“เรื่องเงินทองไม่เข้าใครออกใคร" มักเป็นคำพูดที่เราได้ยินกันเสมอในทุกช่วงชีวิต แต่เวลาที่สำคัญที่สุดกลับเป็นช่วงเวลาที่หลายคนมองข้ามเรื่องนี้ไปนั่นก็คือเวลาของการแต่งงาน เมื่อความรักกำลังสุกงอม เราอาจมองข้ามความขัดแย้งที่อาจมีขึ้นในอนาคต ดังนั้น หากเราเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างทรัพย์สินและผลของการจดทะเบียนสมรสแล้ว เราจะสามารถวางแผนในการรักษาทรัพย์สินควบคู่ไปกับการมีชีวิตคู่ที่ราบรื่นได้เช่นกัน
ในทางกฎหมาย ทรัพย์สินต่าง ๆ ของสามีและภรรยา จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน อันได้แก่ สินส่วนตัวและสินสมรส
1 สินส่วนตัว หมายถึงทรัพย์สินต่าง ๆ 5 ประเภท ประกอบไปด้วย
1.1 ทรัพย์สินที่แต่ละฝ่ายมีก่อนจดทะเบียนสมรส เช่น บ้าน ที่ดิน ยานพาหนะ เงิน ทอง เป็นต้น
1.2 ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกายหรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสแต่ละฝ่าย ซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้แม้ว่าได้มาระหว่างสมรสก็ยังถือเป็นสินส่วนตัว เช่น สามีซื้อนาฬิกาใส่ ไม่ว่าจะใช้เงินส่วนตัวหรือสินสมรสก็ตาม หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัวและเหมาะสมกับฐานะก็ถือว่าเป็นสินส่วนตัว เป็นต้น ส่วนเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพจะเป็นสินส่วนตัวได้นั้นก็ต้องเป็นเครื่องมือที่จำเป็นและไม่อาจขาดเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านั้นได้ เช่น ภรรยาเป็นช่างเย็บผ้า โดยสามีใช้สินสมรสในการซื้อจักรเย็บผ้าให้แก่ภรรยา ดังนี้ จักรเย็บผ้าจะกลายเป็นสินส่วนตัวของภรรยา ตามบทบัญญัติของกฎหมาย
1.3 ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา อาทิ พ่อแม่ของฝ่ายสามียกที่ดินให้ หรือโอนเงินฝากให้สามี ทรัพย์สินเหล่านี้จะเป็นเป็นสินส่วนตัวของสามีแม้ว่าจะได้รับทรัพย์สินนั้นมาในระหว่างสมรสก็ตาม
1.4 ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้น ถือสินส่วนตัวของภรรยาเท่านั้น
1.5 ของแทนสินส่วนตัว คือทรัพย์สินหรือเงินที่ได้มาจากการนำสินส่วนตัวไปแลกเปลี่ยนหรือขาย ตัวอย่างเช่น สามีมีที่ดินอยู่ก่อนแต่งงาน หลังจากแต่งงานแล้วมีการขายที่ดินแปลงดังกล่าว เงินที่ได้มาจากการขายนั้นก็เป็นสินส่วนตัวของสามี อย่างไรก็ดี ดอกผลที่เกิดขึ้นภายหลังสมรสจะถือเป็นสินสมรส และอาจเป็นประเด็นที่มีภาระพิสูจน์มากมายเมื่อเป็นเรื่องขึ้นสู่ศาล
2 สินสมรส ฟังดูจากชื่อก็คงพอเดาได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรสกันตามกฎหมายแต่ก็ยังแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
2.1 ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส ไม่ว่าจากสามีหรือภรรยาที่ได้มาจากการทำงาน เช่น เงินเดือน โบนัส เงินบำนาญ ค่าชดเชยต่าง ๆ และรวมถึงสิทธิต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างสมรสไม่ว่าสามีหรือภรรยาผู้ทำให้ก่อเกิดสิทธินั้น เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญาจะซื้อจะขาย สัญญาเช่า สิทธิตามสัญญาย่อมเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสเช่นเดียวกัน เหตุนี้เอง เวลาที่เรานิติกรรมสัญญาใดๆ ก็ตาม จึงมีการขอให้คู่สมรสให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย
2.2 ทรัพย์สินที่สามีหรือภรรยาได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือการรับให้โดยเสน่หา เมื่อพินัยกรรมหรือการให้นั้นได้ระบุว่าเป็นสินสมรส ในส่วนของพินัยกรรมคงไม่มีปัญหาเพราะต้องทำเป็นหนังสืออยู่แล้ว แต่สำหรับการให้ที่จะระบุทรัพย์ที่ให้เป็นสินสมรสนั้น จะต้องทำเป็นหนังสือและระบุชัดเจนเท่านั้น
2.3 ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว ตามกฎหมายแล้วดอกผลนั้นมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่
1) ดอกผลจากสิ่งต่างๆ ที่ได้มาจากการเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของทรัพย์ หรือได้มาจากตัวทรัพย์นั้น เช่น ผลไม้จากสวน ข้าวจากนาข้าว แม่วัว มีน้ำนม ลูกวัว เหล่านี้ถือเป็นสินสมรสตามกฎหมาย ซึ่งเรียกว่า ดอกผลธรรมดา
2) ดอกผลจากทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ที่สามีหรือภรรยาได้มาจากบุคคลอื่นเนื่องจากการใช้ทรัพย์สินนั้น หรือที่กฎหมายเรียกว่า ดอกผลนิตินัย เช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่า เงินปันผล กำไร เป็นต้น ซึ่งเป็นการได้มาเป็นครั้งคราว สามารถคำนวณได้และมีกำหนดเวลาการจ่ายค่าตอบแทนไม่ว่าจะเป็น เงินหรือประโยชน์อย่างอื่น
เมื่อเราทราบข้อกฎหมายเบื้องต้นแล้วว่าทรัพย์สินส่วนไหนเป็นสินส่วนตัว หรือสินสมรส จะทำให้เราสามารถวางแผนการจัดการทรัพย์สินทั้งสองประเภทได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สินส่วนตัว คู่สมรสต่างฝ่ายต่างจัดการได้เอง ในขณะที่ การจัดการสินสมรสคู่สมรสต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย ดังนั้น เมื่อเวลาที่น้ำต้มผักกลับกลายเป็นขมเสียแล้ว จะจัดการอย่างไรก็ไม่ง่าย ในบทความต่อไปเราจะมาลงรายละเอียดในเรื่องการวางแผนอย่างละเอียดกันต่อไป
ที่มา: TNN Thailand