สิ่งที่ควรรู้ก่อนรีโนเวทบ้าน
การรีโนเวทบ้าน อาจเรียกได้ว่าเป็นอีกเรื่องที่น่าตื่นเต้นและเติมเต็มความสุขให้เจ้าของบ้านได้ แต่ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงที่อาจทำให้เสียค่าใช้จ่าย หรือสร้างปัญหาเพิ่มเติมได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมหรือไม่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญก่อน มาดูกันว่าสิ่งที่เจ้าของบ้านทุกคนควรคำนึงถึงเมื่อวางแผนจะทำการรีโนเวทบ้านเก่าในเบื้องต้นมีอะไรบ้าง
ศึกษากฎหมายการรีโนเวทบ้าน
ก่อนที่จะทำการรีโนเวทบ้านเก่าก็ควรจะต้องศึกษากฎหมายเสียก่อนว่าสิ่งที่ต้องการทำนั้นเป็นการรีโนเวทบ้าน หรือเป็นการดัดแปลงบ้าน เพราะจะส่งผลว่าต้องไปขออนุญาตในการทำหรือไม่ ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการต่อเติมบ้านนั้นมีระบุอยู่ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2528) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- การเปลี่ยนโครงสร้างโดยใช้วัสดุ ขนาด จำนวน และชนิดเดียวกับของเดิมนั้นไม่ต้องขออนุญาต ยกเว้นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตอัดแรง และโครงสร้างเหล็ก ที่ต้องขออนุญาตทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนที่เหมือนเดิมหรือไม่ก็ตาม
- การต่อเติมที่เป็นการเพิ่มน้ำหนักแก่โครงสร้างเดิมเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ จะต้องขออนุญาต
- การต่อเติมหรือลดพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งเกิน 5 ตารางเมตร โดยมีการเพิ่มหรือลดเสาและคาน จะต้องขออนุญาต
- การต่อเติมหรือลดพื้นที่หลังคาเกิน 5 ตารางเมตร โดยมีการเพิ่มหรือลดเสาคาน จะต้องขออนุญาต
นอกจากกฏหมายข้างต้นแล้ว ยังควรดูข้อกฎหมายที่เป็นปัจจุบันอื่นๆ รวมถึงกฎหมายท้องถิ่นมาประกอบในตอนที่จะรีโนเวทด้วย เพราะอาจมีข้อจำกัดอื่นอีก เช่น ตำแหน่งทางเข้าบ้านที่อาจต้องห่างจากถนนหลักมากขึ้น หรือระยะร่นที่เปลี่ยนไป
ตรวจสอบโครงสร้าง และสภาพรอบๆ
โดยปกติก่อนซื้อบ้านมือสองจะมีการตรวจบ้านก่อนโอนอยู่แล้ว แต่เมื่อจะรีโนเวทบ้านก็ควรต้องตรวจสอบโครงสร้าง และสภาพโดยรอบๆ ซ้ำอีกครั้งก่อน โดยเฉพาะกรณีที่เป็นบ้านเก่า เพราะอาจจะมีการต่อเติมอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งหากไม่ทันสังเกตแล้วไปต่อเติมซ้ำอาจจะทำให้บ้านไม่ได้มาตรฐานตามโครงสร้างบ้านที่ได้ถูกออกแบบไว้ หรือบ้านอาจอยู่ในระยะอายุการใช้งานที่เสี่ยงต่อความเสื่อมโทรม ซึ่งจะกระทบกับการรีโนเวทได้ด้วย เป็นต้น
โดยสรุปแล้ว สิ่งที่ควรตรวจสอบ ได้แก่
- ตรวจสอบการต่อเติมเดิมว่ามีหรือไม่ เพื่อที่จะดูว่าหากต่อเติมเพิ่มไปอีกจะต้องขออนุญาตหรือเปล่า โดยนำมาเทียบกับแบบแปลนเดิม
- ตรวจรอยร้าวตามอาคาร พื้นและเสาต่างๆ พร้อมกับหาที่มาของรอยร้าวว่าเกิดจากปัญหาอะไร
- สังเกตระดับอาคาร เทียบกับถนน และพื้นดินโดยรอบเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะตามมา เช่น พื้นทรุด
ซึ่งการตรวจสอบโครงสร้างบ้าน และสภาพแวดล้อมโดยรอบนั้นจะช่วยประเมินค่าใช้จ่ายในการรีโนเวทบ้านได้อย่างคร่าวๆ ด้วย จึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยลดความผิดพลาด และช่วยป้องกันไม่ให้งบบานปลาย
กำหนดจุดประสงค์ให้ชัด วางแผนให้รัดกุม
การรีโนเวทบ้านนั้นมีหลายจุดประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูบ้านที่เก่าหรือเป็นการต่อเติมตามความต้องการ ซึ่งแต่ละเป้าหมายก็จะมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพิ่มเติม ของที่ต้องซื้อ และขั้นตอนที่ต้องทำแตกต่างกันไป การกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนจะช่วยให้วางแผน และกำหนดงบให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้โดยไม่เกิดปัญหาที่อาจจะทำให้ต้องหยุดทำระหว่างทาง
รีโนเวทบ้านเก่าอย่างไรให้สวยถูกใจ งบไม่บานปลาย
การซื้อบ้านมือสองนั้นมีทั้งแบบที่รีโนเวทมาแล้วหรือเรียกว่า บ้านมือสองรีโนเวท และการซื้อแบบที่ยังไม่ผ่านการรีโนเวทมารีโนเวทเอง ซึ่งก็มีข้อดี และข้อเสียแตกต่างกัน สำหรับผู้ที่ต้องการรีโนเวทเอง ไปดูกันว่ารีโนเวทอย่างไรให้ได้บ้านสวย แถมงบไม่บานปลาย
ตั้งงบประมาณ
ก่อนที่จะเริ่มงานปรับปรุงหรือแต่งเติม ขั้นแรกให้พิจารณาว่าการซ่อมแซมหรือตกแต่งแบบใดที่เหมาะสมกับสภาพบ้านในปัจจุบัน อะไรบ้างที่จะช่วยทำให้บ้านดูใหม่ สะดวกสบาย หรือสวยงามขึ้น จากนั้นจึงตัดสินใจเลือกงบประมาณที่สมเหตุสมผลเพื่อไม่ให้เกินความสามารถในการจัดหาเงินทุนมาทำจริง การตั้งงบให้ชัดเจนจะช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อวัสดุและอุปกรณ์ไม่ให้บานปลายได้
ทั้งนี้ โดยปกติเมื่องานเริ่มขึ้น งบประมาณมักจะเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ควรเตรียมเงินเผื่อบานปลายไว้อย่างน้อย 5%
เลือกผู้รับเหมาที่น่าเชื่อถือ
เชื่อไหมว่าหนึ่งในปัญหาที่มักจะพบบ่อยๆ ในการทำบ้าน หรือการรีโนเวทบ้านของหลายๆ คนคือการมีปัญหากับผู้รับเหมา ซึ่งอาจทำให้เสียเวลา เสียเงิน และส่งผลให้งบบานปลาย ดังนั้น ควรเลือกผู้รับเหมาที่เชื่อถือได้ มีประสบการณ์ ทำงานได้มีคุณภาพ รวมถึงสามารถตอบคำถามเรื่องราคาของวัสดุต่างๆ และราคาค่าบริการได้ชัดเจน ซึ่งในจุดนี้จะช่วยคุมงบไม่ให้บานปลายได้
นอกจากนั้น ควรเลือกผู้รับเหมาที่มีค่าใช้จ่ายในการให้บริการที่สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับงบที่ตั้งไว้ แต่ก็ไม่ควรถูกจนเกินไป เพราะหลายๆ ครั้ง ราคาของผู้รับเหมาก็สะท้อนถึงคุณภาพของช่าง และอุปกรณ์ที่จะใช้ ดังนั้นหากมีงบเพียงพอก็ควรลงทุนในผู้รับเหมาเพื่อความราบรื่น
เลือกวัสดุให้เหมาะสม
การเลือกวัสดุควรคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละประเภทด้วย เช่น ความทนทาน ความยากง่ายในการดูแลรักษา เช่น พื้นไม้จำเป็นต้องทำความสะอาดเป็นประจำ ในขณะที่กระเบื้องเซรามิกต้องการเพียงการถูพื้นด้วยน้ำเป็นระยะๆ ก็เพียงพอ เป็นต้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่ที่ความเหมาะสมกับบ้านด้วยว่าเข้ากันได้หรือไม่
เรื่องการรับน้ำหนักของบ้านเองก็เป็นอีกสิ่งที่ต้องระวัง เพราะแต่ละวัสดุนั้นก็มีน้ำหนักและฐานสนับสนุนแตกต่างกัน หากน้ำหนักของพื้นบ้าน เฟอร์นิเจอร์ หรือผู้อยู่อาศัยเกินขึ้นมา ก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายกับบ้านได้ สุดท้ายที่ต้องคำนึงถึงก็คืองบประมาณที่ต้องใช้ซื้อวัสดุ เพราะอาจจะบานปลายเอาได้ง่ายๆ
ดำเนินการตามแผนที่วางไว้
เมื่อวางแผนเรียบร้อยแล้ว ควรจะจริงจัง และแน่วแน่กับการออกแบบที่วางเอาไว้ เพราะการเปลี่ยนใจบ่อยๆ อาจทำให้งบประมาณเพิ่มขึ้นไปด้วย และอาจจะต้องเสียเวลาเพิ่มในการหาวัสดุ สี เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ ฯลฯ ใหม่ หากจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ควรปรึกษากับผู้รับเหมาก่อนเริ่มงานก่อสร้างเพื่อไม่ให้เกิดการซื้อของที่ไม่จำเป็น หรือลงมือทำงานที่ไม่ต้องการจนต้องแก้ไขภายหลัง
เปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์เก่าให้เข้ากับบ้านใหม่
การซื้อบ้านเก่าบางครั้งอาจมาพร้อมกับเฟอร์นิเจอร์ เพื่อประหยัดงบประมาณก็ควรดัดแปลงเฟอร์นิเจอร์เก่า เพื่อให้เข้ากับตัวบ้าน โดยสามารถทาสีหรือใช้วอลล์เปเปอร์เพื่อปิดพื้นผิวของเฟอร์นิเจอร์ที่อาจจะเก่า หรือไม่ค่อยเข้ากับสไตล์รีโนเวทบ้านที่วางแผนไว้ ด้วยวิธีง่ายๆ เหล่านี้ ห้องก็จะดูดีและน่าสนใจมากขึ้น โดยไม่ต้องเสียเงินในการกำจัดเฟอร์นิเจอร์เก่า หรือซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่
ตรวจสอบห้องต่างๆ ภายในบ้าน
นอกจากการตรวจสอบโครงสร้างหลักของบ้านแล้ว ยังต้องตรวจสอบห้องต่างๆ ภายในบ้านด้วย เพราะบางครั้งอาจมีความเสียหายบางจุดที่ไม่ทันสังเกต อาทิ ผนังห้องต่างๆ อาจมีรอยร้าว หรือหลังคาห้องรั่วเนื่องจากการกันซึมที่ไม่เหมาะสม ปัญหาเหล่านี้อาจทำให้เกิดการเจริญเติบโตของเชื้อราและหากปล่อยไว้อาจทำให้ทรัพย์สินยิ่งเสียหายได้ โดยเฉพาะการรั่วซึมจากท่อหรือระบบประปานั้น ควรซ่อมแซมทันที มิฉะนั้นค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมการรั่วไหลในภายหลังอาจสูงกว่าที่คาดไว้มาก ซึ่งสำหรับการตรวจสอบความเรียบร้อยในส่วนนี้นั้น หากพบว่ามีปัญหาก็จะต้องดำเนินการซ่อมแซมก่อนค่อยรีโนเวทบ้าน
นอกจากปัญหาเรื่องความเสียหายแล้ว แต่ละห้องในบ้านก็มีสิ่งที่ควรตรวจสอบต่างกันไป ได้แก่
ห้องนั่งเล่น
ห้องนั่งเล่นเป็นหนึ่งในสถานที่ที่สำคัญที่สุดที่สมาชิกในครอบครัวจะมารวมตัวกัน หากห้องนั่งเล่นอึดอัดก็จะส่งผลต่ออารมณ์ของทุกคน ดังนั้น ควรตรวจสอบประตู หน้าต่าง ทิศทางลมให้พร้อมเพื่อที่จะทำให้ห้องมีความโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ตรวจสอบผนังและเพดานให้ดี ไม่ให้มีรอยรั่ว หรือเชื้อราต่างๆ และซ่อมแซมพื้นที่อาจจะมีเสียงสร้างความรำคาญระหว่างเดิน
ห้องน้ำ
ห้องน้ำเป็นห้องที่สำคัญมากๆ อีกหนึ่งห้อง ที่จะต้องคอยสังเกตหลายอย่าง เช่น พื้นที่ต้องมีความเรียบเสมอกัน ไม่มีกระเบื้องโผล่ขึ้นมาจนการเกิดอุบัติเหตุได้ และพื้นห้องต้องไม่เป็นบ่อ หลุม จนน้ำไม่สามารถไหลไปลงท่อระบายได้ อีกสิ่งที่ต้องดูก็คือระบบท่อประปาว่ายังใช้ได้ดีหรือไม่ มีสนิมหรือรอยรั่วหรือเปล่า
ห้องนอน
ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าเตียงสะอาด เหมาะกับการนอน พื้นมีความเสมอและมั่นคง เฟอร์นิเจอร์ในห้องนอนก็จำเป็นต้องดูเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการจัดเก็บ หากมีพื้นที่น้อยเกินไปที่จะวางสิ่งของก็อาจจะทำให้ของระเกะระกะ หรือใช้ชีวิตได้ไม่สะดวก และสร้างความรำคาญใจได้ แต่ถ้าหากมีพื้นที่สำหรับของมากเกินไป หรือวางเฟอร์นิเจอร์ไม่ดี มีซอกและมุมมากเกินไป ก็อาจกลายเป็นที่สะสมของฝุ่น ซึ่งส่งผลต่อการหายใจของผู้นอน
แน่นอนว่าเชื้อราก็เป็นอีกสิ่งที่ต้องระวัง เพราะอันตรายถึงขนาดทำให้เป็นโรคได้ สุดท้ายอย่าลืมใส่ใจกับแสงในห้องด้วย ควรมีแสงสว่างจากภายนอกมากเพียงพอ แต่ทิศทางนั้นก็ไม่ควรส่องมาในบริเวณที่จะแยงตาคนนอน หรือก็ควรจะหาม่านหรือจัดวางเตียงให้แสงอยู่ในจุดที่เหมาะสม
ห้องครัว
ห้องครัวเป็นพื้นที่ที่มีเศษอาหารอยู่มาก จึงควรได้รับการดูแลให้สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ ไม่ควรปล่อยให้มีมุมอับ ควรจะตรวจเช็กท่อระบายน้ำไม่ให้มีสิ่งสกปรกอุดตัน การจัดวางตู้และลิ้นชักควรสะดวกในการใช้งานจริง มีที่เสียบปลั๊กไฟที่เพียงพอกับอุปกรณ์ไฟฟ้าในครัว และพิจารณาติดตั้งอุปกรณ์ลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ระบบดับเพลิง
ข้อควรระวัง ห้ามทำสิ่งเหล่านี้เด็ดขาดเมื่อต้องรีโนเวทบ้าน
เมื่อมีสิ่งที่ควรทำแล้ว ก็จะมีข้อห้าม หรือข้อควรระวังที่ไม่ควรทำ เมื่อต้องรีโนเวทบ้าน ซึ่งข้อควรระวังเหล่านี้ก็ได้แก่
- อย่าทำเองหากไม่มีความชำนาญ เพราะอาจจะทำให้เสียเงินและเวลามากกว่าเดิม
- อย่าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบ้านด้วยตัวเอง โดยไม่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจสร้างความเสียหายหนักให้กับบ้านได้
- อย่าละเลยระบบอื่นๆ ในบ้าน อย่างระบบการเดินสายไฟ ระบบท่อประปา โดยเฉพาะเวลารีโนเวทบ้านเก่า ที่มักมีความเสื่อมโทรมจากอายุการใช้งานมาก่อน
- หากโครงสร้างเดิมเสียหายหรือขัดขวางการรีโนเวทบ้าน ก็ไม่ควรฝืนที่จะเก็บเอาไว้
- ไม่ควรเปลี่ยนใจบ่อยระหว่างการรีโนเวทบ้านเพราะจะทำให้เสียเวลาและเงิน ควรตัดสินใจให้แน่วแน่ก่อนจะเริ่มทำการรีโนเวทจะดีกว่า
สรุป
โดยรวมแล้วการซื้อบ้านมือสองนั้นมีข้อดีคือราคาไม่สูงมากนัก มีบ้านและทำเลให้ดูก่อนตัดสินใจ แม้ว่าการซื้อบ้านมือสองในบางครั้งจะต้องมีการรีโนเวทบ้านเพิ่มเติมเพื่อให้ได้บ้านสไตล์ที่ตรงความต้องการ แต่ก็ถือว่าไม่ยากลำบากมากนัก เพียงแค่ต้องศึกษาก่อนรีโนเวทให้ดี รู้เป้าหมายที่ต้องการ รู้โครงสร้างบ้าน และรู้กฎหมายให้พร้อม รวมถึงควรตัดสินใจโดยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพียงเท่านี้ก็จะได้ทั้งความประหยัด และได้บ้านที่สวยงาม