เชื่อได้เลยว่านักลงทุนเกือบทุกรายต้องมีประกันชีวิตอย่างน้อยๆ คนละหนึ่งกรมธรรม์ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีจุดประสงค์ทั้งเพื่อการลงทุนและการป้องกันความเสี่ยงกรณีเสียชีวิต โดยเจ้าของกรมธรรม์จะต้องจ่ายเบี้ยประกัน เพื่อแลกกับความคุ้มครอง โดยจะได้รับผลประโยชน์ตามที่กรมธรรม์ระบุไว้ ในกรณีที่เจ้าของกรมธรรม์ไม่ต้องการถือกรมธรรม์นั้นแล้ว วิธีที่ง่ายที่สุดคือการขอเวนคืนกรมธรรม์แก่บริษัทประกันชีวิต แต่เงินที่ได้มาก็มักจะไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับเบี้ยประกันที่จ่ายไป
จึงนำมาสู่ธุรกรรมการเงินที่เรียกว่า Life Settlement ซึ่งเป็นธุรกรรมทางการเงินที่ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ถือกรมธรรม์ในการขายกรมธรรม์ของตนให้แก่ตัวกลาง ในกรณีที่ผู้ซื้อกรมธรรม์นั้นไม่สามารถชำระค่าเบี้ยประกันได้อีกต่อไป หรือมีความจำเป็นต้องใช้เงินขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งธุรกรรมนี้อาจไม่ค่อยคุ้นหูนักสำหรับนักลงทุนชาวไทย แต่ในสหรัฐ การลงทุนโดยการซื้อขายกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือ Life Settlement ทำกันอย่างแพร่หลาย โดยมีกฎหมายคุ้มครองการทำรายการซื้อขายใน 43 รัฐ ทำให้มีผู้ลงทุนและผู้ขายกรมธรรม์มากขึ้นทุกปี
และนั่นก็เป็นที่มาของกองทุน Life Settlement ที่ระดมเงินจากผู้ลงทุนไปเพื่อซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต โดยเจ้าของประกันก็จะได้รับเงินจากการขายกรมธรรม์ประกันชีวิต หลังจากนั้น กองทุนจะกลายเป็นผู้รับผลประโยชน์จากกรมธรรม์แทนเจ้าของเดิม และมีภาระในการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตให้กับบริษัทประกันชีวิตแทนจนกว่าเจ้าของกรมธรรม์เดิมเสียชีวิต หลังจากนั้นจึงรับสินไหมจากบริษัทประกันเป็นผลประโยชน์ในการลงทุน ในการสร้างผลตอบแทนนั้นกองทุน Life Settlement จะต้องคำนวนราคาซื้อกรมธรรม์รวมกับค่าเบี้ยที่ต้องจ่ายต่อไปในอนาคต ให้คุ้มค่ากับผลประโยชน์ที่จะได้รับตามสัญญา
การลงทุนในกองทุน Life Settlement มีจุดเด่นดังนี้
- มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับความเสี่ยง โดยจากข้อมูลในอดีตนั้นให้ผลตอบแทนถึง 11-14% มากกว่าการลงทุนในหุ้นกู้บริษัทเอกชนกว่า 2 เท่า ส่วนด้านความเสี่ยงนั้นสามารถประเมินได้จากแบบจำลองคณิตศาสตร์ประกันภัย
- มีความสัมพันธ์กับตลาดการเงิน และสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ ต่ำ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจน้อย จึงเหมาะสำหรับการกระจายการลงทุนเป็นอย่างมาก
- มีความผันผวนต่ำ เนื่องจากเป็นการลงทุนเพื่อรอครบกำหนดจึงได้รับผลตอบแทน ต่างจากหุ้นหรือตราสารหนี้ที่มีการซื้อขายทุกวัน
- มีกรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นหลักประกัน ซึ่งมีลำดับชั้นการชำระหนี้ตามกฎหมายก่อนหน้าทั้งหุ้นกู้และหุ้นสามัญ
แน่นอนว่าทุกการลงทุนย่อมต้องมีความเสี่ยง โดยการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้มีความเสี่ยงบางประการ ที่ล้วนลดทอนหรือหลีกเลี่ยงได้ด้วยการลงทุนผ่านผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ลงทุนในด้านนี้มากว่า 30 ปี และผ่านการวิเคราะห์กรมธรรม์มามากกว่าครึ่งล้านกรมธรรม์ เช่น 1. ความเสี่ยงที่กองทุนต้องจ่ายเบี้ยประกันนานกว่าคาด จากอายุของเจ้าของกรมธรรม์ที่ยืนยาวขึ้น สามารถลดทอนความเสี่ยงนี้ด้วยการเฟ้นหากรมธรรม์เพื่อจัดพอร์ตลงทุนที่มีอายุเฉลี่ยของผู้ขายกรมธรรม์ที่ค่อนข้างสูงราวๆ 80 ปี ทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันนานเกินไป รวมทั้งกระจายโรคประจำตัวของเจ้าของกรมธรรม์เพื่อขจัดความเสี่ยงหากมียารักษาโรคใหม่ๆ
2.ความเสี่ยงที่บริษัทประกันชีวิตจะประสบปัญหาสภาพคล่อง ทำให้ขาดแคลนเงินสดมาจ่ายเบี้ยประกัน กองทุนจะเลือกลงทุนในกรมธรรม์ของบริษัทประกันคู่สัญญาที่มีอันดับเครดิตเรตติ้งสูง และกระจายในหลายสิบบริษัท เพื่อลดความเสี่ยงด้านปัญหาสภาพคล่องของบริษัทคู่สัญญา และ (3) สินทรัพย์ประเภทนี้ไม่มีราคากลางกำหนดราคากรมธรรม์ประกันชีวิต ซึ่งสามารถคลายกังวลได้ หากมีทีมงานนักคณิตศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการคำนวณมูลค่ากรมธรรม์
แต่ความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องเผชิญมีเพียงเรื่องสภาพคล่อง ที่ต้องถือเงินลงทุนราวๆ 3 ปี เพื่อสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจ ลดโอกาสขาดทุน พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายในการขาย ด้วยความน่าสนใจของสินทรัพย์ประเภทนี้ ที่ให้ทั้งผลตอบแทนเทียบความเสี่ยงที่เหมาะสม ตลอดจนคุณสมบัติในการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวม กองทุน Life Settlement จึงถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญอีกหนึ่งชิ้น ที่จะสร้างขุมทรัพย์ลงทุนในระยะยาวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางภาวะที่ทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกเผชิญกับความผันผวนเช่นนี้
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
สรุป
กองทุน Life Settlement จึงถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญอีกหนึ่งชิ้น ที่จะสร้างขุมทรัพย์ลงทุนในระยะยาวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางภาวะที่ทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกเผชิญกับความผันผวนเช่นนี้