกการซื้อบ้านด้วยการขอสินเชื่อกับทางธนาคาร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีและปลอดภัย เพราะการดำเนินการต่างๆ มีความชัดเจนและตรวจสอบได้ แต่ก่อนที่จะขอสินเชื่อผ่อนบ้านกับธนาคารนั้น มีวิธีการเตรียมตัวและเทคนิคการผ่อนบ้านอย่างไรให้หมดเร็ว เช่น การชำระยอดเกิน การมีเงินสำรองฉุกเฉิน และอีกหลายเทคนิคที่น่าสนใจ มาดูกันว่าแต่ละเทคนิคจะทำได้อย่างไรบ้าง

การผ่อนบ้านดีอย่างไร การผ่อนบ้านดีอย่างไร

การผ่อนบ้านดีอย่างไร

การผ่อนบ้านกับธนาคาร คือ การที่ผู้ซื้อบ้านขอสินเชื่อกับทางธนาคารเพื่อนำไปซื้อบ้าน โดยหลังจากที่ผู้ซื้อบ้านได้รับเงินกู้เพื่อนำไปซื้อบ้านแล้ว จะต้องชำระเงินกู้คืนให้กับทางธนาคารเป็นงวดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญากู้ยืม

ในสัญญากู้ยืมนั้นจะประกอบไปด้วยรายละเอียดต่างๆ เช่น อัตราดอกเบี้ย การคำนวณดอกเบี้ย ระยะเวลาในการผ่อนชำระ เป็นต้น ด้วยความที่มีสัญญากู้ยืมที่ระบุชัดเจน ทำให้การผ่อนบ้านกับธนาคารจึงเป็นวิธีที่ปลอดภัย โดยเฉพาะใครที่อยากผ่อนบ้านกับธนาคารให้หมดเร็วก็สามารถทำได้ เพราะรายละเอียดในสัญญาจะช่วยให้มองเห็นภาพรวมของเงินต้นและดอกเบี้ยที่ต้องชำระ และประเมินความสามารถในการโปะเงินในแต่ละงวดได้

ผ่อนบ้านต้องเตรียมตัวอย่างไร ผ่อนบ้านต้องเตรียมตัวอย่างไร

ผ่อนบ้านต้องเตรียมตัวอย่างไร

การผ่อนบ้านกับธนาคารนั้นควรมีการเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อให้การดำเนินการขอสินเชื่อเป็นไปอย่างรวดเร็วและราบรื่น โดยสามารถเตรียมตัวก่อนขอสินเชื่อธนาคารได้ ดังนี้

1. ศึกษาข้อมูลสินเชื่อบ้านกับธนาคาร

แนะนำให้ศึกษาข้อมูลสินเชื่อผ่อนบ้านกับธนาคารให้ถี่ถ้วน เพราะในแต่ละธนาคารต่างก็มีรายละเอียดสินเชื่อแตกต่างกันไป อีกทั้งยังมีสินเชื่อสำหรับบ้านอีกหลายประเภท หากมีคำถามเกี่ยวกับการขอสินเชื่อ ก็สามารถสอบถามข้อมูลกับทางธนาคารได้โดยตรง จะช่วยให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และช่วยให้ประเมินความสามารถในการชำระเงินได้

2. เก็บเงินก้อนสำหรับดาวน์บ้าน

หากมีเงินก้อนสำหรับดาวน์บ้าน ก็จะช่วยลดจำนวนวงเงินที่ต้องกู้จากธนาคารได้ ซึ่งจะทำให้เงินกู้ที่ต้องผ่อนชำระลดลงไปด้วยเช่นกัน นอกจากนี้การเก็บเงินก้อนยังส่งผลดีต่อรายการเดินบัญชี หรือที่เรียกว่า Statement ช่วยทำให้บัญชีมีความเคลื่อนไหว และช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของผู้ขอสินเชื่อได้อีกด้วย

3. ประเมินคุณสมบัติ และความสามารถในการขอสินเชื่อ

สินเชื่อบ้านส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาผ่อนชำระยาวนานถึง 20-30 ปี ดังนั้นธนาคารจำเป็นต้องประเมินคุณสมบัติของผู้กู้ ทั้งอายุ อาชีพ รายได้ต่อเดือน ประวัติเครดิต ฯลฯ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้กู้จะสามารถผ่อนชำระได้ตามสัญญา หากคุณมีงานที่มั่นคง อายุไม่มาก และมีเครดิตที่ดี ก็ย่อมมีโอกาสผ่านการพิจารณาจากธนาคาร

4. ตรวจสอบภาระหนี้สิน

อย่าลืมตรวจสอบภาระหนี้สินของตนเอง เช่น หนี้บัตรเครดิต ประวัติการชำระหนี้ต่างๆ เป็นต้น เพราะการมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่สูง จะส่งผลต่อการพิจารณาวงเงินกู้และการอนุมัติจากธนาคารได้ นอกจากนี้ธนาคารยังพิจารณาถึงอัตราส่วนระหว่างรายได้กับรายจ่าย หากมีหนี้สินหรือค่าใช้จ่ายจำนวนมากธนาคารก็สามารถประเมินไม่อนุมัติสินเชื่อได้เช่นกัน

5. เตรียมเอกสารสำหรับขอสินเชื่อบ้าน

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ต้องเตรียมไว้ให้พร้อม คือ เอกสารสำหรับขอสินเชื่อบ้าน ซึ่งในแต่ละธนาคารจะขอเอกสารแตกต่างกันไป ดังนั้นควรตรวจสอบกับธนาคารที่จะขอสินเชื่อว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า ลดความยุ่งยาก และป้องกันการเสียเวลาที่ต้องหาเอกสารเพิ่มเติม

ประเภทของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน ประเภทของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน

ประเภทของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน

เมื่อรู้วิธีการเตรียมพร้อมก่อนขอสินเชื่อบ้านแล้ว สิ่งที่ควรรู้ต่อมาคือประเภทของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยวางแผนการชำระหนี้ต่อไปในอนาคต โดยอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านมี 2 ประเภท ดังนี้

อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านแบบคงที่

อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านแบบคงที่ คือ อัตราดอกเบี้ยจะมีค่าคงที่เสมอตามที่ระบุในสัญญา แม้ว่าธนาคารจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยอย่างไรก็ตาม แต่ดอกเบี้ยที่ต้องชำระตามสัญญาจะยังคงเท่าเดิม ตัวอย่างเช่น ในสัญญาระบุว่าดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรก 3.8% หลังจากนั้นจะคิดดอกเบี้ย 7.3% ตลอดสัญญา

อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านแบบลอยตัว

อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านแบบลอยตัว คือ อัตราดอกเบี้ยจะมีค่าเปลี่ยนแปลงไปตามประกาศของธนาคารกลาง โดยในสัญญาจะระบุเป็น MRR – X% ยกตัวอย่างเช่น ในสัญญาระบุว่า MRR – 2.5% ในวันที่ทำสัญญา MRR อยู่ที่ 7.3 %เท่ากับว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 7.3% - 2.5% = 4.8% แต่ในอนาคตหากธนาคารประกาศปรับ MRR เป็น 7.0% เท่ากับว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 7.0% - 2.5% = 4.5% ทำให้จ่ายดอกเบี้ยน้อยลงเป็นต้น

ขั้นตอนการผ่อนสินเชื่อบ้านกับธนาคาร

การขอสินเชื่อผ่อนบ้านกับธนาคาร มีขั้นตอนดังนี้

  1. เลือกประเภทสินเชื่อที่เหมาะสมกับสถานะการเงิน
  2. ส่งคำขอสินเชื่อพร้อมยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้อง
  3. ธนาคารพิจารณาคุณสมบัติและประเมินราคาหลักประกัน
  4. แจ้งผลการอนุมัติสินเชื่อ
  5. ทำสัญญาและจดจำนอง ณ กรมที่ดิน
  6. ผ่อนชำระเงินกู้ตามที่ระบุในสัญญา จนสำเร็จตามกำหนด
วิธีผ่อนบ้านให้หมดเร็ว วิธีผ่อนบ้านให้หมดเร็ว

วิธีผ่อนบ้านให้หมดเร็ว

ใครที่กำลังจะขอสินเชื่อบ้าน หรืออยากจะผ่อนบ้านกับธนาคารให้หมดเร็วๆ ลองมาดูเทคนิคเหล่านี้ และนำไปประยุกต์ใช้เหมาะสม ก็จะช่วยให้ปลอดหนี้สินได้เร็วขึ้น

1. สำรองเงินฉุกเฉิน 6-12 เดือนของค่าใช้จ่าย

การสำรองเงินเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินก็จะสามารถนำเงินสำรองนี้ออกมาใช้ได้ทันที โดยไม่ทำให้การเงินติดขัดหรือต้องเลื่อนการชำระหนี้ออกไป ซึ่งโดยปกติแล้วในสัญญาเงินกู้จะระบุเรื่องค่าปรับในการผิดนัดชำระหนี้ไว้ ดังนั้น การมีเงินสำรองก็จะช่วยป้องกันความเสี่ยงในการผิดนัดชำระ รวมไปถึงยังช่วยให้สภาพทางการเงินคล่องตัวโดยที่ไม่ต้องหยิบยืมและสร้างหนี้เพิ่มได้

2. การชำระเกินยอด หรือโปะเงินต้น

การชำระเกินยอดหรือที่เรียกกันว่าโปะเงินต้น คือการชำระค่าผ่อนบ้านมากกว่าจำนวนที่ระบุในสัญญา เช่น ธนาคารกำหนดให้ชำระค่าผ่อนบ้าน 10,000 บาทต่อเดือน แต่อาจโปะเพิ่มเป็น 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะทำให้ลดระยะเวลาการผ่อนบ้านได้หรืออาจจะโปะเพิ่มด้วยเงินก้อนใหญ่ปีละ 1-2 ครั้งก็ทำได้เช่นกัน วิธีนี้จะช่วยปิดหนี้ได้อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่ต้องผ่อนชำระ 30 ปี อาจเหลือเพียงแค่ 15-20 ปีก็เป็นได้

3. ชำระสินเชื่อให้ตรงเวลาเสมอ

การชำระหนี้ตรงเวลานั้น นอกจากจะช่วยป้องกันไม่ให้เสียค่าปรับจากการผิดนัดชำระแล้ว ยังส่งผลให้กลายเป็นผู้กู้ชั้นดี เนื่องจากไม่มีประวัติการผิดนัดชำระ และชำระได้ตรงเวลาสม่ำเสมอ เวลาที่ต้องการจะรีไฟแนนซ์ หรือรีเทนชั่นนั้น ย่อมมีโอกาสต่อรองกับธนาคารได้มากขึ้นนั่นเอง

4. งดการสร้างภาระหนี้สินเพิ่ม

ถ้าหากว่ามีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะค่าบัตรเครดิต รถยนต์ หรือสินเชื่อต่างๆ เพิ่มขึ้นมาอีก การจะแบ่งส่วนและนำเงินมาโปะค่าผ่อนบ้านให้หมดเร็วๆ นั้นคงเป็นเรื่องยาก ดังนั้นควรงดการสร้างหนี้เพิ่ม และหันมาสร้างรายได้เสริมเพื่อนำเงินมาโปะค่าบ้านจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า

5. วางแผนบันทึกรายรับ-รายจ่าย เพื่อเพิ่มยอดชำระสินเชื่อ

หากเริ่มต้นขอสินเชื่อบ้านแล้ว ก็ควรเริ่มต้นทำบันทึกรายรับ - รายจ่ายควบคู่ไปด้วยเช่นกัน วิธีนี้จะช่วยให้เห็นภาพรวมทางการเงิน สามารถแบ่งสรรปันส่วนได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ระบุค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็นได้อย่างแม่นยำ เมื่อสามารถตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นได้แล้ว ก็จะมีเงินเหลือไว้เก็บออม หรือนำเงินส่วนนี้ไปโปะค่าบ้านได้

วิธีผ่อนบ้านให้หมดเร็ว วิธีผ่อนบ้านให้หมดเร็ว

การผ่อนบ้านกับธนาคารถือว่าเป็นอีกตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่วางแผนจะซื้อบ้าน แต่ไม่มีเงินก้อนมากพอ โดยการขอสินเชื่อบ้านควรศึกษาข้อมูล และเตรียมเอกสารให้พร้อม และที่สำคัญคือควรเลือกขอสินเชื่อที่เหมาะสมกับตัวเอง จากสถาบันทางการเงินที่น่าเชื่อถือ อาทิ สินเชื่อบ้านจากธนาคารกสิกรไทย และควรมีเทคนิควิธีผ่อนบ้านให้หมดเร็ว เช่น การจ่ายให้เกินยอดด้วยเงินก้อนใหญ่ปีละ 1-2 ครั้ง จะทำให้ลดระยะเวลาการผ่อนบ้านลงได้ หรือจะเป็นวิธีอื่นๆ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสภาพการเงินของแต่ละคน เพื่อช่วยให้ปลอดหนี้สินได้เร็วขึ้น

อ่านบทความสินเชื่อบ้านและเรื่องบ้านเพิ่มเติม

คลิกเลย
back to top