การตรวจรับบ้านก่อนโอนสำคัญไฉน ?
การตรวจรับบ้านเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก แม้ว่าจะเป็นบ้านมือสองก็สามารถตรวจรับบ้านได้เช่นกัน การตรวจรับบ้านนั้นมีจุดประสงค์เพื่อที่จะประเมินค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเบื้องต้น หรือตรวจเช็กว่างานโครงสร้างของบ้านเป็นอย่างไร ซึ่งการตรวจรับบ้านนั้นจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะทำการเซ็นรับโอนบ้าน เรียกได้ว่าเป็นการตรวจบ้านก่อนโอนนั่นเอง
เมื่อตรวจบ้านแล้วพบจุดที่ต้องซ่อมก็จะสามารถนำไปเป็นส่วนในการคำนวณค่าโอนบ้านได้ ซึ่งสามารถดูได้จากการคำนวณค่าโอนบ้านมือสอง 2565
รวมจุดสำคัญที่ต้องตรวจบ้านก่อนโอนกรรมสิทธิ์
ถึงแม้จะรู้ว่าต้องตรวจบ้านก่อนรับโอน แต่ถ้าไม่รู้วิธีตรวจรับบ้านว่าควรดูอะไรเป็นหลัก ก็อาจจะทำให้เสียเวลาไปกับเรื่องอื่น ๆ ระหว่างดูบ้าน หรือเผลอละเลยที่จะตรวจเรื่องสำคัญไปได้ ต่อไปนี้จึงเป็นจุดสำคัญที่ควรใส่ใจเป็นพิเศษเวลาตรวจบ้านมือสอง
-
ตรวจงานนอกบ้าน
การตรวจงานนอกบ้านเป็นการตรวจความแข็งแรงของบริเวณรอบ ๆ บ้าน ทั้งรั้วและประตูรั้วว่ามีสภาพใช้งานดีหรือไม่ มีสนิมทำให้เปิดประตูยากหรือเกิดการแตกหักหรือเปล่า ดูสภาพพื้นดินโดยรอบทั้งสวนหรือคอนกรีตว่ามีรอยแตกร้าวหรือไม่ หรือดูต้นไม้ในบริเวณรอบบ้านว่ามีการปลูกลงดินดีหรือเปล่า มีไม้ใหญ่บริเวณบ้านที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาหรือไม่ เป็นต้น
-
ตรวจประตู หน้าต่าง
การตรวจประตูหน้าต่าง สามารถเริ่มได้จากการดูบริเวณวงกบว่ามีรอยขีดข่วนจากการติดตั้งหรือไม่ แนบชิดกับผนัง ไม่มีรอยบิ่นและมีวงใบเรียบร้อยดี ประตู หน้าต่างมีสภาพดี ไร้ตำหนิ และมีการประกอบที่ดี ใช้งานได้โดยไม่ติดขัด ทดสอบได้จากการทดลองใช้งานหลาย ๆ ครั้ง
-
พื้นที่รอบบ้าน การระบายน้ำ
การตรวจสอบความสามารถในการระบายน้ำรอบตัวบ้านเป็นเรื่องสำคัญในการตรวจรับบ้านก่อนโอน หากเป็นบ้านที่ระบายน้ำได้ไม่ดี อาจก่อให้เกิดน้ำขังเป็นแอ่งในจุดต่าง ๆ หรือเกิดน้ำท่วมขังได้ง่าย เช่น บ้านที่มีพื้นต่ำกว่าถนนและเพื่อนบ้าน เวลาฝนตกหนักนอกจากน้ำจะท่วมขังแล้ว ยังพัดพาเศษขยะจากที่ต่าง ๆ เข้ามาในบ้านด้วย ดังนั้นควรตรวจด้วยการทดสอบเปิดน้ำทิ้งไว้ที่พื้นด้านนอก ดูช่องทางว่าน้ำสามารถไหลไปได้หรือไม่ มีรางน้ำหรือรูระบายน้ำที่ใช้งานได้ดีหรือเปล่า และบริเวณทางน้ำไร้สิ่งกีดขวางมาอุดตันหรือไม่
-
ผนังภายนอก
การตรวจสอบผิวผนังภายนอกนั้นต้องดูความสมบูรณ์ของงาน ว่ามีรอยแตกร้าว มีรูพรุนหรือไม่ มีความเรียบสม่ำเสมอของผนังหรือเปล่า มีจุดไหนมั้ยที่เป็นคลื่นหรือปูดบวมออก มีจุดที่เป็นรอยหรือเลอะคราบปูนหรือไม่
-
ตรวจหลังคาและฝ้า
หลังคาและฝ้ามีความสำคัญอย่างมากที่จะต้องตรวจบ้านก่อนโอน เป็นสิ่งที่เราจะเผลอละเลยได้ง่าย และหากมีปัญหาแล้วอาจจะนำไปสู่ปัญหาต่อเนื่องอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหลังคารั่ว ซึม เชื้อราบนฝ้าและอื่น ๆ การตรวจสอบหลังคาก็สามารถทำได้ผ่านการดูว่ากระเบื้องหลังคามีสภาพดีหรือไม่ มีการแตกร้าวหรือเปล่า หลังคาแนบกับตัวอาคาร และมีความลาดเอียงเหมาะสมที่น้ำฝนจะไหลออกได้
ในขณะที่ฝ้าเองก็ต้องตรวจสอบเรื่องความแนบสนิทระหว่างผนังกับฝ้า ตรวจดูความสะอาดว่ามีคราบปูนหรือคราบเชื้อราหรือไม่ ไม่แอ่นและไม่ตกร่องจนทำให้ใช้งานได้ไม่ดี
-
ตรวจงานพื้นบ้าน
การเช็กงานพื้นในการตรวจบ้านก่อนโอน สามารถทำได้ผ่านการดูความเรียบสนิทของกระเบื้องหรือพื้น ว่ามีรอยบิ่น หลุม หรือช่องว่างตรงไหนหรือไม่ บางบ้านอาจจะมีพื้นบางจุดที่ไม่เท่ากันทำให้การทำความสะอาดทำได้ยาก หรืออาจจะเกิดอันตรายได้
-
ตรวจงานบันได
การตรวจสอบบันไดในการตรวจบ้านก่อนโอนสามารถเริ่มต้นได้ที่การดูขั้นบันไดว่ามีความสม่ำเสมอ เท่ากันทุกขั้นหรือไม่ หากไม่เท่ากันอาจทำให้เกิดการสะดุดขึ้นได้ เวลาเดินไม่มีเสียง สภาพผิวพื้นดี ไม่ผุพังหรือถลอก มีราวจับที่แข็งแรง มั่นคง ไม่โยกไปมา และแต่ละขั้นบันไดเป็นฉาก ไม่เอนเอียง
-
ตรวจระบบน้ำ
การตรวจระบบน้ำนั้นมีหลายส่วนที่ต้องดู เพื่อที่จะรู้ระบบน้ำที่ใช้ภายในบ้านว่ามีความสมบูรณ์หรือไม่ สามารถทำได้เบื้องต้นโดยการเปิดเช็กน้ำในทุกจุดว่าสามารถไหลได้ดี สม่ำเสมอหรือไม่ โดยสิ่งที่ควรตรวจสอบ มีดังนี้
- ตรวจน้ำรั่วว่ามีสาย ท่อ หรือส่วนไหนที่มีน้ำไหลออกเวลาที่เปิดน้ำ
- ตรวจดูการไหลของน้ำว่ามีความสม่ำเสมอ ไม่แรงบางครั้ง เบาบางครั้ง
- ตรวจสอบการระบายน้ำล้น โดยเฉพาะที่อ่างล้างหน้า อ่างล้างจาน ว่าสามารถใช้งานได้หรือไม่
- ตรวจสอบการระบายน้ำปกติว่ามีความรวดเร็วหรือไม่ มีอาการท่อตันหรือไม่
- ตรวจสอบการระบายของสุขภัณฑ์ว่าสามารถจัดการน้ำล้นได้ดีหรือไม่
-
ตรวจระบบไฟ
การซื้อบ้านมือสองที่มีการใช้งานมาก่อนเป็นเวลานาน อาจเกิดปัญหาระบบไฟได้ ดังนั้นระบบไฟจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยในการตรวจบ้านก่อนโอน สามารถทำได้โดยการทดสอบเปิดปิดไฟ หรือทดลองเต้าเสียบในจุดต่าง ๆ ของบ้าน ดูว่าการเสียบปลั๊กสามารถทำได้สะดวกไม่ติดขัด หรือหลวมจนปลั๊กหลุด ตรวจดูการเดินสายไฟ และดูว่ามีรอยดำหรือรอยไหม้บริเวณระบบไฟฟ้าหรือไม่
-
ตรวจปลวก และแมลงตามบ้าน
ในบ้านที่อยู่มานาน การเกิดปัญหาปลวกและแมลงตามบ้านก็จะไม่ใช่เรื่องแปลก การปล่อยให้ปัญหานี้อยู่ต่อไปโดยไม่มีการแก้ไขนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องอย่างบ้านผุพัง หรือเฟอร์นิเจอร์เสียหายเอาได้ จึงควรตรวจสอบตามตัวบ้านว่ามีแมลง หรือฝุ่นดินที่แสดงให้เห็นถึงการอาศัยของแมลงอยู่หรือเปล่า
-
ตรวจโครงสร้างของบ้าน
การตรวจโครงสร้างบ้านเก่ามือสองทำได้จากการดูส่วนที่รับน้ำหนักของบ้านในจุดต่าง ๆ เช่น เสา พื้นหรือคาน ว่ามีการผุพัง แข็งแรงมากแค่ไหน ควรดูว่ามีรอยแตกร้าวหรือไม่ เพราะหากโครงสร้างมีปัญหาอาจจะทำให้บ้านทรุดลงได้
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมเมื่อต้องตรวจบ้านด้วยตัวเอง
โดยปกติการตรวจรับบ้านก่อนโอนเราจะสามารถจ้างผู้รับตรวจมาช่วยได้เพื่อให้เกิดความมีประสิทธิภาพสูงสุด เลี่ยงโอกาสการเกิดข้อละเลยไปได้ แต่หากไม่มีผู้รับตรวจมาด้วย ก็สามารถตรวจได้เองด้วยอุปกรณ์เหล่านี้
- อุปกรณ์บันทึกภาพ เช่น กล้องถ่ายรูป หรือโทรศัพท์มือถือก็ได้ สำหรับการเก็บภาพในจุดต่าง ๆ
- แปลนของบ้าน หรือผังที่ดิน เพื่อที่จะสามารถเดินดูได้อย่างทั่วถึง และเห็นว่าส่วนไหนควรสนใจเป็นพิเศษ
- ตลับเมตร ใช้สำหรับการวัดห้อง และ โครงสร้างต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมาก
- กระดาษและสมุดจดบันทึก สำหรับบันทึกข้อสังเกต ข้อตกลงกับผู้ขายและสิ่งที่ต้องทำ ต้องตรวจสืบเนื่องต่อไป
- ไขควงวัดไฟ เป็นอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบระบบไฟฟ้าที่สามารถช่วยดูปัญหาไฟรั่ว หรือไฟช็อตได้
- ไม้บรรทัด สำหรับวัดความยาวของสิ่งเล็ก ๆ เช่น หน้าต่าง หรืออ่างล้างหน้า
- กระดาษโน้ตกาว หรือสติกเกอร์ สำหรับแปะจุดที่มีปัญหาต่าง ๆ ในบ้าน
การตรวจบ้านก่อนโอนถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องทำก่อนเซ็นโอนกรรมสิทธิ์ สำหรับการตรวจรับบ้านจะต้องตรวจตั้งแต่โครงสร้างของบ้าน ระบบน้ำ-ไฟ พื้นบ้าน บันได หลังคาและฝ้า รวมถึงพื้นที่นอกบ้านด้วย สำหรับใครที่ต้องการตรวจบ้านก่อนโอนด้วยตัวเอง ก็สามารถทำได้ ด้วยการเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม และตรวจตามวิธีตรวจรับบ้านให้ครบถ้วนนั่นเอง